ศิลปินคู่หูผู้สร้างงานศิลปะ ท้าทายสังคมด้วยความอื้อฉาว

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่ผ่านมา หนึ่งในศิลปินระดับโลกผู้มาร่วมงานนี้ ที่เราตื่นเต้นและตั้งตารอชมผลงานของเขามากที่สุดก็คือ เจค และ ไดโนส์ แชปแมน (Jake & Dinos chapman) ศิลปินร่วมสมัย ประติมากร ศิลปินภาพพิมพ์ และศิลปะจัดวาง ที่ทำงานในฐานะศิลปินคู่หูพี่น้อง ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะตัวแสบแห่งวงการศิลปะอังกฤษ

พวกเขาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่จงใจช็อกผู้คนมากว่า 30 ปี หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยศิลปินคู่หูชื่อดังอย่าง กิลเบิร์ตและจอร์จ (Gilbert & George) ไม่นาน พวกเขาก็ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จและชื่อเสียงในฐานะศิลปินในกลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์ของอังกฤษ (Young British Artists) หรือ YBAs ร่วมกับศิลปินสุดแสบซ่าอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ และ เทรซี เอมิน ทั้งสองเป็นกำลังสำคัญของกลุ่ม ในฐานะแรงขับดันด้วยผลงานศิลปะสุดห้าวห่าม เต็มไปด้วยความอื้อฉาว

พี่น้องแชปแมนจบการศึกษาจากสถาบัน Royal College of Art ในลอนดอน ในปี 1990 พวกเขาทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายสาขา

แต่ที่ทำให้พวกเขามีชื่อเสียงอย่างมาก คือผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่และเล็กจิ๋ว ที่นำเสนอประเด็นอันล่อแหลมเรื่องเพศ, ความลามกอนาจาร, ความพิกลพิการวิปริตผิดเพี้ยนของร่างกายมนุษย์, ความเลวร้ายน่ารังเกียจของสงคราม, ความตาย และการเสียดสีวัฒนธรรมบริโภคนิยมอันล้นเกิน ผ่านงานศิลปะที่แฝงด้วยอารมณ์ขันอันสุดแสนจะมืดหม่น พิลึกพิลั่นพิสดาร

ไปจนถึงวิตถารจนคนดูต้องเบือนหน้าหนี

ผลงานของ เจคและ ไดโนส์ แชปแมน ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
ผลงานของ เจคและ ไดโนส์ แชปแมน ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

ผลงานของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากศิลปินระดับตำนานในอดีตอย่าง เฮียโรนิมัส บอช, ซัลบาดอร์ ดาลี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟรานซิสโก โกยา

พวกเขาเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมจัดวางอันเต็มไปด้วยรายละเอียดอันน่าทึ่ง และประติมากรรมย่อส่วนขนาดจิ๋ว ที่แสดงภาพภูมิทัศน์อันน่าสยดสยองราวกับเป็นวันสิ้นโลก หรือขุมนรก

อย่างเช่น ในผลงาน Hell (2000) และ Fucking Hell (2008) หรือผลงานประติมากรรมที่มีรูปร่างคล้ายกับตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีร่างกายติดกันเป็นพรืดเหมือนแฝดสยอง หรือมีอวัยวะเพศอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ควรจะอยู่ ที่สั่นสะเทือนจิตใจผู้ชมจนขวัญหนีดีฝ่อ

ผลงานของพี่น้องแชปแมนหลายชิ้นวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมและกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างแสบสันต์ ด้วยการใส่ชื่อและโลโก้แบรนด์สินค้าหลายแบรนด์อย่างโจ่งแจ้ง

อย่างเช่น ผลงาน The Chapman Family Collection (2002) ที่ใช้ โรนัลด์ แมคโดนัลด์ มาสคอตของแบรนด์แมคโดนัลด์ มาทำให้เป็นรูปเคารพเทพเจ้าของชนเผ่าโบราณ หรือตัวละครหุ่นขี้ผึ้งสุดพิสดารที่สวมใส่รองเท้าไนกี้ เป็นต้น

หรือการหยิบเอาโศกนาฏกรรมช็อกโลกมาทำเป็นผลงานศิลปะตลกร้าย ท้าทายสังคม

อย่างเช่น ผลงาน Nein! Eleven? (2012-2013) ที่จำลองตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ขึ้นมาใหม่ในเชิงเสียดสีอย่างน่าสยดสยองพองขน ด้วยการก่อกองตุ๊กตุ่นพลาสติกรูปซากศพทหารนาซีขึ้นเป็นภูเขาแฝดขนาดย่อมสองลูก

เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่นๆ ในกลุ่ม YBAs ผลงานของพี่น้องแชปแมนมักจงใจแสดงออกถึงความไร้รสนิยม และมักจะสำรวจประเด็นที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกขุ่นเคือง หรือเนื้อหาอันอื้อฉาว ที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายและศีลธรรม อย่างเช่น การล่วงละเมิดผู้เยาว์ หรือร้ายกว่านั้น

จนทำให้ผลงานของพวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน และห้ามแสดงในพื้นที่สาธารณะเป็นเนือง

พวกเขายังหยิบผลงานจริงของศิลปินคนอื่นมาดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดของอดีตผู้นำนาซีผู้อื้อฉาวอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือผลงานของศิลปินโนเนมในยุคศตวรรษที่ 18 และ 19

พวกเขายังซื้อหาผลงานภาพพิมพ์หายากของฟรานซิสโก โกยา มาปู้ยี่ปู้ยำด้วยการวาดทับ เพื่อแสดงออกถึงการทำลายล้างผลงานศิลปะ อันเป็นข้อห้ามร้ายแรงที่สุดในโลกศิลปะ

ถึงแม้การกระทำเช่นนี้จะทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะช็อกตาตั้ง

แต่ก็ยังเป็นการสะท้อนถึงการนำเสนอความรุนแรง อันเป็นบทบาทสำคัญของศิลปะในสังคม และการลบและเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยการเปลี่ยนเนื้อหาและความหมายในผลงานต้นฉบับเหล่านั้นให้กลายเป็นผลงานของตัวเองอย่างจงใจ

Disasters of War IV (2001) ผลงานภาพพิมพ์โลหะและสีน้ำจำนวน 83 ชิ้น, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
Disasters of War IV (2001) ผลงานภาพพิมพ์โลหะและสีน้ำจำนวน 83 ชิ้น, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

ผลงานที่พี่น้องแชปแมนที่นำมาแสดงในเทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในครั้งนี้ คือผลงานในชุดที่สร้างชื่อให้เขาอย่าง Disasters of War (1991) ประติมากรรมย่อส่วนสามมิติ ที่ประกอบด้วยหุ่นพลาสติกที่จำลองฉากในผลงานภาพพิมพ์ของโกยาในปี 1810 และ 1820 ที่มีชื่อเดียวกัน ผลงานที่ว่านี้เป็นผลงานฉบับที่สี่ของงานชุดนี้ที่มีชื่อว่า Disasters of War IV (2001)

ผลงานอันเปี่ยมอารมณ์ขันมืดหม่น ตลกร้าย อื้อฉาว ไร้สาระอย่างจงใจ และเต็มไปด้วยความรุนแรง หากแต่ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตพิถีพิถันชุดนี้ ทำให้เรานึกถึงฉากภูมิทัศน์อันโกลาหลบ้าคลั่ง ในภาพวาดของศิลปินอย่าง เฮียโรนิมัส บอช ผสมปนเปไปกับเรื่องราวความรุนแรงเลือดสาดในประวัติศาสตร์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี การไล่ล่าทารุณสังหารคนผิวดำของกลุ่มคูคลักซ์แคลน หรือแม้แต่มาสคอตของของแมคโดนัลด์ที่ถูกเอามาปู้ยี่ปู้ยำนานัปการ

Disasters of War IV (2001) ผลงานภาพพิมพ์โลหะและสีน้ำ, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
Disasters of War IV (2001) ผลงานภาพพิมพ์โลหะและสีน้ำ, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

รวมถึงผลงานอีกชิ้นอย่าง Monument to Immortality VII (2021) ที่ล้อเลียนการระเบิดฆ่าตัวตาย ด้วยการใช้เสื้อกั๊กแบบเดียวกับเสื้อกั๊กติดระเบิดฆ่าตัวตาย

แต่แทนที่จะใส่ระเบิด เขากลับใส่อุปกรณ์ทำงานศิลปะอย่างปากกา ดินสอ พู่กัน และสี ลงไปแทน

ผลงานชิ้นนี้เป็นการแสดงขั้วตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงระหว่างพลังของศิลปะและการก่อการร้าย การทำลายและการสร้างสรรค์

