ไวรัสคุมกำเนิดแมวจรจัด | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร
ณฤภรณ์ โสดา

ทั่วโลกมีประชากรแมวจรจัดเกือบห้าร้อยล้านตัว ด้วยความปราดเปรียว ปรับตัวเก่ง บวกกับนิสัยนักล่าที่ไล่ตะปบ ไล่งับเหยื่อแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ทำให้พวกมันคือหายนะโดยแท้ของระบบนิเวศ

ประมาณกันว่าแค่ในสหรัฐ แมวจรฆ่านกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในธรรมชาติปีละหลายพันล้านตัว สัตว์ป่าหายากไม่น้อยกว่าหกสิบชนิดสูญพันธุ์จากการถูกล่า โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะที่สัตว์ท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน

การจัดการกับแมวจรพวกนี้เป็นปัญหาน่าปวดหัวไม่กี่เรื่องที่นักรณรงค์สวัสดิภาพสัตว์กับนักอนุรักษ์อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน

นักอนุรักษ์อยากรักษาสัตว์ป่าตามระบบนิเวศไว้ก่อน มองว่าแมวจรพวกนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมต้องรีบกำจัดทิ้งโดยเร็วไม่ว่าจะด้วยการทำการุณยฆาตหรืออะไรก็ตาม

ขณะที่นักรณรงค์สวัสดิภาพสัตว์แย้งว่าสัตว์ทุกชนิดมีคุณค่าในชีวิตตัวเอง ปัญหาแมวจรจัดเป็นความผิดมนุษย์ไม่ควรผลักภาระไปให้แมว เราได้แค่จับมาทำหมันแล้วก็ปล่อยกลับไป

วิธีนี้แม้จะฟังดูดีแต่การทำหมันแมวด้วยการผ่าตัดตกค่าใช้จ่ายหลายร้อยถึงหลายพันบาทต่อตัว ไหนจะต้องการแรงงานคน พื้นที่และระยะเวลาพักพื้น ไม่มีทางใช้วิธีนี้คุมการเพิ่มของประชากรแมวหลายพันล้านตัวได้ทัน

ทุกวันนี้แมวหลายล้านตัวต้องถูกการุณยฆาตในแต่ละปีเพื่อจำกัดประชากร

 

แกรี่ มิเคิลสัน (Gary Michelson) ศัลยแพทย์กระดูกชาวอเมริกันและทาสหมาแมวกระเป๋าหนักเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นคำตอบของปัญหาสิ่งแวดล้อมและศีลธรรมว่าด้วยแมวจรพวกนี้

แกรี่เป็นนักประดิษฐ์ตัวยงของวงการศัลยกรรมกระดูกสันหลัง ตลอดยี่สิบกว่าปีของชีวิตการทำงาน แกรี่คิดค้นเครื่องมือผ่าตัดและสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ กว่าเก้าร้อยรายการสิทธิบัตร

ช่วงปี 2005 แกรี่ขายสิทธิบัตรพวกนี้ให้บริษัทเครื่องมือแพทย์ได้เงินมาพันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐและเกษียณตัวเองมาตั้งมูลนิธิทำงานการกุศลเต็มเวลา

ในปีเดียวกันสหรัฐอเมริกาเจอภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีน่า นอกจากความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์และทรัพย์สินแล้ว สัตว์เลี้ยงจำนวนมากก็มีอันต้องพลัดพรากจากเจ้าของไป

แกรี่ตั้งมูลนิธิชื่อ “Found Animals” ให้บริการลงทะเบียนฝังชิพติดตามตัวฟรีสำหรับสัตวเลี้ยง ต่อมามูลนิธิขยายขอบเขตงานไปตั้งแต่การตามหาสัตว์สูญหาย จัดหาดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้ยากไร้ พัฒนาอาชีพผู้ดูแลสัตว์ ไปจนถึงให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

