ความเชื่อใจ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ความเชื่อใจ

 

พรรคการเมืองที่ถูก “ข่าวลือ” บ่อนทำลายมากที่สุดในตอนนี้คือ พรรคเพื่อไทย

คำว่า “ดีลลับ” เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

จนถึงวันนี้ ข่าว “ดีลลับ” ก็ยังไม่จบ

เปลี่ยนเหลี่ยมเปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะออกมาแถลงสยบข่าว “ดีลลับ” ตลอด

แต่เหมือนกับการดับไฟ ที่ยังมีควันกรุ่นขึ้นมาพร้อมจะลุกใหม่อีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการต่อรอง ชิงไหวชิงพริบ

ยากที่จะใครจะไว้วางใจใคร

“ความไว้วางใจ” จึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับการเมืองไทย

 

ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งที่คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเล่าให้ฟังในการสนทนาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

คุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกหลังการรัฐประหารของ คสช.เมื่อปี 2534

พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นคนเชิญคุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งคู่รู้จักกันตอนที่ทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

คุณอานันท์เป็นเอกอัครราชทูต ส่วน พล.อ.สุจินดา เป็นทูตทหาร

กลับมาเมืองไทยนานๆ เจอกันทีตามงานต่างๆ

หลังการรัฐประหาร พล.อ.สุจินดาไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ

มี “ผู้ใหญ่” คนหนึ่งเสนอชื่อ “อานันท์ ปันยารชุน” ขึ้นมา

พล.อ.สุจินดา โอเค

คุณอานันท์เล่าว่าเขาตั้งใจจะเป็นรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

คืนอำนาจให้กับประชาชน

รัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลที่ขอเวลาอีกไม่นานจริงๆ

ไม่ใช่แค่ “บทเพลง”

เมื่อระยะเวลาการทำงานสั้น การเลือกตัวคนมาเป็น “รัฐมนตรี” จึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ

รับตำแหน่งแล้วทำงานได้เลย

ข้อแรก ต้องเป็นคนที่เขารู้จัก เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาเรียนรู้ระหว่างกัน

ทำงานเป็น “ทีม” เรื่องนี้สำคัญมาก

ข้อที่สอง เคยทำงานราชการมาก่อน เข้าใจระบบราชการเป็นอย่างดี ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่

ลองไปดูรายชื่อรัฐมนตรีชุดนั้นสิครับ

“เพื่อนอานันท์” ทั้งนั้น

แต่ที่ผมชอบมากคือ การเลือกตำแหน่ง “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

คุณอานันท์เลือกคุณสถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

ส่วนหนึ่งเพราะเห็นฝีมือกันมาตอนที่คุณอานันท์เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ คุณสถาพรสนิทกับ พล.อ.สุจินดา และเพื่อนๆ จปร.5

คุณอานันท์รู้ว่าการทำงานร่วมกับ คสช. ที่ไม่คุ้นเคยกัน

มีโอกาสที่จะเกิดความหวาดระแวงสูงมาก

ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คือ คนที่เข้าร่วมการประชุมกับคุณอานันท์แทบทุกครั้ง

ดังนั้น ถ้ามี “ข่าวลือ” ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายกฯ อานันท์กับ คสช.ขึ้นมา

คุณสถาพรจะช่วยชี้แจงกับ คสช.ได้ดีที่สุด

เป็นเทคนิคการสร้างความไว้วางใจทางการเมืองของคุณอานันท์ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

 

ผมมีโอกาสได้ร่วมวงกับคุณอานันท์หลายครั้งตอนที่อยู่ “มติชน”

เป็นการติดสอยห้อยตาม “พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน และผู้บริหารมติชนไปร่วมวงสนทนา

มีหน้าที่คือ ไป “หาเรื่อง”

หาเรื่องมาเขียนในคอลัมน์ X คลูซีฟ ใน “มติชนสุดสัปดาห์”

แต่ช่วงหลังไม่ได้เจอคุณอานันท์เลยครับ

มีโอกาสอีกครั้งตอนที่คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เชิญมาเป็นแขกในวงสนทนาประจำเดือน

