ตระหนัก ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’ (2) การสร้างความชอบธรรม ให้แก่พระเจ้ากาวิละ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฉบับที่แล้ว ดิฉันได้นำเสนอถึงจำนวนผูกของใบลานต้นฉบับภาษาล้านนาของ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ว่ามีทั้งหมด 8 ผูก โดยได้กล่าวรายละเอียดไปแล้วว่า

1-5 ผูกแรกนั้น เป็นเรื่องราวของราชวงศ์มังรายที่เต็มไปด้วยรายละเอียดทุกแง่มุม จนน่าจะเชื่อได้ว่า เป็นการบันทึกสดๆ ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ 725 กว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนผูกที่ 6 นั้น ปรากฏขึ้นมาในลักษณะ “ผิดฝาผิดตัว” คือโผล่ขึ้นมาลอยๆ คล้ายเอกสารปูมโหรที่มีแค่ศักราชกับเหตุการณ์ย่อ คล้ายกับว่าไม่ค่อยเต็มใจบันทึกเรื่องราวในยุคที่ล้านนาถูกปกครองโดยชาวพม่าเท่าใดนัก

อาจารย์ภูเดช แสนสา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนา ปัจจุบันทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจล้านนาสมัยพม่าปกครอง” หนึ่งในสองของวิทยากรที่ร่วมเสวนา “วิเคราะห์ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ยอมรับว่า

“หลักฐานด้านลายลักษณ์ของประวัติศาสตร์ล้านนาช่วงที่ผมทำวิทยานิพนธ์นี้หายากมากๆ ผมค้นพบว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ผูกที่ 6 นี้ มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับตำนานพื้นเมืองทางเชียงแสน เชียงราย ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้เบื้องต้นได้ว่า เอกสารผูกที่ 6 นี้ เป็นการไปดึงเอาบันทึกของทางเชียงแสน เชียงราย ที่เขียนไว้ในลักษณะ ปูมโหร เข้ามาแทรกต่อจากผูกที่ 5 เพื่อเชื่อมเรื่องราวที่ขาดหายไปช่วงหนึ่งในยุคที่พม่าปกครองล้านนา โดยทางเชียงใหม่มิได้บันทึกรายละเอียดช่วงนี้ไว้”

ทำให้เราได้สมการดังนี้ ผูกที่ 1-5 เป็นตำนานที่เขียนโดยฝ่ายเชียงใหม่, ผูกที่ 6 เป็นเอกสารปูมโหรที่เขียนโดยฝ่ายเชียงแสน เชียงราย ฉบับที่แล้วพื้นที่ไม่พอ เรายังค้างเรื่องราวของผูกที่ 7-8 อยู่

ผูกที่ 7-8 เขียนขึ้นในเชียงใหม่หรือลำปาง?

ปริศนาของใบลานอีกสองผูกสุดท้ายคือ ผูกที่ 7-8 นั้น จะเป็นการเขียนโดยฝ่ายใด ระหว่างเชียงใหม่ กับลำปาง? เนื่องจากเข้าสู่สมัยของพระเจ้ากาวิละแบบเต็มๆ แล้ว ตามที่เรารู้กันดีว่าพระองค์มีชาติกำเนิดเป็นชาวลำปางก่อนจะขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่

ทั้ง อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ และ อาจารย์ภูเดช แสนสา ให้ความเห็นตรงกันว่า ใบลานสองผูกสุดท้าย คือผูก 7-8 เน้นแต่วีรกรรมของพระเจ้ากาวิละเป็นหลัก

จะมีเจ้าหลวงองค์อื่นเพิ่มขึ้นมาบ้าง ก็แค่ช่วงท้ายๆ ใบลานผูกที่ 8 นิดหน่อย ที่เริ่มมีเรื่องราวของเจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าหลวงคำฝั้น และมาจบเอาในยุคเจ้าหลวงพุทธวงศ์ หรือแผ่นดินเย็น ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ช่วงกระทำพิธีราชาภิเษก พ.ศ.2370 จากนั้นก็สิ้นสุดเนื้อหาในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แต่เพียงเท่านี้

