ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ

: บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (2)

 

หลังจากได้ทราบภูมิหลังของบรรพชน ผมจึงคิดว่าตนเองควรจะทำอะไรบางอย่าง ซึ่งง่ายที่สุดก็คือบูชาสิ่งเดียวกับที่บรรพชนบูชา และในฐานะลูกหลานก็ควรจะบูชาบรรพชนด้วย จากนั้นจะศึกษาหาความรู้อะไรต่อก็ค่อยว่ากันอีกที

ที่จริงผมมีแผนการจะตั้งที่บูชาในบ้านอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดถึงพระโป้เส้งไต่เต่เลย เหตุเพราะรู้สึกว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่มียศสูงเกินไป เกินเอื้อมเกินใฝ่ฝัน

ลองนึกถึงคนที่บ้านอยู่ใกล้ศาลเจ้าอย่างผม เห็นเทศกาลไหนๆ ก็มีคนมากราบไหว้ท่านมากมาย คนบอกเล่าถึงยศที่สูงส่งของท่าน แม้แต่เทพด้วยกันยังกราบไหว้ และในแถบถิ่นบ้านเกิด น้อยมากที่จะตั้งที่บูชาของท่านในเรือนตน

ดังนั้น ในเบื้องต้นผมจึงตั้งใจจะบูชาแค่เทพเจ้า “สามัญประจำบ้าน” เช่น ฮกเต็กเจ้งสีนหรือพระภูมิเทวดา และเจ้าเตาไฟอันเป็นที่นิยมกันโดยทั่วๆ ไปเท่านั้น

อย่างมากก็น่าจะมีพระประจำตระกูลแซ่ตามระบบนิยมของคนฮกเกี้ยนมาเพิ่มเติม คือ เทพเจ้า “ซุนเจ่งฮู้ไต่อ๋อง” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแซ่อึ๋งหรืออุ๋ย

แต่สุดท้ายพระโป้เส้งไต่เต่กับผมก็มีวาสนาต่อกัน ส่วนซุนเจ่งไต่อ๋องก็ไม่ได้บูชาตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก

 

อ่อ ผมจำต้องเล่าขยายสักนิดครับว่า คนจีนถิ่นใต้ในประเทศจีนหลายกลุ่ม โดยมากมิค่อยได้มีความนิยมในการตั้งเทวรูป (กิมซิ้น) เทพเจ้าไว้ในบ้านตน ด้วยถือกันว่าบรรพชนเป็นเทพเจ้าในเรือนอยู่แล้ว จึงนิยมตั้งแท่นบูชาบรรพชนมากกว่า

ครั้นจากบ้านเมืองมาอยู่สยาม บ้างก็นิยมบูชาเต่กี้จู้หรือตี่จู่เอี๊ยะในสำเนียงแต่จิ๋ว ซึ่งเป็น “เจ้าที่เจ้าทาง” หรือในศักดิ์ “ผีเรือน” เหตุเพราะมิใช่บ้านของตนเอง จะเอาบรรพชนมาสถิตก็มิสมควร หากจะบูชาเทพอย่างมากก็เขียนเพียงตัวอักษร “สีน” (หรือซิ้ง) ที่แปลว่าเทพเจ้าเอาไว้ในหิ้งด้านบน ถือเป็น “ปุนถ่าวกง” หรือเทพคุ้มครองชุมชน แต่หากเป็นพุทธศาสนิกชนก็อาจตั้งหิ้งพระหรือมีพระกวนอิมประดิษฐาน

คนจีนบางกลุ่มถึงกับสอนกันว่า ให้ไหว้บรรพชนในบ้านได้ แต่หากประสงค์จะไหว้เทพเจ้าก็ต้องมาที่ศาลเจ้าของกลุ่มภาษาตนซึ่งมีลักษณะเป็น “สมาคม” เท่านั้น

แต่ในบรรดาจีนถิ่นใต้ทั้งหมด ดูเหมือนคนฮกเกี้ยนมีธรรมเนียมอีกแบบ คือนิยมตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าที่เรียกว่า “ตั๋ว” ไว้ในบ้าน พร้อมทั้งที่บูชาบรรพชนด้วย

