คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปะทะ ศาลปกครองสูงสุด

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องราวน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนเลือกไม่ถูกว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด เพราะทุกข่าวช่างน่าตื่นเต้นไปหมด

ทั้งข่าวเฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อดีขึ้น ข่าวศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนสั่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยผลสอบคดีนาฬิกาหรู ข่าวบริษัท Stark ยื่นงบการเงินปี 2565 และปรับปรุงแก้ไขงบการเงินปี 2564 พบส่วนต่างมากถึง 25,000 ล้านบาท ข่าวคุณแอนนาส่งทองคำมูลค่า 4 ล้านบาททางรถจักรยานยนต์ รวมทั้งข่าวคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกล็อตเตอรี่งวดที่ผ่านมา

น่าติดตามทุกเรื่องจริงๆ

ผมจึงขออนุญาตเสี่ยงทายโดยการจับฉลากเลือกข่าวในสัปดาห์นี้ครับ และเลขที่ออกก็คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ครับ

น่าเสียดายจริงๆ อดรายงานข่าวเรื่อง ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยถูกรางวัลเลขท้าย เบอร์ 30 เพราะหวยมาลงที่ ป.ป.ช.แทนครับ

 

เท้าความกันสักนิด ท่านผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นๆ เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ซึ่งทั้ง ครม.ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเข้ารับตำแหน่งแล้วทุกท่าน รวมทั้งบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่รักยิ่งของพวกเรา

เหตุการณ์ดำเนินต่อมา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 5 ถ่ายรูปกันที่สนามหญ้าหน้าทำเนียบรัฐบาล แสงแดดสาดส่องมาต้องใบหน้าอันหล่อเหลาของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ท่านจึงขยับมือขวาขึ้นบังแดดมิให้แผดเผาดวงตาของท่าน

ทันใดนั้นแสงระยิบระยับตกกระทบแหวนเพชรเม็ดงามและนาฬิการหรูสะท้อนเข้าสู่กล้องของทีมนักข่าวที่มารอทำข่าว กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ที่มาของการตรวจสอบทรัพย์สินของชาวอินเตอร์เน็ต สู่คำร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของบิ๊กป้อม ว่าแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ริชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) มูลค่าหลายล้านบาท ไม่ปรากฏในรายการทรัพย์สินที่เคยยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งสิ้น ภายหลังถูกขุดคุ้ยว่า พล.อ.ประวิตรใส่นาฬิกาหรูออกงานไม่ต่ำกว่า 25 เรือน ซึ่งทั้งหมดยืมเพื่อนมา

กลายเป็นวลีเด็ด “นาฬิกายืมเพื่อน แหวนยืมแม่”

ตลกร้ายกว่านั้นคือ ป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 3 เสียง เชื่อว่านาฬิกายืมเพื่อนมาจริง จึงไม่ต้องแสดงในรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ส่งผลให้เรื่องนาฬิกาหรูยุติลงไปโดยปริยาย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561

 

แน่นอนว่าแม้ ป.ป.ช.จบ แต่ประชาชนไม่จบด้วย

ทางคุณวีระ สมความคิด และ คุณพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าว The Matter จึงยื่นคำร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยเอกสารคดีนาฬิกาหรู จำนวน 6 รายการ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้เหตุผลว่าเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาต จึงมีการร้องไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย มีคำวินิจฉัยให้เปิดเอกสารดังกล่าว ให้แก่คุณวีระและคุณพงศ์พิพัฒน์

สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.อ้างว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ใช้บังคับแล้ว

และในระหว่างบทบัญญัติที่ขัดกันระหว่างพระราชบัญญัติทั่วไป กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ย่อมจะต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องมีอิสระและไม่อยู่ภายใต้บังคับของ องค์การหรือหน่วยงานใดๆ

การให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีอำนาจวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว จึงเป็นการขัดกับอำนาจอิสระของ ป.ป.ช.

ทั้งคุณวีระและคุณพงศ์พิพัฒน์จึงนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลปกครองคนละคดีกัน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่คุณวีระ จำนวน 3 รายการ ได้แก่

1. รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

2. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้

3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยเอกสาร รายการที่ 3 และ 4 ได้แก่

1.รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุม ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 2.คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายใน 15 วัน

 

เท้าความซะยืดยาว ประเด็นสำคัญคือ ทางฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.อ้างว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจรับคดีไว้เนื่องจากการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นการกระทำตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรอิสระซึ่งเป็นการใช้อำนาจ โดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระนั้นๆ”

เข้าทาง ป.ป.ช.เต็มๆ

ส่วนฝ่ายศาลปกครองวินิจฉัยว่า สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.แม้เป็นองค์กรอิสระก็เป็นหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของ ป.ป.ช.จึงเป็นข้อมูลข่าวสารของรัฐ ต้องเปิดเผยตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร

หาก ป.ป.ช.ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตามกฎหมายมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

งานนี้เรียกได้ว่า ศึกช้างชนช้าง

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ที่จะยังไม่เปิดเผยข้อมูลผลคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ให้แก่นายวีระ สมความคิด ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ เห็นควรให้ทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุดทบทวนว่า ข้อมูลส่วนใดที่สามารถเปิดเผยได้ ข้อมูลส่วนใดไม่สามารถเปิดเผยได้อีกครั้ง

มตินี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ยอดแย่ต่อองค์กรตุลาการ เท่ากับเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับว่าศาลปกครองสูงสุดเป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอันเป็นยุติ (Res judicata) ซึ่งหากศาลยอมรับให้มีการสอบถามทบทวนไปเรื่อยๆ วนไปเวียนมา คำพิพากษาคงไม่เป็นที่สุดสักที

ที่พึ่งสุดท้ายของคณะกรรมการ ป.ป.ช.คงหนีไม่พ้นศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีสถานะที่มากกว่าศาลปกครอง ดังปรากฏในคดีโฮปเวลล์ ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันเป็นอย่างมากในแวดวงกฎหมายว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสามารถกลับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ ต่อไปในอนาคตใครแพ้คดีที่ศาลปกครองคงมาต่อกันที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกขยัก ความเป็นที่สุดของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคงต้องเสียไป

ในอดีต คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคสามหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งจำหน่ายคดี ตามคำสั่งที่ 51/2561 ไม่วินิจฉัยชี้ขาดตรงๆ ให้จบไปสักที

และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เลือกยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เท่ากับว่าไม่ยอมรับหลักการว่าการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ควรได้รับการตรวจจากศาลปกครอง เรื่องนี้ผู้เขียนขอพูดดักคอไว้ก่อน

เช่นนั้นความยุติธรรมคงไม่บังเกิด เพราะ

“ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม”