หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ผู้ร้าย”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ผู้ร้าย”

ความหมายหนึ่งในงานที่ผมทำตั้งแต่แรกเริ่ม คือบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าสัตว์ป่า รวมทั้งปัญหาที่พวกมันกำลังเผชิญ

เรื่องที่ผมกล่าวถึงบ่อยๆ คือ ยุคของ “สงคราม” ระหว่างสัตว์ป่าและคน เริ่มต้นมานานแล้ว

ผมเขียนเรื่องทำนองนี้บ่อย

สัตว์ป่าถูกรุกไล่แหล่งอาศัย กระทั่งจนมุม และถึงวันที่พวกมันหันกลับมาสู้

พืชผลทางเกษตรถูกสัตว์ป่าบุกเข้ากิน

คนเข้าป่าโดนสัตว์ป่าทำร้าย

สัตว์หลายตัวตายในไร่บริเวณชายป่า

เช่นเดียวกันมีคนหลายคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2560

ผมมีระยะทางราว 20 กิโลเมตร ในการเดินทางสู่จุดหมาย

สภาพป่าช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปีที่ฝนตกชุก เขียวชอุ่ม เส้นทางรก ร่องลึก สะพานข้ามลำห้วยชำรุด

ช่วง 10 กิโลเมตรแรก ผมพบคนจำนวนมาก

พวกเขาได้รับการผ่อนผันให้เข้ามาเก็บเห็ดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

แต่มีกฎระเบียบซึ่งต้องรักษา

เช่น ไม่เข้าไปเกินกว่า 10 กิโลเมตร ไม่ก่อไฟ ห้ามค้างแรมและอื่นๆ

ในช่วงเวลาที่เห็ดหลากชนิด โดยเฉพาะเห็ดโคนขึ้น

เห็ดโคนกิโลกรัมละกว่า 300 บาท ในการขายที่ชายป่า มีคนมารับซื้อ ผู้คนจำนวนมากมุ่งหน้าเข้าป่า

นี่คงเป็นเหตุผลอันทำให้การผ่อนผันจำเป็น

ผมจำเหตุการณ์ช่วงเวลานี้ในปี พ.ศ.2551 ได้เกิดเหตุน่าสลดใจ คนเก็บเห็ดโคน ถูกกระทิงวิ่งเข้าชาร์จ มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน เขามีบาดแผลฉกรรจ์ที่ท้อง

นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องเช่นนี้

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

ดูเหมือนว่าภาพที่สัตว์ป่าหันกลับมาสู้จะมองเห็นได้

แต่ที่ “ชัดเจน” ยิ่งกว่า คือภาพความเป็น “ผู้ร้าย” ของพวกมัน

ตั้งแต่เช้ามืด

ขบวนมอเตอร์ไซค์และรถกระบะจำนวนมากจอดเรียงรายตามแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง มีบริเวณซึ่งกันไว้เป็นผืนป่าที่เรียกว่า แนวป่ากันชน

คนเข้าไปหาเก็บของป่า อย่างหน่อไม้ หรือเห็ด ตามฤดูกาลได้

แต่ป่ากว้างคล้ายจะไม่พอเพียง

คนจำนวนไม่น้อยจึงบุกเข้าไปถึงเขตอันเป็นถิ่นของสัตว์ป่า ว่าตามจริง พืชผักที่คนเข้าไปหานั้น ก็เป็นอาหารของสัตว์ป่าเช่นกัน

และพวกมันก็รู้ว่า ช่วงเวลาใด บริเวณใด จะมีอาหารสมบูรณ์

เมื่อเข้าไปอยู่ในที่เดียวกัน มีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน

การเผชิญหน้า และปะทะกัน ระหว่างคนกับสัตว์ป่า

จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เท่าที่เป็นมาโดยตลอด

โดยปกติ สัตว์ป่าพยายามหลีกเลี่ยงคนเพราะกลัว พวกมันได้รับการสั่งสอนต่อๆ มาว่า คนนั้นอันตราย กลิ่นกายของคน คือกลิ่นกายของสัตว์ผู้ล่า

กระทิง วัวแดง แม้แต่ช้าง เมื่อได้กลิ่นกายคน พวกมันจะถอยหนีไปห่างๆ

สัตว์ผู้ล่า อย่างเสือก็เถอะ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มันจะมาปรากฏตัวให้พบ

ความดุร้าย อันตราย เป็นกิตติศัพท์ในนิยายและเรื่องเล่าข้างกองไฟ

เหล่านักวิจัยที่ศึกษาสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ

พบว่า ความยากลำบากที่สุดของการศึกษาสัตว์ป่าคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้สัตว์ป่าตื่นหนี แค่เพียงเมื่อพวกมันได้กลิ่น