ปี 2009 มูลนิธิประกาศโครงการ “Michelson Prize and Grants in Reproductive Biology” เงินรางวัล 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะมอบให้กับทีมวิจัยแรกจากที่ใดก็ได้ในโลกที่สามารถคิดค้นวิธีการทำหมันถาวรโดยการรับยาครั้งเดียวไม่ต้องผ่าตัด ใช้ได้อย่างปลอดภัยกับทั้งหมาและแมวทั้งตัวผู้และตัวเมีย ราคาและวิธีการยังต้องถูกและเร็วพอจะใช้ได้ในสเกลใหญ่ๆ

มูลนิธิเตรียมเงินอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับแบ่งให้ทุนวิจัยกับทีมวิจัยที่ข้อเสนอโครงการผ่านการคัดเลือก

สิบกว่าปีที่ผ่านมามีโครงการวิจัยกว่าสี่สิบโครงการได้รับทุนจากมูลนิธินี้ ไอเดียมีตั้งแต่การให้สารพิษมุ่งเป้าทำลายเซลล์สืบพันธุ์ ให้วัคซีนหรืออาร์เอ็นเอกดฮอร์โมน และการส่งยีนเข้าไปปรับเปลี่ยนพันธุกรรม

ทุนวิจัยจ่ายออกไปแล้วสิบกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ก็ยังไม่มีทีมไหนที่ดูผลงานจะใกล้ความจริง บ้างก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสัตว์ บ้างก็ให้ผลคุมกำเนิดแค่ชั่วคราว

แมวจรจัดคือฆาตกรต่อเนื่องของระบบนิเวศ
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

ข่าวการค้นพบใหญ่เพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของทีมจากโรงพยาบาลแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts General Hospital) และสวนสัตว์แห่งเมืองซินซินนาติ (Cincinnati Zoo)

เดวิด พิพิน (David Pepin) หัวหน้าทีมจากโรงพยาบาลแห่งแมสซาชูเซตส์ เดิมทีเป็นนักวิจัยด้านมะเร็งรังไข่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแมวแม้แต่น้อย หนึ่งในหัวข้องานวิจัยของเดวิดเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่ชื่อ Anti-Mullerian Hormone (AMH) และการเจริญของมะเร็ง

AMH เป็นฮอร์โมนสำคัญในการพัฒนาและการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ช่วงสัปดาห์แรกๆ ในครรภ์ทารกมีระบบท่อที่เรียกว่า M?llerian ducts ทารกเพศชายมีระดับ AMH ที่สูงไปกดการเจริญของระบบท่อนี้เปิดโอกาสให้ระบบสืบพันธุ์เพศชายพัฒนาขึ้นมาจนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นระดับ AMH จะค่อยๆ ลดลงไป

ส่วนในทารกหญิง AMH เริ่มจากระดับต่ำทำให้ M?llerian ducts พัฒนามาเป็นมดลูกและช่องคลอดส่วนบน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเซลล์ฟอลลิเคิล (follicles) ในรังไข่จะเป็นตัวผลิต AMH ให้สูงขึ้นมา AMH ในเพศหญิงคงระดับสูงระหว่างวัยเจริญพันธุ์

ก่อนจะลดระดับลงจนหมดไปเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

กลไกการทำงานของไวรัสคุมกำเนิดที่ส่งยีน AMH เข้าสู่เซลล์แมว ระดับ AMH ที่สูงขึ้นไปยับยั้งการพัฒนาไข่ในรังไข่
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

ในทางการแพทย์ระดับ AMH ใช้เป็นตัวบ่งชี้ว่ารังไข่ยังมีไข่เหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน วินิจฉัยปัญหาการตั้งครรภ์และทำนายช่วงเวลาการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มีเซลล์ไข่อยู่ราวสามถึงห้าแสนเซลล์ ในจำนวนนี้มีแค่เซลล์เดียวเท่านั้นที่ถูกกระตุ้นให้พัฒนาสมบูรณ์พร้อมตกไข่ในแต่ละเดือน

