‘บ้านเรียน’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

‘บ้านเรียน’

 

เคยสังเกตไหมครับว่า วิธีจัดดอกไม้ลงแจกันแล้วให้ดูสวยงามอาจทำได้หลายวิธี

วิธีหนึ่งคือใช้ดอกไม้ชนิดเดียวกัน สีเดียวกัน จัดลงแจกันหนึ่งใบ นี่ก็สวยไปแบบหนึ่ง

หรือเราอาจเลือกใช้วิธีการที่ใช้ดอกไม้หลายชนิด สีสันแตกต่างกัน จัดลงในแจกันหนึ่งใบ นี่ก็สวยไปอีกแบบ

โลกใบนี้มีความสวยงามหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรฐานเดียวเสมอไป

 

พูดถึงเรื่องการจัดการศึกษาก็คล้ายกับเรื่องของการจัดดอกไม้ใส่แจกันนี่แหละครับ

อะไรคือมาตรฐานการศึกษา เป้าหมายในการจัดการศึกษา ถามคนหนึ่งร้อยคนก็ได้คำตอบกลับมาหนึ่งร้อยคำตอบ

อย่าลืมว่าก่อนรัชกาลที่ห้า การจัดการศึกษาในเมืองไทยของเรายังไม่ได้เป็นระบบระเบียบอย่างปัจจุบัน การเล่าเรียนเป็นการเล่าเรียนตามอัธยาศัยเสียโดยมาก เด็กชายก็เข้าไปเรียนในวัดแต่พออ่านออกเขียนได้ หลังจากนั้นก็ประกอบอาชีพตามสกุลของครอบครัว พ่อเป็นช่างทองก็เรียนวิชาช่างทองสืบต่อไป พ่อเป็นครูดาบลูกก็เรียนฟันดาบสืบวิชาของพ่อ มีบางรายอยากจะแหวกแนวออกไปบ้างก็ต้องไปหาสำนักเรียนของตัวเอง

ข้างฝ่ายเด็กหญิง แม้แต่จะเรียนให้อ่านออกเขียนได้ก็ยากเต็มที เพราะเมืองไทยครั้งนั้นไม่เห็นเหตุผลความจำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ เดี๋ยวจะไปเขียนเพลงยาวเกี้ยวผู้ชายกันหมด แค่เย็บปักถักร้อยมีฝีมือ ทำอาหารเก่ง อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เพียงแค่นี้ก็ถมเถแล้ว

ครั้นมาถึงยุคสมัยที่เราต้องปฏิรูปประเทศ มีโรงเรียนเกิดขึ้น มีการศึกษาในระบบเกิดขึ้น จากประถมศึกษาก้าวสู่มัธยมศึกษาและมาเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาในรัชกาลที่หก คนไทยจำนวนมากก็คุ้นเคยกับการศึกษาในระบบ

กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงใหญ่ที่กำกับดูแลภารกิจในเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

เมื่อสิบห้าปีมาแล้ว ชีวิตราชการพาผมไปนั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำให้ผมได้พบความจริงและตระหนักว่า นอกจากการจัดการศึกษาตามแนวคิด ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังมีผู้ปกครองอีกจำนวนไม่น้อย ที่คิดถึงเรื่องการศึกษาทางเลือก

หมายความว่า การศึกษาในแบบแผนที่ท่านผู้ปกครองเหล่านั้นเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของลูกหลานของท่านยิ่งกว่าแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ

นี่ก็เข้าตำราจัดดอกไม้ลงแจกันนั่นเอง ท่านผู้ปกครองบางท่านอยากจะมีวิธีจัดแจกันที่ใช้ดอกไม้หลายสีต่างขนาด โดยไม่จำเป็นต้องใช้สูตรสำเร็จ ดอกไม้สีเดียวขนาดเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอย่างนี้เราจะบอกว่าใครผิดใครถูกได้อย่างไร ไม่มีทางหรอกครับ

การจัดการศึกษาทางเลือกนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราวแต่ใช้วิธีการที่เป็นทางเลือกต่างๆ ในโรงเรียน เรื่อยไปจนถึงการศึกษาที่ฝรั่งเรียกว่า Home School ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแบบตรงไปตรงมาว่า บ้านเรียน อันมีความหมายว่าเป็นการศึกษาที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจัดให้กับลูกหลานของตนเองภายในครอบครัว

จะเป็นด้วยเหตุผลทางปรัชญาความเชื่อของคุณพ่อคุณแม่ว่าการศึกษาควรเป็นอย่างไร (ที่ไม่เหมือนกับการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฮา!) หรือเหตุผลอื่นใดก็ตามที

ระบบกฎหมายการศึกษาปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีการทำเช่นว่านี้ได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลรับรู้ของทางราชการ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเยาวชนของประเทศ

แต่การดูแลรับรู้ที่ว่านี้ ผมมีความเห็นว่าไม่ควรนึกไปในทางกำกับดูแล แต่ควรเป็นการประคับประคองและสนับสนุนมากกว่า

ของอย่างนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการทำงานครับ

 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้พบกับคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่จัดการศึกษาแบบบ้านเรียนให้กับลูกหลาน มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังได้มาก

ตัวอย่างเช่น คุณพ่อท่านหนึ่งบอกว่าลูกของท่านเป็นเด็กแพ้อาหารหลายชนิด ได้ไปให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยแล้วปรากฏว่าแพ้สารพัด ด้วยความรักและเป็นห่วงลูก คุณพ่อจึงจัดบ้านเรียนของตนเอง อย่างน้อยเพื่อที่ผู้เป็นลูกจะได้อยู่ในสายตาไม่ต้องไปเสี่ยงภัยรับประทานอะไรที่เป็นอันตรายอยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงเรียนซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง

ไม่ได้แปลว่าคุณครูจะเอาอาหารที่เด็กแพ้ให้เด็กรับประทานหรอกนะครับ แต่โอกาสที่จะมีความพลั้งเผลอได้อาหารมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ หรือเพื่อนนำมาจากบ้านแล้วแบ่งกันกินด้วยความอารีอารอบ เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น

คุณพ่อจึงตั้งใจจะให้บ้านเรียนของตัวเองสามารถสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้เป็นเบื้องต้น เพื่อที่วันหนึ่งเมื่ออ่านหนังสือคล่องแคล่วแล้ว ลูกชายจะได้สามารถอ่านสลากกำกับผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆได้ และเป็นผู้ที่เลือกรับประทานอาหารที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยได้ด้วยตัวเอง

ถึงเวลานั้นแล้ว คุณพ่อตั้งใจให้เด็กผู้เป็นลูกเข้าไปอยู่ในโรงเรียนตามปกติ เพื่อจะได้มีสมาคมและความคุ้นเคยกับเพื่อนฝูง

 

คําว่า “สมาคมและความคุ้นเคยกับเพื่อนฝูง” นี้ เป็นคำสำคัญคำหนึ่งที่ต้องยกขึ้นมาพูดกันเมื่อพูดถึงบ้านเรียน เพราะในขณะที่เด็กได้รับความรู้หรือการศึกษาตามที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะให้ลูกอย่างดีที่สุด แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าสิ่งที่จะขาดหายไปคือการเข้าสมาคม อยู่กับคนหมู่มาก มีเพื่อน มีคนอื่นนอกจากคุณพ่อคุณแม่ที่พบกันทุกวัน

ประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจากการสมาคมเช่นนี้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กทุกคนเมื่อเติบโตขึ้น

นอกจากนั้น สำหรับบ้านเรียนที่จัดการเรียนขึ้นไปสู่ระดับสูงเพิ่มขึ้น สุดท้ายปลายทาง ของเด็กจำนวนมากก็ต้องกลับเข้าไปสู่ระบบที่เป็นระบบใหญ่ เช่น เรื่องอุดมศึกษาอยู่ดี เพราะคงเป็นการพ้นวิสัยที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกชายลูกหญิงของตัวเองได้จนถึงระดับปริญญาตรี ปริญญาโท

