มนัส สัตยารักษ์ : กฎหมายในอนาคต

ในรอบเดือนที่ผ่านมา “อัยการ” มีบทบาทเคลื่อนไหวเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างมากมายหลายเรื่อง

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 สำนักงานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สนง.อัยการสูงสุดมีคำสั่งที่ 1621/2560 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2560 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ดำเนินการต่อจาก คตส. แล้วส่งให้ สนง.อัยการสูงสุด หรืออัยการสูงสุดพิจารณา

โดยคำสั่งดังกล่าวได้ให้ นายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงาน

นอกจากชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นของการออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อทดแทนคำสั่งเดิมที่ต้องถูกยกเลิกไปตามวาระ (คำสั่ง สนง.อัยการสูงสุดที่ 168/2557 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557) เนื่องจากได้มีการแต่งตั้งโยกย้ายปรับเปลี่บนตำแหน่งหน้าที่ของคณะทำงานหลายท่าน จึงจำเป็นต้องยกเลิกคำสั่งเดิมและใช้คำสั่งใหม่

นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการฯ ผู้แถลงข่าวกล่าวว่า คำสั่งตั้งคณะทำงานนี้เป็นการตั้งคณะทำงานแบบกว้างๆ ไม่ได้เจาะจงคดีมีผู้ต้องหาเป็นใคร เพราะเมื่อกฎหมายเปลี่ยนให้พิจารณาคดีลับหลังได้แล้ว

คณะกรรมการชุดนี้จะต้องนำคดีที่ค้างอยู่ทั้งหมดขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปว่ายังมีคดีใดคงค้างอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการทำไปตามหน้าที่

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้เช่นกัน อัยการสูงสุดเซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษฎามหานคร และคดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิตในส่วนของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ค้างอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ได้สั่งจำหน่ายดคีในส่วนของนายทักษิณ เนื่องจากไม่เดินทางมาศาลและถูกออกหมายจับไว้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ที่สามารถพิจารณาคดีลับหลังโดยไม่มีตัวจำเลยได้

นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดท่านล่าสุดได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาคดีของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี คณะทำงานดังกล่าวส่วนหนึ่งประกอบด้วยพนักงานอัยการคดีสำนักงานดคีพิเศษ (ที่เป็นต้นเรื่องเดิม) กับพนักงานอัยการ “สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต”

“คณะทำงาน” ทั้ง 2 คณะที่ สนง.อัยการสูงสุดแต่งตั้งข้างต้นนี้ แม้จะพยายามแจงว่าเป็นการตั้งคณะทำงานแบบกว้างๆ “ไม่ได้เจาะจงคดีมีผู้ต้องหาเป็นใคร” แต่ก็หนีไม่พ้นคดีที่มี นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมืองของเขา เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย

สรุปแล้วอัยการสูงสุดกำลัง ก้าวใหญ่ ไปกับสองคณะทำงานที่ตั้งขึ้น โดยขอแยกให้เห็นชัดและเรียกง่ายว่าเป็น -คดี คสช. (ป.ป.ช.) กับ -คดี คตส.

ทั้งคดี คสช.และ คตส. ล้วนมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ ดังนั้น ผลของมันจึงย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของ นายทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งไม่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศด้วยเช่นกัน

จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเสียงสะท้อนกลับเชิงต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการรี้อฟื้นเพื่อ “ไปต่อ” กับดคีต่างๆ

นักวิชาการอิสระบางท่านมองว่า “เป็นการแก้กฎหมายย้อนหลัง หวังแก้แค้นทางการเมือง”

บ้างก็พรั่งพรูคำประชดอย่างหยาบคายออกมาจากสื่อโซเชียล…

“…มรึงรื้อคดีพวกนี้หน่อย ได้ไหมวะ

…สลายการชุมนุม, สั่งฆ่าคนตาย 100 ศพ, ทุจริต จีที 200, โกงโรงพัก 396 โรงพัก, โกงชุมชนพอเพียง, โกงไทยเข้มแข็ง, มหากาพย์แบ่งเค้กพรรคร่วม, ทุจริตครุภัณฑ์อาชีวศึกษา, ทุจริตสั่งซื้อเครื่องบินการบินไทย, รวมทั้งคดีที่เสร็จสิ้นไปแล้วในชั้นศาลฎีกา เช่น คดี ปรส. 800,000 ล้านบาท ฯลฯ รวมนับได้ราว 30 เรื่อง

นั่นหมายถึงว่าถ้าจิตใจเยือกเย็นกว่านี้ พิจารณาไปให้ทั่วทุกยุคสมัย เราอาจจะได้ตัวเลขเป็นร้อยหรือเป็นพันคดี

แม้แต่อดีตอัยการสูงสุด นายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีส่วนได้เสียกับเหตุรัฐประหารมาแต่ไหนแต่ไร ก็ยังให้ความเห็นไว้ว่า

“การออกกฎหมายนั้น จะมีผลย้อนหลังโดยเป็นโทษต่อจำเลยไม่ได้ เพราะเริ่มแรกที่มีการพิจารณาคดี จำเลยรู้ว่าวิธีการพิจารณาคดีอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับ นายทักษิณ ชินวัตร มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่สุดแล้วก็อยู่ที่การตีความของศาลยุติธรรมว่าสามารถทำได้หรือไม่”

ซึ่งหมายความว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ กฎหมายสำคัญจะต้องได้รับการพิจารณาเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกแน่นอน!

จากภาพเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาหลังรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง เราจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาของวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา พรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ปชป. เพื่อไทย หรือทีม คสช. ของรัฐบาล องค์กรราชการต่างๆ กลุ่มผู้สื่อข่าวการเมือง รวมทั้งองค์กรที่ต้องข้องเกี่ยวกับกฎหมาย ล้วนมี “มือกฎหมายระดับพระกาฬ” ประจำกองกันทั้งสิ้น กองละกว่าสิบ-ยี่สิบคน

แต่ในวันนี้บรรดา “มือพระกาฬทางกฎหมาย” ทั้งหลายแหล่ ต่างปิดปากเงียบสนิท ในขณะที่ฝ่ายของรัฐบาลกำลังลุยตกแต่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ป.ป.ช. (กฎหมายปราบโกง) เพื่อปกป้องตนเองไว้ล่วงหน้า ด้วยการลดสเป๊กการเปิดเผยทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องเปิดเผย

โดยลดจากการเปิดเผยรายการทรัพย์สิน “อย่างละเอียด” มาเป็น “โดยสรุป” ซึ่งจะทำให้แทบไม่เห็นอะไรเลย

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ให้ความเห็นว่า การเปิดเผยอย่างละเอียดเป็นการไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น บัญชีทรัพย์สินเหล่านี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียง “เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเท่านั้น”

สำหรับส่วนตัวของผม ประโยคว่า “เคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น” นี่ค่อนข้างคุ้นนะครับ ดูเหมือนจะเป็น “ช่องทาง” หรือ “ทางออก” ของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระดับมือพระกาฬที่ผ่านมาเสียจริงๆ

ด้วยวิสัยของตำรวจเก่า ผมเชื่อว่านักกฎหมายมือพระกาฬ ซึ่งเท่ากับเป็นแม่ทัพและมันสมองของหน่วย ต่างเฝ้า “ส่อง” ดูความเป็นไปอย่างเกาะติด เพราะว่ากันไปแล้ว ถ้าไม่มีใครกล้า “เบี้ยว” โรดแม็ป เราคงจะได้เลือกตั้งกันในเวลาอีกไม่นาน

นั่นย่อมหมายถึงการแก้กฎหมายด้วยระบบ “ทีใครทีมัน” ก็อีกไม่นานเช่นกัน