I.F. ช่วย ‘ชะลอวัย’ และ ‘ความหิว’ ทำให้ ‘อายุยืน’

กระแส I.F. (Intermittent Fasting) หรือ “การอดอาหารในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นระยะ” ไม่เพียงสาวๆ ที่ต้องการลดความอ้วนเท่านั้นที่หันมามีวินัยกับการกิน แต่คนทุกเพศทุกวัย ล้วนทำ I.F. เพื่อสุขภาพในยุคปัจจุบัน

I.F. หมายถึง “การอดอาหารในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นระยะ” เป็นวิธีลดน้ำหนักที่คนทั่วโลกนิยมใช้กันมากว่า 10 ปีแล้ว โดยจะมีการแบ่งเวลาการรับประทานอาหารออกเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ

1. ช่วงอด (Fasting)

2. ช่วงกิน (Feeding)

โดยมีให้เลือกด้วยกัน 6 วิธี ดังนี้

1. Lean Gains เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด คืออดอาหาร 16 ชั่วโมง และกิน 8 ชั่วโมง

2. Fast 5 กิน 5 ชั่วโมง และอดอาหาร 19 ชั่วโมงแบบต่อเนื่อง

3. Eat Stop Eat อดอาหาร 24 ชั่วโมงจำนวน 1 ถึง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยในวันที่อดอาหาร สามารถกินได้ปกติ ตามจำนวนแคลอรีที่ร่างกายต้องการ

4. 5:2 กินอาหารแบบปกติ 5 วัน โดยกินแบบ Fasting ติดกัน 2 วัน หรือจะห่างกันก็ได้ แต่ไม่ใช่การอดอาหารทั้งวัน (กินให้น้อยลง)

5. Warrior Diet อดอาหาร 20 ชั่วโมง และกิน 4 ชั่วโมง หรือ “กินมื้อใหญ่มื้อเดียว” เน้นโปรตีน และผักสด ส่วนในช่วงอดอาหาร สามารถกินอาหารที่มีแคลอรีต่ำได้

6. ADF (Alternate Day Fasting) อดอาหารแบบวันเว้นวัน โดยวันที่อดสามารถกินอาหารแคลอรีต่ำในปริมาณน้อยๆ ได้

ประโยชน์ของการทำ I.F. คือการช่วยยกระดับการ Burn ไขมันให้กับร่างกาย เพราะเมื่อเราอยู่ในช่วงอดอาหาร “ระดับ Insulin” จะลดลง “ระดับ Growth Hormone” จะสูงขึ้น ทำให้ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญได้มาก ช่วยลดไขมันสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LDL (Low Density Lipoprotein) หรือ “ไขมันเลว” แต่ไม่ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง

นอกจากจะช่วยเรื่องลดน้ำหนักแล้ว ยังช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยลดการอักเสบของร่างกาย ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน ไปจนถึงมะเร็ง อีกทั้งยังช่วยในเรื่องระบบความจำ และสมอง รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้สุขภาพดี และอายุยืน

รหัส I.F. ที่นิยมที่สุด คือ LCHF (Low Carb High Fat)

นั่นคือ Low Carbohydrate คือลดน้ำตาล แป้งขัดขาว และ High Fat คือกิน HDL (High Density Lipoprotein) หรือ “ไขมันดี” จากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก, ถั่ว, งา และ Avocado โดยการกินแบบนี้จะทำให้ Insulin ไม่สูง และดีต่อการทำ Fasting

การทำ I.F. ให้ได้ผล ต้องไม่อดอาหารมากเกินไป หรือกินมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องงดขนมหวานอย่างเด็ดขาด ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

 

อย่างไรก็ดี I.F. ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ใครบ้างที่ไม่ควรทำ I.F.

1. ผู้ที่ขาดสารอาหาร

2. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

3. หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

ปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำ I.F. ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำ I.F. เพื่อความปลอดภัย

และอย่าลืมการตรวจระดับวิตามิน และแร่ธาตุในเลือด หรือระดับฮอร์โมนในร่างกาย จะช่วยให้การทำ I.F. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจาก I.F. จะช่วยลดน้ำหนัก และ “ชะลอวัย” แล้ว มีงานวิจัยที่ชี้ว่า “ความหิว” ทำให้อายุยืนอีกด้วย

นั่นคือ ผลวิจัยชิ้นล่าสุดของทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University ซึ่งลงตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในวารสาร Science ระบุว่า การทดลองเกี่ยวกับ “แมลงหวี่” (Drosophila Melanogaster)

ที่แสดงให้เห็นถึง I.F. ว่ามีส่วนกระตุ้นให้เกิดกระบวนการหยุดยั้งความชรา หรือ “ชะลอวัย” และ “อายุยืน”

นั่นคือ การแค่ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าได้รับพลังงานไม่เพียงพอ โดยที่ไม่ต้องอดอาหารจริงจัง จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ก็สามารถช่วย “ชะลอวัย” และทำให้เรา “อายุยืน” ได้แล้ว

 

ทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University ได้ทดลองให้ “แมลงหวี่” กลุ่มหนึ่งกินอาหารที่มีปริมาณกรดอะมิโน BCAA หรือสารที่กระตุ้นให้เกิด “ความรู้สึกอิ่ม” หลังกินอาหาร โดยปริมาณกรดอะมิโน BCAA ที่ให้กับ “แมลงหวี่” กลุ่มนี้ มีปริมาณต่ำ

ดังนั้น “แมลงหวี่” กลุ่มแรก จะยังคงรู้สึกหิว แม้ได้กินอาหารเข้าไปในปริมาณมาก

ต่อมา ระดับความรู้สึกหิวของ “แมลงหวี่” ที่ได้รับกรดอะมิโน BCAA ไม่เพียงพอ สามารถวัดได้จากปริมาณ และชนิดของอาหารที่พวกมันเลือกกินในมื้อต่อไป

ซึ่งผลปรากฏว่า “แมลงหวี่” ที่ถูกทำให้รู้สึก “หิวหลอก” จะเลือกกินอาหารประเภทโปรตีนในปริมาณมาก โดยแทบจะไม่แตะต้องอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารกลุ่มแป้ง และน้ำตาลเลย

แปลความหมายได้ว่า “ความหิว” ที่เกิดขึ้น เป็นความต้องการเติมสารอาหารให้ร่างกายอย่างแท้จริง ไม่ใช่ “ความหิว” ที่เกิดจากอารมณ์ หรือความต้องการทางจิตใจ

เหตุผลที่ทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University เลือกทำการทดลองกับ “แมลงหวี่” ก็ด้วยปัจจัยหลักที่ว่า “แมลงหวี่” มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ เหมือนกับมนุษย์มากถึง 75%

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมลงหวี่” มีโครงสร้างของสมอง และระบบเผาผลาญเหมือนกับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย

ดังนั้น “แมลงหวี่” จึงเหมาะที่จะเป็นต้นแบบสำหรับการวิจัยทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมลงหวี่” เป็นตัวเลือกแรกที่สำคัญของทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University ในการวิจัยในครั้งนี้

 

นอกจากนี้ ทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University ยังได้ทดลองกระตุ้นเส้นประสาทของ “แมลงหวี่” กลุ่มที่ 2 โดยการกระตุ้นเส้นประสาทส่วนที่ทำให้เกิด “ความรู้สึกหิว” โดยตรง

ผลการวิจัยพบว่า “แมลงหวี่” ทั้ง 2 สองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับกรดอะมิโน BCAA ต่ำ (กระตุ้นความรู้สึกหิว) และกลุ่มที่ถูกกระตุ้นประสาทก่อความรู้สึกหิว ล้วนมีอายุยืนกว่า “แมลงหวี่” ที่ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมการทดลอง

ทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University พบว่า “แมลงหวี่” ที่ได้รับกรดอะมิโน BCAA ต่ำ จะมีการผลิตโปรตีนที่ผ่านการดัดแปลงโครงสร้างชื่อว่า Histone ที่เส้นประสาทกระตุ้นความหิว โดยโปรตีน Histone จะจับกับสารพันธุกรรม หรือ DNA และช่วยควบคุมการทำงานของ Genes ให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ปริมาณ Histone ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้มนุษย์อายุยืนนั่นเอง

หากเราสรุปผลการทดลองของทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University เราก็สามารถสรุปได้ว่า “แมลงหวี่” ที่ได้รับอาหารพลังงานสูงในปริมาณมาก จะมีอายุยืนกว่า “แมลงหวี่” ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พวกมันถูกทำให้รู้สึก “หิวเป็นครั้งคราว” ระหว่างการทดลอง

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “การอดอาหารในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นระยะ” หรือ I.F. (Intermittent Fasting) ที่มีต่อ “การชะลอวัย”

อย่างไรก็ดี ทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University ต้องการจะศึกษากลไกระดับโมเลกุลของการอดอาหารแบบ I.F. ให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

สุดท้ายนี้ ทีมนักสรีรวิทยาจาก Michigan State University ได้ทำการสรุปผลการวิจัยว่า I.F. (Intermittent Fasting) หรือ “การอดอาหารในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นระยะ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโน BCAA ต่ำ จะส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เฉกเช่นในกรณีของ “แมลงหวี่”

เนื่องจากทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน และสารอาหารเพียงพอ แต่จะไม่ลดหรือยับยั้งสัญญาณประสาทกระตุ้นความหิวที่ไปสู่สมองนั่นเอง