Disasters of War (mini Hellscapes) (2018), เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
Disasters of War (mini Hellscapes) (2018), เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

เจค แชปแมน หนึ่งในศิลปินคู่หูผู้เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้กล่าวถึงผลงานของพวกเขาว่า

“ผลงานชุด Disasters of War IV ของเรา ได้แรงบันดาลใจจากงานภาพพิมพ์ของฟรานซิสโก โกยา ชื่อ Disasters of War (1810-1820) โดยทำเป็นชุดงานประติมากรรมขนาดจิ๋ว ที่จำลองฉากมาจากงานภาพพิมพ์ต้นฉบับของโกยาแต่ละภาพ ผมยังจำลองงานภาพพิมพ์ชุดนี้ของโกยามาทำขึ้นใหม่ในเวอร์ชั่นของเราด้วย (อันที่จริงพวกเขาเคยเอางานต้นฉบับจริงๆ ของโกยามาดัดแปลงด้วยเหมือนกัน) เหตุผลที่เรากลับมาทำงานชุด Disasters of War อีกครั้ง เพราะมันเป็นตัวอย่างอันเด่นชัดของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับความป่าเถื่อนโหดร้าย และความเป็นมนุษย์ และความเชื่อมโยงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงและความมีศีลธรรม”

“บ่อยครั้งที่ความรุนแรงมักจะเกี่ยวพันกับอารมณ์ขัน และความตลกขบขันที่ได้ผลก็มักจะเป็นความตลกขบขันที่ล้อเล่นเกี่ยวกับความผิดปกติของคนเสมอ ในผลงานของพวกเรา ความรุนแรง ความผิดปกติ และความตลกขบขันก็มักจะซ้อนทับและผสมปนเปกันเสมอ ภาพพิมพ์ของโกยาที่เป็นต้นแบบของงานชุดนี้ของผมเองก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและความสยดสยองอย่างน่าทึ่ง”

“ส่วนแนวคิดในการทำผลงานประติมากรรมในขนาดเล็กจิ๋วนั้น ก็เป็นการอ้างอิงไปถึงของเล่นของเด็กๆ นั่นเอง ในขณะเดียวกัน เราก็ใช้สิ่งที่เหมือนของเล่นเด็กเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและความตาย เช่นเดียวกับสื่อต่างๆ ที่นำเสนอสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติสามัญ”

Disasters of War (mini Hellscapes) (2018), เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
Disasters of War (mini Hellscapes) (2018), เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
Disasters of War (mini Hellscapes) (2018), เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

“ส่วนผลงาน Monument to Immortality VII ประติมากรรมเสื้อกั๊กของศิลปิน ที่ล้อเลียนแนวคิดของระเบิดฆ่าตัวตาย เพื่อสื่อถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลมักจะส่งศิลปินให้ไปยังพื้นที่สงครามเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ (War Artist) พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับคุณไปทิ้งระเบิดประเทศอื่นแล้วให้ศิลปินไปวาดภาพเอาไว้นั่นแหละ เสื้อกั๊กตัวนี้ยังทำจากสำริด ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สำหรับวีรบุรุษ เพื่อให้เขากลายเป็นอมตะ ซึ่งในแง่หนึ่ง แนวคิดของการที่ใครสักคนจะทำการระเบิดฆ่าตัวตาย ก็คือการอยากเป็นวีรบุรุษและกลายเป็นอมตะนั่นเอง งานชิ้นนี้จึงชื่อว่า Monument to Immortality เพื่อสะท้อนถึงความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการระเบิดทำลายล้าง และการทำให้สิ่งนั้นคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์ ซึ่งผมมองว่าเป็นอะไรที่น่ารังเกียจพอๆ กับการสร้างอนุสาวรีย์นั่นแหละนะ”

Monument to Immortality VII (2021) ประติมากรรมสัมฤทธิ์ทำสี, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน
Monument to Immortality VII (2021) ประติมากรรมสัมฤทธิ์ทำสี, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

ผลงานของ เจคและไดโนส์ แชปแมน จัดแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ณ อิเวนต์ฮอลล์ ชั้น B2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2022-23 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 •

Monument to Immortality VII (2021) ประติมากรรมสัมฤทธิ์ทำสี, เอื้อเฟื้อภาพโดย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ และศิลปิน

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์