ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน : จากความขัดแย้งสู่ความสัมพันธ์อีกครั้ง (3)

จรัญ มะลูลีม

การแข่งอำนาจ
ระหว่างสหรัฐ-จีนในซาอุดีอาระเบีย

การเข้าร่วมกับ SCO ได้รับการหารือระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2022) สถานะคู่เจรจานี้จะเป็นก้าวแรกภายในองค์กรก่อนที่จะให้ซาอุดีอาระเบียเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในช่วงกลางเทอม

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการประกาศของ Saudi Aramco ที่จะเพิ่มการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐในจีน โดยซาอุดีอาระเบียได้มีแผนการร่วมทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และจะเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีที่ควบคุมโดยเอกชนในที่สุด

ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด SCO จะเข้าร่วมการประชุมพร้อมๆ ไปกับประมุขแห่งรัฐสมาชิก SCO ในเมืองซามาร์คันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน

ความสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้นของซาอุดีอาระเบียกับจีนทำให้เกิดความกังวลด้านความมั่นคงกับสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรดั้งเดิม แต่ก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก Biden บีบให้ Opec+ ลดการผลิตน้ำมันลง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

ในขณะเดียวกัน สหรัฐได้พูดถึงการมีความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดังกล่าวว่าความพยายามของจีนที่จะใช้อิทธิพลของตนไปทั่วโลกจะไม่อาจเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐต่อตะวันออกกลางแต่อย่างใด

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในสภาความมั่นคงแห่งอ่าว (GCC) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ประเทศแถบนี้กำลังผลักดันให้สหรัฐยุติการเป็นผู้ค้ำประกันหลักในภูมิภาคลงไป โดยประเทศเหล่านี้เริ่มถ่วงดุลอิทธิพลของสหรัฐด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากขึ้นทำให้การแข่งขันว่าด้วยการมีบทบาทในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐกับจีนและรัสเซียจะมีมากขึ้นในเวทีระดับโลก แม้ว่าสหรัฐยังยืนกรานที่จะจะยังคงเป็นพันธมิตรที่แข็งขันในภูมิภาคนี้ต่อไปก็ตาม

ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในองค์กร SCO วางแผนที่จะจัด “การฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้าย” ร่วมกันในภูมิภาค Chelyabinsk ของรัสเซียในเดือนสิงหาคมปีนี้ (2023) ต่อไป

 

การประชุมที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ขั้นปกติที่กรุงปักกิ่งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียและอิหร่านถือเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจนำไปสู่ความมีเสถียรภาพในภูมิภาคซึ่งถูกสั่นคลอนมายาวนานกว่า 40 ปีที่เกิดขึ้นน้อยกว่าหนึ่งเดือนหลังจากข้อตกลงปักกิ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2023 เป็นเครื่องยืนยันเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของจีนและความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการทำให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันก้าวไปข้างหน้า

ทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นว่าผู้นำของทั้งสองประเทศมีความมั่นใจเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว และขณะนี้ได้มอบรายละเอียดดังกล่าวให้กับหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่การลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นจะต้องมีอาลี ชัมคานี นายพลสองดาวและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน และโมซาอีด อัล-อัยบัน ที่ปรึกษาราชสำนักระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย ที่กล่าวกันว่าเป็นมือขวาที่ MBS ไว้วางใจมากที่สุด เข้าร่วมด้วย

นับเป็นการยืนกรานของราชอาณาจักร และหยุดยั้งผู้ที่ชอบถากถางว่าข้อตกลงนี้อาจได้รับการตกลงจากกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน แต่ไม่ใช่โดยกลุ่มก้อนของผู้ที่มีอำนาจของอิหร่านหรือจากกลุ่มก้อนของผู้ที่เป็นกลไกด้านความมั่นคง

ก่อนการตกลงของทั้งสองฝ่ายได้เกิดคำถามขึ้นหลายครั้งในช่วงเดือนที่มีการตกลงฟื้นความสัมพันธ์ต่อกันว่า เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ระบอบการปกครองของอิหร่านจะปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ มีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเตหะรานเท่านั้นที่สามารถตอบได้

มันเป็นเรื่องจริงที่ข้อตกลงดังกล่าวจะพังทลายลงโดยใช้เวลาไม่นานนักหรือไม่?

 

ทั้งนี้ ในความคิดของนักคิดในโลกมุสลิมอย่างฟัยซ็อล อับบาส (Faizal Abbas) มีความเห็นว่าผู้เจรจาของอิหร่านมักจะได้รับการอธิบายว่าฝ่ายอิหร่านนั้นมีความอดทนเหมือนช่างทอพรมเปอร์เซีย ไม่ว่าจะคุยกับซาอุดีอาระเบียหรือกับประเทศตะวันตก พวกเขามักมองเป็นเกมการแข่งขันตลอดเวลา

ข่าวดีก็คือไม่มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงที่จีนสนับสนุนและมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม จะมาเป็นอุปสรรคความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ข้อตกลงดังกล่าวในด้านหนึ่งได้ประโยชน์กับอิหร่านและซาอุดีอาระเบียในการอยู่ร่วมกันและกับจีนในอีกด้านหนึ่งในฐานะผู้นำเอาความสัมพันธ์มาให้แก่ทั้งสองประเทศ

