สูตรจัดตั้งรัฐบาล | จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

หากนับรายชื่อจากจำนวน “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ที่ทุกพรรคการเมืองส่งชื่อเข้าชิงดำทั้งหมด จำนวน 62 คน จาก 43 พรรคการเมือง มีสัดส่วนเพียงน้อยนิดที่ผ่านเกณฑ์ตัดตัว ก้าวพ้นคีลลิ่งโซน ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ที่ล็อสเป๊กเอาไว้ว่า

“บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคล เป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

ร้อยละ 5 จากยอดเต็มตุ่ม คือ 500 ที่นั่ง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ระบบ “เขตเลือกตั้ง” 400 ที่นั่ง และ “บัญชีรายชื่อ” 100 ที่นั่ง จึงเท่ากับ 25 คน จากพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่สอบผ่าน ซึ่งประกอบด้วย

“พรรคก้าวไกล” 151 ที่นั่ง “เพื่อไทย” 141 ที่นั่ง “ภูมิใจไทย” 70 ที่นั่ง “พลังประชารัฐ” 40 ที่นั่ง “รวมไทยสร้างชาติ” 36 ที่นั่ง และ “ประชาธิปัตย์” เส้นยาแดงฝ่าแปด 25 ที่นั่ง

บุคคลผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนายกรัฐมนตรี จึงเหลือเพียง 1. “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากก้าวไกล 2. “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” 3. “นายเศรษฐา ทวีสิน” 4. “นายชัยเกษม นิติสิริ” จากเพื่อไทย 5. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคภูมิใจไทย 6. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พรรคพลังประชารัฐ 7. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 8. “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” จากรวมไทยสร้างชาติ และ 9. “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นถูกเทกระจาดเกลี้ยงแผง เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ ร้อยละ 5

และตามข้อบังคับของมาตรา 159 วรรคสุดท้ายระบุว่า “บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ให้ความเห็นชอบคือ-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

ตามช่องทางแห่งมาตรานี้ ไม่ต้องใช้บริการงานแนวร่วมถึง 8 พรรค ลำพังก้าวไกลจับมือเพื่อไทย 151 กับ 141 สองพรรคเท่านั้นสามารถฟอร์มรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากที่ 292 เสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว

แต่ดั่งที่เคยบอกไว้ รัฐธรรมนูญ 2560 เรือผุมีตะปูซ่อน ฝังหุ่นในบทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่า 5 ปีแรก นับจากที่มีรัฐสภาชุดแรก การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มติเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

ยกระดับ ขยับเพดานกึ่งหนึ่งตามมาตรา 159 จาก 250 เสียงเป็นเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน ตาม “บทเฉพาะกาล” เป็น 376 เสียง บ๊วยเลยติดคอหอย เจ็บลูกกระเดือก ดังที่เห็นอยู่ขณะนี้

 

กรณีที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เดินเหยียบตะปูที่ซ่อนมากับเรือผุ บาดทะยักรับประทาน สอบไม่ผ่าน 376 เสียง หรือเกิดมีอะไรบันดาลใจให้ ส.ว.สายกลาง มีเมตตามหานิยม ปาฏิหาริย์มีจริง ยกมือให้ผ่านด่านสำคัญนี้ไปได้ ก็ยังเจอประเด็นดราม่าว่าด้วยปมถือหุ้นไอทีวีอยู่อีกออปชั่น กล่าวได้ว่า เหนื่อยโคตรทุกอิริยาบถ กับการก้าวไปหยิบชิ้นปลามัน “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30”

หาก “พิธา” ตอบโจทย์ข้อแรก และข้อที่สองไม่สำเร็จ ต้องตกม้าตาย “ก้าวไกล” แชมป์เลือกตั้ง ฝันสลาย เพราะส่งบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียว “สูตรจัดตั้งรัฐบาล” ต้องทลายห้าง เอ็มโอยู ถอดเสื้อคุยกันใหม่