ฮอร์โมนหลายตัวเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ และ AMH น่าจะอยู่ค่อนไปทางต้นทางของกระบวนการพัฒนา คอยยับยั้งไม่ให้ไข่จำนวนมากเกินถูกกระตุ้นให้พัฒนาขึ้นมาแต่ละเดือน

ช่วงปี 2017 ทีมวิจัยของเดวิดตีพิมพ์งานวิจัยเสนอความเป็นไปได้ของการใช้ AMH เป็นฮอร์โมนคุมกำเนิด ขณะที่ยาคุมกำเนิดทั้งหมดในปัจจุบันอาศัยฮอร์โมนอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไปยับยั้งกระบวนการตกไข่ที่พัฒนามาถึงกลางทางแล้ว AMH ไปยับยั้งการพัฒนาไข่ตั้งแต่ต้นทาง

วิธีนี้น่าสนใจตรงที่มันน่าจะช่วยเก็บรักษาไข่ดีๆ ที่ยังไม่ใช้เอาไว้ในรังไข่ด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้แสดงการใช้ AMH คุมกำเนิดในหนูโดยฉีดเข้าไปในรูปโปรตีนสำเร็จรูปหรือในรูปไวรัสที่มียีน AMH อยู่ ทีมวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้ช่วยเก็บรักษาไข่ระหว่างการทำเคมีบำบัด (ซึ่งมีผลข้างเคียงให้ไข่ถูกกระตุ้นให้พัฒนาทีละจำนวนมากไปจนหมด)

ดังนั้น วิธีนี้อาจจะเอามาช่วยป้องกันการเป็นหมันที่เกิดจากการรักษามะเร็งได้อีกด้วย

เดวิดเล่าว่าคนทั่วไปไม่ค่อยสนใจไอเดียการเอา AMH มาเป็นยาคุมกำเนิดเท่าไหร่ ยาคุมกำเนิดที่ใช้กันทุกวันนี้ก็ได้ผลดีอยู่แล้ว ราคาก็ถูก ใช้กันมาเป็นครึ่งค่อนศตวรรษปลอดภัยไร้กังวล

จนเดวิดไปเห็นประกาศทุนวิจัยของแกรี่นั่นแหละถึงนึกออกว่าจะเอายาคุมแบบ AMH ไปใช้ทำอะไร

งานวิจัยก่อนหน้าในหนูพิสูจน์เบื้องต้นแล้วว่าเราสามารถส่งยีน AMH ในรูปแบบไวรัสเข้าเซลล์กล้ามเนื้อและตับของหนูทดลอง เมื่อได้รับยีนเซลล์ก็จะกลายเป็นโรงงานผลิต AMH ระดับสูงๆ เกินธรรมชาติออกมาต่อเนื่องคอยยับยั้งไม่ให้เซลล์ไข่พัฒนาขึ้นมาได้ตั้งแต่ต้นทาง (หลักการเดียวกับ Viral Vector ในวัคซีนโควิดอย่างของ Astrazeneca แต่ใช้ไวรัสคนละชนิดกันและใช้ยีน AMH แทนที่จะเป็นแอนติเจนไวรัสโควิด)

วิธีนี้คุมกำเนิดได้ยาวตราบได้ที่ยีนที่ใส่เข้าไปยังคงผลิต AMH อยู่

ทีนี้ก็เหลือแค่ปรับระบบนี้ให้ใช้ได้กับแมว

การทดลองโดยแบ่งแมวออกเป็นสามกลุ่มเพื่อทดสอบ AMH วัคซีนคุมกำเนิดในแมว
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

วิลเลียม ซวานซัน (William Swanson) จากศูนย์อนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าหายากแห่งสวนสัตว์ซินซินาติเป็นนักวิจัยด้านการผสมพันธุ์แมวป่าหายาก ด้วยความชำนาญเรื่องระบบสืบพันธุ์แมวทำให้วิลเลียมได้รับเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินข้อเสนอโครงการของมูลนิธิ Found Animals และก็ได้ร่วมงานกับทีมของเดวิดในที่สุด