MBS ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้มีพลวัตและมีอำนาจ เป็นผู้นำความมั่นคงภายในและความต่อเนื่องของนโยบายต่างประเทศมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถมุ่งความสนใจไปที่ทุกรายละเอียดของข้อตกลง

ในทางกลับกัน การที่ข้อตกลงดังกล่าวมีจีนแต่ไม่ใช่สหรัฐเป็นตัวกลางจึงมั่นใจได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะคงยืนระยะได้ยาวนาน

 

นี่เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของจีนในเวทีโลกในฐานะผู้สร้างสันติ และเป็นการทดสอบฐานะของมหาอำนาจระดับโลก โดยจีนให้คำมั่นว่าจะลงทุน 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอิหร่านตลอด 25 ปี และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนจะไม่แน่ใจว่าข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการปฏิบัติตาม

นี่หมายความว่าการตกลงกันระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียเป็นการรับประกันความสำเร็จหรือไม่? ในทางการเมืองมันไม่เคยเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม มีสถานการณ์ที่เป็นไปได้ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้งมีความยั่งยืน

สิ่งที่ทำให้ข้อตกลงนั้นแตกต่างออกไปก็คือ ข้อตกลงดังกล่าวได้ประโยชน์จากการมี “การพิสูจน์ตัวตนแบบสองปัจจัย” – ด้านหนึ่งเป็นมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน และอีกด้านเป็นจีน

ในแง่ร้ายที่สุดคือถ้าอิหร่านไม่ยึดติดกับข้อตกลง นั่นจะเป็นการเสียโอกาสครั้งใหญ่สำหรับสันติภาพในภูมิภาค อิหร่านคงไม่ทำให้ประเทศของตนไม่พอใจการตกลงครั้งนี้เพราะจีนเองในเวลานี้เป็นหนึ่งในสองมิตรที่อิหร่านมีในเวทีโลกขณะนี้ (อีกประเทศหนึ่งคือรัสเซีย)

สำหรับซาอุดีอาระเบีย การกลับไปสู่สภาพเดิมที่เป็นอยู่ก็หมายถึงการกลับคืนสู่สถานะเดิม และอิหร่านเองก็มีประสบการณ์กว่า 40 ปีในการต่อต้านกิจกรรมที่ทำให้ความมั่นคงของอิหร่านต้องสั่นคลอนลงไป

สถานการณ์ที่เป็นไปได้และเป็นไปได้มากที่สุดคือข้อตกลงที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่แน่นอน มันรวมถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะไม่รุกรานหรือสนับสนุนการรุกรานซึ่งกันและกัน และเวลานี้ทุกคนจะได้เห็นว่ากองทหารอาสาสมัคร Houthi ที่อิหร่านหนุนหลังในเยเมนได้เสนอที่จะขยายการพักรบที่นั่นเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวก

 

เมื่อภารกิจทางการทูตกลับคืนมา มหาอำนาจในภูมิภาคทั้งสองก็จะสามารถพูดคุยโดยตรงและใช้วิธีการทางการทูตเพื่อช่วยให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องบรรลุเสถียรภาพ และผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในอาณาบริเวณที่มีความเปราะบางทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเยเมน เลบานอน อิรัก และซีเรีย อันเป็นพื้นที่ที่อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเคยแข่งอำนาจเหนือประเทศเหล่านี้มาก่อนทั้งสิ้น

สถานการณ์ในแง่ดีที่สุดก็คือเมื่อทุกคนตื่นขึ้นมาในวันหนึ่งและพบว่าความขัดแย้งในทุกภูมิภาคที่มีร่องรอยของความขัดแย้งให้เห็นได้รับการแก้ไขแล้ว รวมถึงการที่อิหร่านถอนตัวออกจากอิรัก เลบานอน และซีเรีย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้หากพิจารณาจากความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่อิหร่านมีอยู่ในประเทศเหล่านี้

ในมุมมองของซาอุดีอาระเบีย ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดูเหมือนว่าจะเป็นชัยชนะที่ชัดเจนจนถึงตอนนี้ ไม่เพียงแต่สำหรับราชอาณาจักรเท่านั้น แต่สำหรับภูมิภาค ตลาดโลก และความมั่นคงด้านพลังงานด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า : อิหร่านและซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ทางศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และอารยธรรมมายาวนาน ข้อตกลงกับอิหร่านไม่ได้หมายถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทั้งหมดระหว่างสองประเทศ แต่เรากำลังพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้…!

อาจกล่าวได้เช่นกันว่าข้อตกลงระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างการทูตทางด้านการถือสำนักคิดที่ต่างกันในโลกอิสลามไปพร้อมๆ กันด้วย

ในเรื่องนี้ผู้ช่วยพิเศษของนายกรัฐมนตรีปากีสถานฝ่ายกิจการตะวันออกกลาง เมาลานา ตอฮีร มะห์มูด อัชรอฟี ได้ย้ำถึงความสำคัญในบทบาทของอิหร่านและซาอุดีอาระเบียในการปกป้องสิทธิของชาวมุสลิม โดยกล่าวว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมการทูตทางศาสนาในโลกอิสลามไปพร้อมๆ กัน