ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (3)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ
: บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (3)

 

ปกติแล้วการตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าจีนในบ้านหรือที่เรียกว่า “ตั๋ว” ศัพท์บ้านๆ ของคนจีนโพ้นทะเลในภาคใต้ของไทยนิยมเรียกว่า “หน้าพระ” นั้น จะต้องกำหนดเรื่องฤกษ์ยามโดยสัมพันธ์กับดวงชะตาเจ้าของบ้าน ตัวแท่นก็มีขนาดและความสูงที่เป็นมงคล อาศัยการวัดจากไม้บรรทัดตามระบบช่างจีนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของทิศทางต่างๆ แม้ว่าโดยมากจะนิยมหันหน้าพระออกไปทางหน้าบ้าน แต่ผู้สันทัดกรณีเล่าให้ผมฟังว่า ที่จริงการตั้งตั๋วพระก็เหมือนคนเราตั้งบ้านเรือน จำจะต้องอาศัยวิชาฮวงจุ้ยเข้ามาเกี่ยวข้องเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เทพเจ้านั้นมีพลังอำนาจและทำให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุข จึงมีเรื่องลม น้ำ แสงสว่างและพลังของธาตุต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งภูมิศาสตร์มงคลเสือขาวมังกรเขียว ฯลฯ อันนี้ก็ขึ้นอยู๋กับว่าอาจารย์ที่มาทำพิธีให้นั้นมีความละเอียดลออแค่ไหน

แต่อย่างน้อยๆ หน้าพระจะต้องมีหลังพิงเหมือนกับภูเขาเพื่อความมั่นคง จึงนิยมมีผนังด้านหลัง โต๊ะหรือแท่นก็ต้องแข็งแรงมั่นคงเช่นกัน และควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ

ผมอยู่บ้านแบบตึกแถวซึ่งชั้นล่างไม่เหมาะที่จะวางแท่นบูชาเพราะไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสม จึงเลือกใช้ชั้นลอยของบ้านที่สงบเงียบ ไม่ค่อยมีอะไรรบกวน อาจารย์ผู้ประกอบพิธีก็เห็นชอบด้วย

ส่วนองค์เทวรูปหรือที่เรียกว่ากิมซิ้น (ร่างทอง) นั้น ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เทวลักษณะจะต้องถูกต้องตามเทวตำนานหรือขนบของท้องถิ่น มีขนาดเหมาะสมกับแท่นบูชาและตรงตามไม้บรรทัดมงคล นิยมทำจากไม้แกะสลักมากกว่าวัสดุอื่นๆ ขนาดที่ตั้งในบ้านก็มีตั้งแต่สูงแปดนิ้ว สิบนิ้ว สิบสองนิ้วและสิบหกนิ้ว ใหญ่กว่านั้นก็อาจไม่เหมาะแก่การประดิษฐานในบ้านเรือน

เหตุที่ต้องเป็นไม้ก็เพราะอย่างนี้ครับ นอกจากจะเป็นวัสดุที่หาง่ายและแกะสลักได้สะดวกแล้ว อาจารย์ของผมท่านว่า ไม้นั้น “มีชีวิต” หรือพลังชีวิตตามธรรมชาติของเขาเอง เหมาะแก่การนำมาสร้างเทวรูปให้มีพลังชีวิตเช่นกัน และเหมือนเคยได้ยินว่าพลังเทพหรือตัวเทพเจ้าถือเป็นธาตุไฟ ไม้หนุนเสริมธาตุไฟได้ จึงเป็นวัสดุที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ช่างแกะสลักที่ทำตามประเพณีจะมีขั้นตอนสำคัญ คือเมื่อได้ท่อนไม้ที่จะนำมาแกะ(มักนิยมไม้จวงหอมเพราะว่ากันว่าแมลงและมอดไม่กิน) ช่างจะดูฤกษ์ยามเพื่อ “เปิดหน้าไม้” คือแปะป้ายชื่อเทพองค์นั้นหรือยันตร์ลงบนท่อนไม้ บริกรรมคาถาแล้วใช้ขวานจามท่อนไม้นั้นพอเป็นพิธี จากนั้นจึงค่อยๆ แกะสลักต่อไป

การทำเช่นนี้ก็เหมือนการ “ปฏิสนธิ” คือกำหนดให้ไม้นั้นจะก่อกำเนิดเป็นรูปของเทพองค์ใดในอนาคต เมื่อกำหนดแล้วว่าไม้ท่อนนั้นจะแกะเป็นเทพอะไรก็จะไม่มีการเปลี่ยนเป็นองค์อื่นอีก แต่ในปัจจุบันมีผู้นิยมนำเอาเทวรูปเก่ามาซ่อมแซมและยังดัดแปลงให้กลายเป็นเทพเจ้าองค์อื่นๆ ผู้รู้ท่านว่าเรื่องนี้แปลกจากธรรมเนียมเพราะเหมือนกำหนดวิญญาณมาตั้งแต่ตอนปฏิสนธิแล้วว่าจะให้เป็นใคร แต่ยังเอาไปแต่งให้กลายเป็นองค์อื่น ขัดกับสิ่งที่ได้กำหนดไว้แต่ต้น

งานแกะสลักก็มีรายละเอียดอีกครับ เช่น งานไม้แกะล้วน แกะผสมการฉีดลาย ปิดทองหรือแค่ลงสี มีสกุลช่างหลายสกุลให้เลือก ตั้งแต่ช่างไทย ช่างจีนสกุลเมืองต่างๆ เอ้หมึง เมืองจ่วนจิ๊ว งานไต้หวัน มีสำนักอาจารย์นั่นนี่ ราคาก็มีตั้งแต่พันต้นๆ ไปจนถึงหลายหมื่นหรือหลายแสน

ส่วนผมไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงเลือกที่เรียบๆ ไม่ฉูดฉาดหวือหวา ตรงตามขนบและไม่แพงจนเกินไป

 

ปัจจุบันเทวรูปไม้แกะสลักเหล่านี้หาได้ไม่ยากนัก เพราะมีผู้นำเข้าจากเมืองจีนและไต้หวันมาขายอยู่หลายเจ้า แถมยังเกิดมีธุรกิจนำเข้า “เทวรูปมือสอง” คือเทวรูปที่ผ่านการบูชามาแล้วมาขายในราคาถูกอีกด้วย

เทวรูปมือสองที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากในบ้านเรา ผมสงสัยว่าอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เลิกกราบไหว้อะไรพวกนี้ของปู่ย่าตายายแล้ว ไหนๆ จะทิ้งก็เอาขายเสียดีกว่า

หรือจะเป็นนโยบายไม่ส่งเสริมศาสนาในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ทำให้คนเริ่มเอาของเก่าพวกนี้ในบ้านมาขาย หรือทางไต้หวันเองเห็นว่าจีนเริ่มจะฮึ่มๆ สู้ส่งเทวรูปไปอยู่บ้านเมืองอื่นยังดีกว่าถูกทิ้งทำลาย ผมก็ไม่ทราบได้

คนที่นิยมเทวรูปเก่าก็มีสองแบบ คือแค่ชอบสะสมงานศิลปะเก่าๆ กับเช่ามาบูชากราบไหว้ บางคนว่ายิ่งมีร่องรอยบูชามีเขม่าธูปเทียนจนดำเขรอะๆ ก็ยิ่งขลัง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเอามาทำพิธีปลุกเสกใหม่

แต่ก็ลืมไปว่าความเก่าแบบรอยควันธูปควันเทียนนี่ก็สร้างขึ้นได้ไม่ยาก

 

เทวรูปบางองค์มีการ “อัดธาตุ” (หยิบสีน) คือบรรจุสิ่งต่างๆ ลงไปในเทวรูป เช่น ด้ายห้าสี หยก แผ่นโลหะ ธัญพืช เพื่อให้มีพลังของธาตุต่างๆ อย่างครบถ้วน

บางสำนักก็มีวิชาที่น่ากลัว เช่น การบรรจุเอาสัตว์มีพิษตัวเล็กๆ ลงไป เช่น ตัวต่อ ผึ้ง ตะขาบ จากนั้นอุดปิดผนึกโดยที่สัตว์นั้นยังเป็นๆ แล้วปล่อยให้ตายภายในเทวรูป โดยเชื่อว่าพลังชีวิตหรือปราณของสัตว์นั้นจะซ่านอยู่ในเทวรูปทำให้เฮี้ยนหรือขลังยิ่งขึ้น แต่เรื่องนี้มิใช่จะกระทำกันโดยทั่วไปเพราะก็ถือเป็นบาปกรรม อีกทั้งอาจทำให้เกิดโทษภัยต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างเทวรูปไว้แทนตัว เช่น มีผู้ตายหรือเจ็บป่วย มีเคราะห์ต่างๆ ก็มักสร้างเอาไว้แล้วไปถวายตามศาลเจ้า มีผู้เล่าให้ผมฟังว่าเทวรูปบางองค์มีคนไปขอ “ทอน” ซึ่งหมายถึงขอซื้อจากศาสนสถานหรือจากศาลเจ้า หรือมีบ้างก็ซื้อจากร้านขายมือสอง

ปรากฏว่าพอแกะช่องอัดธาตุออกมาก็เจอกระดาษเขียนด้วยภาษาจีนยัดไว้ แปลความได้ว่าเป็นพระแทนคนป่วยชื่อนั่นนี่ ทำเอาผู้ได้ไปต้องรีบเอาไปคืนโดยเร็วเพราะกลัวจะพาเอาวิญญาณใครเข้าบ้านมาด้วย

นี่เป็นเรื่องต้องระวังในการซื้อเทวรูปมือสอง อีกทั้งยังมีเรื่องเทวรูปที่ไปลักขโมยเอามาจากศาลเจ้าๆ เก่าในบ้านเรานี้เอง บางทีก็เอาไปแปลงโฉมจนจำไม่ได้

 

อันที่จริงเทวรูปในบ้านผม มีทั้งที่เป็นมือสอง (ด้วยเพราะราคาและรูปแบบที่หาได้ยาก) แต่ก็นำเอามาบูรณะปรับปรุงให้เหมือนใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าพิธีเทวาภิเษกหรือเบิกพระรัศมี (เตี่ยมหง้านค่ายก๊อง) ได้ มีทั้งองค์ที่เป็นของใหม่เอี่ยมและก็มีทั้งผู้เมตตามอบให้ ซึ่งเผอิญเป็นเทพเจ้าที่ขาดอยู่พอดีและเข้าชุดกับองค์อื่นๆ อย่างเหมาะเจาะ ผมจึงนับเป็นเรื่องมงคล

อีกทั้งผู้ประกอบพิธีได้มาตรวจสอบละครับว่าปลอดภัย และได้เช็กที่มาที่ไปของเทวรูปเหล่านั้นด้วยแล้ว

การค่อยๆ มีสะสมทีละองค์สององค์เป็นวิถีของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย กว่าจะครบรอทำพิธีได้ก็ต้องใช้เวลา บางคนมีสตางค์มากก็สามารถเลือกมาในคราวเดียวได้เลย จะเลือกสีสันรูปแบบให้เหมือนหรือต่างกันอย่างไรก็ได้ตามประสงค์

จำนวนเทวรูปในบ้านจะมีมากน้อยเพียงใดยังมิเคยเห็นผู้ใดกำหนดไว้ บ้างก็ว่าให้เป็นเลขคี่ แต่ผมก็เห็นหลายที่มีเทวรูปจำนวนคู่ ถือตามเลขมงคลต่างๆ บางบ้านก็มีองค์เดียวซึ่งที่ยอดฮิตคือพระฮกเต็กเจ่งสีน (ปุ้นถ่าวกง) หรือพระภูมิเทวดา เพราะถือเป็นเจ้าของพื้นที่ ใกล้ชิดมนุษย์ที่สุด ทั้งยังช่วยเรื่องโชคลาภของคนในบ้านด้วย

