เรื่องของอำนาจ | วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 นี้ ก็จะเป็นวันครบ 91 ปี ที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชนในรูปแบบของตัวแทน

โดยในปี 2475 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้มีตัวแทนฉุกเฉินชื่อว่า “คณะราษฎร” นำโดยกลุ่มทหารและพลเรือนหัวก้าวหน้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้เป็นตามแบบชาติตะวันตก ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่จ๋าในตอนนั้นแต่อย่างไร

กระแสของการเปลี่ยนแปลงนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมารัชกาลที่ 6 ที่ทั้งสองพระองค์ทราบดีว่าวันหนึ่งประเทศสยามต้องหมุนตามโลกอย่างแน่นอน สิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงทำคือการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นราบรื่นและสัมฤทธิ์ผลที่สุด

ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงเตรียมประกาศการใช้รัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ หากแต่ไม่ทันที่จะได้พระราชทาน ก็มีอันเกิดเหตุการณ์ล้มล้างการปกครองเสียก่อน

“อำนาจของราชบัลลังก์” ถูกสั่นคลอน เปลี่ยนถ่ายไปสู่ “อำนาจของคณะราษฎร” ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้เป็นช่วงที่สำคัญต่อความเป็นความตายของบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง เพราะหากพระองค์ไม่ทรงยินยอม เหตุการณ์ก็คงไม่ง่าย เกิดมีกลุ่มทหารที่จงรักภักดีและบุคคลที่มีเชื้อพระวงศ์กลุ่มใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องการให้อำนาจยังอยู่ในร่มของพระมหากษัตริย์เช่นเดิม ได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน

แต่สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงกระทำคือ “การไม่ยึดติดกับอำนาจ” ด้วยพระองค์ทรงเห็นแล้วว่า หากเป็นเช่นนั้นประเทศจะเดินต่อไปไม่ได้ จะเกิดการสู้รบฆ่าฟันในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้เกิด

ขณะเกิดการยึดอำนาจพระองค์ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน และทรงประทับอยู่ที่นั่นโดยไม่ได้เสด็จกลับพระนครตามคำกราบบังคมทูลของคณะราษฎรอีกเลย

 

อํานาจที่เป็นสิ่งหอมหวนและอุดมด้วยผลประโยชน์ หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองได้ราวหนึ่งปี คณะผู้ก่อการก็เกิดยึดอำนาจกันเองซ้ำซ้อนอีก

โดยหลวงพิบูลสงคราม ที่คุมทหารบก กับหลวงศุภชลาสัย ที่คุมทหารเรือ สั่งการให้ทหารไปจับตัวพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยคณะราษฎร บังคับให้เซ็นชื่อลาออกพร้อมทั้งคณะทั้งหมด และตั้งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน

แน่นอนที่ย่อมมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทหารทางหัวเมืองยกกำลังเข้ามาเพื่อจะล้อมพระนครไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” เขียนโดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้กล่าวไว้ว่า

“…ในหลวงทรงฟังทั้งสองฝ่ายแล้วก็ทรงมีลายพระราชหัตถ์ถึงพระยาพหลฯ ด้วยพระองค์เองเป็น 3 หน้ากระดาษ ทรงวิงวอนขอว่าอย่าให้มีการฆ่าฟันกันในระหว่างคนไทยในรัชสมัยของพระองค์เลย ฉะนั้น ขอให้ทั้งสองฝ่ายแต่งผู้แทนมาพูดจากันที่หัวหิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยินดีจะเป็นคนกลางให้เรื่องสงบลงได้ดังปรารถนา

ลายพระราชหัตถ์ฉบับนี้ทรงเขียนอยู่เกือบตลอดคืน เพราะพระเนตรก็กำลังจะเสีย ต้องทรงแว่นซ้อนแว่นถึงสองชั้น แต่ผลที่ได้รับคือ พระยาพหลฯ สั่งประกาศกฎอัยการศึกในทันที แล้วก็ลงมือยิงกันด้วยปืนใหญ่ทางหลักสี่”

ต่อจากนั้นรัฐบาลก็แต่งตัวแทนให้ลงไปกราบทูลเชิญในหลวงเสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่อย่างเดียว โดยบอกว่าเป็นห่วงพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงตอบว่า

“…ไม่มีอะไรควรจะห่วง เพราะรัฐบาลเองก็ประกาศว่าซื่อตรงต่อพระองค์ท่าน อีกฝ่ายก็ประกาศว่าซื่อตรงต่อพระองค์ท่าน และพวกเพชรบุรีก็ประกาศว่าซื่อตรงต่อพระองค์ท่านอย่างเดียวกันหมด และตามธรรมนูญท่านจะต้องทรงเป็นกลาง ไม่เป็นพวกใด ถ้าทรงรับเชิญไปอยู่กับพวกใด ก็จะเสียหลักทางพระองค์ท่าน จึงเห็นว่าเมื่อได้ว่ากล่าวห้ามปรามจนไม่มีใครฟังเสียงแล้ว ก็ยังมีทางเดียวสำหรับพระองค์ท่าน-คือรักษาความเป็นกลางไว้ให้ได้”

