ยุทธการพลีชีพของก้าวไกล ในสงครามยึดกุมพื้นที่

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

หากมองจากเกมในรัฐสภา สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ของพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.เป็นอันดับ 1 อย่างก้าวไกลไม่ได้มีภาษีดีไปกว่าพรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.เป็นอันดับ 2 เลย

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือก้าวไกลอาจตกอยู่ในตำแหน่งที่เสียเปรียบอีกต่างหาก เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

และถ้าไม่ได้เก้าอี้ประธานสภาเสียแล้ว ก็ไม่แน่ว่าก้าวไกลจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

หากพลาดทั้งสองตำแหน่งนี้พรรคที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งมาหมาดๆ ก็เห็นทีต้องจำใจถอยไปเป็นฝ่ายค้าน

การที่พรรคที่ได้อันดับ 1 กับ 2 มีจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ห่างกันเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้แต่ละพรรคไม่สามารถขาดกันและกันได้

โดยเฉพาะก้าวไกลที่ประกาศอย่างชัดแจ้งไปตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” ซึ่งจุดยืนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ก้าวไกลมาแรงแซงเพื่อไทยในโค้งสุดท้าย

แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการล็อกแขนขาตัวเองเอาไว้ไม่ให้สามารถเปลี่ยนคู่เปลี่ยนข้างได้

 

ต่างกับเพื่อไทยที่ไม่ได้ประกาศผูกมัดตัวเองมากขนาดนั้น จึงทำให้สามารถไหลลื่นเปลี่ยนแปรไปจับกับพรรคอื่นได้ง่าย

ดังนั้น เมื่อมองในแง่นี้จึงทำให้เห็นว่าเพื่อไทยแม้มีจำนวน ส.ส.น้อยกว่าก้าวไกลก็จริง แต่กลับมีอำนาจต่อรองมากกว่า

นอกจากนั้น เพื่อไทยยังกลายเป็นผีตัวเก่าที่ไม่น่ากลัวที่สุดในสายตาของเครือข่ายอนุรักษนิยม และเป็นผีที่ต่อรองได้ ไม่เหมือนก้าวไกลที่ยากจะคุยกันรู้เรื่อง

สถานการณ์ที่ดูเป็นคุณกับเพื่อไทยมากกว่าก้าวไกลนี้ หากพิจารณาดีๆ ก็อาจไม่ใช่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของก้าวไกล

แต่เป็นไปได้ว่าคือส่วนหนึ่งของยุทธการพลีชีพในการดึงไอ้โม่งตัวใหญ่ให้หลุดออกมาปรากฏในที่โล่งแจ้ง ไม่ให้หลบๆ ซ่อนๆ ต่อสู้อยู่หลังฉากได้

เนื่องจากเพื่อไทยคือคู่แข่งอย่างเปิดเผยเป็นที่ประจักษ์ การชิงไหวชิงพริบกับเพื่อไทยแม้ยากอย่างไรก็ยังอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งต่างกับไอ้โม่งที่มองไม่เห็น

หากเป็นเช่นนี้จริง ยุทธศาสตร์ของก้าวไกลก็อาจไม่ใช่การยึดกุมอำนาจรัฐเสียก่อน

แต่คือการยึดกุมพื้นที่ความคิดก่อนแล้วค่อยได้อำนาจรัฐ

ตรงข้ามกับเพื่อไทยที่อาจต้องการได้อำนาจรัฐแล้วค่อยขยายพื้นที่ยึดกุมความคิด

 

ตัวอย่างที่พอมองเห็นได้ก็คือในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำของพรรคไม่ได้แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับเครือข่ายพลังจารีตและอนุรักษนิยมเลย

ดังนั้น คู่แข่งตัวฉกาจของเขาโดยหลักแล้วจึงมีแต่เพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าเท่านั้น

ทักษิณเก็บงำความคิดในการปฏิรูปไว้ลึกๆ หลังจากนั้นจึงค่อยเผยแสดงออกมาภายหลังเมื่อเข้าสู่การเป็นรัฐบาลแล้ว

ทัศนะ ท่าที ตลอดจนแนวคิดเชิงปฏิรูปและปฏิวัติดังกล่าวนี้ไม่ได้แสดงออกมากนักผ่านการปราศรัย แต่แสดงตัวให้เห็นผ่านนโยบายต่างๆ ในเชิงปฏิรูปและหลายนโยบายเป็นเชิงปฏิวัติ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน แท็กซี่เอื้ออาทร บ้านเอื้ออาทร ทุน ODOS เครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การประกาศสงครามกับยาเสพติด นโยบายสุราเสรี หวยบนดิน การปรับเปลี่ยนการแบ่งกระทรวงครั้งใหญ่ เป็นต้น

การที่รัฐบาลไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณเข้ามาก่อนแล้วค่อยเปิดหน้า ทำให้สามารถสร้างผลงานได้เป็นจำนวนมากโดยไม่ชนกำแพง กระทั่งผ่านไปหลายปี กว่าที่เครือข่ายพลังจารีตจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

ซึ่งตรงข้ามกับก้าวไกลที่เปิดหน้าก่อน ทำให้โดนกำแพงขวางเสียตั้งแต่แรก และชะงักติดหล่มอยู่ปากประตูรัฐสภามาจนถึงตอนนี้