และยังนิยมนำเอารูปเคารพ (กิมซิ้น) มาประดิษฐานในเรือน

เรื่องนี้ผมเห็นว่ามีทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ในไต้หวันและในไทย

 

ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะอิทธิพลของศาสนาเต๋าแบบชาวบ้านที่แพร่หลายในดินแดนนั้น อีกทั้งชาวฮกเกี้ยนหลายคนเป็นผู้ประกอบพิธี (ฮวดกั้ว/ไซก้อง) และเป็น “ม้าทรง” (กี่ต๋อง) ตามความเชื่อของศาสนาท้องถิ่น จึงมักทำบ้านให้กลายเป็น “สำนัก” เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ และบูชาเทพเจ้าที่ตนเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ชาวฮกเกี้ยนยังนับถือเทพเจ้ามากมายและในหลายลักษณะ ผมลองแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

อย่างแรก เทพเจ้าของท้องถิ่นหรือเทพจากเมืองของบรรพชน มีเทพเจ้าหลายองค์ที่เป็นคนฮกเกี้ยนและเป็นที่เคารพมากในท้องที่ที่ท่านเคยอาศัยอยู่ หรือมีศาลต้นกำเนิด (จ้อเบ่ว) ในถิ่นนั้น เมื่อมีการอพยพเคลื่อนย้ายคนไปยังที่อื่น ก็มักนำเทพจากท้องถิ่นตนไปบูชาในดินแดนใหม่ด้วย

ดังนั้น เราจึงอาจพอเดาได้ว่า หากมีศาลของเทพองค์ใดก็จะมีคนจากถิ่นนั้นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นพระโป้เส้งไต่เต่เป็นเทพจากอำเภอตังอั๊ว เมืองจ่วนจิ๊ว (เฉวียนโจว) พระเฉ่งจุ้ยจ้อซูหรือที่รู้จักในนามโจวซือกงเป็นเทพจากอำเภอหย่งชุน เมืองจ่วนจิ๊ว เป็นต้น ดังนั้น การมีศาลเจ้าไต่เต่เอี๋ยที่ระนองจึงเดาได้ว่าผู้อพยพเป็นคนฮกเกี้ยนที่มาจากจ่วนจิ๊วและเอ้หมึง (เซียะเหมิน) เป็นหลัก

กระนั้นเทพท้องถิ่นบางองค์ก็มีความนิยมออกไปนอกท้องถิ่นด้วย เช่น พระโป้เส้งไต่เต่เองก็เป็นที่สักการะของชาวแต้จิ๋วบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนร่วมแซ่ (ฮกเกี้ยน “หงอ” แต้จิ้วว่า “โง้ว” ) ถือเป็นเทพบรรพชน หรือที่สมาคมไท้ปูของชาวฮากกาก็นับถือท่านเป็นพิเศษ ว่ากันว่าเพราะท่านได้ดูแลรักษาชาวไท้ปูอย่างมากมาย

ตัวอย่างของเทพเจ้าท้องถิ่นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศจีนหรือทั่วโลก คือพระเทียนสย่งเส่งโบ้ (พระราชชนนีสวรรค์) หรือพระม่าจ้อโป๋ (หม่าโจ้ว ) ที่คนไทยนิยมเรียกกันว่าเจ้าแม่ทับทิม เดิมท่านเป็นเทพท้องถิ่นของเมืองผู่เถียน มณฑลฮกเกี้ยน และมีศาลหลักอยู่ที่เกาะบี่จิ๊ว

แต่ด้วยเพราะท่านเป็นผู้ปกป้องคนเดินทางและได้รับการเชิดชูจากราชสำนักจีนมาโดยตลอด จึงทำให้เป็นที่สักการะของผู้อพยพชาวจีนทั่วโลกที่นำท่านติดตัวไปเพื่อคุ้มครองให้ปลอดภัย

