ผลลัพธ์ 5 ปีที่ผ่านมาของจีน-สหรัฐในอาเซียน

ในเว็บไซต์ของเคาน์ซิล ออน ฟอรีน รีเลชั่นส์ (Council on Foreign Relations) หรือซีเอฟอาร์ องค์กรวิชาการอิสระที่มีอายุกว่า 100 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 1921) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา มีบทความแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจของโจชัว เคอร์แลนต์ซิก หนึ่งในนักวิชาการที่ชำนิชำนาญในกิจการของเอเชีย โดยเฉพาะเรื่องจีนกับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เคอร์แลนต์ซิกอาศัยรายงานผลการศึกษาวิจัย 2 ชิ้นมาใช้เป็นเครื่องมือ “วัดผล” ของการแก่งแย่งช่วงชิงอิทธิพลกันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วฟันธงตรงไปตรงมาว่า อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ตกอยู่ในสภาพเหมือน “ร่วงหล่นจากปากเหว” ไปแล้ว

ทั้งๆ ที่ในช่วงระยะหลังมานี้ จีนแสดงออกในเชิงรุก แข็งกร้าว มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทางการทูตและทางด้านการทหาร เสริมอานุภาพทางทหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวอย่างทะเลจีนใต้ พร้อมกับแสดงท่าทีในทางปฏิบัติให้เห็นชัดว่า ไม่ต้องการให้ใครเข้ามา “ยุ่ง” ในพื้นที่ส่วนนี้

เช่นเดียวกัน ท่าทีและรูปแบบที่จีนแสดงออกมาให้เห็นในกรณีของไต้หวัน ก็ทำเอาประเทศเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงรู้สึก “หนาวๆ ร้อนๆ” ไปตามๆ กัน

แต่งานวิจัย 2 ชิ้นที่ว่ากลับแสดงให้เห็นว่า จีนใช้เวลาช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สร้างและสั่งสมอิทธิพลเหนือสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของสถาบันโลวี (Lowy Institute) องค์กรวิชาการอิสระที่ได้รับการยอมรับจากประเทศออสเตรเลีย ชี้ชัดว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนเหนือชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เบียดแทรกแล้วก้าวล้ำหน้าแทนที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้ร่วงลงวูบวาบและรวดเร็วยิ่ง

ทั้งๆ ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น “หนึ่งในเวทีการแข่งขัน” ที่สำคัญที่สุดระหว่างจีนกับสหรัฐ

สถาบันโลวีใช้ดัชนีชี้วัดหลายตัวมาเป็นมาตรหาผลลัพธ์ดังกล่าว แบ่งออกได้เป็น 4 หมวด คือ หมวดว่าด้วยความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ, หมวดเครือข่ายกลาโหม, หมวดอิทธิพลทางการทูต และสุดท้ายคือ อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม

ข้อสรุปของทีมวิจัยของสถาบันโลวีก็คือ สหรัฐอเมริกา “สูญเสียอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับจีน ในทั้ง 4 หมวดหมู่”

 

ผลการศึกษาวิจัยชิ้นที่ 2 เป็นของสถาบันไอเซียส ยูโซฟ-อิสฮัก (ISEAS Yusof-Ishak Institute) ในสิงคโปร์ ที่ใช้วิธีออกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างตอบ

ผลก็คือ เสียงส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามมา ระบุว่า “จีนคือมหาอำนาจที่มีอิทธิพลครอบงำสูงสุดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การเมือง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ในมาตรวัดของสถาบันโลวีพบว่าในบรรดา 10 ชาติอาเซียน สหรัฐอเมริกาถูกมองว่ามีอิทธิพลสูงสุดในเพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้น คือ ฟิลิปปินส์ กับสิงคโปร์

แถมยังเอาชนะจีนได้แบบ “ฉิวเฉียด” ด้วยอีกต่างหาก

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสนธิสัญญาพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา

อีกชาติหนึ่งในภูมิภาคที่เป็น “พันธมิตรนอกนาโต” นี้เช่นเดียวกันคือไทย แต่โลวีพบว่า ไทยกลับมองว่าจีนมีอิทธิพลสูงสุด สูงกว่าสหรัฐอเมริกา

ในกรณีของสถาบันไอเซียส ชาติอาเซียนทุกชาติมองว่า จีนมีอิทธิพล “ทางเศรษฐกิจ” สูงสุดในภูมิภาค ส่วนในแง่ของอิทธิพลทางการเมืองและเชิงยุทธศาสตร์นั้น ชาติ “ส่วนใหญ่” ในอาเซียนก็ระบุว่า จีนมีอิทธิพลสูงที่สุด

เมื่อนำกลับไปเทียบกับผลสำรวจครั้งที่แล้วซึ่งจัดทำเมื่อปี 2018 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน เราจะเห็นความต่างได้อย่างชัดเจน ในเวลานั้น 3 ชาติสำคัญในอาเซียนถือว่าสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลสูงสุด ส่วนไทยระบุว่าอิทธิพลของสหรัฐกับจีนมีทัดเทียมกัน

เคอร์แลนต์ซิกตั้งข้อสังเกตชวนคิดเอาไว้ว่า การเสื่อมอิทธิพลของสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นทั้งๆ ที่หลายชาติในภูมิภาคนี้ อาทิ เวียดนาม, มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นกังวลอย่างชัดเจนหรืออาจถึงขั้นผวาต่อการเสริมพลานุภาพและการแสดงออกทางทหารของจีน

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ถึงแม้จะกลัวและกังวล แต่ยิ่งนับวันชาติในอาเซียนยิ่ง “ยอมรับ” อิทธิพลครอบงำจากจีนมากขึ้น

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ เพราะจีนประสบความสำเร็จในการครอบงำภูมิภาคนี้ในทางเศรษฐกิจอย่างสูง จนแต่ละชาติรู้สึกว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะเอนเอียงไปเข้าข้างทางการจีน

รายงานของสถาบันโลวีตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ในปี 2022 “ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับจีนในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่ยังนับรวมถึงการเป็น “มิตรในยามยาก” ช่วยแก้ปัญหาหนี้และวิกฤตทางเศรษฐกิจอีกด้วย

 

ประเทศในอาเซียนที่สหรัฐสูญเสียอิทธิพลไปมากที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็คือมาเลเซีย แม้อันวาร์ อิบราฮิม ที่มีสายสัมพันธ์กับสหรัฐยาวนาน เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังหันกลับไปหาจีน เพราะขนาดของความช่วยเหลือและการลงทุนที่จีนมีในมาเลเซีย

เมื่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจมีสูง อย่างอื่นก็ตามมา กรณีของไทยและมาเลเซียที่หันไปจัดซื้ออาวุธจากจีนเพิ่มขึ้น เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกากลับ “ทำร้ายตัวเอง” ด้วยการถอนตัวจากความตกลงทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญอย่าง “ทีพีพี” แม้จะพยายามแก้ตัวใหม่ด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก แต่ก็ไม่มีน้ำหนักพอ แถมยัง “ไม่ตรง” กับความต้องการของชาติอาเซียน

จนถูกมองว่าเป็นการ “ตระหนี่” และ “ไม่จริงจัง” ของสหรัฐอเมริกา

เคอร์แลนต์ซิกสรุปว่า สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้อง “คิดใหม่” ในแง่ของความสัมพันธ์กับชาติในอาเซียน ว่าทำอย่างไรถึงจะฟื้นฟูขึ้นมาได้ ไม่เพียงแค่เท่าเดิม แต่ต้องดีกว่าเดิม

ก่อนที่แนวโน้มนี้จะเป็นแนวโน้มอันตรายสำหรับสหรัฐอเมริกา