อาจารย์ภูเดชตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ผูกที่ 7 ตอนท้าย กับผูกที่ 8 ทั้งหมด มีความคล้ายคลึงจนแทบจะเชื่อได้ว่าเป็นสำนวนเดียวกันกับเอกสารท้องถิ่นของฝ่ายลำปางชื่อ “ปฐมมัชฌิมตำนานเมืองละคอร”

ตำนานเล่มนี้ เป็นการบันทึกเรื่องราวบุคคลสำคัญของฝ่ายลำปางตั้งแต่วีรกรรมของหนานทิพย์ช้าง (พระญาสุรวฦๅไชย) เจ้าฟ้าชายแก้ว มาจนถึงพระเจ้ากาวิละ

อาจารย์ภูเดชได้ทำการสอบทานเอกสารทั้งสองชุดอย่างละเอียด ทำให้ทราบว่าเนื้อหาโดยหลักของใบลานผูกที่ 7-8 ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ แทบไม่ได้มีความแตกต่างจาก “ปฐมมัชฌิมตำนานเมืองละคอร” แต่อย่างใดเลย ไม่ว่าการลำดับไล่เรียงโอรส-ธิดาของเจ้าฟ้าแก้วทั้ง 10 ตน ว่ามีใครชื่ออะไรบ้าง

ยกเว้นแค่ตอนจบของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีการเพิ่มเรื่องราวของ “เทวบุตรผู้รักษาประตูเมืองลำพูน” เข้าไปอีกนิดหน่อย และลงนามว่าคัดลอกโดย “เจ้าฅำยอง”

กล่าวโดยสรุปได้ว่า กว่าจะมีตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับสมบูรณ์ครบทั้ง 8 ผูกนั้น บุคคลที่ใช้นามว่า “เจ้าฅำยอง” ต้องรวบรวมเอาตำนานในแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วมาร้อยเรียงต่อกัน

ผูกที่ 1-5 เป็นตำนานพื้นเมืองที่เขียนโดยราชสำนักเชียงใหม่ที่มีมาก่อนแล้วตั้งแต่ยุคล้านนา ครั้งหนึ่งตำนานนี้แตกฉานซ่านเซ็นไปหลบซ่อนตามป่าเขาแถวฮอด แม่สะเรียง มีการตามไปค้นพบฉบับเก่าสุดเขียนปี พ.ศ.2233 โดยอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ

ผูกที่ 6 เป็นปูมโหรที่เขียนในยุคพม่าปกครองล้านนา บันทึกไว้ที่เชียงแสน เชียงราย มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับความเชื่อท้องถิ่น เช่นเรื่อง ปู่ละหึ่ง

ผูกที่ 7-8 เน้นวีรกรรมของพระเจ้ากาวิละเป็นพิเศษ จึงยังเป็นปัญหาอยู่ว่าสองผูกหลังนี้แต่งขึ้นที่เชียงใหม่หรือลำปาง? แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นของลำปาง เพราะสองผูกสุดท้ายนี้ไปทับซ้อนกับตำนาน “ปฐมมัชฌิมตำนานเมืองละคอร” ของทางลำปาง ที่จงใจเขียนแยกเฉพาะเนื้อหาของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน โดยไม่ได้มีเจตนาจะนำไปรวมผูกกับเรื่องอื่น

พระนอนขอนม่วง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

การสร้างความชอบธรรมให้แก่พระเจ้ากาวิละ

หนังสือ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ที่แปลโดยอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ปี 2509 และได้รับการตีพิมพ์กับสำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกปี 2514 ในผูกที่ 8 มีการนำเสนอรายละเอียดที่แทรกเรื่อง “พระนอนขอนขวาง” หรือ “พระนอนขอนม่วง” ไว้ด้วย

