เกมสอย ‘ก้าวไกล’ รหัสลับก่อนเลือกตั้ง

ตั้งแต่โพล “มติชน-เดลินิวส์” ออกมารอบแรกก็ไม่มีใครเชื่อว่า “ก้าวไกล” จะปาดหน้าขึ้นนำ “เพื่อไทย”

แม้โพลมติชน-เดลินิวส์รอบ 2 ช่วงปลายเดือนเมษายนจะตอกย้ำอีกครั้ง ทุกฝ่ายก็ “ยังไม่เชื่อ” ว่า “ก้าวไกล” จะเข้าป้ายมาเป็นที่ 1

ถึงขนาด “ก้าวไกล” ก็ยังต้องตกใจ

การเมืองไทยยังมีเรื่องที่ชวนให้ “ตกใจ” ว่าห้ำหั่นปู้ยี่ปู้ยำกันขนาดนั้นหรือ

ครั้งก่อนโน้นเมื่อ “ไทยรักไทย” เป็นเป้ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็นำไปสู่แผนปิดบัญชี “ไทยรักไทย”

พอแปลงโฉมเป็น “พลังประชาชน” ที่เกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกับพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย ปลายปี 2551 ทั้ง 3 พรรคถูกยุบ

กลายมาเป็น “เพื่อไทย” ฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ตาย ในที่สุดก็รัฐประหาร ” 22 พฤษภาคม 2557″

ล้างไพ่ เขียนกติกาใหม่ ใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เลือกตั้งในปี 2562

“เพื่อไทย” กลายเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มี “ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ” แม้แต่คนเดียว!

แต่ “อนาคตใหม่” พรรคการเมืองใหม่แจ้งเกิด ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุดถึง 50 คน 1 ในนั้นคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค “ขุมอำนาจเก่า” ตื่นตระหนกจนต้องรีบ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

ในบัดดล การเมืองไทยก็ได้สร้างความทึ่งและอึ้งกันไปทั่วโลก

“อนาคตใหม่”ถูกยุบพรรค

“ธนาธร” พร้อมกรรมการบริหารพรรค 16 คนถูกตัดสิทธิปิดฉากชีวิต “การเมืองแห่งความหวัง”!

แต่อนาคตใหม่ก็ฆ่าไม่ตายเช่นเดียวกับเพื่อไทย

“ก้าวไกล” ทำหน้าที่ฝ่ายค้านมา 4 ปีคือการวิวัฒน์ “ผลเลือกตั้งปี 2566” พลิกทุกคำทำนาย

“เจ้าบุญทุ่ม” และนายทุนหลายพรรคกระอักเลือด

“ก้าวไกล+เพื่อไทย” ได้คะแนนมากถึง 25.3 ล้านเสียง

ขณะที่ “รวมไทยสร้างชาติ+พลังประชารัฐ” ได้มาเพียงแค่ 5.3 ล้านเสียงเท่านั้น

ทิ้งห่างกันถึง 25 ต่อ 5 จนไม่ได้ยินแม้แต่คำ “แสดงความยินดี” จากผู้แพ้เลือกตั้ง

 

ผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พลิกความคาดหมายมากเกินไป

แต่ก็ดูเหมือน “ก้าวไกล” กับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะมีสภาพคล้าย “เหยื่อ”

ทั้งที่หลักฐานทุกเรื่องทุกด้าน “บางเฉียบ” กูรูและผู้อวดภูมิรู้จำนวนหนึ่งต่างพากันออกว่าวินิจฉัยฟันธงว่า “ไม่รอด”

จะว่าไปแล้ว แผนสกัดกั้นไม่ให้ “ก้าวไกล” ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง!

เริ่มจากสมมุติฐานเลวร้ายที่สุดคือ ถ้าฝ่ายอนุรักษ์แพ้เลือกตั้งจนรวมเสียงกันได้ไม่เพียงพอ ก็จะต้องสร้างเงื่อนไขให้เกิด “การผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” แล้ว ส.ว.จะยกมือให้

โดดเดี่ยวก้าวไกลด้วยการผลักให้ไปเป็น “ฝ่ายค้าน”!

จากนั้นให้ “นักร้อง” ออกโรง ปั้นเรื่องให้เข้มข้นแล้วค่อยหาทาง “สอย” พ้นจาก “ส.ส.”

