ความท้าทายรูปแบบใหม่

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ความท้าทายรูปแบบใหม่

 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง ส.ส. 500 คนเรียบร้อยแล้ว อีกไม่กี่วันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่จะมีขึ้น วาระแรกคือการเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานสภาผู้แทนฯ จะเป็นประธานรัฐสภาด้วย

จากนั้นจะมีการโหวตเหลือนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนรัฐบาลชุดเก่าที่รักษาการอยู่ขณะนี้

หากเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองประกาศยึดถือ อันหมายถึง “อำนาจประชาชน” เป็นตัวชี้ขาด การตัดสินใจของประชาชนถือว่าเป็นที่สุด 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ทำ MOU ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันไปแล้วด้วยการรวบรวม ส.ส.ได้กว่า 300 คน ซึ่งถือเป็นเสียงข้างมาก ทุกอย่างก็น่าจะจบแล้ว

พรรค “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” จับมือเป็นแกนนำรัฐบาลร่วมกัน โดยมี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในฐานะหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด เป็นนายกรัฐมนตรี

ประเทศชาติควรดำเนินไปตามกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างง่ายๆ เช่นนี้

ทว่า ประเทศไทยเราการแย่งชิงอำนาจมีความซับซ้อน ฝ่ายที่พ่ายแพ้ไม่ยินยอมที่จะสละอำนาจได้ง่ายๆ

ดังนั้น จนป่านนี้ “ขบวนการสืบทอดอำนาจ” ยังมีความหวังว่าจะพลิกมาจัดตั้งรัฐบาลได้ เขี่ยพรรคที่ชนะเลือกตั้งให้ตกเวทีอำนาจได้สำเร็จ

 

“ขบวนการช่วงชิงอำนาจ” เหมือนจะยังทำงานเข้มข้นกันจนนาทีสุดท้าย ไม่ว่าจะ “ปล่อยข่าวสร้างความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ปล่อยข่าวปัญหาของ “พรรคก้าวไกล” ที่นโยบายกระทบต่อ “ความมั่นคงในมุมที่รับไม่ได้”

การใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้น “พิธา” ให้มีปัญหาที่จะได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี

และสุดท้ายยังมี “ด่าน ส.ว.” ที่จะสกัดกั้นไม่ให้เป็นไปตาม “ฉันทามติของประชาชน”

เกมของ “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” ที่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อขวางรัฐบาลที่ “ประชาชนเลือก” ทำให้มีการมองกันว่า หากทำเช่นนั้น อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น เพราะประชาชนน่าจะออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่ยินยอม

อย่างไรก็ตาม ที่นักวิเคราะห์ไม่น้อยที่มองว่า จะไม่มีการประท้วงรุนแรงเกิดขึ้น เพราะประชาชนมีบทเรียนมาจากอดีตว่าการใช้กำลังเข้าปะทะกับกองกำลังติดอาวุธนั้นมีแต่จะสูญเสีย อย่างมองไม่เห็นทางที่จะชนะ

ดังนั้น เมื่อ “นิด้าโพล” มีผลสำรวจในเรื่อง “การชุมนุมหลังตั้งรัฐบาล” ออกมา

ในคำถามเรื่อง “ความเบื่อหน่ายต่อเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล” มากถึงร้อยละ 57.71 ตอบว่า “เบื่อมาก”, ร้อยละ 20.46 “ค่อนข้างเบื่อ”, ร้อยละ 12.75 “ไม่เบื่อเลย”, ร้อยละ 8.09 “ไม่ค่อยเบื่อ”

จากความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ หากตีความได้ว่าประชาชนไม่เห็นประโยชน์ของการจัดม็อบเพื่อออกมาต่อต้านความไม่ชอบมาพากลอะไรอีกแล้ว

การใช้การจัดม็อบดูจะเป็นเรื่องของฝ่ายที่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก “กองกำลังติดอาวุธ” มากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อว่าจะไม่มีการชุมนุมต่อต้านการขัดขวางการตัดสินใจของอำนาจประชาชน แต่นักวิเคราะห์การเมืองไม่น้อยที่ประเมินว่าจะเกิดพฤติกรรมต่อต้านแบบ “ดื้อเงียบ” ในหลากหลายรู้แบบเกิดขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาต่ออำนาจรัฐแบบลึกซึ้งในการเปลี่ยนแปลงการอยู่ร่วมกันที่หนักขึ้น

การต่อต้านอำนาจรัฐถึงระดับก่อให้เกิดความเปลี่ยนถึง “โครงสร้างวัฒนธรรม” มีความเป็นไปได้สูง

รูปแบบจะเป็นเช่นไรนั้น ภาพของ “หยก” นักเรียน ม.ปลายที่เป็นกระแสในสังคมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการต่อสู้แบบใหม่ของ “คนรุ่นใหม่” ที่มีบทเรียนจากอดีต

ไม่ใช่การชุมนุม แต่มีพลังต่อโครงสร้างความคิดของประชาชนในภาพรวมมากกว่า