จัตวา กลิ่นสุนทร : หนีไม่พ้นจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง กับ (บรรดา) ช่าง การซ่อมแซม ก่อสร้าง? (3)

ท่านที่จะก่อสร้างบ้านเป็นของตนเอง หรือแม้แต่การซ่อมแซมปรับปรุง โดยท่านตั้งงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง สมมุติเอาแค่ตัวเลขกลมๆ ว่า 1 ล้านบาท เห็นจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้สักครึ่งหนึ่ง คือ 5 แสนบาท หรือมากกว่านั้น

ใช้คำว่าเผื่อเหลือเผื่อขาด อันที่จริงต้องบอกว่า “เผื่อขาด” ไว้น่าจะถูกต้องกว่า เพราะเวลาลงมือแล้วอาจวิ่งหามาเติมไม่ทัน ต้องมองหาลู่ทางไว้บ้าง งานจะได้ไม่สะดุดหยุดลงแบบกลางคัน

ผู้มีประสบการณ์เคยได้พบเจอมาแล้ว ถึงขนาดต้องเว้นพื้นห้องว่างเปล่าไว้ 1 ห้องสำหรับบ้าน 2 ห้องนอน แต่มองดูภายนอกจะไม่เห็นเนื่องจากได้ก่อผนังโดยรอบเสร็จเรียบร้อย ต้องเดินขึ้นมาชั้น 2 อันที่จริงก็แค่บ้านชั้นครึ่งแล้วเปิดประตูโผล่ออกไปจึงจะเห็นถึงพื้นโรงรถก็เพราะยังไม่ได้ปูพื้นห้อง ห้องที่ 2

ต้องอยู่กันอย่างนั้นพร้อมก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างหนักทั้ง 2 คนอีกนานปีกว่าจะสร้างต่อโดยปูพื้นอีกห้องหนึ่งจนแล้วเสร็จ รวมทั้งพร้อมตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นบ้านอยู่อาศัย 2 ห้องนอน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ จะต้องมีอะไรๆ ทำอะไรๆ อีกเยอะ “อันเป็นองค์ประกอบของคำว่าบ้าน” สิ่งอำนวยความสะดวก

เขาว่ากันว่าก่อสร้างบ้านมันจะบานไปเรื่อยๆ

 

กล่าวไปบ้างแล้วว่าบ้านหลังแรกซึ่งร่วมด้วยช่วยกันกับเพื่อนร่วมชีวิตก่อสร้างพร้อมๆ กับ “ทาวน์เฮ้าส์” (ตึกแถว) ของบุพการี ซึ่งในที่สุดอีก 25 ปีต่อมาได้ตกเป็นมรดกของลูกหลานหลังจากที่ท่านทั้งสองได้เสียชีวิตลง

ผู้ได้รับมรดกต่างรู้อยู่ก่อนแล้วว่าใครจะได้แค่ไหน อย่างไร? ซึ่งจะว่าไปก็มักจะเหมือนๆ กันเกือบทุกครอบครัวที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน มองเห็นอนาคตลูกบางคนว่าปัญญาไม่ดี และไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจึงไม่มีความรู้อาจเอาตัวไม่รอดก็พยายามช่วยโดยแบ่งทรัพย์สินให้มากกว่าคนอื่นๆ

ลูกที่ดีที่ยอมรับกติกาตามพินัยกรรมของพ่อแม่เพราะพอใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับตามความประสงค์ของพ่อแม่ แต่บางคนกลับไม่พอใจด้วยความโลภเห็นแก่ตัวต้องการได้มากกว่าคนอื่น บางคนอ้างหน้าตาเฉยว่ามีลูกมีเมียเยอะต้องเลี้ยงดู ขอให้ได้มากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ

บ้างก็ไม่รู้จะยกเอาเหตุผลอะไรมาเพื่อเอาเปรียบพี่น้องโดยการกล่าวอ้างว่าคนนั้นคนนี้ฐานะดีกว่า เพราะฉะนั้น ควรจะได้น้อย ส่วนตัวเองนั้นสามีเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคมอาจต้องเพิ่มฐานะขึ้นมาเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมจึงขอเยอะกว่าพี่น้อง

แล้วแต่จะยกเอาอะไรมาเป็นเหตุผล ทั้งหมดคือ “ความโลภ” ต้องการได้มากกว่าพี่น้อง ซึ่งสุดท้ายทรัพย์สินเหล่านั้นก็เปลี่ยนมือไปหลังจากที่บุพการีเสียชีวิตไปไม่นาน ทั้งๆ ที่ท่านพยายามบอกว่าควรรักษาสมบัติอันเป็นมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าตายายเอาไว้ให้ดี