พอนึกถึงเรื่องเทพท้องถิ่นนี้ก็ทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจนะครับ บรรพชนของเรามิได้เป็นเพียงผู้อพยพเดียวดาย เดินทางมาเสี่ยงโชคไกลร้อยลี้พันลี้จากบ้านเกิด แต่ยังพาเทพเจ้าอพยพมากับตัวด้วย เทพเจ้าจึงเป็นทั้งเพื่อนในยามทุกข์ทน เป็นหมอยามป่วยไข้ เป็นสิ่งบรรเทาใจยามระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน

ผมผู้เกิดไม่ทันทวด ไม่สนิทกับก๋งสักเท่าไหร่ เป็นลูกเจ๊กหลานจีนที่ไม่รู้ภาษาจีนสักตัว เหลือเพียงนามสกุลจีนบนหน้าอก การได้เชื่อมโยงกับเทพเจ้าที่บรรพชนของตนเคารพรัก จึงมีความหมายเท่ากับได้เชื่อมโยงกับบรรพชนด้วยอีกโสดหนึ่ง

 

อย่างที่สอง เทพของสายตระกูล ชาวฮกเกี้ยนนิยมบูชาเทพเจ้าผู้เป็นบรรพชนหรือร่วมแซ่กับตนเอง กล่าวคือ ในอดีตมีบุคคลในแต่ละแซ่ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าจากคุณงามความดี คนในแซ่นั้นก็มักนิยมนับถือสืบกันมา เช่น คนแซ่ตันก็มีพระเฉ่งจุ้ยจ้อซู หรือพระคายเจียงเส้งอ๋อง (ตันเส้งอ๋อง), แซ่หลิมมีพระหลิมฮู้ไท่ซู หรือพระม่าจ้อโป๋ แซ่ของผม (อุ่ย อุ๋ย อึ๋ง อึ๊ง หวง ว่อง) นิยมนับถือพระซุนเจ่งไท่จู้ หรือพระซุนเจ้งฮู้ไต่อ๋อง, พระอึ๊งไต่เซียนและพระอึ๋งฮู้อ๋องเอี๋ย เป็นต้น

อย่างที่สาม เทพเจ้าผู้เป็นเทวาจารย์ บูรพาจารย์หรือปรมาจารย์ ในหมู่ผู้ใช้เวทมนตร์หรือไสยเวทจีนของฮกเกี้ยน ต่างก็มีครูบาอาจารย์ผู้สืบสายวิชาลงมาและได้รับยกย่องเป็นเทพ ก็จะต้องนับถือเทพเจ้าผู้เป็นเทวาจารย์เหล่านั้น เช่น ในวิชาไสยเวทเต๋าสายลื่อซาน ก็จะนับถือพระผ้ออ้ามจ้อซู้ หรือเทพเจ้าอื่นๆ เช่น กิ่วเที้ยนเหี่ยนลื้อ เตียวฮู้เทียนสือ ฯลฯ

ท่านเหล่านี้โดยมากคือผู้ใช้เวทมนตร์ในอดีต ผมเข้าใจว่าเทพเจ้าอีกจำนวนมากที่มิใช้เทวาจารย์ก็เป็นผู้ใช้เวทมนตร์เช่นกัน แม้อาจมิได้ตั้งสำนักหรือสายการใช้เวทมนตร์อย่างเทวาจารย์ เช่นพระม่าจ้อโป๋ หรือพระโปเส้งไต่เต่ ดังนั้น เทพหลายองค์ที่เรารู้จักจริงๆ แล้วคือแม่มดพ่อหมอผู้เยียวยาด้วยสมุนไพรและคาถาอาคมนั่นเอง

 

อย่างที่สี่ เทพอันเป็นที่นิยมโดยทั่วไปหรือเทพประจำบ้าน เช่น พระภูมิเทวดา (ฮกเต็กเจ้งสีน) หรือแปะกง อันนับถือว่าเป็นเทพโชคลาภในครอบครัวด้วย (คนละแบบกับการตั้งเต่กี้จู้หรือตี่จู่เอี๊ยะ) เจ้าเตาไฟหรือซูเบ่งเจ้ากูน, พระกวนอู, พระกวนอิม, เทพโชคลาภ (จ่ายสินเอี๋ย) ไต่เส่งปุดจ้อหรือเทพวานร ฯลฯ