บ้างก็มีกลุ่มเทพยอดฮิตหรือที่ผมเรียกว่า “พระสามัญประจำบ้าน” ผมเคยเห็นภาพวาดจีนสำหรับตั้งบูชา เป็นเซ็ตเทพเจ้าที่นิยมบูชาในบ้านของคนฮกเกี้ยน ภาพนี้มีทั้งในจีนและไต้หวัน แต่ในเมืองไทยอาจไม่แพร่หลายเท่า ประกอบด้วยเจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์กวนอิมอยู่บนสุด ด้านล่างแบ่งซ้ายขวาเป็นพระกวนอูหรือกวนเส่งเต่กุน อีกฝั่งเป็นพระม่าจ้อหรือเจ้าแม่ทับทิม ด้านล่างสุดซ้ายขวามีเจ้าเตาไฟหรือซีเบ่งจ้าวกุน อีกด้านคือฮกเต็กเจ่งสีน

เป็นอันครบถ้วนเทพอันควรสักการะในบ้าน

พระโพธิสัตว์กวนอิมนั้นนิยมโดยทั่วไปไม่ว่าจะถือพุทธหรือถือศาสนาพื้นบ้านแบบผสมกันของจีน

ส่วนพระกวนอูนั้น นอกจากเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ยังเชื่อว่าเป็นเทพแห่งทรัพย์ และคนค้าขายยังเชื่อว่าทำให้ลูกน้องบริวารเกรงกลัว

เจ้าแม่ม่าจ้อนั้นเชื่อกันว่ามีคุณพิเศษในการปกป้องคุ้มครองการเดินทาง รวมทั้งนิยมนับถือว่าท่านช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ได้อีกสารพันเพราะท่านทรงเมตตาธิคุณมาก

อันที่จริง การตั้งแท่นบูชามักจะต้องกำหนดเทพประธานของแท่นบูชานั้น เรียกว่า “จู่ตั๋ว” เช่นเดียวกันกับศาลเจ้าที่ต้องมีเทพประธานของแต่ละศาล ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งตรงกลางสูงสุดบนแท่นบูชา

การเลือกเทพประธานไม่เกี่ยวข้องกับยศหรือตำแหน่งของเทพ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมียศใหญ่สุดในกลุ่มเทพบนแท่นนั้นทั้งหมดเพราะถือเป็นเจ้าของบ้าน ส่วนองค์อื่นจะมียศใหญ่แค่ไหนก็เป็นผู้ร่วมอาศัย

กระนั้น การจัดลำดับบน-ล่าง ซ้าย-ขวาบนแท่นบูชาก็ยังมีรายละเอียดอีก เป็นต้นว่าคนจีนถือว่าด้านซ้ายใหญ่กว่าขวา หลักการนี้ทำให้เจ้าของบ้านต้องคิดว่า เมื่อประดิษฐานเทวรูปประธานแล้ว ด้านซ้ายของท่านจะวางเทวรูปองค์ใด เพราะถือเป็นตำแหน่งสำคัญรองลงมา บางครั้งก็คิดกันว่าจะถือทางพุทธหรือทางเต๋าสำคัญกว่า จะได้เลือกเทพของทางนั้นไปอยู่ด้านซ้าย หรือบางตำราก็ว่าให้ถือแบบคติหยินหยางคือเทพฝ่ายสตรีอยู่ทางซ้ายก็มี

เล่าไปเล่ามาก็ล่วงสามตอนโดยยังไม่ถึงเรื่องพิธีกรรมเลยครับ แต่หวังใจว่าท่านผู้อ่านจะยังคงเพลิดเพลินกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้

ส่วนตอนหน้าจะเป็นเรื่องใดนั้น

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (1)

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (2)