คณะทหารหนุ่ม (46) | พล.อ.เปรมใกล้เกษียณ…บิ๊กกองทัพ คดโกง จ้องชิงอำนาจ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

‘ปฏิญญา 27 มิถุนายน 2523’ (ต่อ)

“ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย” ของชัยอนันต์ สมุทวณิช บันทึก “ปฏิญญา 27 มิถุนายน 2523” ของคณะทหารหนุ่ม 2 ข้อสุดท้ายไว้ดังนี้

7. “คณะทหารหนุ่มถือว่ากลุ่มยังเล็กและจำเป็นต้องขยายฐานออกไป แต่ต้องกระทำอย่างระมัดระวัง โดยวางหลักเกณฑ์ในการแสวงหาแนวร่วมไว้ 2 ประการ คือ การยึดมั่นในอุดมการณ์ร่วมกัน กับการไว้วางใจ จริงใจต่อกัน สามัคคีร่วมเป็นร่วมตายกัน ความพยายามที่จะขยายกลุ่มซึ่งกระทำอย่างระมัดระวัง อย่างมีคุณภาพ”

มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“กลุ่มทหารของเราต้องการความเข้าใจ ต้องการศรัทธาและความแน่วแน่ในอุดมการณ์มากกว่าปริมาณของบุคคลในกลุ่ม ซึ่งถ้าหากปริมาณมาก แต่น้อยคุณภาพและความแน่นแฟ้นก็เป็นองค์กรที่อ่อนแอไร้ประโยชน์”

8. “การตระหนักถึงสถานการณ์ของกลุ่มว่าอยู่ท่ามกลางฝ่ายที่ต้องการทำลายสลายกลุ่ม”

มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้…

“ผมอยากให้น้องๆ สมาชิกใหม่ได้รับทราบและช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมของบุคคลในวงการทหาร แต่ขอให้พิจารณาเป็นรายบุคคล ถ้ามีพี่ในกลุ่มกระทำเช่นนั้นก็ขอให้แจ้งข่าวสารมา อย่าได้ตีรวมกันไปหมดแล้วเหมาว่ากลุ่มทหารหนุ่มทั้งกลุ่มไม่มีอุดมการณ์อย่างที่ศัตรูเราคือฝ่ายที่สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากการปฏิบัติของเรา พยายามหาเงื่อนไขจากจุดเล็กๆ บางจุดมาโจมตีเราทั้งกลุ่ม”

“ขอให้ได้รับทราบว่าสมัยก่อนเรามีกันเพียงไม่กี่คน น้อยเพียงหยิบมือเดียว แต่พอเรามั่นคงจริงใจต่อกัน ร่วมเป็นร่วมตายกัน เราจึงยืนหยัดอยู่ได้และสามารถปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติของเรามาโดยตลอดท่ามกลางการแช่งชักหักกระดูก สาดโคลนและจ้องทำลายเราของบรรดาศัตรูผู้เสียประโยชน์ที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านั้น”

 

พล.อ.เปรมใกล้เกษียณ…

ข้อความตอนหนึ่งของเอกสารสรุปสถานการณ์และคำชี้แจงเพิ่มเติมของคณะทหารหนุ่มเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ.2523 “ปฏิญญา 27 มิถุนายน 2523” กล่าวถึงสถานการณ์ในกองทัพบกช่วงกลางปี พ.ศ.2523 ซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กำลังจะเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในสิ้นเดือนกันยายน พ.ศ.2523 อีกเพียง 3 เดือนข้างหน้า ด้วยสำนวนเข้มข้นมีนัยปลุกเร้า ใจความว่า…

“…ได้เริ่มเกิดการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งนี้กันแล้วทางหน้าหนังสือพิมพ์และใบปลิวจนทุเรศที่สุดจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นตำแหน่งทางการอาชีพ น่าจะเป็นตำแหน่งทางการเมืองเสียมากกว่า…”

“…สิ่งที่เรายอมไม่ได้อย่างเดียวก็คือการที่บุคคลระดับสูงของกองทัพบางคนที่ขาดคุณธรรม คดโกงกองทัพและกระหายอำนาจจะก้าวเข้ามาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเรา…”

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้คำอธิบายและความเห็นต่อบทบาทของคณะทหารหนุ่มจากเอกสารสรุปสถานการณ์และคำชี้แจงเพิ่มเติมนี้ว่า…

การแย่งชิงอำนาจในระดับสูงของกองทัพเป็นเหตุให้กองทัพขาดเอกภาพและเสียเกียรติภูมิ พวกเขามองว่า ในอดีตนั้นนายทหารระดับกลางและระดับล่างได้เข้าไปเป็นเครื่องมือของการแย่งชิงอำนาจนี้ทำให้เกิดการแตกแยกในกองทัพบก

