ความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่าน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึง 14 ล้านคน ที่ยอมรับหรืออยากร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของสังคมและรัฐไทย ตัวเลขอาจมากกว่านี้อีกมาก ถ้าถือว่าผู้มีสิทธิ์ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของรัฐบาลที่สืบอำนาจจาก คสช.คือพวกที่ยอมรับหรือผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้วย ทั้งนี้ ยังไม่รวมผู้ไม่มาลงคะแนนเสียงและคนไทยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้ง

แต่ก็ดังที่เห็นกันอยู่ว่า คะแนนเสียงจากประชาชนอาจไม่ใช่ตัวตัดสินชี้ขาดว่า ประเทศไทยควรเริ่มเปลี่ยนได้หรือยัง เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักนี้ ได้ออกแบบให้ฝ่ายอำนาจเดิมกลุ่มต่างๆ สามารถถ่วงดุลเสียงของประชาชนได้อย่างเท่าเทียมหรือเหนือกว่าเสียงของประชาชนด้วยซ้ำ

รัฐบาลใหม่จึงไม่จำเป็นต้องมาจากเสียงของประชาชนเสมอไป มีกลไกหลายอย่างในรัฐธรรมนูญที่อาจร่วมมือกันทำให้เสียงของประชาชนเป็นหมันไปเลย แม้แต่กลไกรัฐตามปรกติก็อาจเข้ามาร่วมมือทำลายหรือลดทอนความสำคัญของเสียงประชาชน ในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

 

ในบ้านเมืองที่ไม่มีกติกาชัดเจนแน่นอนของอำนาจ ทุกครั้งที่สับเปลี่ยนกลุ่มอำนาจ ก็มักจะเกิดความขัดแย้งกันจนกลายเป็นความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวในพระราชพงศาวดารอยุธยาที่การแย่งชิงราชสมบัติ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบทอดอำนาจทางการเมืองตามปรกติ โชคดีที่กลุ่มซึ่งเข้ามาแย่งชิงอำนาจกันในแต่ละรัชกาล ไม่ได้มีมวลชนหนุนหลังเป็นกอบเป็นกำ ส่วนใหญ่คือลูกน้องใกล้ชิดที่มีตำแหน่งในระบบราชการขนาดเล็ก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงไม่ถึงกับทำความเสียหายมากนัก และที่สำคัญสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแย่งชิงสัญลักษณ์ของกษัตริย์ไปครอบครองได้ (นับตั้งพระราชวัง, เครื่องราชกกุฏภัณฑ์, ส่วนใหญ่ของขุนนางระดับเสนาบดี ฯลฯ) ดังนั้น ความตึงเครียดและความวุ่นวายปั่นป่วนจึงเกิดขึ้นเพียงในระยะเวลาอันสั้น

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดในประเทศไทยขณะนี้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและตามมาจะกลายเป็นความรุนแรงขนานใหญ่ อย่างที่ยากจะกลับคืนสู่สภาวะปรกติสุขได้อย่างง่ายๆ หรือในเร็ววัน

สถานการณ์หลังเลือกตั้งในช่วงนี้ ดูจะเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงอย่างมาก ฝ่ายที่ผลักดันการเปลี่ยนผ่าน ใช้ความอดทนรอเวลา และยอมอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ออกมาอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อจะได้โอกาสให้การเปลี่ยนผ่านได้เริ่มต้นด้วยสันติวิธี หากไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วยเหตุใดก็ตาม พวกเขาย่อมตระหนักว่าการเปลี่ยนผ่านย่อมเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยากโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเลย ความอดทนและยอมอยู่ในกติกาก็จะอันตรธานไป และพร้อมจะลงถนนและปล่อยให้การเคลื่อนไหวนำไปสู่ความรุนแรง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยังไม่สู้จะชัดนัก (เพราะการเปลี่ยนผ่านของไทยในช่วงนี้ ไม่มีองค์กรจัดตั้งที่สามารถวางเป้าหมายแต่ละขั้นตอนได้ชัดเจน จึงไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเช่นกัน)

ตรงกันข้าม ฝ่ายคณาธิปไตยที่ได้ประโยชน์จากระบอบเก่า สำนึกได้ดีว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะนำไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ อันเป็นสิ่งที่ตนไม่แน่ใจในสมรรถภาพของตนเองว่าจะรับมือไหว ยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น นายทุนไทยจำนวนไม่น้อยรู้ว่า การผูกขาดด้วยเส้นสายทางการเมืองจะไม่ช่วยธุรกิจของตนอีก จะต้องหันมาสู่การแข่งขันที่ยุติธรรม แต่องค์กรธุรกิจที่ตนสร้างขึ้น ไม่เคยแข่งขันอย่างยุติธรรมมาก่อน จึงไม่ได้สร้างกลไกและสมรรถนะเพื่อการแข่งขันเช่นนี้ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าตนย่อมสามารถปรับตัวได้ เช่นเดียวกับกองทัพที่เคยเป็นอิสระจากการควบคุมทางการเมืองของฝ่ายปกครองพลเรือนตลอดมา จะต้องกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ซึ่งย่อมมีนโยบายที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนได้อย่างไร ทั้งนี้ รวมกองทัพในความหมายถึงองค์กร และกองทัพในความหมายถึงอาชีพการงานของปัจเจกบุคคลที่เป็นทหารแต่ละคนด้วย

ลองคิดถึงกลุ่มต่างๆ ในคณาธิปไตยที่เคยมีอำนาจและอภิสิทธิ์ในเมืองไทยสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ ล้วนคาดเดาได้ถึงเรื่องการปรับตัวในการเปลี่ยนผ่านทั้งสิ้น และต่างต้องประเมินตัวเองว่าจะมีสมรรถภาพทำเช่นนั้นได้หรือไม่ และอย่างไร

หากคิดว่าทำไม่ได้ วิธีเดียวที่จะหยุดการเปลี่ยนผ่านคือการใช้ความรุนแรง นั่นคือการทำรัฐประหาร และใช้อำนาจที่ได้มานี้ในการควบคุมสังคมไทยอย่างเคร่งครัด โดยยังมองไม่เห็นจุดจบ

 

การสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อออกจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากในการเปลี่ยนผ่าน แต่เป็นไปได้อย่างมากว่า หากเกิดความรุนแรงในช่วงนี้ การสูญเสียจะมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าอยู่ตรงที่ว่า การเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนไม่ผ่านของสังคมที่ต้องใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ มักจะหยุดไม่ได้ ไม่ใช่เพราะความรุนแรงนั้นมีขนาดใหญ่มากเพียงอย่างเดียว แต่เพราะฝ่ายที่ประสบความสำเร็จ จะรักษาการเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนไม่ผ่านให้ดำรงอยู่ต่อไปด้วยวิธีอื่นใดได้ยาก นอกจากใช้ความรุนแรง

ในสถานการณ์ที่เป็นจริงของไทยเวลานี้ ไม่ว่าฝ่ายเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนไม่ผ่านประสบชัยชนะด้วยความรุนแรง ก็ล้วนไม่อาจหยุดความรุนแรงได้ แม้ฝ่ายตนได้ชัยชนะเด็ดขาดไปแล้วก็ตาม

ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่มีใครตั้งรัฐบาลที่ถูกกฎหมายขึ้น ก็อาจคาดได้แน่นอนว่า การต่อต้านที่เกิดขึ้นจะเป็นการลุกฮือที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ขอให้สังเกตด้วยว่า นับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา รัฐประหารในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นโดยปราศจากการต่อต้านโดยฝูงชนอีกเลย ซ้ำการรัฐประหารในครั้งถัดมาคือ การตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร (ถ้าถือว่านั่นคือรัฐประหารในอีกรูปหนึ่ง) และการยึดอำนาจอย่างเปิดเผยใน 2557 ล้วนต้องเผชิญการต่อต้านโดยฝูงชนขนาดใหญ่ขึ้น ขยายวงออกไปในอาณาบริเวณที่กว้างขึ้นคือเกือบทั่วประเทศในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกนานมากในการปราบปรามควบคุมให้อยู่ในความสงบ ไม่ใช่กำลังทหารและสไนเปอร์เท่านั้น ต้องรวมถึงการใช้กำลังเข้าไปขู่เข็ญคุกคามหมู่บ้านเสื้อแดง และการรวมกลุ่มอื่นๆ ของประชาชน ปั้นคดีขึ้นจับกุมคุมขังคนอีกจำนวนมาก ทั้งแกนกลางที่นำการประท้วงในกรุงเทพฯ และแกนกลางในต่างจังหวัดที่ป้อนกองกำลังแก่การประท้วงในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ การควบคุมประชาชนต้องดำเนินต่อไป (ล้มเหลวบ้างสำเร็จบ้าง) อย่างหยุดไม่ได้ เพราะมี “หน้าใหม่” ที่ไม่พอใจรัฐบาลอันไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงหยุดการควบคุมไม่ได้

“ราคา” ที่ต้องจ่ายคืออะไร?

 

คิดดูให้ดีเถิดว่า จากรัฐประหาร 2549 จนถึงชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งทั่วไป อะไรที่กลุ่มคณาธิปไตยเคยยกย่องเชิดชูไว้ โดยการยอมรับของประชาชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงสถานะได้เปรียบของตนเอง ได้เปลี่ยนไปกลายเป็นสิ่งไร้ค่าที่ไม่อาจทำงานเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ในทุกวันนี้ ใครพูดว่ากองทัพคือปัจจัยที่ช่วยอำนวยให้เกิดเสถียรภาพในการเมืองไทย ยังเหลือผู้ที่เชื่อถือสักกี่คน แม้แต่คนในกองทัพด้วยกันเอง (ดังผลคะแนนเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้รับในเขต-ค่ายทหารชี้ให้เห็น) จะยกตัวอย่างทำนองเดียวกันนี้ได้อีกไม่รู้จะกี่ร้อยอย่าง

ดูเหมือน “ราคา” ที่ต้องจ่ายสูงมากจนกระทั้งกลุ่มคณาธิปไตยซึ่งเคยครองอำนาจในเมืองไทยมานานกำลัง “หมดกระเป๋า” เสียแล้ว ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งไหนในเมืองไทย ที่ผลของมันกำหนดทิศทางของนโยบายและแกนกลางของรัฐบาลใหม่ ชัดเจนแน่นอนอย่างไม่พึงเปลี่ยนได้เท่ากับการเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีความพยายามตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีก พรรคและนักการเมืองใดจะกล้าเป็น”งูเห่า”… อย่างน้อยก็ในช่วงนี้

ความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของผลการเลือกตั้ง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของ “ราคา” ที่คณาธิปไตยได้จ่ายไปแล้ว

ในทางตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายประชาชนสามารถบีบบังคับ (ด้วยวิธีใดก็ตาม) ให้ฝ่ายคณาธิปไตยต้องยอมรับกติกาประชาธิปไตย ความวุ่นวายปั่นป่วนไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นในการต่อสู้ จะไม่ใช่เป็นเพียงภาวะชั่วคราว เพราะเมื่อบรรลุจุดมุ่งหมายแล้ว (ซึ่งคงต้องใช้เวลานานพอสมควร และสูญเสียไม่น้อย) ก็ไม่อาจหยุดได้เช่นกัน

โชคดีหรือร้ายไม่ทราบได้ การ “ปฏิวัติ” ของไทยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่มีองค์กรทางการเมืองหรืออุดมการณ์ที่แน่ชัดทางการเมืองที่สามารถสร้างเอกภาพให้แก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้เป็นเวลานานๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ผ่านการปฏิวัติโดยมีองค์กรและอุดมการณ์เช่นนั้น เขาสามารถยุติการเคลื่อนไหวที่ไร้ระเบียบและปั่นป่วนวุ่นวายได้ (อย่างน้อยก็โดยทางการ) เมื่อประกาศจัดตั้งรัฐในอุดมคติขึ้นแทนรัฐเก่า แต่การฆ่าล้างผลาญก็ไม่ยุติลงเพียงเท่านั้น การแย่งอำนาจกันภายใน, นโยบายที่ใช้ทดลองหรือทำตามความคิดของท่านผู้นำ, การทำให้ประชาชนเกรงกลัวและจำนนต่ออำนาจของพรรค หรือแม้แต่ความผิดพลาดของแกนนำบางคนในการปฏิรูปที่ดิน (กรณีเวียดนาม) ฯลฯ ทำให้มีการฆ่าล้างผลาญกันอย่างสืบเนื่อง ในหลายกรณีนับเป็นสิบๆ ล้านคน (นโยบายนารวมในโซเวียต, นโยบายก้าวกระโดดในจีน ฯลฯ)

แต่เมื่อไม่มีองค์กรนำ ก็หมายความว่า ภาวะปั่นป่วนไร้ระเบียบในการเปลี่ยนผ่าน อาจเกิดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นขึ้นได้มาก (อย่างน้อยพระราชวังเคลมลินและพระราชวังต้องห้ามก็ยังอยู่) ในขณะที่ฝ่ายซึ่งถูกมองว่าเป็นศัตรูก็ยังเหลืออยู่ (เสมอ – เป็นธรรมดา) จำเป็นต้องถูกขจัดออกไป การขจัดคนกับการขจัด expertee หรือความชำนัญเฉพาะด้าน มักเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันเสมอ ภาวะปั่นป่วนไร้ระเบียบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรง จึงอาจเป็นเหตุให้ประเทศไทยกลายเป็นประชาธิปไตยที่อ่อนแอ

ไม่แต่เพียงคนเท่านั้นที่อาจถูกขจัดออกไปโดยไม่จำเป็น เราอาจรวมการจัดองค์กรต่างๆ ทั้งทางสังคม, เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งแม้ว่าองค์กรเหล่านั้นเคยเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย แต่ก็ใช่ว่าประชาธิปไตยไม่ต้องการการจัดองค์กรเลยไม่ ทางเลือกคือจะปรับเปลี่ยนองค์กรเดิมให้สามารถทำงานในระบอบประชาธิปไตย หรือทำลายลงทั้งหมด เกรงว่าความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่านทำให้ต้องเลือกการทำลายลงมากกว่า

นี่ก็เป็น “ราคา” ที่สูงมากเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงถึงขั้นที่อาจเรียกว่า “ปฏิวัติ” ย่อมมี “ราคา” ที่ต้องจ่ายสูงทั้งนั้น แต่ที่ต้องจ่ายโดยไม่จำเป็นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น ชัยชนะที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงทำให้ “ราคา” ที่ต้องจ่ายโดยไม่จำเป็นมีสูงมาก

และจะหยุดความปั่นป่วนไร้ระเบียบของการปฏิวัติ เพื่อเข้าสู่การดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยปรกติได้อย่างไร ถ้าไม่หยุด จะรักษามิตรในหมู่ประชาชนไปตลอดได้หรือ (แน่นอนการปฏิวัติที่ดำเนินไปอย่างสืบเนื่องไม่มีวันยุติลง ทำให้ “พรรค” หรือกลุ่มผู้นำพรรคไม่อาจกระจุกอำนาจไว้ในมืออย่างมั่นคงได้ และนั่นคือจุดมุ่งหมายของเหมาในการผลักดันให้การปฏิวัติไม่มีวันสิ้นสุด นับเป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจเด็ดขาดระหว่างกัน)

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าประเทศไทยได้เดินมาถึงจุดที่หลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ยาก ในขณะเดียวกันก็ได้เดินมาถึงจุดที่ต้องเผชิญการเปลี่ยนผ่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน แม้ว่าความรุนแรงอาจเป็นผลให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นโดยไม่เหลือสิ่งตกค้างจากระบอบเก่าหรือเหลือก็น้อยมาก แต่ผมตระหนักดีว่าความรุนแรงไม่ว่าจะใช้โดยฝ่ายใด จะเป็นความรุนแรงที่หยุดไม่ได้ เกิดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นตามมาอีกมาก

ดูเหมือนความเข้าใจเช่นนี้ไม่ได้มีแต่ผมเพียงผู้เดียว ประชาชนจำนวนมากก็คงเข้าใจในทำนองเดียวกัน เพราะถ้าดูย้อนหลังไป 9 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนใช้ความอดทนอดกลั้นในแนวทางสันติวิธีมาตลอด แม้ว่าจะต้องผ่านการใช้ความรุนแรงบีบบังคับอย่างไร รวมทั้งการทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ จนประชาชนไร้ที่พึ่งใดๆ เหลืออยู่ แต่ก็ทนมาจนเอาชนะในการเลือกตั้งได้ในครั้งนี้

ชัยชนะของประชาชนครั้งนี้เกิดขึ้นได้โดยสงบ และแม้ว่าเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายที่ตั้งใจเขียนให้ฝ่ายประชาชาชนเสียเปรียบตลอดไปก็ตาม

แม้กระนั้น โอกาสที่การเปลี่ยนผ่านจะเริ่มขึ้นอย่างมีความหวังหลังเลือกตั้ง ก็เหลืออยู่ไม่มากนัก

ฝ่ายคณาธิปไตยพึงคิดว่า พวกคุณมีชีวิตและได้เปรียบในประเทศที่ประชาชนออกจะรักสงบอย่างยิ่ง ถ้าการเปลี่ยนผ่านได้โอกาสเริ่มขึ้นด้วยความสงบ คนที่มีอำนาจต่อรองสูงสุดในสังคมยังประกอบด้วยเหล่าคณาธิปไตยด้วยกันเองนี่แหละ ไม่ใช่เงินและอำนาจเพียงอย่างเดียวที่คณาธิปไตยมีอย่างล้นเหลือ แต่วัฒนธรรมที่ปลูกฝังให้ประชาชนยอมรับ “วาทกรรม” ซึ่งเอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ของคณาธิปไตยมานาน ก็ช่วยให้ฝ่ายคณาธิปไตยมีอำนาจเหนือกว่าในการต่อรอง

ดังนั้น พลังในการต่อรองของคณาธิปไตยจึงมีสูงมาก การต่อรองเกิดขึ้นได้เฉพาะในการเปลี่ยนผ่านที่ปราศจากความรุนแรงเท่านั้น