ทว่า ต้นฉบับของอาจารย์สงวนชุดเดียวกันนี้ ที่จัดพิมพ์ใหม่ล่าสุดในปี 2565 โดยสำนักพิมพ์ศรีปัญญา พบว่าไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวมาแทรกไว้

คุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์ ลูกสาวอาจารย์สงวน ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นฉบับ กล่าวไว้ในที่ประชุมเสวนาทางวิชาการ “100 ปีชาตกาลสงวน โชติสุขรัตน์” ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ว่า

“การที่ทางสำนักพิมพ์ศรีปัญญาไม่ได้นำเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพระนอนขอนม่วง หรือพระนอนขอนขวาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผูกที่ 8 มาใส่รวมไว้ด้วยในเล่มที่ตีพิมพ์ใหม่นี้ ปรากฏคำอธิบายในหน้า 249 ว่า

…ต้นฉบับตัวพื้นเมือง มีตำนานพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่แทรกไว้ และมีความท้าวถึงพระเจ้ากาวิละมาบังเกิดในชาตินี้ เพื่อมาบูรณะวัดพระนอนขอนม่วง จึงตัดออกเอาแต่เฉพาะที่กล่าวถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ต่อมา…”

หมายความว่า หากนำเอาตำนานส่วนนี้เข้ามาแทรก ก็จะทำให้เนื้อหาทางประวัติศาสตร์อ่านแล้วไม่ต่อเนื่องนั่นเอง เหตุที่ตำนานพระนอนขอนม่วงเต็มไปด้วยอภินิหารต่างๆ อาจดูขัดแย้งกับเรื่องราวทั้งหมดในผูกอื่นๆ ที่เนื้อหาทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ตำนานกึ่งนิทานปรัมปรา

ทว่า ในความเห็นของอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ มองว่า การหยิบยกเอาตำนานพระนอนขอนม่วงมาบรรจุในผูกที่ 8 ที่ปรากฏในต้นฉบับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แบบเต็มๆ ทุกผูกนั้น มีนัยยะสำคัญยิ่งในด้านการสร้างความชอบธรรมให้แก่ “พระเจ้ากาวิละ” ในฐานะที่เป็นชาวลำปาง แต่ต้องมานั่งเมืองเชียงใหม่

อาจารย์เกริกอธิบายไปถึงกฎมณเฑียรบาลของสมัยล้านนาว่า ได้ถูกกำหนดไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า “ผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ได้ จักต้องมีเลือดเนื้อเชื้อไขสืบสายมาจากราชวงศ์มังรายเท่านั้น”

โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์โกลาหล ช่วงที่ “สามเด็กย้อย” ขุนนางก่อกบฏ สามารถยึดท้องพระโรงของพระญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 8 ได้ แต่สามเด็กย้อยมิอาจนั่งบัลลังก์ได้แม้จะมีอำนาจ ในที่สุดโอรสของพระญาสามฝั่งแกน คือ “ท้าวลก” ต้องขอกองกำลังจากพระเจ้าอาว “หมื่นโลกนคร” เจ้าเมืองลำปางยกทัพมาปราบสามเด็กย้อย แล้วอัญเชิญท้าวลกขึ้นเป็นกษัตริย์แทนบิดา ต่อมามีนามว่า “พระเจ้าติโลกราช”

อาจารย์เกริกชี้ว่า แม้แต่สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่สุด ในช่วงปลายอาณาจักรล้านนา ที่แทบจะหากษัตริย์เชื้อพระวงศ์ขึ้นครองราชย์ไม่ได้เลย ช่วงนั้นขุนนางแข็งแกร่งมาก แต่กฎมณเฑียรบาลขวางไว้ไม่ยอมให้ขุนนางผู้มีอำนาจสามารถขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่โดยเด็ดขาด ราชสำนักล้านนายอมแม้กระทั่งต้องไปขอโอรสลูกครึ่งสองแผ่นดินจากทางล้านช้าง (พระไชยเชษฐา) หรือแม้แต่ต้องสึกพระมาก็ตาม (ท้าวแม่กุ)

