การเมืองลากชะลอยาว

การเมืองลากชะลอยาว

 

เศรษฐกิจและธุรกิจไทยผ่านการเผชิญวิกฤตรุนแรงรวดเร็วโควิด-19 มาในปี 2563-2564 เพิ่งฟื้นมาดีขึ้นปี 2565 แต่มาถึงขณะนี้มีทีท่าว่าต้องเจอกับภาวะกำลังซื้อชะลอตัวและความไม่แน่นอนยืดเยื้อ

ปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจและธุรกิจที่ต่อเนื่องสะสมมานับสิบปีอันดับแรกคือปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูงเกือบ 90% หนี้สินครัวเรือนสูงเมื่อมีรายได้เกิดขึ้น คนก็ต้องนำไปชำระหนี้ไม่ได้ถูกนำไปจับจ่ายใช้สอย ทำให้เป็นปัจจัยกดทับกำลังซื้อและการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ

ปัจจัยต่อมาอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.0% ในขณะนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาแล้ว 1.50% ในรอบเวลาไม่ถึงปี นับว่าไม่น้อย

อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% ภาระผู้ซื้อบ้านจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7% จำนวนคนที่สามารถซื้อบ้านได้ย่อมลดน้อยลง แต่ที่หนักกว่านี้ก็คือธนาคารย่อมประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านสูงขึ้น อัตราคนกู้ไม่ผ่านที่สูงอยู่แล้ว ก็ต้องสูงขึ้นไปอีก

สัญญาณเตือนหนี้เสียก็เริ่มขึ้นแล้ว บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดหรือเครดิตบูโร รายงานว่า 4 เดือนแรกของปีนี้อัตราหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น โดยมีหนี้เสียแล้ว 550,000 บัญชี และมีหนี้ค้างผ่อนชำระ 1-3 เดือน (ยังไม่ถือเป็นหนี้เสีย) อีก 450,000 บัญชี ถ้าตามแนวโน้มนี้เดือนตุลาคม 2566 อาจมีลูกหนี้ถูกยึดรถยนต์ 1 ล้านคัน

ปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ สามารถแก้ไขให้ลดน้อยลง หรือให้หมดไปได้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีที่ถูกต้อง

 

แต่ยังมีปัญหาอีกปัจจัยหนึ่ง

ปัจจัยที่สาม ปัญหาการเมืองที่พรรคการเมืองชนะเลือกตั้ง กลุ่มพรรคการเมืองเสียข้างมาก ถูกขัดขวางไม่ให้สามารถจัดตั้งรัฐบาล

พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกอันดับหนึ่ง คือพรรคก้าวไกล ได้รับการเลือกตั้งเหนือความคาดหมายครั้งนี้จากนโยบายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมหลายเรื่องที่ถูกใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ แต่นโยบายเหล่านี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม “อำนาจเดิม” ซึ่งมีกลไก องค์กรหลายอย่างไว้เป็นเครื่องมือขัดขวาง

นอกจากนี้ นโยบายแก้ไขปัญหาการผูกขาดไม่ว่าจะเป็นเหล้า หรือพลังงาน ก็จะไปกระทบผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มทุนอภิสิทธิ์ผูกขาดเดิม ซึ่งย่อมได้รับการขัดขวางอีกเช่นกัน

ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง น่าจะต้องใช้เวลายืดเยื้อ ซึ่งจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ได้ ก็ยากคาดการณ์ หรือเมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้วจะนำนโยบายมาดำเนินการจะถูกขัดขวางอะไรอีก ก็ยังไม่รู้

ผลที่ตามมาก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจธุรกิจที่ค้างคามาก็จะถูกลากต่อไปตามปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

 

สําหรับตลาดอสังหาฯ ล่าสุด

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC ได้เปลี่ยนการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ ปี 2566 ว่า ตลาดอสังหาฯ ได้เข้ามาอยู่ในสมมุติฐานที่เลวร้าย (Worst Case) ไม่ใช่อยู่ในระดับ Base Case โดยคาดการณ์ว่า

หน่วยโอนที่อยู่อาศัยในปี 2566 จะหดตัวติดลบ 19.2% มูลค่าโอนที่อยู่อาศัยอยู่จะติดลบ 14.1%

กลยุทธ์ธุรกิจ ก็คงต้องปรับจากโหมดเติบโตต่อเนื่องมาจากปี 2565 มารับมือกับสถานการณ์กำลังซื้อถดถอย

บรรยากาศตลาดเดี๋ยวดี เดี๋ยวแย่ สลับกันไปยาวๆ •

 

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.