ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เทวรูปโป้เส้งไต่เต่ ณ วัดต้าหลงตงเป่าอัน (大龍峒保安宮 - Dalongdong Baoan Temple) ในไทเป ประเทศไต้หวัน

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ
: บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (1)

 

คนจีนมีสุภาษิตว่า “ดื่มน้ำไม่ลืมต้นน้ำ” มีความหมายในทำนองว่า คนรุ่นหลังไม่ลืมรากเหง้าที่มาของตนเอง ดุจเมื่อได้ดื่มน้ำก็ไม่ลืมว่าน้ำที่ได้ดื่มดับกระหายนั้นไหลมาจากไหน

หลายท่านคงทราบดีว่าผมหลงใหลคลั่งไคล้อินเดียในทางศาสนาและวัฒนธรรมมากเพียงใด มีครูบาอาจารย์เป็นชาวอินเดียที่เคารพนับถือ ไปท่องเที่ยวก็นิยมชมชอบที่จะไปอินเดียได้ซ้ำๆ โดยไม่เบื่อ

ได้ทำมาหากินทั้งสอนหนังสือและเขียนบทความในมติชนก็ด้วยความสนใจในเรื่องอินเดียนี้เอง

ทว่า นามสกุล “อุ่ยเต็กเค่ง” ที่ติดตามตัวผมไปทุกที่นั้น ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นภาษาจีน ญาติพี่น้องผมก็ยังเรียกด้วยภาษาจีน ยังไหว้เจ้า กล่าวคือ เป็นลูกเจ๊กหลานจีนโดยสายเลือดโดยเนื้อโดยตัวนั่นแหละ

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเรียกผมด้วยความเอ็นดูว่า “เจ๊กที่กลายเป็นแขก” ซึ่งทั้งน่าขันและชวนคิดในเวลาเดียวกันว่ามันจะเข้ากันได้ไหม

 

อันที่จริง ความเป็นจีนในบ้านของผมเจือจางไปมากยิ่งกว่ามาก เหตุว่าพวกเราเป็นบ่าบ๋าหรือจีนลูกผสมก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็เพราะผมเป็นลูกหลานจีนในรุ่นที่ห้าแล้ว ขณะที่เพื่อนชาวไทยเชื้อสายจีนบ้านอื่นอาจเป็นเพียงรุ่นสองหรือรุ่นสามเท่านั้น ยังคงพูดจีนในบ้านกับอากงอาม่าได้ หรือยังติดต่อสัมพันธ์กับญาติพี่น้องในเมืองจีนอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงรุ่นปู่หรือรุ่นก๋งของผม มีความพยายามที่จะถอยห่างจากความเป็นจีน หรือเก็บความเป็นจีนไว้เพียงบางส่วน เช่นพี่น้องของปู่บางท่านก็เปลี่ยนนามสกุลให้เป็นอย่างไทย โดยหวังให้บุตรหลานได้รับราชการหรือมีอาชีพการงานที่ดีในยุคที่ความเป็นจีนยังไม่ได้รับการยอมรับ และที่จริงก็ด้วยความลำบากยากจนของบรรพชนจึงทำให้เรื่องปากท้องเป็นภารกิจหลัก

ความเป็นจีนของเราจึงเจือจางไปอย่างช้าๆ แม้จะประกอบพิธีกรรมตามประเพณี แต่ก็มิได้มีมโนคติอย่างจีนหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับบรรพชนมากนัก ด้วยเหตุนี้ “ปลายน้ำ” เช่นผมจึงไม่สามารถเชื่อมต่อกับ “ต้นน้ำ” ได้ น่าอายที่จะบอกว่า แต่ก่อนผมเองไม่ทราบด้วยซ้ำว่านามสกุลของตนแปลว่าอะไร เมื่อพ่อพาไปพบญาติ แม้จะทราบว่าคนนี้เป็นญาติก็ไม่รู้จะนับทางไหน ไหว้ป้ายวิญญาณหรือรูปที่บ้านบรรพชนก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร กระนั้นก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรนัก

มาบัดนี้ผมเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ญาติในรุ่นเดียวกันมีลูก บ้างก็ไปอยู่ต่างประเทศกับสามี ตัวผมเองก็มีหลานเล็กๆ พอมานึกว่าหากรุ่นถัดไปไม่สามารถสืบย้อนทวนไปถึงบรรพชนและไม่สามารถจะนับญาติกันได้แล้วคงน่าเสียใจไม่น้อย

ส่วนตนเอง แม้จะท่องไปในโลกกว้างแห่งความรู้ ทว่า ความรู้เกี่ยวกับรากเหง้าของตนเองกลับรู้น้อยนัก ผมจึงกลับมา “อิน” เรื่องจีนอีกครั้ง และพยายามจะเสาะหาความรู้เท่าที่จะเป็นไปได้

จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่เสนอเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวในพื้นที่นี้ แทรกเรื่อง “นักบุญแห่งอินเดีย” อีกครั้ง แต่ก็หวังใจว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านที่อยากเรียนรู้เรื่องรากเหง้าของตนลองลุกกลับมาสืบเสาะเช่นเดียวกัน และหวังด้วยว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้เล็กๆ น้อยๆ พอให้เพลินใจ