ดังนั้น เมื่อสิ้นราชวงศ์มังรายไปนานถึง 217 ปีแล้ว บุคคลที่จะมาปกครองเชียงใหม่อีกครั้ง ควรมีความชอบธรรมในระดับหนึ่ง แม้ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขหน่อพุทธางกูรสายตระกูลของพระญามังราย แต่ก็ควรมีความเหมาะสมและยิ่งใหญ่พอที่จะให้ชาวเชียงใหม่ยอมรับได้

เป็นที่มาของการผูก “ตำนานพระนอนขอนม่วง” ขึ้นมานั่นเอง เรื่องย่อมีอยู่ว่า ในอดีตชาติหนึ่งของพระเจ้ากาวิละ เคยเสวยพระชาติเป็น “กุมารยักษ์” หรือ “ธรรมปาละจ่าสวน” เป็นยักษ์คอยเฝ้าสมบัติ ณ เมือง “อินทสังเกต” บริเวณแถบตีนดอยสุเทพฝั่งทิศเหนือ (วัดพระนอนขอนม่วงตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ไกลจากศาลากลางศูนย์ราชการเชียงใหม่ขึ้นไปทางทิศเหนือมากนัก)

วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จมาตรัสเทศน์ให้บรรดามนุษย์ เทวดา และยักษ์ฟัง ธรรมปาละจ่าสวนที่เป็นยักษ์ตนนี้เขี้ยวหลุด (ฟันซี่หนึ่งหัก) และได้ทูลขอเกศาจากพระพุทธองค์บรรจุใน “ข่วงเขี้ยว” นั้น แล้วเอาไปฝังในขอนม่วง กลายเป็นตำนานพระนอนขอนม่วง กระทั่งอีกชาติหนึ่งกลับมาเกิดใหม่กลายเป็นพระเจ้ากาวิละ

เมืองเชียงใหม่ (จุดที่ตั้งวัดพระนอนขอนม่วง แถบเชิงดอยสุเทพ แม่ริม) ในอดีตยุคพุทธกาลมีชื่อว่าเมือง “อินทสังเกต” (ต่อมาเพี้ยนไปเป็น อินทสาเกต) แปลตรงตัวได้ว่า เป็นเมืองที่อยู่ในการเฝ้ามองความเป็นไปโดยพระอินทร์

ตำนานเรื่องนี้จงใจนำเสนอว่า แม้พระเจ้ากาวิละในชาตินี้จะเกิดที่ลำปาง เป็นโอรสเจ้าฟ้าชายแก้วก็ตาม แต่ก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะนั่งเมืองเชียงใหม่โดยสมบูรณ์ อย่างน้อยที่สุด อดีตชาติของพระองค์เคยเป็น “กุมารยักษ์” หรือ “ธรรมปาละจ่าสวน” เคยเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามาแล้ว และทำหน้าที่เฝ้าเมืองให้พระอินทร์ ณ เมืองที่ชื่อ “อินทสังเกต” ต่อมาคือเมืองเชียงใหม่มาแล้ว

ทำให้ราชวงศ์ของพระเจ้ากาวิละที่สืบสายต่อๆ กันมามักมีนามคำว่า “อินทร์/อินท”ปรากฏอยู่เสมอ อาทิ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ แม้ว่าเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย ไม่มีคำว่า “อินท์” ในพระนาม แต่โอรสของพระองค์มีนามว่า “เจ้าพงษ์อินทร์” โอรสเจ้าพงษ์อินทร์ชื่อ “เจ้าวงค์สักก” (ท้าวสักกะ = พระอินทร์) สืบมาจนชั้นหลาน “เจ้าสักกดนู” (แปลว่าหลานของพระอินทร์)

ฉบับหน้าจะมาวิเคราะห์ถึงเนื้อหาในผูกต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างเมืองเชียงใหม่ว่าสามสหายช่วยกันสร้างจริงไหม? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