“อากู๋” แกรมมี่ จะมีวงสนทนาหลายกลุ่ม

ที่ยาวนานที่สุด คือ กลุ่มวันพฤหัสบดี

กลุ่มนี้จะเจอกันทุกสัปดาห์ เหมือนนิตยสารรายสัปดาห์

ผู้คนหลากหลายมาก

ส่วนกลุ่มผมเป็นกลุ่มนิตยสาร “รายเดือน”

เดือนหนึ่งเจอกันครั้งหนึ่ง

มีทั้งผู้ใหญ่ในแวดวงการเงิน นักการตลาด ขาใหญ่สตาร์ตอัพ นักธุรกิจหนุ่ม ฯลฯ

มีผมและ “นิ้วกลม” ที่เป็นนักเขียนแทรกไปด้วย

คุยกันสัพเพเหระมาก อยากคุย อยากถาม อยากเล่าเรื่องอะไรก็เล่ามา

เป็นวงสนทนาที่สะเปะสะปะ

หัวเราะแต่ได้ความรู้

จนวันหนึ่ง คุณไพบูลย์เล่าว่าจัดงานเลี้ยงรุ่นนิเทศศาสตร์ ได้เจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอมานาน

เป็นความรู้สึกที่ดีมาก

เขาเกิดไอเดียว่าอยากเชิญคนที่อยากเจอหรือไม่ได้เจอกันนานมาร่วมวงสนทนาด้วย

เริ่มจากคุณอานันท์ ปันยารชุน

สนุกมาก

มีคนเอ่ยชื่อ “ส.ศิวรักษ์”

คุณไพบูลย์ได้ยินชื่อเสียงมานาน แต่ไม่เคยเจอเลย

มีคนเสนอว่า ถ้าเชิญคุณอานันท์มาด้วยจะดีไหม เพราะท่านเพิ่งไปงานวันเกิด “ส.ศิวรักษ์” มา

“เอ๋” นิ้วกลม เพิ่งไปสัมภาษณ์ทั้งคู่ รับอาสาเป็นคนเชิญ

วงสนทนาคืนนั้นจึงฟุ้งกระจายไปด้วย “ความรู้”

นอกจากคุณอานันท์จะเล่าเรื่องเทคนิคการสร้างความไว้วางใจทางการเมืองแล้ว

ยังเล่าเรื่องที่ตอนพบลี กวน ยู, เติ้ง เสี่ยว ผิง ฯลฯ

เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าที่หาฟังที่ไหนไม่ได้

อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เล่าเรื่อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในมุมที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

หรือเรื่องวงการพระ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผมที่ห่างวัดมาก

นั่งฟังแบบตื่นตาตื่นใจ

แต่จำไม่ได้เลย

เวลา “ปราชญ์” ทั้งสองคนถกกันในเรื่องประวัติศาสตร์

สนุกมาก

เสียดายที่อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ อยู่ได้แค่ 2 ทุ่มกว่าก็ขอตัว

…ง่วงนอน

เรื่องที่คุยกันในวงไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์การเมือง แต่ยังมี “ความรู้” บางเรื่องที่ผมเพิ่งรู้

อย่างเช่น มีคนถามคุณไพบูลย์ว่าโรงแรมหกดาวแตกต่างจากโรงแรมสี่ดาวห้าดาวอย่างไร

นอกจากการตกแต่งแล้ว ผมเพิ่งรู้ว่าโรงแรมหกดาว เราสามารถเลือกหมอนได้ จะนุ่มจะแข็งแค่ไหนก็เลือกได้

และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ “ความรู้” ข้างหลังภาพที่ผมอยากรู้ที่สุด

คือ ภาพของคุณอานันท์ หัวเราะเฮฮา จิบบรั่นดี สูบซิการ์ถึงเกือบตีหนึ่ง

ทั้งที่ท่านอายุ 90 ปีแล้วครับ

คุณอานันท์มีเคล็ดลับอะไร? •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC