ถ้าโรงเรียนไม่ดูแลเด็ก แล้วใครจะดูแล?

คำ ผกา

คำ ผกา

 

ถ้าโรงเรียนไม่ดูแลเด็ก

แล้วใครจะดูแล?

 

การเคลื่อนไหวของหยก เด็กหญิงอายุ 15 ปี มีหลายประเด็นทับซ้อนจนฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องคลี่ประเด็นเหล่านั้นออกจากกัน เพื่อทำให้เรามองเห็นทางออกหรือวิธีแก้ไขปัญหา และเพื่อจะได้รู้ว่าจะเริ่มที่ประเด็นอะไรก่อน

หยกมีสถานะทั้งการเป็นเยาวชน เป็นนักเรียน และเป็นพลเมือง

ในฐานะพลเมือง หยกแสดงออกทางการเมืองในฐานะนักกิจกรรมเคลื่อนไหว จุดยืนทางการเมืองของหยกคือประชาธิปไตย และเสรีภาพ

นั่นทำให้หยกเลือกที่จะเคลื่อนไหวในประเด็นของกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย และเป็นเหตุให้หยกถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวนี้ สืบเนื่องจากประเด็นที่หยกสู้เรื่องเสรีภาพ

ในฐานะเด็กนักเรียน หยกเห็นว่า เครื่องแบบนักเรียน และหลักสูตรการศึกษาของไทย มีส่วนในการหล่อหลอมพลเมืองที่จำนนต่อระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ผ่านวิชาเรียนอย่างศีลธรรม จริยธรรม หรือกิจกรรมหน้าเสาธง

หยกจึงต้องการ “ท้าทาย” และต้องการให้ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญของเสรีภาพพลเมืองมากขึ้น

 

ในประเด็นเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน ฉันขอฉายหนังซ้ำว่าตัว “เครื่องแบบ” ไม่ได้เป็นการกดขี่ กดทับด้วยตัวของมันเอง

เพราะในโลกใบนี้ก็มีเครื่องแบบพยาบาล แอร์โฮสเตส เครื่องแบบพนักงานธนาคาร เครื่องแบบพนักงานโรงงาน หรือแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับกิจกรรมของอาชีพนั้นๆ เช่น ชุดของเชฟ ชุดของคนงานก่อสร้างอันตราย ชุดช่างไฟ ชุดช่างเครื่องยนต์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย

แต่ชุดนักเรียนไทยที่มีปัญหา เพราะมันถูกออกแบบด้วยวิธีคิดแบบที่เห็นนักเรียนเป็น “ไพร่พล” หรือเป็นน้องๆ ทหารเกณฑ์ หรือเป็นชุดของข้าราชการชั้นผู้น้อยสุดๆ เสื้อขาว กางเกงสีกากี เข็มขัด ถุงเท้า รองเท้า บวกกับทรงผมเกรียนแบบทหารเกณฑ์ หรือผู้หญิงก็ต้องเป็นผมสั้นติ่งหู

บวกไปด้วยวัฒนธรรมศักดินาเจ้าขุนมูลนายคนไม่เท่ากันที่ตกค้างอยู่ในสังคมไทยแม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เช่น เรื่องผู้ใหญ่ ผู้น้อย ลำดับชั้นต่ำสูง ที่ไม่ใช่การเคารพกันและกันตามมารยาทสากล

ในโรงเรียนไทยจึงบังคับให้นักเรียนถอดรองเท้าเดิน แต่ครูใส่รองเท้าได้ การนั่งคุกเข่าเข้าไปหาครู

การยืนแถวตรงหน้าเสาธง สวดมนต์ ฟังโอวาท หรือการสอนจริยธรรม ที่เน้นเรื่องคนดี แต่ไม่ได้สอนเรื่อง “จริยศาสตร์” จริงๆ

เหล่านี้เป็นปัญหาหมักหมมอยู่กับระบบการศึกษาไทยมายาวนาน นี่ยังไม่ต้องพูดว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อกล่อมเกลาพลเมืองให้ “เชื่อง” อยู่แล้ว แต่ของไทยถูกซ้ำเติมด้วยภาวะอาณานิคมภายในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่สำเร็จ