 

เพื่อนร่วมชีวิตแม้จะได้รับการศึกษาจนมีความคิดทันสมัย แต่กลับยึดเหนี่ยวคำมั่นสัญญากับพ่อแม่ “แบบคนโบราณ” ว่าจะไม่ขายสมบัติของท่านอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้น ยังตอกย้ำพร่ำสอนลูกหลานต่อมาอีกว่า “ต้องช่วยกันรักษาทรัพย์มรดกตกทอดไว้ให้ดี ห้ามเอาไปขายกินเด็ดขาด”

บางทีลองคิดๆ ดูก็เกินไปเหมือนกัน จะให้นอนกอดมรดกไว้จนตายก่อนส่งให้ลูกหลานรุ่นต่อไปแล้วก็ให้รักษาเอาไว้ต่อไปอีกโดยให้คำมั่นสัญญาเหมือนกันว่าช่วยกันรักษามรดกตกทอดเอาไว้ อย่าเอาไปขายกิน หรือแม้แต่เอาไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อหาทุนมาประกอบกิจการ ก็ไม่ได้หรือ?

เพื่อนคนหนึ่ง วันหนึ่งพ่อของเขาซึ่งมีฐานะในระดับผู้มีอันจะกิน มีทรัพย์สินมาก โดยเฉพาะที่ดินท่านได้กว้านซื้อหาไว้ในหลายจังหวัดของประเทศ ได้เรียกเข้าไปพบแล้วบอกว่าจะยกที่ดินจำนวนหนึ่งซึ่งมากโข และอยู่ในพื้นที่อันมีราคาค่างวดสูง เนื่องจากอยู่ในเขตที่ใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้อย่างดี เรียกว่าหากคิดคำนวณออกมาในราคาประเมินเป็นเงินก็เข้าใกล้หลัก 50-60 ล้านบาท

เพียงแต่มีข้อแม้ว่าห้าม “ขายเด็ดขาด” หรือนำไปทำอย่างอื่น ต้องเก็บรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้ลูกๆ ซึ่งเป็นหลานปู่เท่านั้น

เพื่อนคนนั้นได้ปฏิเสธพ่อของเขาอย่างนิ่มนวลว่า “ไม่ขอรับที่ดินผืนนี้ไว้ เนื่องจากไม่ต้องการเป็นผู้รักษา ซึ่งจะต้องเป็นภาระเพื่อส่งต่อยังลูกๆ”

 

อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเพื่อนร่วมชีวิตที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมานั้นกว่าจะหมดสัญญาเช่าเซ้ง (25 ปี) นึกภาพดูว่ามันจะทรุดโทรมขนาดไหน ก็ดังที่กล่าวว่ามันก่อสร้างมาพร้อมกับบ้านหลังแรกของเรา ซึ่งทำการ “ปรับปรุง ต่อเติมซ่อมแซมไปไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง” ในขณะที่ทาวน์เฮ้าส์ (ตึกแถว) นั้นไม่เคยได้รับการดูแลซ่อมแซมเลย นอกจากผู้เซ้งได้ตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ในครั้งแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยเมื่อ 25 ปี

สภาพทรุดโทรมมากจริงๆ เหมือนดังที่กล่าวแล้วว่า ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อซ่อมแซมหลังการก่อสร้างมาแล้วกว่า 25 ปีผ่าน เพื่อจะให้ผู้เช่าใหม่ๆ ในราคาไม่เท่าไร? แปลว่าต้องใช้ระยะเวลายาวมากกว่าจะได้กำไรคืนบ้าง

แต่ไม่มีทางเลือกมากนัก จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนมือเหมือนดังรายอื่นๆ หมายถึงพี่น้องคนอื่นบ้าง ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเพื่อนร่วมชีวิตรักษาคำมั่นสัญญากับบุพการีว่า “จะไม่ขายทรัพย์สมบัติของพ่อแม่เด็ดขาด”

แต่สิ่งที่ได้เห็นต่อมาคือพี่น้องของคุณเธอขายกันกระจุยกระจาย กระทั่งบ้านที่อยู่อาศัยของเราได้ผู้ลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่มารายล้อมจนเกือบรอบบ้าน บางรายก็ก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ค้ำคอบ้านหลังแรกของเราในทุกวันนี้ ซึ่งเราก็ไม่มีทางเลือก เหมือนกับไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตที่มันจะต้องเกิดอาคารให้เช่าอยู่อาศัยขึ้นอีกจากที่ดินซึ่งเปลี่ยนมือไปยังนายทุน

