วิกฤติศตวรรษที่21 : ขบวนการเตรียมพร้อมของพลเมืองช่วงที่สอง : เมื่อเครื่องจักรเป็นพิษ

ว่าด้วยการเตรียมพร้อมของพลเมือง (4)

ขบวนการเตรียมพร้อมของพลเมืองช่วงที่สอง : เมื่อเครื่องจักรเป็นพิษ

ขบวนการเตรียมพร้อมช่วงที่สองเกิดขึ้นในระหว่างครึ่งหลังทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2000 สืบเนื่องจากเครื่องจักรคือคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งการบริหาร การทหาร การขนส่งสาธารณูปโภค ธุรกิจ และบ้านเรือนเกิดมีปัญหาขึ้น

คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องจักรพิเศษที่มนุษย์เพิ่งพัฒนาจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง มันประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ส่วนที่มีปัญหาได้แก่ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถรับข้อมูล ประมวลผล และติดต่อกับผู้ใช้หรือคอมพิวเตอร์อื่นหรือควบคุมการทำงานของเครื่องจักรทั่วไปได้

ปัญหานี้เกิดจากระบบเอกสารและวิธีบันทึกข้อมูล ที่นิยมบันทึกปีปฏิทินเพียงสองตัวท้าย เพื่อประหยัดเนื้อที่

แต่เมื่อถึงปี 2000 คอมพิวเตอร์สับสนว่าเป็นปี 2000 ปี 1900 กันแน่ เพราะลงท้ายด้วย 00 เหมือนกัน จนทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาดและเกิดผลกระทบรุนแรงกว้างขวางไปทั่วโลก ที่ได้เชื่อมร้อยในกระบวนโลกาภิวัตน์

มีผู้ชี้ให้เห็น “วิกฤติคอมพิวเตอร์” มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1985 และยิ่งใกล้ปี 2000 ก็กลายเป็นกระแสแตกตื่นไปทั่วโลก ในทุกภาคส่วน

เกิดเป็นภัยคุกคามใหม่ นอกเหนือจากภัยทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและการว่างงาน และภัยจากสงครามเย็น ดังที่เกิดขึ้นในขบวนการช่วงแรก

เป็นที่สังเกตว่าปรากฏการณ์ “เครื่องจักรเป็นพิษ” เกิดขึ้นมากว่า 200 ปี เริ่มต้นส่งผลกระทบในชนชั้นล่าง แล้วขยายสู่ชนชั้นกลาง จนขึ้นมาถึงชนชั้นสูง ในปัจจุบันมนุษย์จำนวนไม่น้อย รู้สึกถูกคุกคามด้วยเครื่องจักร

“เครื่องจักรเป็นพิษ” เมื่อสองร้อยปีก่อนเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอของอังกฤษ ก่อการประท้วงใหญ่ระหว่างปี 1811-1816 เข้าทำลายเครื่องปั่นด้ายทอผ้าเป็นการประท้วง ถูกเรียกชื่อรวมๆ ว่าพวก “ลัดไดต์” และถูกทางการปราบปรามด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรง

เหตุใดกลุ่มคนงานจึงมีความคิดและการปฏิบัติเช่นนั้น

คาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) นักปฏิวัติสังคมนิยม อธิบายว่า

“เมื่อการแบ่งงานกันทำเพิ่มขึ้น การทำงานก็ถูกทำให้ง่ายขึ้น ความชำนาญพิเศษของคนงานกลายเป็นสิ่งไร้ค่า เขาถูกแปรเป็นกำลังการผลิตที่ซ้ำซากและง่ายซึ่งไม่ต้องการใช้ความสามารถ ทั้งทางร่างกายและสติปัญญาสูง การทำงานของเขากลายเป็นการทำงานที่ใครๆ ก็ทำได้ ดังนั้น การแข่งขันก็จะท่วมท้นจากทุกทิศทาง และนอกจากนี้ เราขอเตือนผู้อ่านทั้งหลายว่า การทำงานที่ยิ่งทำให้ง่ายหรือเรียนรู้ได้ง่ายเพียงใด ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายในการผลิตการทำงานดังกล่าวลดลงเท่านั้น และค่าจ้างแรงงานก็จะลดลงตามไปด้วย… ดังนั้น การทำงานจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ มีความกดดันมากขึ้น แข่งขันสูงขึ้น และค่าจ้างลดลง คนงานที่พยายามรักษาปริมาณค่าแรงให้เท่าเดิม ก็ต้องทำงานมากขึ้น ทั้งโดยการทำงานยาวขึ้น หรือผลิตมากขึ้น…(แต่) ยิ่งเขาทำงานมาก ค่าจ้างก็ยิ่ง ลดลง” (จากความเรียงชื่อ “การทำงานรับจ้างและทุน” เขียนขึ้นปี 1847 เผยแพร่ครั้งแรกปี 1849)

