ความไม่ปกติของการเมืองไทยในปัจจุบัน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดูจะมีปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปแล้ว เพราะเต็มไปด้วยบทบัญญัติที่น่ากังขามากมายเหลือเกิน และนำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ หลายอย่าง

อย่างหนึ่งที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุดก็คือการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งๆ ที่ ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเลย

ส.ว.ชุดปัจจุบันนี้เป็นมรดกจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยแท้เพราะมาจากการแต่งตั้งหลังรัฐประหารของ คสช. ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่คู่ขนานไปกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อ ส.ว.เหล่านี้มีความเห็นใดที่ไม่เป็นไปตามมติมหาชน ผู้คนก็มักตั้งคำถามว่า ส.ว.เช่นนี้จะมีไว้เพื่ออะไร และมีสิทธิอะไรไปต้านทานเจตจำนงของประชาชนด้วย ทำไมคนเพียง 250 คนจึงมีเสียงมากกว่าคนเป็นแสนเป็นล้านคนด้วย

คำถามนี้ใครจะตอบได้?

รัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาโดยให้ ส.ว. 250 คนนี้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วง 5 ปีแรก พวกเขาเลยมีอำนาจอย่างมากในการชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

สภาพแบบนี้เลยทำให้ ส.ว.กลายเป็นกลุ่มอำนาจหนึ่งที่แยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากเสียงของประชาชนซึ่งแสดงตัวผ่านผลการเลือกตั้ง

 

ยังไม่นับกฎกติกามากมาย โดยเฉพาะอย่างที่มาจาก กกต. ซึ่งเต็มไปด้วยข้อห้ามที่ยุบยิบหยุมหยิมและไม่จำเป็น

ซ้ำร้ายบางข้อเป็นอุปสรรคขัดขวางการแสดงเจตจำนงของประชาชนและไม่ส่งเสริมการเป็นประชาธิปไตย เช่น ห้ามใช้ดารา นักแสดง นักร้อง มาช่วยหาเสียง ฯลฯ

หรือไม่ก็ไม่มีขอบเขตหรือคำจำกัดความที่แน่ชัดในแต่ละอย่าง เช่น ข้อห้ามเรื่องการสัญญาว่าจะให้ ซึ่งก็ยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน อย่างไร

ซึ่งปัญหานี้ก็มีให้เห็นในรัฐธรรมนูญด้วย ตามที่มีข้อห้ามหลายอย่างในรัฐธรรมนูญทีมีปัญหาสร้างความยุ่งเหยิงวุ่นวายเสียมากกว่าเป็นการควบคุมการทุจริตประพฤติมิชอบ

ตัวอย่างล่าสุดก็คือข้อห้ามเรื่องการถือหุ้นสื่อที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตกเป็นข่าวอยู่ทุกวัน คือตั้งใจจะออกข้อห้ามเพื่อควบคุมและป้องกันการครอบงำความคิดและการแข่งขันทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียม จากนักการเมืองบางคนผูกขาดการรายงานข่าวในสื่อมวลชนสำนักใหญ่

แต่ท้ายที่สุดมันกลับกลายเป็นอาวุธประหัตประหารทางการเมืองแบบข้างๆ คูๆ เสียมากกว่าจะเป็นไปตามที่มาของเจตนารมณ์

ณ จุดตั้งต้น ยิ่งโลกหมุนมาสู่สังคมดิจิทัลที่ทุกคนสามารถผลิตสื่อของตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา ผ่านเครื่องมือ อุปกรณ์ แอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มต่างๆ สารพัดรูปแบบ

การใช้นิยามของสื่อที่กว้างขวางจนยากจะหาขอบเขตและความพอเหมาะพอเจาะได้จึงยิ่งรังแต่จะสร้างปัญหาตามมาไม่จบสิ้น

 

เมื่อเกิดช่องว่างทางกฎหมายให้ได้ตีความและใช้ดุลพินิจกันอยู่เรื่อย ก็ย่อมนำมาสู่เรื่องขัดแย้งวุ่นวายไม่เลิกไม่รา

มนุษย์ธรรมดาสามัญที่มีวาระให้ทำพฤติกรรมบางอย่างก็จะโผล่มาวาดลวดลายลีลาให้เห็นในหน้าข่าวอยู่เป็นเนืองนิจ

ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการเรียกร้องแบบไม่ปกติ ร้องเรียนไม่เว้นแต่ละวัน และร้องเรียนแบบไม่สนว่าผู้คนจะคิดอย่างไร

การร้องเรียกอันเป็นเครื่องมือตรวจสอบเพื่อความสะอาดโปร่งใสในทางการเมืองก็เลยเลอะเทอะ และก่อกำเนิดเป็นอาชีพ “นักร้อง (เรียน)” ขึ้นมาจนได้

หากกฎกติกาที่ไม่ปกติเป็นสารตั้งต้นของเรื่อง นักร้องทั้งหลายก็เป็นผู้จุดไฟให้สารตั้งต้นนี้มันมีฤทธิ์มีเดชจริงๆ ขึ้นมาได้ ก่อนลำเลียงไปสู่องค์กรอิสระซึ่งก็เป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหารอีกเช่นกัน ผู้มีอำนาจในองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ก็มีขอบเขตอำนาจเป็นของตัวเอง และมีพื้นที่อันเปิดให้ใช้ดุลพินิจของตัวเองในการวินิจฉัยอีกด้วย

การวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ขององค์กรอิสระจึงยากที่จะคาดเดาได้ราวกับไม่ได้มีมาตรฐานที่เป็นภววิสัย

เห็นได้จากคำอธิบายของ ป.ป.ช.ในการชี้แจงกรณี “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเงินกู้และหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เรื่องออกโทรทัศน์ในรายการทำกับข้าว หรือ กกต.ในเรื่องการแจกใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม หลายกรณี ตลอดจนถึงกรณีหุ้นสื่อ และการรับรอง ส.ส.ล่าสุด รวมทั้งกรณีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทำให้แทบไม่มีใครคาดเดาผลของการวินิจฉัยในกรณีต่างๆ ขององค์กรอิสระได้เลย ในขณะที่ยังสามารถคาดคะเนคดีความต่างๆ ได้ค่อนข้างใกล้เคียงกว่า และฟังดูเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า เมื่อเรื่องราวนั้นอยู่ในแดนของศาลยุติธรรม

 

ตามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยสภาวะที่ไม่ปกติ

คือมีรัฐธรรมนูญและกฎกติกาต่างๆ ที่ไม่ปกติ มีองค์กรอิสระที่ไม่ปกติ พฤติกรรมการร้องเรียนที่ไม่ปกติ อันนำไปสู่การตีความและบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ปกติ ทำให้ในหลายกรณีเรื่องที่ควรจบก็จบ

เรื่องที่ไม่ควรต้องยกขึ้นมาตั้งแต่ต้นก็ต้องใช้เวลาถกกันจนหมดปีหมดชาติ และไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยง่าย

ท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องพิการของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ สะท้อนออกมาผ่านกลไกในรัฐสภาทั้งที่ชัดเจนว่าไม่ปกติไปด้วย

เมื่อกลไกไม่ปกติ ผลลัพธ์จากกลไกนั้นก็โน้มเอียงว่าจะไม่ปกติไปด้วย รวมทั้งหลายเหตุการณ์ที่ดูเหมือนมีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่ปกติ

อย่างเช่น การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร การเลือกนายกรัฐมนตรี การออกแบบระบบการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง การรับรอง ส.ส. การพิจารณาคุณสมบัติของนักการเมืองตามคำร้องเรียนและคัดค้าน เป็นต้น

กระทั่งมาถึงวันนี้ สถานการณ์การเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม มาจนถึงตอนนี้บรรยากาศการเมืองไทยก็ยังคงดูอึมครึม มัวซัว และขมุกขมัวเหมือนฟ้าหน้าฝนบนดินแดนอุษาคเนย์

ประชาชนทั้งหลายยังคงต้องรอคอยเวลาของการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

รอคอยการข่าวประธานรัฐสภาที่ตามปกติจะมาอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้ง

กระบวนการทางรัฐสภาหลายอย่างได้ถูกทำให้ทอดยาวออกไป จนไม่มีใครรู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคใดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลกันแน่

 

เมื่อมองจากเหตุการณ์ข้างต้น จึงเห็นได้ชัดว่าแม้กระทั่งระยะเวลาและจังหวะเวลาของกระบวนการทางการเมืองก็ยังพลอยไม่ปกติไปด้วย รัฐบาลรักษาการที่รักษาการอย่างยาวนานกว่าจะขนของกลับบ้าน ระหว่างนี้ก็ยังทำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างที่รัฐบาลรักษาการไม่พึงกระทำ

ตัวอย่างเช่น กรณีที่รัฐบาลไทยเชิญชาติอาเซียนมาหารือปมประเทศเมียนมา ในการประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งปรากฏภาพนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมนี้ ตามสื่อมวลชนต่างๆ หลายชาติหลายสำนัก

ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการ และ รมว.กลาโหม ก็ได้ออกมาปกป้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และตอบโต้ผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ตามข่าว ‘บิ๊กตู่’ ป้อง ‘ดอน’ เชิญถกปัญหาเมียนมา ‘ไม่เข้าข้างใคร’ ลั่น รบ.ใหม่จะมาแก้ก็ได้ เข้ามาสิ! https://www.matichon.co.th/politics/news_4036307

สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันยังคงเต็มไปด้วยความไม่ปกติ รอคอยเวลาที่จะแก้ไขคลี่คลายไปทีละปม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยอาศัยบทเรียนของรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่สร้างปัญหาและทิ้งทุ่นระเบิดเรียงรายไว้เป็นจำนวนมาก

ทางออกของทั้งหมดนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ถ้าการตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ตามมาด้วยเหตุรุนแรง

หรือกล่าวอีกทางหนึ่งคือตั้งรัฐบาลใหม่ให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนได้ อย่างน้อยก็ยังมีความหวังว่าปัญหาทุกอย่างก็อาจคลี่คลายลงไปในไม่ช้า