โดยปกติสัตว์ป่ามีนิสัยเช่นนี้

ในความเป็นจริง เราก็รู้ดีว่า

มีสัตว์ป่าหลายตัวที่เปลี่ยนไปแล้ว

สัตว์ป่า มีเนื้อสมองไม่มากหรอก ถ้าเทียบกับขนาดน้ำหนักตัว

แต่ไม่ได้หมายความว่าสัตว์ป่าจะไม่มีความทรงจำ

ถูกกระทำให้บาดเจ็บด้วยอาวุธ หรือทำให้ตกใจด้วยเสียงดังๆ ของประทัด

ยิ่งได้รับบาดเจ็บด้วยอาวุธจากคน

หากไม่ตายอยู่ตรงนั้น เตลิดหนีไปได้

นี่คือความทรงจำอันยากจะลืมเลือนของสัตว์ป่า ชีวิตซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพา อวัยวะต่างๆ ที่มี แม้จะได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม การบาดเจ็บ ไม่เพียงจะทำให้ยากกับการดำรงชีพ แต่บาดแผลเพียงเล็กน้อย จะลุกลามได้ง่าย

สำหรับสัตว์ผู้ล่า การบาดเจ็บคือหายนะ

ชีวิตของมันอยู่ได้ด้วยการล่าที่ประสบผลสำเร็จ

หน้าที่ของมันคือ การฆ่าเพื่อควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช

ถึงวันนี้ คนทำงานในป่าจำนวนมาก มีประสบการณ์ถูกสัตว์ป่าชาร์จ หลายคนบาดเจ็บสาหัส บางคนถึงแก่ชีวิต

ออกจากหน่วยพิทักษ์ป่า ไปทำงาน ไม่รู้หรอกว่าจะพบเจออะไรบ้าง

มันกลายเป็นเรื่องเล่าขำๆ ในตอนเย็น ถึงการวิ่งหนีหน้าตื่น

แต่หากมีผู้บาดเจ็บ นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องสนุก

กระทิงตัวโต น้ำหนักร่วมตันแอบซุ่ม

เราจะเห็นก็เมื่อมันพุ่งเข้ามาแล้ว

ทุกครั้งที่พบ นั่นคือกระทิงบาดเจ็บ แผลฉกรรจ์ เน่าเฟะ

สัตว์ป่าจำได้ว่า คนคือผู้ทำร้ายมัน

แต่จำไม่ได้หรอกว่าเป็นใคร

ดังนั้น เมื่อพบกับคน ใครก็ตาม มันไม่รีรอที่จะเอาคืน

ปัญหาที่สัตว์ป่ากำลังเผชิญอยู่ เรารู้ดี

นอกจากถูกไล่ล่าเอาอวัยวะ บุกรุกแหล่งอาหารในฤดูเก็บหาของป่า

ปัญหาหลักของพวกมันคือ สูญเสียแหล่งอาศัย

พื้นที่โดนแบ่งออกเป็นส่วนๆ กลายเป็นเมือง เป็นพื้นที่ทางเกษตร สัตว์ป่าที่เหลือติดอยู่ในเกาะแคบๆ

เส้นทางเดินสู่แหล่งอาหารตามฤดูกาลโดนตัดขาด

การเพิ่มจำนวนประชากรเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เพราะเป็นการผสมแบบเลือดชิด

ไม่มีสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ควบคุมประชากร ในบางพื้นที่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง

เหล่านี้คือปัญหาที่เรารู้ดี

และเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายพยายามแก้ไข

เมื่อเกิดการปะทะระหว่างคนกับสัตว์ป่า

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดเสียชีวิต นี่คือเรื่องอันน่าสลดใจ

ภาพความเป็น “ผู้ร้าย” ของสัตว์ป่า คล้ายจะชัดเจนเมื่อมีคนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

หลายๆ ครั้งในป่าลึก

เราพบเห็นซากสัตว์ถูกฆ่าขึ้นอืด เขาและอวัยวะบางส่วนโดนตัดไป

นี่ก็คือความน่าสลดใจ

ก่อนจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหา “สงคราม” คนกับสัตว์ป่า ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรง

การแก้ไขโดยมองไปถึงวันข้างหน้า

โดยไม่เพียงกล่าวถึงปัญหาเดิมๆ จำเป็น

แต่ไม่ควรก่อนที่จะเปิดใจกว้าง

และพิจารณาอย่างจริงจังว่า

ผู้ร้ายคือใคร

ไม่เช่นนั้น “เรื่อง” ในตอนจบ อาจผิดเพี้ยน

“ผู้ร้าย” ตัวจริงลอยนวล…