โล่เงิน : กลัดกระดุมเม็ดแรกปฏิรูป ตร. เวทีระดมสมองเกณฑ์แต่งตั้ง โครงสร้างอำนาจ “ก.ต.ช.-ก.ตร.”

 

คืบเข้ามาอีกเปลาะ

สำหรับการขับเคลื่อนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ทำหน้าที่ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ร่วมกับ 36 อรหันต์ในฐานะกรรมการ

ชัดเจนขึ้นหลังจากเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยมีข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับ ร.ต.ต ถึง พล.ต.อ. กว่า 130 นาย ร่วมกับนักวิชาการ ประชาชนผู้เกี่ยวข้องเข้าวิพากษ์ข้อเสนอเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงระเบียบองค์ประกอบรวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

พล.อ.บุญสร้าง เผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) นั้นจะต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ เกี่ยวกับภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม

และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารบุคคลให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย

โดยการแต่งตั้งต้องยึดหลักคุณธรรม การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่มีแค่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ

“ได้แก้ไขแนวทางการเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. คนปัจจุบันเสนอรายชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ตามลำดับ เพื่อนำรายชื่อส่งให้ ก.ตร. พิจารณาคัดเลือกเหลือเพียงรายชื่อเดียว และนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยจะต้องมีการชี้แจงถึงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบ วิธีนี้จะมีความโปร่งใส เพราะประชาชนจะรับทราบตั้งแต่ขั้นตอนการเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ การเสนอรายชื่อจะต้องเสนอแบบเปิดเผย” พล.อ.บุญสร้างเผย พร้อมยืนยันว่า

จากการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ ในอนาคตจะทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงตำรวจได้ยากขึ้น

เพราะเดิม ผบ.ตร. แต่งตั้งโดย ก.ตร. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

แต่โครงสร้างใหม่ ผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการจะมาจากตำรวจที่เกษียณอายุราชการและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมด้วย

ดังนั้น จะทำให้ได้ตำรวจที่ปลอดจากการเมือง

แต่ท้ายที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือก ผบ.ตร. ตามรายชื่อที่เสนอไป

ขณะที่การบรรยายเรื่อง “เจาะลึกร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …” โดย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เผยว่า สำหรับเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วนคือการปรับปรุงกฎหมายของการบริหารงานบุคคล

เพราะการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ในชุดนี้ ได้ให้กรอบเวลาว่าเฉพาะงานบริหารงานบุคคลจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560

เพราะว่าถ้าดำเนินการไม่เสร็จจะมีปัญหา เนื่องจากในรัฐธรรมนูญเขียนว่าหากคณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการไม่เสร็จภายใน 1 ปี ให้กระบวนการแต่งตั้งนั้นไปใช้อาวุโสทั้งหมด เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด

ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ก.ต.ช. ให้เป็นองค์กรกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ตำรวจ ยกเลิกอำนาจการคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.

มีผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มหนึ่งเห็นว่า ไม่ควรเพิ่มผู้บัญชาการทหารสูงสุดมานั่งเป็นกรรมการ ก.ต.ช. เนื่องจากมีปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาอยู่แล้ว น่าจะเพียงพอแล้ว

คณะกรรมการ ก.ต.ช. ไม่ควรมีนักการเมืองท้องถิ่นและไม่ควรมอบหมายให้คนอื่นมาประชุมแทน

สําหรับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติม ให้กระจายอำนาจการแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการหน่วยที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ลงไปนั้น

พ.ต.อ.นิติพันธ์ กนกเวชยันต์ ผกก.ฝอ.สตม. กล่าวว่า ในส่วนของมาตรา 32 มีการเสนอเกี่ยวกับความยุติธรรมในการแต่งตั้งตำรวจให้ ก.ตร. ออกกฎ และ ก.ตร. เป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจน

แต่มีข้อสังเกตว่าลักษณะการเขียนกฎดังกล่าวมีความกว้างไป ไม่สามารถส่งผลในทางปฏิบัติที่แท้จริง ควรมีการกำหนดและลงลึกไปเลยว่าจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอย่างไรในการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ควรจะมีแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด

กรณีแต่งตั้งข้ามหน่วยให้เกิดจากความสมัครใจ ห้ามแต่งตั้งข้ามสายงานโดยไม่สมัครใจ

พร้อมมีการเสนอให้ ก.ตร. มีส่วนในการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาอยู่ใน ก.ตร.

ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ และมาตราที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยตามร่างฯ

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องงบประมาณและบำเหน็จ โดย พล.ต.ต.ณรงค์รัตน์ พิชัยณรงค์ ผบก.สำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำหรับค่าตอบแทนตำรวจนั้นมีเพียงมาตราเดียวคือ 71/1 คือให้เขียนไว้ในกฎหมายว่าต้องมีการทบทวนค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกๆ 5 ปี

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย

แต่มีบางคนคิดว่า 5 ปีนานเกินไปหรือไม่ ควรพิจารณาทบทวนทุก 3 ปีทุกสายงาน โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากสภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจะต้องปรับในทุกๆ ส่วนราชการ ควรเขียนไว้ในกฎหมายหากไม่มีการตรวจสอบทุก 5 ปีจะต้องผิดกฎหมาย ถือเป็นการละเว้น

อย่างไรก็ตาม มีบางกลุ่มที่เห็นต่างจากร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ว่า ไม่อยากให้นักการเมืองท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม จะทำให้มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

และอยากให้ผู้บังคับการ (ผบก.) เสนอรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายไปยังผู้บัญชาการ (ผบช.) มากกว่าที่จะส่งไปยังหน่วยงานใหญ่

เพราะ ผบช. จะเห็นการทำงานของลูกน้องมากกว่า

จากนี้ต้องรอดูต่อไปว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) จะตกผลึกแก้ไขร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ออกมารูปแบบไหน

โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายการบริหารงานบุคคลที่ต้องทำเร่งด่วน

มิฉะนั้นการแต่งตั้งโยกย้ายต้องใช้หลักเกณฑ์อาวุโสทั้งหมด!!