ออกปริญญาเองก็ไม่ได้นะครับ

 

เมื่ออยู่ในระดับการศึกษาที่ต้องเทียบชั้นว่าเป็นมัธยมศึกษา การจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนก็อาจพบปัญหาบางอย่าง เช่น เด็กควรมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะตั้งใจจะไปเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์แท้ๆ หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพในวันข้างหน้า การเรียนวิชาอย่างนี้ต้องการใช้ห้องทดลองหรือที่เรียกว่าห้องแล็บ แล้วบ้านใครจะมีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ล่ะครับ

ว่ากันตามจริงแล้วการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน จึงไม่สามารถเป็นอิสระโดดเดี่ยวแต่เพียงลำพัง หากแต่ต้องมีความร่วมมือเชื่อมโยงกันกับการศึกษาในระบบอยู่บ้างตามสมควร

เช่น แม้เป็นเด็กนักเรียนในระบบบ้านเรียนดังกล่าว แต่เป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะมีสถานะเป็นนักเรียนสมทบในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อที่จะเข้ามาใช้ห้องแล็บ หรือแม้กระทั่งมีกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนในวัยเดียวกันในโอกาสต่างๆ ด้วย

จะเดินถนนสายตรงมีแต่เพียงคุณพ่อคุณแม่และลูกชายลูกสาวอยู่แต่ในบ้านโดยไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย แบบนี้ทุกคนก็เห็นว่าไม่ไหวเหมือนกัน

ความพอดีของเรื่องจึงอยู่ตรงที่ว่าจะผสมระบบบ้านเรียนกับระบบการศึกษาใหญ่ของประเทศได้อย่างไร ตรงนี้เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ต้องปรับกันไปเรื่อยครับ

 

ตั้งแต่สิบห้าปีก่อนที่ผมทำงานอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจนถึงปัจจุบันก็ยังปรับเข้าหากันไม่สิ้นสุด

ในการพูดคุยท่ามกลางวงสนทนาเรื่องนี้ ผมนึกถึงคำยอดฮิตคำหนึ่งของยุคสมัย นั่นคือคำว่า ไฮบริด เหมือนกับรถยนต์ที่เราใช้ทุกวันนั่นแหละครับ การใช้กระแสไฟฟ้ากับการใช้น้ำมันสามารถอยู่ร่วมกันได้ในรถคันเดียว

การจัดการศึกษาสำหรับลูกหลานของเราอาจทำในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นได้ไม่ใช่หรือ โดยการผสมผสานกันระหว่างปรัชญาของคุณพ่อคุณแม่ในระบบบ้านเรียนกับการจัดการศึกษาที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศ

นึกถึงเรื่องไฮบริดของการศึกษาแล้ว เรื่องอื่นก็ไฮบริดได้อีกมาก

แม้กระทั่งการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัว ซึ่งมีคนต่างวัยต่างอายุต่างประสบการณ์อยู่ร่วมกัน ถ้าสมาชิกทุกคนยอมรับและเข้าใจในความแตกต่าง ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน ประคับประคองให้อยู่ด้วยกันได้ เลือกคัดสรรสิ่งที่ดีของคนต่างวัยมาเป็นประโยชน์กับครอบครัว ถ้าทำได้อย่างนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มิใช่หรือครับ

บันไดเบื้องต้นของการที่จะก้าวไปเป็นไฮบริด คือ การยอมรับว่ามีความแตกต่าง เปิดใจให้กว้าง เปิดหูรับฟัง เปิดสายตาให้ยาวไกล มีโอกาสที่จะพูดจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกราดเกรี้ยวใส่กัน ฟังแล้วก็มาคิดตรึกตรองเพื่อหาคำตอบที่จะอยู่ร่วมกัน

ฟังดูไม่น่ายากนะครับ

แต่ทำไมทำแล้วเจ๊งทุกทีก็ไม่รู้เหมือนกัน ฮา!