ความจริงมันเป็นความผิดของเราด้วยเช่นเดียวกันที่ไม่มีความโลภ ไม่มีจิตวิญญาณของนักลงทุนเพื่อแสวงหากำไร จะว่าไปความคิดเหล่านี้เคยเกิดขึ้นบ้าง แต่เกรงใจเพื่อนร่วมชีวิตที่ไม่ต้องการให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของญาติโยมเธอ

ในที่สุดก็ได้แค่ช่วยกันซ่อมแซมสิ่งที่มีอยู่จากการได้รับมรดกมา ทาวน์เฮ้าส์ (ตึกแถว) ทุกห้องต้องซ่อมแซมทั้งหมดเกือบทั้งหลัง แทบทุกห้อง ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อหมดสัญญาผู้เซ้งเช่าต้องขนย้ายของออกไปกลับมีผู้เช่ารายอื่นๆ มาจ่อคิวจองกันเต็มทุกห้องโดยไม่ต้องประกาศให้เช่า ไม่ทราบว่าเขารู้ได้อย่างไร?

อาจเป็นปากต่อปากด้วยเหตุในพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้กลายเป็น “กลางเมือง” มี “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ผ่านเพียงแค่เดินจากบ้านสักไม่เกิน 10 นาทีก็ถึงสถานี

 

ติดต่อผู้รับเหมาให้มาซ่อมแซมได้ไม่ยากอะไรนักจากคำแนะนำของเพื่อนผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการก่อสร้าง เมื่อตกลงราคากันได้เรียบร้อยก็ลงมือซ่อมแซม แต่เรื่องกลับไม่ง่ายนักเพราะผู้อยู่อาศัยเดิมทำท่าออกอาการมึนๆ ไม่รับรู้การบอกกล่าวให้รีบขนของออกไป ต้องเรียกมาพูดจาตกลงวันเวลากันอีกครั้ง

เมื่อผู้เซ้งเดิมขนย้ายของออกไปปรากฏว่า “ผู้รับเหมา” กลับไม่มีช่างอยู่ในมือต้องไปติดต่อว่าจ้างกันมาอีกทอดหนึ่งซึ่งเขาก็รอไม่ไหวต้องหันไปรับงานที่อื่นก่อน เพราะฉะนั้น กว่าจะได้ลงมือ เวลาก็ล่วงเลยไปมาก เสียหาย เสียเวลา เสียโอกาสเป็นอันมาก

ความที่ทาวน์เฮ้าส์ (ห้องแถว) ซึ่งมี 2 ชั้น และก่อสร้างมากว่า 25 ปี พังตั้งแต่หลังคาลงมาถึงส้วมชั้นล่าง วัสดุที่ใช้ในยุคสมัยนั้นก็ไม่ก้าวหน้า อิฐที่ก่อผนังก็เป็นอิฐมอญโดยฝีมือช่างที่ไม่น่าจะเรียกว่าช่างได้ ไม่ได้ฉาก เบี้ยวแล้วเบี้ยวอีก ผนังฉาบไม่เรียบสักด้าน พื้นชั้น 2 เป็นไม้ปรากฏว่าปลวกกินพังตั้งแต่หลังคาลงมาถึงชั้นล่าง ส้วมเป็นส้วมซึมแบบเก่าๆ ก็ทรุดตัวลงไปมาก เวลาฝนตกก็ราดน้ำไม่ลง

ตกลงราคาซ่อมแซมรวมค่าวัสดุ โดยกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างกันเป็นงวดๆ ทำงานกันสองอาทิตย์จ่ายเงินไปบ้างแล้ว ปรากฏว่าไม่มีคนมาทำงานต่อ ทั้งๆ ที่ยังเหลืองานค้างอีกมาก

ถามผู้รับเหมาบอกว่าเกิดขัดแย้งเรื่องราคากับผู้รับช่วงเลยพาช่างและแรงงานหนีหายไปทั้งหมด เสียหายหนักขนาดไหนไม่ต้องบอก ระยะเวลาการซ่อมบ้านต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนๆ ผู้จองจะเข้ามาเช่าอยู่อาศัยต้องรอไปอีกนาน

พูดไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของ “ผู้รับเหมาก่อสร้าง-ช่าง” บ้านเรา ถึงวันนี้เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ก็ยังต้องพบเจออยู่

และทำท่าว่าจะหนักกว่าเก่า?