ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
บทความเศรษฐกิจ
จัดอันดับขีดแข่งขันไทยดีขึ้น
เจาะไส้ใน…รบ.ตู่อย่าเพิ่งดี๊ด๊า
‘การศึกษา’ – ‘สิ่งแวดล้อม’ ยังถ่วง
เป็นข่าวน่ายินดี เมื่อสถาบันการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว มีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นมาอยู่ที่ 74.54 จาก 68.67 ในปีที่แล้ว
ซึ่งเรื่องนี้…แน่นอนต้องถูกนำไปรายงานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา โดยโฆษกรัฐบาลได้ประกาศว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความยินดีและขอบคุณกับผลการจัดอันดับครั้งนี้
หากย้อนไปดูผลการจัดอันดับเมื่อปีก่อน ไทยทำผลงานได้แย่สุด ร่วงหล่น 5 อันดับ อยู่ที่ 33 ของโลกจากเคยจัดอันดับ 28 ในปี 2564 ดังนั้น การกลับมาในปีนี้ ในอันดับ 30 ถือว่าเข้าใกล้ตำแหน่งเดิมที่เคยร่วงไป
ซึ่งไทยเคยครองอันดับดีที่สุดเมื่อปี 2562 อันดับ 25 จากช่วงปี 2555-2561 อยู่ในอันดับ 27-30
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) อยู่ที่อันดับ 16 ปรับตัวดีขึ้นถึง 18 อันดับ สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ภาพรวมมาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 ขยับขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ สาเหตุหลักกรอบการบริหารภาครัฐ และกฎหมายธุรกิจ
สำหรับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ภาพรวมอยู่ที่อันดับ 23 ดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
ขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภาพรวมมาอยู่อันดับ 43 ขยับขึ้นเพียง 1 อันดับ จากปีก่อน สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนา คือปัจจัยเรื่องการศึกษา วิทยาศาสตร์ และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่อันดับลดลง
ปัจจัยเรื่องการศึกษา ไทยอยู่อันดับ 54 ลดลง 1 อันดับจากปีก่อน เช่นเดียวกับเรื่องโครงสร้างวิทยาศาสตร์ อยู่อันดับ 39 ลงไป 1 อันดับ ขณะเรื่องสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย หล่นไป 2 อันดับ อยู่ที่ 53
ปัจจัยด้านการศึกษา ถือว่าถูกจัดอันดับรั้งท้ายมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2561-2562 อันดับคงที่ ลำดับที่ 56 ปี 2563 ดีขึ้น 1 อันดับ และกลับไปอันดับ 56 ในปี 2564 ขณะที่ปี 2565 อันดับดีขึ้น อยู่ที่ 53 และหล่นไปอยู่ 54 ในปีนี้
สําหรับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ปี 2566 ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 คือเดนมาร์ก ครองแชมป์ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ส่วนอันดับ 2 คือไอร์แลนด์ ขยับขึ้นมามากสุดถึง 5 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 4 สิงคโปร์ อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 6 ไต้หวัน อันดับ 7 ฮ่องกง อันดับ 8 สวีเดน อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หากเปรียบเทียบกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีเพียง 5 ประเทศที่อยู่ใน 63 อันดับ และอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ โดยอยู่ลำดับโลกสูงสุดในภูมิภาคที่อันดับ 4 รองลงมาคือ มาเลเซียอันดับ 27 ไทยอันดับ 30 อินโดนีเซียอันดับ 34 และฟิลิปปินส์อันดับ 52 ตามลำดับ
โดยอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 10 อันดับ จากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นถึง 16 อันดับ
ขณะที่มาเลเซียขยับอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ จากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจเช่นกัน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อันดับขีดความสามารถของไทยที่ไอเอ็มดีประกาศมา สะท้อนการทำงานของรัฐบาล ทั้งในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุนที่รัฐบาลทำงานต่อเนื่องมาโดยตลอด ตัวเลขที่ออกมาจึงสะท้อนชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องของอันดับสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นถึง 18 อันดับซึ่งเป็นการทำงานในปีที่ผ่านมา
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีมุมมองถึงการขยับอันดับขึ้นมา 3 อันดับของไทย แม้ดูไม่เยอะ และยังคงอันดับ 3 ในอาเซียนเหมือนเดิม แต่ถ้าดูในรายละเอียด ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ อันดับไทยกระโดดขึ้นมาถึง 18 อันดับ นั่นหมายถึงสิ่งที่ต่างประเทศมองประเทศไทย ด้วยการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความมั่นใจ และทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแรงอยู่
ในแง่ประสิทธิภาพของภาครัฐ ก็ขึ้นมา 7 อันดับ โดยเฉพาะเรื่องฐานะการคลัง ที่มีวินัยในการคลังดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเร่งเดินหน้าต่อไป ส่วนในแง่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ก็ขยับขึ้นมา 7 อันดับเช่นกัน แต่สิ่งที่มันขยับน้อยมากก็คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของระบบสาธารณูปโภค แต่สิ่งที่อันดับของไทยยังอยู่ท้ายๆ คือโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษา ซึ่งยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ ในปัจจัยย่อย อย่างนโยบายด้านภาษี ที่ไอเอ็มดียังมองว่าเป็นปัญหา คือเรื่องของฐานภาษีที่ประเทศไทยไม่สามารถขยายได้มากขึ้น จากที่ทราบกันว่าในระบบภาษีไทยมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีบุคคล อยู่ที่ 11 ล้านคน แต่จ่ายจริงประมาณ 3-4 ล้านคน การที่จะทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้ไทยต้องมีฐานะการเงินการคลังที่เข้มแข็งมากกว่านี้ การจัดเก็บรายได้ต้องมากกว่านี้
นั่นหมายถึงว่าฐานภาษีอาจจะต้องกว้างกว่าที่เป็นอยู่ ต้องดึงให้เข้ามาอยู่ในระบบ แล้วก็ต้องทำในเรื่องของการเสียภาษีให้เป็นหน้าที่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยง
เลขาฯ สภาพัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในเรื่องที่ยังไม่ดี อย่างโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการศึกษาควรต้องปรับโครงสร้างการศึกษาใหม่ ต้องมีแพลตฟอร์มที่ให้การศึกษาไทยสามารถผลิตคนให้ดีขึ้น เพราะเป็นสิ่งสะท้อน ผลิตภาพแรงงาน ที่ของไทยยังไม่ค่อยดีนัก เพราะฉะนั้น ต้องพยายามฝึกทักษะ สร้างแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งก็ต้องทำผ่านระบบการศึกษา
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา ขณะนี้ไทยก็มีการทำงานมากขึ้น เพียงแต่อันดับยังไม่เด้งขึ้นมา ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ ไทยยังไม่ได้มีปัญหา แต่ยังมีเรื่องที่ไม่ดีขึ้นเท่าไร คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่แก้ไม่ตกหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยกันเดินหน้าทำให้ดีขึ้นในอนาคต
ขีดแข่งขันไทยขยับขึ้นถือว่าเป็นเรื่องดี แต่อย่าประมาท โดยเฉพาะปัญหาด้านการศึกษายังเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ได้
หากไม่รีบพัฒนาให้ตรงโจทย์ ระวังเพื่อนบ้านจะแซงหน้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022