ทีมของเดวิดพัฒนาไวรัสนำส่งยีนผลิต AMH เวอร์ชั่นแมว ทีมวิลเลียมศึกษาแมวที่ถูกฉีดไวรัสที่ศูนย์วิจัยของสวนสัตว์ซินซินนาติ

การทดลองเบื้องต้นทำในแมวตัวเมีย 9 ตัวแบ่งการทดลองเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละสามตัว

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม (ได้ไวรัสเปล่าๆไม่มียีนผลิต AMH)

อีกสองกลุ่มได้ไวรัสที่มียีนผลิต AMH สองระดับต่างกัน

ทีมวิจัยติดตามผลนาน 24 เดือนหลังฉีด โดยปล่อยแมวตัวผู้ให้เข้ามาผสมพันธุ์ช่วงเดือนที่ 8-12 และเดือนที่ 20-24

แมวทั้งสามตัวในชุดควบคุมผสมพันธุ์ ตกไข่และตั้งท้องได้ลูกแมวทั้งสองรอบการผสมพันธุ์

ขณะที่แมวชุดที่ได้รับ AMH มีแค่ตัวเดียวจากแต่ละกลุ่มที่ผสมพันธุ์ ตัวที่ผสมพันธุ์ไปไม่มีตัวไหนที่ตกไข่และตั้งท้องลูกแมว

ทีมวิจัยวัดระดับ AMH ในกลุ่มที่ได้รับยีนพบว่าระดับฮอร์โมนนี้ขึ้นสูงกว่าชุดควบคุมอย่างชัดเจนหลังฉีด แม้ว่าระดับฮอร์โมนจะลดลงอย่างช้าๆ ช่วงปีแรก ฮอร์โมนรักษาระดับเกือบคงที่ในปีสองและยังคงสูงกว่าระดับขั้นต่ำที่ทีมวิจัยคาดว่าจำเป็นต่อการออกฤทธิ์

ทีมวิจัยยังไม่พบผลข้างเคียงต่อสุขภาพหรือพฤติกรรมแมวและไม่พบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสและฮอร์โมนที่ฉีดเข้าไป

เรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับงานนี้คือมันเป็นตัวอย่างแรกของการใช้ยาฉีดโดสเดียวคุมกำเนิดได้ยาวหลายปี

อย่างไรก็ตาม งานนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เรายังไม่รู้ผลข้างเคียงระยะยาวและช่วงเวลาที่แท้จริงที่วิธีการนี้จะได้ผล

ชุดการทดลองนี้ยังเล็กมาก (ใช้แมวแค่เก้าตัว) แถมมีสี่ตัวที่ไม่ยอมผสมพันธุ์ (ไม่รู้ว่าเป็นผลจากไวรัสที่ฉีดไปหรืออะไร) กลไกการคุมกำเนิดก็ยังไม่ชัดเจน ผลการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและการพัฒนาไข่ในแมวต่างจากการทดลองก่อนหน้าในหนูพอสมควร นั่นแปลว่ากลไกที่เราคิดว่าเข้าใจดีแล้วในหนูอาจจะอธิบายไม่ได้ในแมว

ทีมวิจัยคาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างต่ำๆ ห้าปีกว่างานนี้จะได้เริ่มใช้จริง แต่ทางมูลนิธิ Found Animals ก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ตลอดเส้นทางซึ่งดูน่าจะมีหวังที่สุดแล้วเทียบกับอีกหลายสิบโครงการที่ผ่านมา

ทีมวิจัยของเดวิดยังไม่ได้รางวัลยี่สิบห้าล้านเนื่องจากรางวัลนี้กำหนดว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจะต้องใช้ได้ผลทั้งในหมาและแมว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ว่ามันก็เป็นก้าวสำคัญในการควบคุมประชากรแมวจร (และสัตวจร) ทั่วโลกอย่างมีมนุษยธรรม