ทางแก้ก็คือ นายทหารระดับกลางและนายทหารระดับล่างที่คุมกำลังต้องไม่นำเอาการคุมกำลังในกองทัพไปเป็นฐานอำนาจของบุคคลหนึ่งบุคคลใดในกองทัพ โดยเฉพาะเป็นฐานสนับสนุนให้นายทหารระดับสูงที่พวกเขาเห็นว่า “ขาดคุณธรรม คดโกงกองทัพ และกระหายอำนาจ”

คณะทหารหนุ่มจะต้องดำรงความเป็นกลุ่มไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ไม่ใช่ “เต้นตามเขา ยอมตัวเข้าไปเป็นฐานให้เขาต่อสู้กัน หรือวิ่งเข้าไปหาผู้ใหญ่เหล่านั้นเอง ซึ่งถ้าทุกคนในกลุ่มของเราต่างทำอย่างที่ว่านี้ก็คงเละเทะกันไปหมด และกลุ่มของเราก็ไร้ความหมาย ถูกสลายพลังไปเป็นทาสเขาหมดเหมือนแต่ก่อน”

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อธิบายประโยคหลังสุดที่ว่า “ไปเป็นทาสเขาหมดเหมือนแต่ก่อน” ว่าเป็นการสะท้อนภาพและประสบการณ์ภายในกองทัพในอดีตก่อนการรวมตัวกันของแกนนำกลุ่ม จนเมื่อการรวมตัวขยายวงเป็น “คณะทหารหนุ่ม” แล้ว พวกเขาจึงเกิดความภาคภูมิใจว่าได้สลัดแอกของความเป็นทาสได้

ดังข้อความในเอกสารสรุปสถานการณ์อีกตอนหนึ่งที่ว่า

“…เพราะถ้าเรายอมรับสภาพเช่นนั้น เราก็คงไม่มารวมตัวกันอยู่อย่างนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ยอมตัวเป็นทาสของอามิสเงินทองหรือตำแหน่งของผู้ใหญ่ที่แก่งแย่งอำนาจกันอยู่ เหมือนดังที่กองทัพของเราต้องประสบอยู่ตลอดเวลาก่อนการกำเนิดของกลุ่มทหารของเรา คือก่อนที่เราจะสลัดแอกนั้นออกมารวมตัวกันอยู่อย่างนี้…”

 

ความสัมพันธ์กับ “ป๋า”

เวลานั้น เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า คณะทหารหนุ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คณะทหารหนุ่มทุกคนเรียก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่า “ป๋า”

อย่างไรก็ตาม ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดนี้เกิดจากการยอมรับว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มี “คุณธรรมความดีเฉพาะตัวท่าน” เท่านั้น หาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้ก้าวเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง ก็คงจะถูกประเมินบทบาทเฉพาะทางด้านการทหาร จำกัดเฉพาะกิจการของกองทัพบกแต่เพียงอย่างเดียว

แต่เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีแล้ว คณะทหารหนุ่มก็สามารถแยกความสัมพันธ์และการให้ความสนับสนุนแก่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกได้ว่า โดยพื้นฐานแล้ว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้จะมีคุณธรรมเป็นความดีเฉพาะตัว แต่การบริหารงานทางการเมืองในฐานะผู้นำประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องแยกพิจารณาออกไป และเนื่องจากคณะทหารหนุ่มยึด “หลักการ” มากกว่า “ตัวบุคคล”

หลักการที่จะใช้วัดบทบาททางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็คือความสามารถทั้งในฐานะผู้นำรัฐบาล ว่าจะสนองความต้องการของประชาชนได้ดีมากน้อยเพียงใด

ถ้าประชาชนไม่ต้องการ คณะทหารหนุ่มก็เห็นว่า…

“เราก็ไปอุ้มท่านไว้ไม่ได้ และเราก็จะทำตามอุดมการณ์ของเรา คือยึดหลักการมากกว่าตัวบุคคล”

คำพูดนี้ชี้ชัดว่าแม้ในขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ คณะทหารหนุ่มก็ตกลงที่จะใช้กำลังทหารทางกองทัพไปเสริมบทบาททางการเมืองของผู้นำกองทัพในระดับหนึ่งเท่านั้น มิใช่สนับสนุนโดยไม่มีหลักการ

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สรุปความเป็นไปได้ที่คณะทหารหนุ่มจะถอนการสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะผู้นำทางการเมืองได้เหมือนดังที่เคยถอนการสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาแล้ว

การถอนการสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กระทำได้ง่ายปานพลิกฝ่ามือ หากยึดถือตามขนบประเพณีการกำเนิดและสืบทอดทำนาจทางทหารของกองทัพบกผ่านกองทัพภาคที่ 1 ที่มีมาตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้เติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 1