เทพเจ้าเหล่านี้บางคนอาจไม่ได้ตั้งแท่นบูชาเป็นกิจจะลักษณะ แต่ประดิษฐานไว้ในฐานะสัญลักษณ์สิริมงคล เช่น รูป “ฮกลกซิ่ว” รูปจ่ายสินเอี๋ยหรือเทพโชคลาภ หรือการตั้งรูปกวนอูในหมู่คนค้าขาย จึงไม่มีพิธีประดิษฐานหรือการบูชา

อย่างที่ห้า เทพเจ้าเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะลัทธินิกาย บางกลุ่มก็มีเทพเจ้าของตนเอง ทั้งที่นับถือกันมาแต่โบราณ หรือสถาปนาขึ้นใหม่ เช่น “ดาโต๊ะกง” เป็นเจ้าที่เจ้าทางที่เกิดขึ้นในแหลมมลายู มักทำรูปเป็นชายชราสวมชุดอย่างคนมุสลิมหรือคนมาเลย์ นิยมนับถือในมลายูและยังแพร่ไปสู่เมืองจีน หรือ “พระฮู้อ๋องเอี๋ย” ที่เป็นพระกลุ่มพิเศษเกี่ยวข้องการการตรวจการณ์ฟ้าหรือเกี่ยวข้องกับโรคระบาด ซึ่งเกิดขึ้นในฮกเกี้ยน

อย่างที่หก เทพจากศาสนาหลักที่ตนนับถือ เนื่องจากเมืองจีนมีการผสมผสานของพุทธ เต๋าและหยูหรือขงจื่อ จึงมักกราบไหว้บูชาเทพเจ้ารวมๆ กันไป กระนั้น หากบางคนนับถือเพียงศาสนาเดียว หรือเน้นศาสนาที่ตนนับถือเป็นพิเศษ ก็จะมีเทพสำคัญในศาสนาของตนเป็นหลักบนแท่นบูชา เช่น ตรีวิสุทธาจารย์ (ซำเช้งเต๋าจ้อ) หรือบรมเทพของศาสนาเต๋าทั้งสามองค์

คนที่เน้นพุทธอาจนับถือเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ เป็นหลัก และผสมกับการนับถือเทพเจ้า

 

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกนับถือเทพด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก เช่น การเลือกเทพเพื่อเป็นสัญญะบางอย่างของ “สมาคมลับ” หรือขบวนการทางการเมือง เช่น กิ้วหองไต่เต่ (นพราชาธิราช) ในช่วงงานกินเจหรือเจี่ยฉ่าย หรือพระบู๊ๆ อย่างพระกวนอู อันนี้จะเป็นที่รู้กันในกลุ่มของตนว่ามีความหมายเช่นใด

ส่วนเทพที่ใหม่มากๆ ยังคงมีในไต้หวัน เช่น คนดังที่เสียชีวิตไปแล้วก็อาจมีการตั้งเป็นเทพ เช่น คุณเติ้งลี่จวิน หรือนายทหารญี่ปุ่นบางคน กระนั้นเรื่องนี้ก็มีความคิดแตกออกไปสองแบบ แบบแรกคิดว่าเมื่อสิ้นโอรสสวรรค์ (ฮ่องเต้) แล้วการตั้งเทพโดยพระบรมราชโองการจะกระทำมิได้อีก (สมัยก่อนฮ่องเต่ตั้งหรือปลดเทพได้) กับที่เชื่อว่ายังสามารถตั้งเทพใหม่ๆ ได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม

ไปๆ มาๆ บทความตอนนี้ก็ยังมิได้กล่าวถึงเรื่องพิธีกรรมเลยครับ เอาเป็นว่าได้แวะเสนอความรู้ข้างทางไปก่อน อีกอย่างผมจำต้องเรียนว่า ความรู้พวกนี้โดยมากเกิดจาการฟังท่านผู้รู้มาอีกที จึงอาจมีตกหล่นหรือผิดพลาดไปบ้าง ก็ต้องกราบขออภัย

และได้โปรดติดตามต่อ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (1)