สงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

 

สงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

กว่า 6 สัปดาห์เข้าให้แล้วนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ความชัดเจนแน่นอนของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการกลับยังไม่มีเอาเสียเลย

ผมพูดแบบนี้อาจฟังดูออกจะแปลกประหลาดไปเสียหน่อย แต่ก็ไม่ใช่การพูดที่เกินความจริงไปนักหรอกนะครับ

เพราะมันไม่มีความชัดเจนจริงๆ

หลายท่านคงยกมือขึ้นเหนือศีรษะพร้อมประสานเสียงตะโกนบอกผมว่า “อาจารย์! ก็เมื่อผลการเลือกตั้งมันชัดเจนเสียแบบนั้น แล้วทำไมคนที่จะมานั่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลถึงยังไม่ชัดล่ะ ไม่เห็นจะมีอะไรสลับซับซ้อนเลยมิใช่หรือ ก็คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดเสนอมานั่นแหละเป็นนายกฯ”

และอีกหลายท่านก็คงจะพูดต่อไปอีกว่า “จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญบอกให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องทำการรับรองผลการเลือกตั้งเสียก่อน (ซึ่งก็รับรองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) และต้องไปโหวตในรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่คือพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกโดยเสียงข้างมากให้เข้ามาทำหน้าที่แทนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม นี่เขาจับขั้วกันเป็นรัฐบาล 312 เสียงเรียบร้อย นี่มันชัดเจนเสียไม่รู้จะเอาอะไรมาให้ไม่ชัดแล้วนะอาจารย์!”

ใช่ครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ก็เมื่อเหลียวซ้ายแลขวาไปดู “ผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการ” พบว่าพรรคอันดับ 1 ที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดคือพรรคก้าวไกลซึ่งเสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในบัญชีของพรรคการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกฯ แสดงว่าคุณพิธาก็ต้องมาเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลอย่างไม่ต้องโต้เถียงกันให้มากความ

แต่แม้กระนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงวันที่จะยกมือโหวตเลือกนายกฯ กัน ทุกท่านก็เห็นแล้วว่าลำพังเพียงแค่ระหว่างรอวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ทั้งเสียงปฏิเสธประกอบคำร้องต่างๆ ก็ถาโถมเข้ามาใส่แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเต็มไปหมด (ย้ำว่ามากมายหลายกรณี)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการกล่าวหาว่าคุณพิธาถือหุ้นสื่ออย่าง “บริษัทไอทีวี” จนอาจเข้าข่ายสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งอาจกระทบต่อการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วยหรือไม่อย่างไร จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ “มหากาพย์ไอทีวี” มาอย่างยาวนานตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ด้วยปัจจัยข้างต้นจึงทำให้หนทางการเข้าสู่ทำเนียบของคุณพิธาและความหวังของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่อยากเห็นคุณพิธาดำรงตำแหน่งประมุขของฝ่ายบริหารของประเทศพลันต้องเริ่มเกิดความสั่นคลอนไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความหวาดระแวงเพราะไม่รู้ว่าจะถูกสอยเสียเมื่อไหร่จนทำเอานอนไม่หลับกระสับกระส่ายกันเป็นอันมาก

 

มาถึงตรงนี้เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตจากเหล่าบรรดานักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากมายหลายภาคส่วนว่า “เอ๊ะ! ทำไมจึงเกิดการตะลุมบอนร้องเรียนใช้กฎหมายฟาดฟันกันเยอะแยะเสียจริง” (ปัจจุบันก็ยังมีการร้องเรียนเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ)

จนกลายเป็นที่มาของความฉงนสงสัยว่า นี่เรากำลังตกอยู่ในสมรภูมิ “สงครามทางกฎหมาย” หรือที่บางคนมักเรียกกันว่า “นิติสงคราม” หรือไม่?

ในความคิดส่วนตัวซึ่งได้พินิจพิจารณาผ่านหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้วผมเห็นว่า ชัดเจนครับ!

เรากำลังอยู่ในสมรภูมิสงครามทางกฎหมายอย่างมิพักต้องสงสัย

แต่เมื่อพูดเช่นนี้ก็คงจะมีคนโต้แย้งขึ้นทันทีเลยว่า “อาจารย์อคติไปรึเปล่า นี่ก็เป็นการฟ้องร้องตรวจสอบตามปกตินั่นแหละ จะไม่ให้ตรวจสอบคุณพิธาเลยเพียงเพราะว่ามาจากการเลือกตั้งอย่างงั้นเหรอ?”