การศึกษาไทยจึงมีทั้งโรงเรียนที่ “ก้าวหน้า” สุดๆ สำหรับบางชนชั้นเท่านั้นที่เข้าถึง กับโรงเรียนสำหรับ “ชาวบ้านชาวช่อง” ที่ทั้งเครื่องแบบ ระเบียบเกี่ยวกับ “เนื้อตัวร่างกาย” ถูกออกแบบเพื่อย้ำให้ตัวนักเรียนตระหนักในตำแหน่งแห่งที่ทางชนชั้นของตน

ประเด็นการต่อสู้เรื่อง “เครื่องแบบนักเรียน” จึงไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย แต่เครื่องแบบนักเรียนเป็นเครื่องมือในการ “แยกแยะ” ว่าใครเป็นใคร ใครสังกัดชนชั้นไหนในสังคมด้วย

ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจว่าการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน ต่อให้เปลี่ยนกฎกระทรวงก็จะมีโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง อีกเยอะมากที่ยืนยันให้โรงเรียนคงไว้ซึ่งเครื่องแบบ

 

สําหรับฉันหากอยากถอดเอาวิธีคิดเรื่องอำนาจนิยมออกจากโรงเรียน สิ่งที่ควรถูกยกเลิกไป ไม่ใช่เครื่องแบบ แต่ควรยกเลิกเรื่องทรงผม และสิ่งที่ควรห้ามคือ ห้ามนักเรียนไถหัวเกรียนเหมือนนักโทษ หรือทหารเกณฑ์

จากนั้นควรมาคุยเรื่อง “เครื่องแบบ” ว่าสิ่งที่ทำได้เลยคือออกแบบเครื่องแบบให้เป็น unisex หญิงหรือชาย ก็สวมกางเกง เน้นความสะดวก คล่องตัว ซักรีดง่าย ไม่เป็นภาระ

สิ่งเหล่านี้สามารถผลักดันผ่านการทำงานทางความคิดอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหยก กลุ่มนักเรียนเลวก็เคยประท้วงตัดผมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ อันแสดงให้เห็นว่า การทำงานทางความคิดนี้ไม่สูญเปล่า

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแน่ๆ หากสังคมไทยได้อยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

พรรคการเมืองที่อยากชนะการเลือกตั้งย่อมดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

 

ในส่วนการต่อสู้ของหยก ฉันคิดว่าเราต้องแยกออกเป็นสองเรื่อง

หนึ่ง การต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยตระหนักว่า เครื่องแบบนักเรียนไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันล่วงละเมิดมิได้ เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลา และยังต้องมีวิวาทะกับสังคมไปอีกยาวนาน

แต่ฉันเชื่อว่าโดยแนวโน้มที่พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง การทำงานทางความคิดเรื่องอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทยจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ถูกจับตามอง ว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าไปทำงานในประเด็นนี้จริงจังแค่ไหน

สอง เรื่องตัวของหยกเอง อาจจะฟังดูแก่และอนุรักษนิยมมาก ที่ฉันคิดว่า สังคมควรสนับสนุนข้อเรียกร้องของหยกไปพร้อมๆ กับดูแลสวัสดิภาพและผลประโยชน์ของหยก และไม่ “ดัน” ให้เด็กอายุ 15 ปี สู้อย่างโดดเดี่ยว ในนามของความกล้าหาญ (ที่คนรุ่นเราไม่มี เราเลยต้องเชียร์เด็กเข้าไว้ ห้ามขวาง ห้ามเตือน)

อันดับแรกเมื่อพ่อแม่ หรือญาติทางสายเลือดของหยกเลือกจะ “ทิ้ง” หยก ต้องมีกระบวนการหาผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายให้หยก เพราะเด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ในทุกๆ เรื่องอันเกี่ยวพันกับ “สิทธิ” การที่หยกไม่มีผู้ปกครอง ทำให้หยกสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไม่ควรจะเป็น

ถ้าเราเป็นห่วงหยกจริง เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องแรกที่ได้รับการจัดการ

ต่อมาคือเรื่องสิทธิของหยกที่จะได้เรียนตามสิทธิที่สอบเข้าได้ ทางโรงเรียนควรออกมาสื่อสารให้ชัดเจนว่า ข้อพิพาทระหว่างโรงเรียนกับหยกคืออะไรกันแน่?

เพราะมันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่หยกไม่มีผู้ปกครองมามอบตัว เพราะแถลงการณ์ฉบับแรกของโรงเรียนบอกว่าได้อนุโลมให้หยกมอบตัวช้ากว่ากำหนด ได้จ่ายค่าเทอม และให้เข้าเรียน แต่ปัญหาคือหยกไม่ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน

ถ้าโรงเรียนสื่อสารให้ชัดเจนว่า เหตุผลที่ไม่สามารถให้หยกเรียนต่อได้ เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎ, พยายามปีนรั้วเข้าโรงเรียน, พาบุคคลภายนอกมาสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองนักเรียนคนอื่นๆ, ไม่ต้องการให้หยกมาสร้างความวุ่นวาย ปั่นป่วนในโรงเรียน

ถ้าเป็นเหตุผลเหล่านี้ คู่กรณีคือหยกก็จะได้รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป เช่น ไปดูข้อกฎหมายว่า โรงเรียนสามารถถอนสถานะนักเรียนได้หรือไม่ การถอนสถานะนักเรียนถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ หยกจะสู้ด้วยการฟ้องศาลปกครอง หรือเลือกไปเรียนที่อื่น แล้วต่อสู้ทางความคิดต่อ

 

ในความเห็นของฉัน จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องใหญ่เลย

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ควรเป็นเจ้าภาพทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กองกิจการเด็กฯ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หาผู้ปกครองให้หยก รับรองสถานะให้ถูกต้อง รับหยกเข้าเรียนตามสิทธิ ไปจนถึงการดูแลจัดหาที่พักอาศัย ทุนการศึกษา และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่เด็กด้วย

ส่วนข้อเรียกร้องของหยกเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ทรงผม การเข้าโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง โรงเรียนสามารถปรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนได้ เช่น จัดโต้วาทีเรื่องความจำเป็นของเครื่องแบบ จัดเวทีอภิปรายเรื่องความจำเป็นของวิชาจริยธรรม ทำการทดลองให้นักเรียนสวมชุดไพรเวตมาเรียนเดือนละ 1 วัน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า ทั้งหมดนี้ให้หยกทำตามกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วของโรงเรียนไปด้วย

หรือถ้าหยกไม่ยอม อยากจะอารยะขัดขืนต่อ โรงเรียนก็จะจัดพื้นที่ให้เข้ามาประท้วงในโรงเรียน แต่มีข้อแม้ว่าห้ามบุคคลภายนอกเข้า และการประท้วงต้องเป็นไปอย่างสงบ

หากโรงเรียนได้พยายามที่จะเปิดพื้นที่ให้ได้พูดคุย ต่อรอง แล้วหยกยังคงดันทุรัง ไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ ให้ถึงตรงนั้น แล้วโรงเรียนยืนข้อเสนอว่า ทางโรงเรียนอาจจะไม่ใช่โรงเรียนที่เหมาะสมสำหรับหยก อาจจะต้องหาโรงเรียนอื่นที่รองรับความต้องการหยกได้ และโรงเรียนจะสนับสนุนให้หยกได้เรียนในโรงเรียนที่เหมาะสมกับหยก จะสนับสนุนทุกทางเพื่อไม่ให้หยกหลุดจากระบบการศึกษา

ส่วนการเปลี่ยนกฎต่างๆ ตามที่หยกเรียกร้อง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของโรงเรียน เป็นอำนาจของกระทรวง ต่อให้โรงเรียนอยากเปลี่ยน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ตามอำเภอใจ หากอธิบายเช่นนี้ได้ แล้วหยกไม่ฟัง เราค่อยมาว่ากันว่าจะเอาอย่างไร

ย้ำอีกครั้งว่าเรื่องของหยกเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ไม่ซับซ้อน ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงที่โรงเรียนจะบริหารจัดการได้ และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาและเยาวชนโดยตรงด้วยซ้ำที่จะบริหาร “ประเด็น” นี้ให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม

หยกเป็นแค่เด็ก และโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลเด็กโดยไม่มีเงื่อนไข

เรื่องมันก็แค่นี้เอง