ที่เป็นที่จดจำได้มากกว่า ปรากฏในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (1848) ความว่า

“เนื่องจากการขยายตัวของการใช้เครื่องจักรและการแบ่งงานกันทำ การทำงานของชนชั้นกรรมาชีพได้สูญเสียลักษณะส่วนบุคคลไปจนหมดสิ้น และที่ตามมาก็คือสูญเสียเสน่ห์ในการทำงานของคนงาน เขากลายเป็นสิ่งต่อเติมของเครื่องจักร ต้องการเพียงความชำนาญที่ง่ายที่สุด ซ้ำซากที่สุด และได้มาง่ายที่สุด จากนี้ค่าใช้จ่ายในการผลิตคนงานจึงถูกจำกัด เหลืออยู่เพียงปัจจัยพอยังชีพที่เขาต้องการเพื่อรักษาตนเองและเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ของเขา”

ปัจจุบันที่เครื่องจักรได้พัฒนาสู่ขั้นเครื่องจักรอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ ภัยคุกคามก็ขยายใหญ่ขึ้นถึงขั้นเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ผู้เตือนไม่ใช่นักปฏิวัติอย่างมาร์กซ์ หากเป็นผู้นำระดับสูงของชนชั้นนายทุน ได้แก่ อีลอน มัสก์ (เกิด 1971) ซีอีโอของบรรษัทสเปซเอ๊กซ์และเทสลา เป็นต้น กล่าวปราศรัยในการประชุมผู้ว่าการรัฐในสหรัฐ เตือนว่า

“…ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นความเสี่ยงสูงสุดต่ออารยธรรมของเรา… เอไอเป็นกรณีพิเศษที่เราจำต้องมีกฎระเบียบแบบป้องกันไว้ก่อน ไม่ใช่แบบแก้ปัญหา เพราะถ้าเรามีกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาเอไอแล้ว มันก็จะสายเกินไป… เอไอก่อความเสี่ยงต่ออารยธรรมถึงขั้นรากฐาน ไม่เหมือนอุบัติเหตุทางรถยนต์ เครื่องบินตก ยาไม่ได้คุณภาพ หรืออาหารที่แย่ ความเสี่ยงจากเอไอไม่ได้ทำร้ายต่อกลุ่มบุคคล แต่เป็นอันตรายต่อสังคมทั้งหมด”

(ดูบทความของ James Titcomb ชื่อ AI is the biggest risk we face as a civilization, Elon Musk says ใน telegraph.co.uk 17.07.2017)

ขบวนการนักเตรียมพร้อมในช่วงที่สาม : กว้างขวางและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ขบวนการนักเตรียมพร้อมช่วงที่สาม ก่อตัวตั้งแต่เกิดวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด ปี 2001 นำพาโลกสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ตามด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 สร้างความแตกแยกทางการเมืองไปทั่วโลกรวมทั้งในสหรัฐ จนกระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และกำลังไหลรุดไป

เกิดนักเตรียมพร้อม มาจากทุกระดับชั้นและฝักฝ่ายทางการเมือง จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยขึ้น

นักเตรียมพร้อมไม่ใช่พวกตื่นตูม หรือพวกฝ่ายขวาเคร่งศาสนาที่ไม่สนใจโลก

แต่เป็นกลุ่มที่มีเหตุผล ตื่นตัวในสถานการณ์

กลุ่มที่จะกล่าวถึงได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพวัยหนุ่มสาวที่อยู่ในรุ่นสหัสวรรษ (Millennials บางทีเรียกว่ารุ่นวาย) และเหล่าเศรษฐี