และเพื่อรักษาความเป็นกลางที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดอ้างพระองค์ท่านจนก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่น “กบฏบวรเดช” ประกอบกับพระองค์ทรงมีความจำเป็นต้องเดินทางไปรักษาพระเนตรด้วยการผ่าตัดที่ต่างประเทศที่ได้เลยเวลามานานแล้ว จึงตัดสินพระทัยเดินทางออกนอกอาณาจักรสยาม

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิมพ์วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ได้เขียนถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเล่าว่า

“ถ้าจะพูดกันแล้วในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาก็ไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริงๆ หมอบอกว่าพระเนตรอีกข้างจะบอดอยู่แล้ว ให้เสด็จฯ ไปรักษาเสีย ก็เลยตัดสินพระทัยไป”

พระองค์และพระราชินีได้เสด็จฯ โดยเรือวลัยไปในเดือนมกราคม พ.ศ.2476 ซึ่งมีความยุ่งยากพอสมควรดังที่ในหนังสือนี้ได้เขียนไว้ว่า

“สถานการณ์การเมืองในประเทศสยามเต็มไปด้วยปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทั้งเรื่องความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจเพื่อจะได้เป็นใหญ่ระหว่างคนในคณะรัฐบาลที่ไม่ลงรอยกัน ระหว่างคนในรัฐบาลกับคนในคณะราษฎรที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายหลายพวก รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์เรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกริดรอนจนเกือบไม่มีเลย รวมทั้งถูกหมิ่นพระเกียรติอย่างมาก”

เรื่องความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจในหมู่รัฐบาลด้วยกันนี้ ใครที่เคยศึกษาเรื่องนี้คงทราบดีว่าต่อมาก็ได้มีการยึดอำนาจกันไปมา คนนี้ขึ้นไม่นาน ก็ต้องลง เปลี่ยนอำนาจในมือไปยังคนอื่น เหมือนเป็นสมบัติอันเอร็ดอร่อยที่ผลัดกันชิม แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดการเปลี่ยนอำนาจนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กำลังทหารทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

และหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เพียง 2 ปี ในวันที่ 2 มีนาคม 2477 พระองค์ก็ได้ทรงสละราชสมบัติ โดยในพระราชหัตถเลขาที่มีต่อคณะรัฐบาลความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

ซึ่งจากความที่ว่านี้ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเข้าใจและยินยอมที่จะให้มีการ “เปลี่ยนถ่ายอำนาจ” แต่ควรจะต้องเป็นอำนาจที่มาจากเสียงของประชาชน ซึ่งจะว่าไปแล้วในตอนนั้นประชาชนอาจจะยังไม่ได้มีเสียงอันเป็นความต้องการของตนมากเท่าไหร่ เพราะจู่ๆ พอลืมตาตื่นขึ้นมาก็ได้รู้จัก “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสียแล้ว “ประชาธิปไตย” คืออะไรก็ยังไม่รู้

หลายคนยังนึกว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นบุคคล และประชาธิปไตยเป็นต้นไม้อยู่เลย และไม่เข้าใจด้วยว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับชีวิตของตนเอง

 

หากแต่กาลเวลาผ่านไป จนบัดนี้เราก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาถึง 91 ปีแล้ว คนไทยได้เรียนรู้หลักการของประชาธิปไตยมากขึ้น แม้จะเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็เถอะ

โดยประชาธิปไตยนั้นให้ความสำคัญกับทุกเสียงเท่าเทียมกัน 1 คนคือ 1 เสียงเท่ากัน แม้แต่ตอนที่รณรงค์ให้คนออกมาเลือกตั้งก็ยังย้ำถึงสิทธิ์อันยิ่งใหญ่นี้ แถมตอนผู้สมัครลงพื้นที่หาเสียงก็ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างน่าประหลาดใจอีกด้วย

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งล่าสุดออกมา และเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ได้เลือกอนาคตของตนเองและของประเทศแล้ว เสียงที่ว่านั้นกลับไม่ได้รับความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น แถมยังถูกท้าทายอีกด้วย

ดังที่ปรากฏเป็นข่าวการเมืองทุกวันนี้ ที่เชื่อว่ายังมีการดำเนินการลับๆ ในวิถีทางต่างๆ เพื่อที่จะ “รักษาอำนาจ” ที่ตนเคยมีและกำลังจะหมดไป โดยไม่ยินยอมถ่ายอำนาจไปยังคนอื่นตามความชอบธรรมของประชาธิปไตย

เมื่อ 90 ปีที่แล้ว พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีอำนาจเต็ม ก็ได้ยินยอมที่จะสละอำนาจนั้นให้แก่ประชาชน เพื่อเดินทางตามระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้อย่างสงบสุข โดยไม่ให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันเอง

แต่ยามนี้ ทำไมกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งถึงได้หวงแหนอำนาจเสียเหลือเกิน โดยไม่มองพระองค์เป็นแบบอย่างแต่อย่างใดเลย

91 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ประชาชนคนไทยที่เป็นผู้ที่มี “อำนาจ” มากที่สุด ควรจะเป็นคนกำหนดเองมิใช่หรือ? •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์