เศรษฐกิจไทย ‘สุญญากาศ’ ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ต่างชาติชะลอลงทุน

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังประเทศไทยผ่านพ้นวันเลือกตั้งมาแล้วร่วม 1 เดือนเต็ม แม้จะยังเป็นไปตามไทม์ไลน์ แต่ก็ต้องบอกว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองมีพลิกไปมาอยู่ตลอด

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะเติบโตเพียง 2.1% ต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% โดยครึ่งปีหลังน่าจะโตดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจาก

1. รายได้ภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยดีกว่าครึ่งปีแรก และคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 29 ล้านคน

2. ภาคส่งออกจะขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

และ 3. การบริโภคภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

“ประเมินหากตั้งรัฐบาลล่าช้า 1-2 เดือน ยังไม่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติมากนัก แต่หากลากยาวไป 5-6 เดือน นักลงทุนต่างชาติก็คงไม่รอ เพราะเขามีความต้องการที่จะลงทุน” ดร.กิริฎากล่าว

 

ขณะที่ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทุกอย่าง โดยซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.3% ปรับลดคาดการณ์จากเดิมที่ 3.4%

ซึ่งปัจจัยฉุดเศรษฐกิจก็คือ ปัจจัยต่างประเทศ ที่การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกก็ติดลบไปแล้วราว 4-5% แต่คาดว่าปลายปีส่งออกจะเริ่มเป็นบวกได้ และทั้งปีส่งออกน่าจะติดลบ 2%

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ คือเรื่องภาครัฐ การจัดตั้งรัฐบาล แม้จริงๆ ไม่ได้ล่าช้า ยังอยู่ในไปป์ไลน์ เพียงแต่ว่าปัจจัยเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นผ่านระบบเบิก-จ่ายงบประมาณ การใช้จ่ายของภาครัฐ งบฯ การลงทุนภาครัฐที่อาจจะติดลบมากกว่าที่คาด

“ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น ก็สะท้อนไปสู่ภาคเอกชน เพราะอย่าลืมว่าเอกชนเองก็จะชะลอการลงทุนด้วย ถ้าโครงการภาครัฐเองยังมาได้ช้า หรือว่าไม่เป็นไปตามแผนที่เอกชนเขารอ เอกชนเองก็อาจจะ wait & see คือรอก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าลงทุน”

ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ ไม่ใช่เอกชนในประเทศ แต่หมายถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งโอกาสในการย้ายฐานจากจีนที่จะเข้ามาประเทศไทย ซึ่งจีนจะต้องมีการย้ายฐานอยู่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี แต่อาจจะเลือกไปเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆ แทนที่จะมาไทย เพราะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งในเรื่องของการเจรจาการค้าเสรีกับต่างประเทศ (FTA) ด้วย

“FTA จะเป็นตัวฉุดจริงๆ สำหรับเศรษฐกิจไทย ถ้าไม่มีการเดินหน้าตรงนี้อย่างเต็มที่ ต่างชาติก็จะลังเล ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศเสียโอกาสได้”

ดร.อมรเทพกล่าวว่า ตอนนี้ไทยไม่ใช่เป็นทางเลือกเดียวของนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายๆ ประเทศก็มีการดึงดูดต่างชาติด้วยเช่นกัน ขณะที่จุดแข็งของไทยที่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนแรงงานที่ถูก เรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาก หรือว่าตลาดผู้บริโภคภายในประเทศที่มีกว่า 60 ล้านคน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากประเทศอื่นก็สามารถเติบโตได้เร็ว อย่างเช่นเวียดนามที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว ขณะที่อินโดนีเซียก็มีเช่นกัน

ซึ่งโจทย์เรื่องดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลชุดใหม่ คงจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเร่งเจรจาการค้าเสรี เพิ่มมูลค่าการผลิต แล้วก็สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานให้ดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนให้ได้ ทั้งนี้ ไทยคงไม่สามารถแข่งขันด้วยแรงงานราคาถูกได้แล้ว แต่ต้องเป็นเรื่องแรงงานที่มีฝีมือ ต้องเร่งในจุดนี้ถึงจะสามารถอัพเกรดอุตสาหกรรมได้

 

“ประเทศไทยเองแม้จะมีจุดแข็งอยู่ แต่เราอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ เราใช้จุดขายเดิมๆ ไม่ได้ เราต้องสร้างจุดขายใหม่ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการเจรจาการค้า FTA กับต่างประเทศ หรือว่าการสร้างเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เราคงต้องเร่งพัฒนาตรงนี้ต่อ แน่นอนว่าตอนนี้ เวียดนามน่าจะเป็นจุดที่เนื้อหอมที่สุดในภูมิภาค ซึ่งวันนี้การที่โรงงานไทยย้ายไปเวียดนาม ย้ายไปอินโดฯ ย้ายไปหลายประเทศ ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าค่าแรงของเรา ก็ถือว่าเริ่มแพงขึ้น นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่จะขยับสูงขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสในการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มที่ไม่สามารถจะแข่งขันกับต่างประเทศได้เพิ่มเติม ซึ่งเราก็ต้องปล่อยเขาไป”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะยืนเหนือ 3% ได้ เพราะการท่องเที่ยว ที่ปีนี้นักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาเกิน 28 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย อินเดีย หรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ขณะที่จากยุโรป รัสเซียเองก็เห็นการกลับมาได้ดีขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวจากจีนยังมาไม่มาก ซึ่งคงต้องรอจีนให้เปิดประเทศเต็มที่กว่านี้

“โอกาสทางด้านการท่องเที่ยว แน่นอนว่าธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ขนส่ง ฟื้นตัว แต่ไม่ได้แปลว่าภาพรวมการบริโภคทั้งหมดจะฟื้น เพราะยังเห็นปัญหาการกระจายตัวอยู่ ยิ่งภาคเกษตรนี่ถือว่ากำลังซื้ออ่อนแอ รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ในเมืองรอง ที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยเองยังมีความเปราะบาง ที่จะทำให้โตได้ไม่เต็มที่ในปีนี้ นี่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย”

นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้นทุนของเอสเอ็มอีถือว่าสูง ถ้าเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น ก็ต้องดูว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้อยู่รอดได้อย่างไร

“รัฐบาลใหม่คงจะต้องเร่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนและทั่วถึง แต่ไม่ได้บอกว่า จะต้องเลี้ยงไข้ ด้วยการแจกเงินไปเรื่อยๆ แต่ต้องพยายามเน้นทำให้เกิดการจ้างงาน เสริมสร้างศักยภาพภาคการผลิต เพิ่มทักษะแรงงาน ซึ่งต้องอาศัยมาตรการของภาครัฐ รวมทั้งนโยบายการคลังและการเงิน ในการที่จะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอี”

อนาคตเศรษฐกิจไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้หรือไม่ คงต้องขึ้นกับฝีมือของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาหลังจากนี้ แต่ขั้นแรก ก็คงต้องลุ้นให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าไปอย่างราบรื่นเสียก่อน

ทว่า จนถึง ณ ขณะนี้ก็ยังคงเดินหน้าไปท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นเดิม