คนรุ่นสหัสวรรษ (นักวิชาการบางคนว่าเกิดระหว่าง 1983-2001 ปัจจุบันอายุระหว่าง 17-34 ปี)

คนรุ่นนี้จำนวนมากเข้าสู่การทำงานแล้ว และต้องประสบกับวิกฤติชีวิตตั้งแต่ต้น

มีบริษัทให้บริการทางโซเซียลมีเดีย “ลิงก์อิน” (LinkedIn) ได้สำรวจคนรุ่นสหัสวรรษในสหรัฐจำนวน 2,000 คน พบว่าร้อยละ 72 ของผู้ประกอบวิชาชีพหนุ่มสาวอายุระหว่าง 25-33 ปี กล่าวว่าพวกเขาต้องประสบวิกฤติชีวิตตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ก่อนนั้นกว่าจะพบวิกฤติต้องเข้าถึงวัยกลางคน) ซึ่งมีอาการเด่นได้แก่การสงสัยตนเองและความรู้สึกไม่มั่นคง จนกระทั่งต้องตั้งคำถามต่อการเลือกทางชีวิตของตน กับทั้งเส้นทางความสัมพันธ์และการงาน

สิ่งที่คนรุ่นสหัสวรรษกังวลมากที่สุดคือการทำงานที่อยากทำ (57%) และแรงกดดันให้ต้องมีบ้าน (57%)

ซึ่งทั้งสองความกังวลนี้อยู่สูงกว่าปัญหาความรัก (ร้อยละ 46) โดยเฉพาะสตรีกังวลถึงงานที่จะทำให้อนาคตถึงร้อยละ 61 (นั่นคือผู้หญิงตะวันตกสมัยใหม่กังวลเรื่องการหางานมากกว่าการหาคู่)

สำหรับชายกังวลเรื่องงานให้อนาคตต่ำกว่าอยู่ที่ร้อยละ 56

เหตุปัจจัยให้เกิดความกังวลมาก เกิดจากคนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นนี้ต้องตัดสินใจเลือกครั้งสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงานและความสัมพันธ์ในชีวิต ซึ่งเมื่อมีการเลือกครั้งใหญ่แล้ว ก็ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โต

แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้น คนรุ่นสหัสวรรษต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการงานสูง ทำให้เกิดความสงสัยในการตัดสินใจของตน รวมไปถึงความสัมพันธ์ในชีวิต

ซึ่งสตรีต้องเผชิญกับความกังวลสูงกว่า เนื่องจากต้องเป็นผู้ตั้งครรภ์และเลี้ยงดูเด็ก

หนทางแก้มีอยู่สี่ประการได้แก่

ก) การรู้จักขอบคุณช่วงเวลาหรือขณะที่ดีๆ ว่าตนเองก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นต้น

ข) ลดความคาดหวังลง (อย่างน้อยในขณะนี้)

ค) ยอมรับความกังวลที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หงุดหงิดจนเรื่องบานปลายไปใหญ่

ง) ปัญหาความกังวลต่างๆ จำต้องแก้ไขไป (ดูบทความของ Jeanette Settembre ชื่อ Majority of millennials claim to be in a quarter-life crisis ใน nypost.com 15.11.2017 และบทความภาษาไทยของ neuropanda ชื่อ “วิกฤติหนึ่งในสี่ของชีวิต” ใน neuropanda.exteen.com 19.04.2008 เห็นว่าวิกฤติผู้ใหญ่วัยต้นนี้ น่าจะรวมถึงสังคมตะวันออกและในหมู่คนไทยด้วย)

คนเหล่านี้มีงานและมีบ้าน ต้องการสร้างตัวแต่ก็รู้สึกไม่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดูจะบีบให้พวกเขามีความหวังต่อระบบไม่ได้มาก และจำต้องพึ่งตนเอง

สำหรับบรรดาเศรษฐีสหรัฐ ที่ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ทะยานขึ้นไปสูงกว่า 20,000 จุดก็ควรที่จะรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

แต่พบว่าบรรดามหาเศรษฐี ทั้งที่ซิลิคอนวัลเลย์ นิวยอร์ก และที่อื่นๆ ต่างพากันเตรียมพร้อมรับมือต่อการแตกทำลายของอารยธรรมที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น

จะยกตัวอย่างเศรษฐีสามคนที่พากันเตรียมพร้อมรับมือการแตกทำลายของอารยธรรม ได้แก่

1. สตีฟ ฮัฟฟ์แมน (Steve Huffman) อายุ 33 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นซีอีโอของเรดดิต (เว็บโซเซียลมีเดียด้านข่าวสารการวิพากษ์วิจารณ์) ที่มีมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ เขามีความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองสหรัฐและความไม่สงบในวงกว้างมาหลายปีแล้ว เขากล่าวว่า “เมื่อสถาบันสำคัญล่มสลาย เราจะขาดการขนส่ง ขาดของกินของใช้” (ชาวนักเตรียมพร้อมเรียกสถานการณ์นี้ว่า “ไร้การปกครองของกฎหมาย”)

ฮัฟฟ์แมนเชื่อว่า ชีวิตร่วมสมัยขณะนี้ขึ้นอยู่กับฉันทามติที่เปราะบาง เขากล่าวว่า มีคนอเมริกันไม่น้อยที่เชื่อว่าอเมริกายังไปได้ดี เงินดอลลาร์มีค่าและการเปลี่ยนถ่ายอำนาจก็สามารถทำได้อย่างสันติ แต่นั่นก็เป็นเพียงความเชื่อ เขาเห็นว่าโซเชียลมีเดียที่เขาทำอยู่ช่วยขยายความตื่นตระหนกของสาธารณชน “เมื่อผู้คนมารวมกัน (โดยผ่านอินเตอร์เน็ต) ก็ง่ายที่จะตื่นตระหนก”

ก่อนวิกฤติใหญ่ทางเศรษฐกิจปี 2008 เป็นข่าวดัง ฮัฟฟ์แมนสังเกตเห็นความกังวลของผู้คนที่ใช้เว็บไซต์ของเขาได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากเรื่องการจำนองไปสู่หนี้ของนักศึกษา ไปสู่หนี้ทั่วไป และเกิดบรรยากาศที่ว่า เรื่องเลวร้ายกำลังเกิดขึ้น

2. โรเบิร์ต เอ. จอห์สัน (Robert A. Johnson) อายุ 59 ปี เป็นนักเศรษฐศาสตร์นักคิดของกลุ่มเศรษฐี เคยเป็นผู้อำนวยการกองทุน “โซรอสฟันด์” ปี 2015

เขาส่งสัญญาณเตือนว่า ความตึงเครียดอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงจะส่งผลถึงขั้นทำให้ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกต้องหาทางป้องกันตนเอง

จอห์นสันกล่าวในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ว่า

“ผมทราบมาว่าผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยงทั้งหลายทั่วโลก กำลังซื้อทางวิ่งของเครื่องบินและฟาร์มในประเทศอย่างเช่นนิวซีแลนด์ เพราะคิดว่าควรจะได้มีที่สำหรับหลีกหนี”

เขาชี้ว่า “ผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยงที่มีรายได้มากที่สุด 25 คน มีรายได้มากกว่าครูสอนเด็กชั้นอนุบาลทั่วสหรัฐรวมกัน ผมคิดว่าการอยู่ในกลุ่มผู้จัดการกองทุน 25 คนก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีขึ้นได้ และเกิดความหวาดเสียวขึ้น”

เนื่องจากผู้ทรงอำนาจทั้งหลายรู้สึกว่าถูกอิจฉา และเกิดความหวาดกลัวขึ้นมากมาย และเสริมว่า กลายเป็นว่าคนที่เห็นอนาคตได้ชัดเจนคือกลุ่มผู้มีทรัพยากรมาก เนื่องจากหาเงินได้มาก “เป็นผู้ที่เตรียมพร้อมมากที่สุดที่จะกระตุกสายร่มและกระโดดออกจากเครื่องบิน”