“สูตรที่ 1” 8 พันธมิตรขั้วประชาธิปไตยเดิม ผนึกกันเหนียวแน่น 312 เสียงจับมือเดินไปด้วยกัน สลับฟันปลาให้ “แคนดิเดตนายกฯ” จากเพื่อไทย ที่ส่งชื่อเข้าประกวด 3 คน

“อุ๊งอิ๊ง” มีข่าวว่า ยอดคุณแม่ยังไม่อยากให้รับไม้ ขณะที่ “ชัยเกษม นิติสิริ” มีปัญหาด้านสุขภาพ หวยออกที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ดูสมาร์ตสง่างาม เป็นนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ มาช่วยยกระดับ จัดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่บอบช้ำมาอย่างหนักกับทุกเรื่อง ไม่ว่าความอดอยากยากจนที่กำลังแผ่กระจาย หรืออื่นใด ให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง

“สูตรที่ 2” กรณีที่ขั้วประชาธิปไตยขบเหลี่ยมกันเอง ตกลงกันไม่ได้ แตกพ่ายทางการศึก ขั้ว “อนุรักษนิยม” เดิม ได้ฟอร์มรัฐบาลส้มหล่นอีกครั้ง ประกอบด้วย “ภูมิใจไทย” 70 เสียง “พลังประชารัฐ” 40 เสียง “รวมไทยสร้างชาติ” 36 เสียง “ประชาธิปัตย์” 25 เสียง “ชาติไทยพัฒนา” 10 เสียง และพรรคขนาดเล็กอีก 3 พรรค 3 เสียง รวมพลได้ 184 เสียง

สร้างละครย้อนยุคให้ดูชมอีกครั้ง ดัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ “ภูมิใจไทย” ในฐานะพรรคใหญ่ หยิบชิ้นปลามัน “มหาดไทย-คมนาคม” ตามด้วย “พลังประชารัฐ” อยากได้กลาโหมกับพลังงาน ก็จัดไป ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” กำกับเกษตรฯ กับพาณิชย์เหมือนเดิม

เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เมื่อ ส.ว.โหวตชนะผ่านแล้ว ค่อยไล่สอย เปิดช้อปเอาทีหลัง เกมการเมืองมีความแปรปรวนได้เสมอ เคยมีผลงานเยี่ยงนี้เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

“สูตรที่ 3” เพื่อไทยแตกคอกับก้าวไกล และพันธมิตรขั้วเดิม แหกด่านมะขามเตี้ยไปจับมือกับซีกอนุรักษ์เดิม “เพื่อไทย” 141 เสียง “ภูมิใจไทย” 70 เสียง “พลังประชารัฐ” 40 เสียง “ประชาธิปัตย์” 25 เสียง “ชาติไทยพัฒนา” 10 เสียง และหนีบ “ประชาชาติ” ติดมือไปอีกพรรค 9 ที่นั่ง ฐานเสียงตัวเลขกลมๆ “พอดีคำ” 295 เสียง โดย “เศรษฐา” นั่งเก้าอี้นายกฯ

“สูตรที่ 4” แลกกับ “ทักษิณกลับบ้าน” ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ มีข่าวว่าคอนเฟิร์มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว แม้ภรรยากับลูกๆ กลัวโดนหักหลังครั้งที่ 5 แต่ต้านไม่อยู่ แกอยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลานเต็มประดาแด

ยอมแม้กระทั่งติดคุกตามเงื่อนไข ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่า ตามหลักเกณฑ์และข้อตกลง ไม่ถึงกับ “หัวโต”

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า “สูตรที่ 4” คือ พรรคร่วมรัฐบาล จะประกอบด้วย “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา-ประชาชาติ” และยกประโยชน์ เปิดทางสะดวกให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ อีกครึ่งสมัย 2 ปี

“เพื่อไทย” พรรคใหญ่สุด เป็นไม้ประดับ เสือแปรสภาพเป็นกระรอกสามตัว เพื่อกินถั่วอร่อย ได้ “พาทักษิณกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน”

เหนือสิ่งอื่นใด มีหลักประกันว่าจะ “ปลอดภัย”