มิได้ครับ คงต้องขอบอกว่าตัวผมเองนั้นไม่ได้หมายความเช่นนั้นและจะปฏิเสธการตรวจสอบผู้ที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะใน “ระบบปกติ” ตามหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ทุกคนต้องถูกตรวจสอบและรับผิดได้เสมอ

แต่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยของหลายฝ่ายว่าเรากำลังตกอยู่ในสภาวะของการฟ้องร้องตรวจสอบใน “ระบบที่ไม่ปกติ” หรือไม่ต่างหาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ไม่ค่อยประสบพบเจอปรากฏการณ์ “สงครามนักร้อง” (รวมถึงการคัดค้านของวุฒิสภาในการจัดตั้งรัฐบาล) ที่หนักหนาสาหัสเฉกเช่นทุกวันนี้

และการฟ้องร้องตรวจสอบที่มีลักษณะไม่เป็นปกติเช่นนี้แหละครับ ในทางวิชาการกำลังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่านี่คือสภาวะ “สงครามทางกฎหมาย” แต่ผมเองไม่ได้มองว่าเป็นสงครามทางกฎหมายแบบปกติธรรมดาเหมือนที่ใครหลายคนพูดถึงกัน

กลับเห็นว่านี่คือ “สงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ต่างหาก

 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเข้าไปอรรถาธิบายว่าสงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมพูดถึงคืออะไรกันแน่ เบื้องต้นนี้คงต้องขออธิบายขยายความคำว่า “สงครามทางกฎหมาย” (บางท่านใช้คำว่า “นิติสงคราม”) เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจเสียก่อนว่ามีความหมายเช่นไร?

ขอสรุปรวบความแบบสั้นๆ ว่า “สงครามทางกฎหมาย” เป็นถ้อยคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษอย่าง “Lawfare” ซึ่งในทางวิชาการคือ ปฏิบัติการใช้กฎหมาย หรือกลไกการบังคับใช้กฎหมายทำลายศัตรูฝ่ายตรงข้ามด้วยการสร้างให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกต่อต้านคัดค้านและเกลียดชังด้วยเหตุที่ว่าเป็นผู้มีจุดด่างพร้อยหรือเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระบบกฎหมาย และหลักกฎหมายต่างๆ

เราจึงเห็นได้ว่าอันที่จริง สงครามทางกฎหมายก็คือ ยุทธวิธีหนึ่งของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ ที่จงใจบิดเบือนตัวบทกฎหมาย ใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางกฎหมายตามอำเภอใจเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง หรือกลุ่มของตนเองล้วนๆ ซึ่งเป็นการขัดแย้งต่อหลักกฎหมายที่แท้จริงที่มีเจตจำนงสูงสุดในการพิทักษ์รักษาประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง

 

เมื่อทราบว่า “สงครามทางกฎหมาย” คืออะไรกันแล้วคราวนี้ขยับเขยื้อนมาถึงกรณี “สงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ที่ผมเกริ่นไว้ก่อนนี้กันบ้างว่ามีรูปร่างหน้าตาเช่นไร มีความผิดแผกแตกต่างจาก “สงครามทางกฎหมาย” หรือไม่?

สำหรับสภาวะ “สงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ” หรือ “Constitutional Lawfare” อธิบายง่ายๆ ได้ว่า โดยทั่วไปก็คงคล้ายคลึงกับกรณีสงครามทางกฎหมายตามที่พูดถึงก่อนนี้ เพียงแต่จะมีที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

คือ แทนที่เป็นการหยิบยกเอาตัวบทกฎหมาย หรือกลไกทางกฎหมายทั่วๆ ไปมาใช้เพื่อฟาดฟันห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม

กลับนำเอา “กฎหมายแม่บทของประเทศ” อย่างรัฐธรรมนูญ หรือกลไกทางรัฐธรรมนูญ (รวมถึงการออกแบบยกร่างรัฐธรรมนูญและองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ด้วย) มาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง หรือกลุ่มของตนเองโดยมิได้ฟังอีร้าค่าอีรม เจตนารมณ์และหลักการของรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่น้อย

บางท่านอาจยังไม่เห็นภาพว่า แล้วผลที่เกิดขึ้นจากสงครามประเภทนี้จะไปแตกต่างจากกรณีสงครามทางกฎหมายทั่วๆ ไปอย่างไร เพราะท้ายที่สุดมันก็คงจะแย่เหมือนๆ กันกระมัง

ใช่ครับ! แย่น่ะแย่แน่ๆ แต่กรณีสงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเนี้ยะจะแย่กว่ามากๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผลกระทบของสงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญจะรุนแรงกว่ามากมายหลายเท่านัก

 

ที่พูดเช่นนี้เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เหมือนกฎหมายปกติทั่วไป เพราะเป็นกฎหมายที่ทำหน้าที่ก่อร่างสร้างประเทศผ่านการกำหนดระบบกฎหมาย ระบอบการเมือง และโครงสร้างทางสังคม

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ หรือกลไกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญถูกใช้ไปเป็นอาวุธเพื่อขจัดศัตรูทางการเมืองของตนโดยบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการที่พึงจะเป็นแล้ว จึงเป็นการเข้าไปบ่อนทำลายโครงสร้างรัฐ หลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมของประเทศ

การเมือง กฎหมาย และสังคมคงมีอันต้องพังพินาศไป พร้อมๆ กับความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีให้กับประเทศ ซึ่งนี่คือสัญญาณของจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นเป็นแน่

เมื่อทราบเช่นนี้แล้วละก็ “อย่าจับประเทศเป็นตัวประกัน” เพียงเพื่อต้องการประหัตประหารคนที่ตนเองไม่ชอบโดยไม่เคารพคำนึงต่อเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งเลยครับ

ผมไม่ได้เชียร์คุณพิธาชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูจนบอกว่านายกฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ณ วันที่ 14 พฤษภาคม จะแตะต้องไม่ได้เสียเลย

เพียงแต่แค่ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติและครรลองทางการเมือง

ประชาชนรักใครชอบใครเลือกใครมาให้เป็นนายกฯ และรัฐบาล ก็ต้องใจกว้างรับฟังและยอมรับ

อย่าไปฝืนธรรมชาติการเมืองด้วยการนำเอาตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญมาทำการผูกมัดเหนี่ยวรั้งการเมืองให้เป็นไปตามความประสงค์ของกลุ่มบุคคลหนึ่งๆ เลย มันเป็นไปไม่ได้

และเอาเข้าจริงตลอด 6 ปี ของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า แม้จะเป็น “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” เอง ก็มิอาจหยุดยั้งความเป็นจริงทางการเมืองของไทยที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้

 

การเกิดขึ้นและสิ้นสถานะไปของนายกฯ และคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งควรเป็นไปตามกฎเกณฑ์กลไกธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ พึงต้องสอดคล้องกับเจตจำนงและหลักการทางรัฐธรรมนูญ ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ทุกอย่างอยู่บนหลักความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน รัฐบาลชุดก่อนปฏิบัติอย่างไร รัฐบาลชุดใหม่ก็พึงต้องปฏิบัติบนบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน หาใช่เปลี่ยนขาวเป็นดำ เปลี่ยนดำเป็นขาว ไม่เช่นนั้นก็รังแต่จะสร้างความแตกแยกขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันไม่รู้จักจบจักสิ้น

ปล่อยให้ “การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรัฐบาล” เป็นไปตามครรลองวัฏจักรของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนพึงเป็นผู้กำหนดเองเถิด

หยุดสงครามทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียก่อนจะสายเกินไป!

หาไม่แล้ว คงเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้งซึ่งย่อมส่งผลให้รัฐธรรมนูญกลายสภาพเป็นระเบิดเวลาที่รอวันแห่งการทำลายล้างประเทศและจะเกิดความเสียหายมหาศาลเป็นแน่ โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความเสียหายดังกล่าวหาใช่ใครที่ไหนหรอกครับ หากแต่รวมถึงผู้จงใจสร้างยุทธศาสตร์สงครามการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองและพวกพ้องด้วย

เมื่อเวลานั้นมาถึงละก็ คงจะได้เห็นประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวเดินตามรอยกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแอฟริกาใต้ก็เป็นได้ คำถามคือเราอยากเห็นภาพนั้น?

มันคุ้มแล้วหรือ?