3. ลาร์รี ฮอลล์ (Larry Hall) นักพัฒนาที่ดินอายุห้าสิบปลาย ซีอีโอ “โครงการคอนโดฯ อยู่รอด” ได้ความคิดการทำโครงการนี้จากเบาะแสของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูก

โดยหลังจากเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 รัฐบาลฟื้นความคิด “รัฐบาลต่อเนื่อง” ขึ้นมาอีกครั้ง สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (ฟีมา FEMA) ได้จัดฝึกซ้อมหน่วยงานรัฐบาลกลางทั่วประเทศเป็นประจำ

ครั้งล่าสุดชื่อว่า “ขอบฟ้าอินทรี” ในปี 2015 เพื่อรับมือกับพายุเฮอริเคน ระเบิดนิวเคลียร์ แผ่นดินไหว และการโจมตีทางไซเบอร์

Dark clouds are seen over Miami’s skyline before the arrival of Hurricane Irma to south Florida, U.S. September 9, 2017. REUTERS/Carlos Barria TPX IMAGES OF THE DAY

ฮอลล์ได้ฉุกคิดขึ้นว่า ต้องมีอะไรที่รัฐบาลรู้และไม่บอกให้ประชาชนทราบ

เขาเริ่มพัฒนาโครงการตั้งแต่ปี 2008 โดยซื้อไซโลเก่าที่ตั้งขีปนาวุธจากทางการ และสร้างคอนโดฯ หรูจนเสร็จเรียบร้อยในปี 2012 มีสระว่ายน้ำ หน้าต่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น มีรั้วรอบขอบชิด หน้าประตูมียามติดอาวุธเฝ้า มียานหุ้มเกราะและพลแม่นปืน นั่งได้ 15 คนเพื่อรับผู้ที่เป็นเจ้าของคอนโดฯ ในรัศมี 400 ไมล์ ผู้ที่มีเครื่องบินส่วนตัว สามารถนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินที่ห่างไปราว 30 ไมล์

ลูกค้ารายหนึ่งได้แก่ ไทเลอร์ อัลเลน เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้จ่ายเงิน 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อคอนโดฯ หนึ่งยูนิตกล่าวว่า เขาเป็นกังวลต่อ “ความขัดแย้งทางสังคม” ในอนาคต รวมทั้งการที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยความจริงแก่ประชาชน เขามีความสงสัยว่า มีการปล่อยให้เชื้อไวรัสอีโบลาระบาดเข้ามาในประเทศ เพื่อทำให้ประชาชนอ่อนแอ เขาเสริมว่า “เดี๋ยวนี้ความน่าเชื่อถือของผมพุ่งกระฉูด เมื่อสิบปีที่แล้วทำการเช่นนี้ดูเป็นเรื่องบ้าบอคอแตก แต่เดี๋ยวนี้ทั้งหมดกำลังเกิดขึ้น นั่นคือ ความไม่สงบทางสังคม ความแตกแยกทางวัฒนธรรมภายในประเทศ การต่อต้านทางเชื้อชาติ และการปลุกระดมความเกลียดชัง”

อัลเลนชี้ว่า เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประธานาธิบดีก็จะไปอยู่ที่แคมป์เดวิด เขาก็ต้องเตรียมตัวอย่างนั้นบ้าง (ดูบทความของ Eavan Osnos ชื่อ Doomsday prep for the super-rich ใน newoiker.com 30.01.2017)

การเตรียมพร้อมของเหล่าเศรษฐีดังกล่าว เป็นข่าวใหญ่และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ด้านหนึ่ง ส่งผลป้อนกลับเชิงบวกว่า ขนาดเศรษฐียังเตรียมพร้อม พลเมืองรากหญ้าก็ควรเตรียมพร้อมบ้างเท่าที่จะทำได้

บางคนชี้ว่าการเตรียมพร้อมกันดังกล่าวเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะมนุษย์อยู่ในโลกใบเดียวกัน ควรหาทางมาร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนมากกว่า

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเหตุปัจจัยและภัยคุกคามที่สร้างกระแสการเตรียมพร้อมของพลเมือง