แนวทางเช่นนี้เองที่ผู้คน สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งเหล่ากุนซืออาวุโสของพรรคต่างๆ มองว่าไร้เดียงสา

 

ทว่า หากไม่มองสถานการณ์นี้ว่าคือกับดักที่ก้าวไกลถูกล่อเข้ามา ก็อาจมองได้ว่านี่คือกับดักของก้าวไกลที่ล่อไอ้โม่งให้หลุดออกมาปรากฏตัวกลางแจ้งต่างหาก

ทั้งนี้ก็เพื่อเปลี่ยนสำนึกและความเข้าใจของผู้คนเสียใหม่ว่าใครเป็นใครในสนามการเมืองทั้งหมด

ความพยายามยื้อ ทอน ลาก ดึง และชิงไหวชิงพริบกันนี้คล้ายคลึงกับคู่ชักเย่อที่ยังคงยันกันอยู่และยากที่จะรู้ตอนจบล่วงหน้า

อนาคตของก้าวไกลในระยะสั้นอาจเป็นได้ทั้งตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ทำงานอย่างยากลำบาก

หรือไม่ก็กระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วถูกทำลายในภายหลังด้วยวิธีทางกฎหมาย

พร้อมทั้งเผชิญหน้ากับมวลชนขวาจัดที่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งวิธีคิดและกระบวนการจัดตั้งแบบเดียวกับที่ใช้ในงานด้านความมั่นคง

เค้าลางเช่นนี้แผ่ขยายไปตามไลน์กลุ่ม สื่อมวลชนบางสำนัก ผ่านวาทกรรมตามอุดมการณ์ชาตินิยมแบบสมัยสงครามเย็น เกิดการสร้างทฤษฎีสมคบคิด เช่น กระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เป็นต้น

พรรคเพื่อไทยดูจะอาศัยโอกาสนี้ในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้สูงขึ้น ด้วยการแสดงท่าทีต้องการตำแหน่งประธานสภาอย่างชัดแจ้ง

และมีข่าวเล็ดลอดออกมาจนได้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งปกติก็เดินเหินไม่ได้คล่องแคล่วเท่าใดนัก แต่กลับโผล่ไปดูการแข่งม้าที่อังกฤษ ในช่วงเวลาที่กระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นที่สุด ตามข่าว “เฉลยแล้ว ‘บิ๊กป้อม’ บินตั้งแต่ดึก ที่แท้ไปดูแข่งม้าที่อังกฤษ ดับทุกข่าวลือตั้ง รบ.แข่งก้าวไกล”

 

เกมการชิงอำนาจรัฐหลังผ่านการเลือกตั้งมาหนึ่งเดือนกว่า จึงดูเหมือนว่ากำลังพลิกมาที่เพื่อไทย หรือไม่ก็พรรคอื่นๆ ที่เป็นตาอยู่

ซึ่งหากผลออกมาเป็นเช่นนั้นจริง เพื่อไทยก็อาจเข้าไปเป็นรัฐบาลได้สำเร็จในวันนี้ แต่จะเสียฐานเสียงสนับสนุนมหาศาล จนไม่แน่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะพ่ายหนักกว่าเดิมหรือไม่ ในขณะที่ก้าวไกลจะพลาดการเป็นรัฐบาลไปอย่างเจ็บปวด และอาจต้องพลีชีพ จากการถูกทำลายอย่างต่อเนื่องทั้งกับตัว ส.ส.เองเป็นรายคน และองค์รวมของพรรคทั้งพรรค แต่จะขยายพื้นที่ความคิดและฐานมวลชนมากขึ้น กระทั่งอาจได้ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อมองเกมออกมาเป็นเช่นนี้จึงทำให้การที่ก้าวไกลถูกรุกไล่ไม่หยุดจากกองกำลังกลุ่มต่างๆ และมวลชนฝ่ายขวาที่ออกหน้ามาสู้แทน จึงอาจไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ก้าวไกลกำลังถูกผลักไสเข้าไปในกับดักก็ได้ แต่อาจเป็นกับดักของก้าวไกลเองที่ล่อเครือข่ายปฏิปักษ์เหล่านั้นให้หลงเข้ามาในแดนที่ก้าวไกลต้องการ ดินแดนที่สายตามหาชนจับจ้องมองอยู่และวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มปาก

ยุทธการพลีชีพนี้ในอีกนัยหนึ่งก็คือการเมืองแห่งการนิยามความหมาย การเมืองแห่งการกำหนดวาทกรรม การเมืองแห่งการช่วงชิงคำจำกัดความของความถูกผิดดีชั่วอันเป็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่สร้างมติมหาชนให้ตามมาในภายหลัง

เพราะฉะนั้น จุดตัดสินชี้ขาดว่าใครแพ้ชนะในสมรภูมิหรือในสงครามแบบนี้ จึงไม่ใช่เพียงแต่เพ่งดูว่าท้ายที่สุดแล้วใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือใครได้เป็นรัฐบาล

แต่คือการแสดงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงว่าใครเป็นใคร และอะไรคือเกณฑ์มาตรฐานทางศีลธรรมที่ควรจะเป็น อันเป็นตัวกำหนดและกำกับการวินิจฉัยพฤติกรรมถูกผิดดีชั่วทั้งหลายในสังคมการเมือง