ฉากถัดไป “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิ”

มุขเก่า-แต่เคยใช้เด็ดหัวสำเร็จกันมาแล้ว!

ดังจะเห็นในทันทีที่ “ก้าวไกล” กลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ “พิธา” เป็นแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” เครือข่ายอนุรักษนิยมเคลื่อนทัพเข้าสกัดกั้นโดยพลัน

 

เริ่มจาก “ส.ว.สายแข็ง” ออกสื่อโจมตีการแก้ไข ม.112 ทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเป็นเรื่องปกติของฝ่ายนิติบัญญัติ

“สายนักร้อง” ออกเดินสาย “ร้อง” ให้สอย “พิธา” ออกจาก ส.ส.เพราะถือหุ้น “ไอทีวี” อ้างว่าขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ขณะที่ “กกต.” ก็ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ในความผิดฐาน รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิลงสมัคร แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีโทษทางอาญาหนักถึงขั้นจำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท และตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

แต่มุขทั้งหลายทำท่าจะแป้ก!

เรื่องหุ้นไอทีวี “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ในฐานะที่เคยเป็นผู้สื่อข่าวไอทีวีเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนไปขุดจนได้ความว่า “บันทึกการประชุม” ผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งอ้างว่า นายภานุวัตน์สอบถามในที่ประชุมว่า “บริษัทไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” และประธานที่ประชุมตอบว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์”

นั่นไม่ใช่ความจริง!

ทั้ง “ภาพ” และ “เสียง” จากการประชุมวันนั้น “ตรงกันข้าม” กับที่ “นักร้อง” นำเสนอ

จากเทปบันทึกภาพและเสียงที่ “ฐปณีย์” ได้มา

นายภานุวัตน์ถามว่า “บริษัทไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่”

ประธานที่ประชุมตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินงานใดๆ ครับ รอผลให้คดีความสิ้นสุดก่อนนะครับ”

“หุ้นไอทีวี” นับเป็นเรื่องไร้สาระในทางกฎหมาย “โทรทัศน์ช่องไอทีวี” ล่มสลายไปตั้งแต่ 16 ปีก่อน เพราะรัฐยึด “คลื่นความถี่” คืน

“ไอทีวี” ไม่มีช่องออกอากาศ ไม่มีอยู่จริง เป็นแต่เพียงมีคดีคาราคาซังกับรัฐ

 

ส่วนการถือหุ้นไอทีวีของ “พิธา” นั้น คนที่เรียนกฎหมายพื้นฐานเล่มแรกก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่า “พิธา” ถือหุ้นไอทีวีในฐานะ “ผู้จัดการมรดก” ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้น

สาระที่สำคัญไปกว่านั้นคือ “หุ้นไอทีวี” ที่มีอยู่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.0035% ไม่สามารถที่จะครอบงำกิจการ “บงการ” ให้สร้างความได้เปรียบในการสื่อสารทางการเมืองแก่ผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด

จะว่าไปก็คล้ายกับคดีอุดรธานี “ศาลฎีกา แผนกเลือกตั้ง” วินิจฉัยผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้น หจก.ที่เคย (ย้ำว่า-ที่เคย) ทำวิทยุกระจายเสียง แต่ กสทช.ไม่ต่อใบอนุญาตให้ และมีรายได้จากการกู้ยืมเท่านั้น ศาลฎีกาชี้ว่า “มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะไม่ใช่หุ้นสื่อแล้ว”

ไม่ต่างอะไรกับ “ไอทีวี” -ที่เคยทำ-แต่รัฐไม่อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้ว-ไม่มีช่องให้ออกอากาศ-ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน

แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ผิดคาดเกินไป ทำให้ “เกมสกัด” ก้าวไกลต้องโหมแรง

ถึงแม้ปุถุชนหรืออารยประเทศที่จับจ้องมองอยู่จะเห็นว่าเกมตุกติกไร้สาระ ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ฉ้อฉล และทำท่าจะป่าเถื่อน แต่เครื่องจักรอนุรักษนิยมก็เร่งเครื่องเดินหน้าระดมหอกดาบกระบอกปืน

ล้ม “พิธา” สกัด “ก้าวไกล” ไม่ให้เป็นรัฐบาลคือเป้าหมาย!?!!!