 

นอกจากภูมิหลังข้างต้น มูลเหตุของบทความนี้มีที่มาสองอย่างครับ

ประการแรก ผมได้กลับไปบ้านที่ระนองแล้วเผอิญได้ไปร่วมงานพิธีแซยิดหรืองานวันเกิดเทพเจ้า “โป้เส้งไต่เต่” (สำเนียงฮกเกี้ยน) ที่ศาลเจ้า “จู้เจ่เก็ง” หรือศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ย (ชาวบ้านเรียกชื่อท่านอย่างง่ายๆ ย่อจากโปเส้งไต่เต่) ศาลเจ้าเก่าแก่ของคนระนองซึ่งมีอายุเกือบร้อยห้าสิบปี

เทพโป้เส้งไต่เต่ (จีนกลางว่า เป่าเซิงต้าตี้) อันแปลว่า “มหาราชพิทักษ์ชีวิน” เป็นแพทยเทพหรือเทพเจ้าแห่งการแพทย์ มีตัวตนจริงในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ มีชื่อตัวว่าหงอเทา ท่านเป็นเทพท้องถิ่นของตำบลตังอั๊ว เมืองจ่วนจิ๊ว (เฉวียนโจว) มณฑลฮกเกี้ยน (ฟูเจี้ยน) นับเป็นหนึ่งในจตุมหาเทพของชาวฮกเกี้ยน ที่นับถือแพร่หลายทั้งไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่ากันว่า ในวัยเด็กบิดามารดาสิ้นชีพเพราะความเจ็บป่วยโดยไม่มีเงินรักษา ท่านจึงตั้งใจเรียนวิชาแพทย์เพื่อรักษาคนจน ทั้งยังร่ำเรียนเวทมนตร์คาถา บำเพ็ญพรตภาวนา ต่อมาได้เข้าวังไปรักษาฮองเฮาจึงได้รับการชักจูงให้เป็นแพทย์หลวง แต่ท่านปฏิเสธเพราะจะไม่ได้รักษาคนยากคนจน ผู้ป่วยจำนวนมากมายได้ท่านช่วยเหลือไม่เว้นแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน

หงอเทาสิ้นใจเพราะตกเขาในขณะพยายามเก็บสมุนไพรเมื่ออายุได้ห้าสิบแปดปี แต่ตำนานพื้นบ้านเล่าว่าท่านได้สำเร็จเป็นเซียนขี่นกกระเรียนเหินฟ้าหายลับไป ชาวบ้านซาบซึ้งในบุญคุณจึงได้สร้างศาลไว้กราบไหว้

ตำนานเล่าว่า ท่านได้เคยสำแดงอภินิหารช่วยเหลือทางการหลายครั้ง เช่น แปลงกายมารักษาฮองเฮาในสมัยเหม็ง (หมิง) ช่วยฮ่องเต้จากทัพของกิมก๊ก ฯลฯ จึงได้รับการอวยยศจากราชสำนักตลอดมาจนได้รับพระสมัญญานาม “โป้เส้งไต่เต่” เป็นยศสุดท้าย

ชาวบ้านถือกันว่า โปเส้งไต่เต่มีเมตตากรุณามาก ช่วยรักษาความป่วยไข้ให้ผู้คนทุกชนชั้น ศาลต้นกำเนิดของท่านที่เมืองจีนใช้ชื่อว่า “จู้เจ่เก็ง” (พระตำหนักเมตตานุเคราะห์) หรือสงเคราะห์ด้วยเมตตา ซึ่งเป็นนามเดียวกันกับศาลเจ้าที่ระนอง

 

ผมได้ไปกราบไหว้เทพเจ้าองค์นี้เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้พบผู้หลักผู้ใหญ่ในศาลเจ้าเช่น คุณวิวิทย์ ปันฉิม (แปะเหี้ยน) ผู้จัดการปกครองดูแลศาลเจ้า แปะเบ๋ง แปะหลาย แปะเส้ง (ขออภัยที่ผมไม่ทราบชื่อและนามสกุลของแต่ละท่าน) ผู้ใหญ่เล่าว่าเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน ชาวจีนฮกเกี้ยนจำนวนมากอพยพมายังจังหวัดระนองเพื่อเป็นแรงงานเหมืองแร่ แต่ก็เจ็บป่วยล้มตายด้วยไข้ป่า บ้างก็ว่าคุณผีป่ากระทำยำยี คนที่พอมีความรู้จึงปรึกษากันว่าจะให้คนไปอัญเชิญเทพเจ้าโปเส้งไต่เต่มาประทับที่ระนองเพื่อช่วยรักษาผู้คน เพราะท่านเป็นแพทยเทพ

