มีแค่พิธา-เศรษฐา ไม่มีลุงรับส้มหล่น | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ไม่ผิด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังนั่งทำงานในห้องนายกฯ ในทำเนียบ เพราะยังต้องเป็นรัฐบาลรักษาการ ต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ เพียงแต่เสียงเรียกร้องให้เก็บข้าวของออกไปจากทำเนียบนั้น เป็นการตั้งคำถามว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีท่าทียอมรับผลการเลือกตั้ง ยินดีกับพรรคที่ชนะอันดับ 1 แสดงความพร้อมจะถอยออกจากทำเนียบเมื่อถึงเวลา

การเรียกร้องให้เก็บข้าวของออกไป ไม่ได้แปลว่าจะให้ทำจริงๆ แต่หมายถึงให้แสดงสปิริต แสดงท่าที แสดงการยอมรับผลเลือกตั้งว่า พรรคของตนเองพ่ายแพ้ราบคาบ ไม่มีสิทธิ์เป็นรัฐบาลต่อไปอีกแล้ว

ยิ่งเมื่อเกิดขบวนการปลุกผีไอทีวี เพื่อจะโค่นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของก้าวไกล รวมไปถึงการตั้งกำแพงเพื่อขวางทางไม่ให้นายพิธาเป็นนายกฯของบรรดา ส.ว. อันบ่งบอกว่าสถานการณ์การเป็นนายกฯ ของนายพิธายังมากด้วยอุปสรรค

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนั่งในทำเนียบแบบไม่มีท่าทีพร้อมถอย ทำให้ถูกมองได้ว่า ยังแอบฝัน แอบรอส้มหล่นอยู่หรืออย่างไร!?

ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้

เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น ได้ ส.ส.เข้าสภาเพียง 36 ราย แถม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็น ส.ส.ด้วย ผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว คงต้องกลับบ้านอย่างเดียว

ความคิดที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เอาเสียง 250 ส.ว.เข้ามาช่วย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้น เสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดจายอมรับผลว่าแพ้แล้ว พูดจายอมเปิดทางให้นายกฯ คนใหม่ จึงกระหึ่ม

บังเอิญเมื่อเย็นวันอังคารที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าว เพราะจู่ๆ มีรถบรรทุกของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขึ้นไปจอดที่บริเวณประตูด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีเจ้าหน้าที่ 6 คนเข้าไปภายในตึก

เป็นที่ฮือฮาในหมู่สื่อมวลชนและข้าราชการ สงสัยกันทันทีว่า จะมีการขนของใช้ส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากห้องทำงานแล้วหรือ

แต่ต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว ได้ช่วยกันขนตู้โชว์ไม้สักสำหรับใส่ของที่ระลึกจากต่างประเทศ จำนวน 3 ตู้ ออกมาขึ้นรถบรรทุก เพื่อจะนำไปซ่อมแซมเนื่องจากชำรุด ไม่ได้มีข้าวของส่วนตัวจากห้องทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์แต่อย่างใด

ข่าวนี้ลงเอยไม่มีอะไร แต่สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการจดจ่อ ว่าเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์จะขนของออกจากทำเนียบเสียที

นึกว่าใช่ คือคำพาดหัวข่าวนี้

 

แม้การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล-เพื่อไทยและอีก 6 พรรค รวม 312 เสียงนั้น เป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนฯ แต่ในขั้นตอนโหวตนายกฯ ซึ่งกติกาแอบแฝงของเผด็จการ ยังให้อำนาจ 250 ส.ว.ร่วมโหวต ดังนั้น รัฐบาลก้าวไกลและนายพิธา ต้องพึ่งเสียง ส.ว.อีก 64 เสียง จึงจะเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา

ขณะที่การต่อต้านโค่นล้มนายพิธา เพื่อให้หมดโอกาสขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 เป็นไปอย่างครึกโครมและโจ่งแจ้ง

ไม่ว่าจะร้องเรียนเรื่องถือหุ้นสื่อมวลชน ซึ่งมีการพบข้อพิรุธมากมาย ว่ากระทำอย่างเป็นขบวนการหวังจะจัดการนายพิธาให้ได้ ตอนนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่นายพิธาต้องฝ่าไปให้ได้ รวมไปถึงท่าทีของ ส.ว.ที่ยังยืนกรานไม่โหวตให้นายพิธา

ขณะที่ประชาชนกว่า 14 ล้านเสียง ที่เลือกก้าวไกล จับตามองสถานการณ์นี้ด้วยอารมณ์เดือดระอุ เพราะเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ยังจะถูกแทรกแซงไม่สิ้นสุด

ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงตั้งรัฐบาล จึงร้อนแรงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม 8 พรรคที่จับมือกันตั้งรัฐบาล ยังแสดงความเหนียวแน่น ในการร่วมหนุนนายพิธาให้เป็นนายกฯ และผนึกกันแน่น ไม่มีแตกขั้ว ไม่มีพลิกขั้ว

ยังเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ทำให้ขั้วอื่นแทบไม่มีโอกาสจะพลิกสถานการณ์การตั้งรัฐบาลได้

แม้จะเกิดขวากหนามกางกั้นนายพิธาอย่างจริงจังขนาดไหน ก็ยากที่จะทำให้การเมืองพลิกโฉม ให้พรรคลุงๆ ได้เป็นรัฐบาลได้อีก

จนล่าสุด ความเคลื่อนไหวในหมู่วุฒิสมาชิก กำหนดท่าทีไม่โหวตให้นายพิธา ได้มองทางออกโดยจะเปิดให้พรรคอันดับ 2 ได้เป็นนายกฯ แทน

การยอมให้พรรคอันดับ 2 คือเพื่อไทยได้เป็นนายกฯ แทน กรณีที่นายพิธาไม่ผ่านการโหวตจาก ส.ว. ถือว่าเพื่อให้สถานการณ์ลดความร้อนแรงได้มากที่สุด

อย่างน้อยก็เป็นพรรคอันดับ 2 ที่เสียงใกล้เคียงกับอันดับ 1 และยังเป็นขั้วฝ่ายประชาธิปไตย

ไม่ใช่การขวางพิธา แล้วไปเอาพวกลุงกลับมาเป็นนายกฯ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ร้อนแรงไปทั้งบ้านทั้งเมืองแน่นอน

อีกทั้ง หาก ส.ว.กำหนดเพียงแค่เปลี่ยนตัวนายกฯ ไม่ลงลึกไปถึงการเปลี่ยนขั้ว จะมีโอกาสที่อุณหภูมิการเมืองลดลงได้

อย่างน้อยยังมีพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล และยืน 8 พรรคดังเดิม

 

ท่ามกลางการเปิดศึกสงครามเพื่อจะเด็ดปีกนายพิธาให้พ้นไปจากเส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ แม้ว่าด้านหนึ่งกระแสสังคมจะยืนยันหลักการที่ว่า แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ชนะอันดับ 1 จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี จึงจะถูกต้องตามครรลองมากที่สุด

แต่อีกด้านหนึ่งก็เริ่มมองทางออกที่ว่า ถ้านายพิธาไปไม่ได้จริงๆ ก็ต้องให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันดับ 2 เป็นแทน จึงจะพออยู่ในหลักการและไม่ละเมิดเสียงประชาชนที่ไปเลือกตั้งมากนัก

สำหรับเพื่อไทยแล้ว มีแคนดิเดตนายกฯ 3 ชื่อ คือ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน และชัยเกษม นิติสิริ โดยรายหลังนั้นประสบปัญหาเรื่องสุขภาพ จนต้องพักรักษาตัวอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ท่าทีจากครอบครัวชินวัตร ในวันที่ไปร่วมรับประทานอาหารที่โรงแรมรอยัลปรินเซส หลานหลวง แล้วเป็นข่าวว่า คุณหญิงพจมาน ไม่อยากให้ทักษิณ ชินวัตร รีบกลับไทยด้วยห่วงความปลอดภัย ยังมีการพูดถึงอุ๊งอิ๊งด้วยว่า คุณหญิงพจมาน ยังไม่อยากให้เป็นนายกฯ ในเวลานี้ ควรเรียนรู้การเมืองอีกสักสมัย

จึงทำให้ชื่อของเศรษฐา ทวีสิน เป็นที่จับตาว่าน่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ของเพื่อไทย

ด้านหนึ่งทั้ง 8 พรรคยังต้องช่วยกันผลักดันนายพิธาให้เป็นนายกฯ เพื่อรักษาการหลักการ แต่หากนายพิธาเจออุบัติเหตุจริงๆ ไม่อาจฝ่าด่าน 250 ส.ว.ได้จริงๆ โอกาสน่าจะมาตกที่เศรษฐานั่นเอง

ทั้งนี้ เห็นได้ว่า ระยะนี้กลุ่มองค์กรด้านธุรกิจ กลุ่มนักลงทุนระดับโลก ได้ให้ความสนใจพูดคุยกับนายเศรษฐา ทั้งในแง่วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ และในแง่สถานการณ์การเมืองช่วงตั้งรัฐบาลและโหวตนายกฯ

ราวกับว่า ทุกฝ่ายเริ่มเป็นห่วงสถานการณ์การตั้งนายกฯ ถ้าพิธาไม่ได้ก็น่าจะเป็นเศรษฐา จะถือว่าเป็นไปตามระบบประชาธิปไตยและหลักการมากที่สุด

เท่ากับว่า เวลานี้เบอร์ 1 ของผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ควรเป็นนายพิธา แต่ถ้าจำเป็นตัวสำรองอันดับแรก ก็ต้องเป็นนายเศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันดับ 2 นั่นเอง

ไม่ควรผิดไปจากนี้

ไม่ควรมีเหตุการณ์ส้มหล่นไปตกในมือของพวกลุงๆ

เพราะประชาชนหลายล้านแสดงออกแล้วว่า ต้องการให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้นเป็นรัฐบาล!