ในบรรดาคนอพยพที่มีความรู้หนึ่งในนั้นคือ นายโจ๋ แซ่อุ๋ย (ในใบมรณบัตรของบุตรชายจดเพี้ยนเป็นนายเอ๋ แซ๋อุ๋ย) ว่ากันว่าท่านผู้นี้เป็นนักพรตเต๋าหรือเป็น “ฮวดกั้ว” (ผู้ประกอบพิธีกรรม) ได้เดินทางไปอัญเชิญขี้เถ้าธูปและองค์เทวรูป (กิมสิน) โป้เส้งไต่เต่จากเมืองจีน ลงเรือฝ่าคลื่นลมมาจนถึงระนอง เกิดมีศาลเจ้าไต่เต่เอี๋ยขึ้น

เทวรูปองค์นี้ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน

นายโจ๋ แซ่อุ๋ย ผู้นี้คือ “เทียด” (ไท่จ้อ) ของผมเองครับ เป็นบรรพชนท่านแรกผู้อพยพมาสู่สยามประเทศ

นี่เป็นเรื่องที่ในตระกูลของผมไม่ทราบมาก่อน เพราะเดิมคิดกันว่านายบุ่นอ้วน (บุ๋นหงวน) ผู้เป็นบุตรคนที่สองของนายโจ๋ (มีศักดิ์เป็นทวดของผม) เป็นคนแรกที่อพยพมาจากเมืองจีน อีกทั้งท่านเองก็เป็นคนเฝ้าศาลเจ้าไต่เต่เอี๋ย จึงพอทราบว่าท่านเกี่ยวข้องอยู่บ้าง แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในศาลเจ้ายืนยันจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษของพวกท่านอีกชั้นหนึ่ง

ตอนที่ฟังเรื่องนี้ก็ขนลุกขนชัน ไม่คิดว่าบรรพบุรุษของตัวคือคนที่ไปอัญเชิญท่านมาจากเมืองจีน ไม่ทราบมาก่อนว่าบรรพชนของตัวเป็นผู้ใช้เวทมนตร์หรือเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม

 

วกกลับคิดว่าที่ผมมาสนใจเรื่องศาสนาเรื่องพิธีกรรมและวัฒนธรรมก็คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญกระมัง และยังได้ทราบความสัมพันธ์ของเทพเจ้าที่เรานับถือกับบรรพบุรุษของเราว่ามีความแน่นเฟ้นลึกซึ้งเพียงไร

เสียดายว่าวิชาความรู้ทางพิธีกรรมและวัฒนธรรมของเทียด ในวงศ์ตระกูลของผมไม่ได้มีการสืบต่อ สิ้นสุดลงไปในรุ่นทวด ส่วนรุ่นก๋งได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ไม่มีใครเอาทางนี้เลย

ศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ยทำหน้าที่เป็นสถานพยาบาลแรกของระนอง นอกจากแก้ไขความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยพิธีกรรมแล้ว ยังมีการเสี่ยงทาย (โป่ย) ขอยาด้วยวิธีโบราณ ปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้ไปขอเสี่ยงทายยาสมุนไพรอยู่

กล่าวคือ ผู้ป่วยจะจุดธูป แจ้งชื่อสกุลและบอกอาการป่วยของตนแก่เทพเจ้า (หากพูดจีนไม่ได้ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะกระทำโดยผู้ดูแลศาลเจ้า) แล้วเซียมซีขอยาตามประเภทเซียมซี (ยาชาย ยาสตรี ยาเด็ก ยาตา ฯลฯ) เมื่อได้เลขจากเซียมซี จะมีการโยนไม้โป่ย (รากไม้ไผ่สองซีก แกะเป็นครึ่งวงกลม มีด้านหงายและด้านคว่ำ) เพื่อให้เทพเจ้ายืนยัน

หากผลออกมาเป็นเซ้งโป้ย (คว่ำอัน หงายอัน) แสดงว่าถูกต้อง ก็จะนำเลขในติ้วเซียมซีไปเทียบกับตำรายาจีนที่เก็บไว้ที่ศาล (ตำรานี้นำมาจากเมืองจีน) แล้วให้ไปซื้อยายังร้านขายยาจีนใกล้เคียง วิธีการแบบนี้ยังคงมีศาลเจ้าบางที่ทำอยู่ แต่อาจออกยาให้ได้ด้วย

นอกจากเรื่องยาแล้ว ไม้โป่ยคือสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพและบรรพชน ใช้สอบถามและปฏิสัมพันธ์กัน คนระนองดั้งเดิมมีอะไรก็โป่ยถามเทพตลอด จะย้ายบ้าน ขายบ้าน ไปเรียนนอก ฯลฯ เรียกว่าให้เทพเป็นที่ปรึกษาช่วยตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญในชีวิต

เรื่องโป่ยนี้ผมมีประสบการณ์แปลกๆ จะเล่าให้ฟังในคราวต่อไปครับ

แม้เทพโป้เส้งไต่เต่จะมียศสูง แต่ในความสัมพันธ์ก็เหมือนเป็นปู่เป็นก๋ง เป็นญาติกันครับ เรียกยศศักดิ์กันเฉพาะในพิธีการ นอกเวลาก็ใกล้ชิดกันเหมือนผู้ใหญ่ในบ้าน

จากการได้รู้เรื่องราวของบรรพชน จึงนำมาสู่อะไรอีกยืดยาว

(โปรดติดตาม) •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง