ทำหมันแมว จิ้มเดียวจบ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

ทำหมันแมว จิ้มเดียวจบ

 

ในงานประชุมวิชาการขนาดใหญ่สำหรับนักเรียนทุนงานหนึ่ง หญิงสาวท่าทางสดใสยืนอยู่แค่เพียงลำพังหน้าโปสเตอร์ขนาดใหญ่สีสันฟรุ้งฟริ้ง ท่าทางของเธอดูกระสับกระส่ายเล็กน้อย ด้วยไม่มีใครเข้าไปคุยอะไรกับเธอเลย

ในตอนที่ผมกำลังเดินผ่านโปสเตอร์ของเธอ สายตาของผมก็กวัดแกว่งผ่านโปสเตอร์งานของเธออย่างช้าๆ แต่แล้วก็ไปสะดุดกับรูปลิงตัวน้อย และเข็มฉีดยาหน้าตาคล้ายลูกดอก

งานวิจัยของเธอมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนายุทธวิธีในการทำหมันลิง เธอได้ออกแบบลูกดอกเข็มฉีดยาที่พอจิ้มเข้าไปในร่างกายของลิงตัวผู้ จะทำให้ลิงที่ถูกจิ้มกลายเป็นหมัน เซย์กู๊ดบายกับทายาทพงศ์พันธุ์ที่จะมาเพิ่มจำนวนไพร่พลวานรของพวกมันไปเลย

เธอกล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแต่มาดมั่น “นี่เป็นเฟสแรกค่ะ แต่ในเฟสถัดไป เราวางแผนว่าเราอยากออกแบบปืนยิงลิง แนวๆ ปืนยิงยาสลบ แต่อันนี้เป็นปืนยิงเพื่อคุมกำเนิดเผ่าพันธุ์วานรที่ตอนนี้กระจายกันอยู่ในหลายเมือง”

ใบหน้าของเธอยังคงเปรอะเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นมิตร แต่งานวิจัยยิงลิงของเธอนั้นแอบโหดร้ายจนทำให้ผมขนลุก

 

ผ่านไปหลายปี โปรเจ็กต์สุดประหลาดนี้เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำ ภายหลังผมก็ได้รู้ว่าน้องคนนี้เปลี่ยนแนวงานไปทำงานวิจัยการแพทย์และมีโอกาสได้ไปเรียนต่อยังต่างประเทศแล้ว และนั่นคงจะเป็นอวสานของงานวิจัยยิงลิง

แต่แล้วในขณะที่ผมกำลังปาดนิ้วผ่านทวิตเตอร์ งานวิจัยหนึ่งก็เลื่อนผ่านตาไปแบบแว้บๆ หัวข้อเป็นภาษาอังกฤษ แต่แปลไทยได้ประมาณว่า “การคุมกำเนิดแมวบ้านตัวเมียโดยการนำส่งยีนฮอร์โมนแอนตี้มูลเลเรียน (anti-M?llerian hormone หรือ AMH) ผ่านทางไวรัสเว็กเตอร์” ซึ่งน่าสนใจ แม้จะยาวจนอ่านแล้วอาจจะฟังดูงงๆ

ถ้าให้ขยายความ ก็คืองานนี้เน้นทำหมันแมวบ้านตัวเมีย โดยการใส่ยีนที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมน AMH เข้าไปในแมว…นี่คือการทำยีนบำบัด (gene therapy)

และวิธีนำส่งยีนเข้าแมวก็คือโดยใช้ไวรัสเป็นตัวพาเข้าไป ไอเดียเดียวกันกับการใช้วัคซีนไวรัสเว็กเตอร์ แต่ใช้ไวรัสคนละตัว

วัคซีนไวรัสเว็กเตอร์ต้านโควิด-19 อย่างของแอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) จะใช้ไวรัสอะดิโน (Adenovirus) ที่ติดลิงชิมแปนซีที่ชื่อว่า ChAdOx-1 เป็นตัวนำส่งยีนสร้างโปรตีนหนามเข้าไปในเซลล์มนุษย์ (ChAdOx-1 มาจาก Chimpanzee Adenovirus Oxford-1) และพอได้รับยีน เซลล์ก็จะเริ่มสร้างโปรตีนหนามขึ้นมาในร่างกายเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้

ในงานนี้ เดวิด เปปิ้น (David P?pin) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และโรงพยาบาลแมสซาซูเซตส์เจเนอรัล (Massachusetts General Hospital) เลือกใช้ไวรัสอีกชนิดที่ชื่อว่า Adeno-associated virus หรือ AAV ซึ่งถ้าแปลไทยก็คือ ไวรัสที่สัมพันธ์กับไวรัสอะดิโนที่ชื่อ AAV9 เพื่อนำยีนเข้าไปฝากไว้ในเซลล์ของแมว

ไวรัสในตระกูล AAV หรือไวรัสที่สัมพันธ์กับอะดิโนนี้ เป็นไวรัสขนาดเล็กที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1965 โดยปนเปื้อนมากับไวรัสอะดิโนที่ทีมวิจัย โดยโรเบิร์ต แอตชิสัน (Robert Atchison) และทีมจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) และเดวิด ฮอกแกน (M. David Hoggan) และวอลเลซ รอว์ (Wallace Rowe) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Heath) สหรัฐอเมริกาพยายามที่จะเตรียมเอามาใช้งานในตอนนั้น ไวรัส AAV จึงถูกเรียกว่าเป็นไวรัสที่สัมพันธ์กับอะดิโน (Adeno Associated virus) มาตั้งแต่ตอนนั้น

ปรากฏว่าไวรัสชนิดนี้สามารถนำส่งยีนได้ไม่ด้อยไปกว่าไวรัสในตระกูลอะดิโน ในเวลาต่อมา ไวรัสในตระกูล AAV จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในการนำส่งยีน ทั้งในงานวิจัยทางชีววิทยาและเพื่อการบำบัดรักษาทางการแพทย์ รวมถึงการทำยีนบำบัดด้วย

และยีนที่ทีมวิจัยของเดวิดให้ไวรัส AAV9 นำส่งเข้าไปในแมว ก็คือยีน fcMISv2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างสารยับยั้งมูลเลอเรียน (M?llerian inhibiting substance, MIS) หรือที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อฮอร์โมน AMH

 

กลุ่มวิจัยของเดวิดสนใจฮอร์โมน AMH หรือ MIS มาเนิ่นนาน ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการพัฒนาของไข่ในผู้หญิง

ตั้งแต่เกิดในร่างกายของหญิงสาว จะมีสต๊อกของกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่าฟอลลิเคิลในรังไข่ (ovarian follicle) อยู่ราวๆ ล้านถึงสองล้านเซลล์ ฟอลลิเคิลนอกจากจะทำหน้าที่เป็นที่อยู่ของไข่แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการของไข่ รวมไปถึงการตกไข่ (ovulation) อีกด้วย

แต่ไม่ใช่ทุกฟอลลิเคิลจะมีโอกาสได้พัฒนาและปล่อยไข่ให้ตกออกมาใช้ช่วงประจำเดือน ในความเป็นจริง ฟอลลิเคิลนับล้านนี้ส่วนใหญ่จะฝ่อไปเสียก่อนที่หญิงสาวจะพัฒนาไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์เสียด้วยซ้ำ และจะมีเพียงไม่กี่ร้อยฟอลลิเคิลเท่านั้นที่จะมีโอกาสเจริญไปจนถึงระยะตกไข่

“ในรังไข่ ไพรมอเดียลฟอลลิเคิล (primordial follicle) หรือฟอลลิเคิลระยะต้นนั้นอาจจะถูกกระตุ้น และฝ่อไปตั้งแต่ก่อนจะถึงวัยเจริญพันธุ์” เดวิดกล่าว

เมื่อถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศในช่วงนั้นของเดือน ไพรมอเดียลฟอลลิเคิลบางกลุ่มจะเริ่มเติบโตและพัฒนาไปเป็นฟอลลิเคิลที่สุกสะพรั่ง และจะปล่อยไข่ให้ตกลงมาในแต่ละรอบเดือนในท้ายที่สุด

แต่ไพรมอเดียลฟอลลิเคิลส่วนใหญ่นั้นจะยังคงพักตัวอยู่ ไม่ทำอะไร เพราะถ้าฟอลลิเคิลทั้งหมดที่มี ตกไข่หลุดออกไปเป็นระดูในคราวเดียวจนหมดสต๊อก สาวคนนั้นก็จะไม่มีไข่เหลือสำหรับประจำเดือนในรอบต่อไป…

“ไพรมิเดียลฟอลลิเคิลบางกลุ่มจะพักตัวอยู่ได้ยาวนานนับทศวรรษ กว่าที่จะถูกปลุกให้ตื่นและปล่อยไข่ออกมา” เดวิดกล่าว

“และบทบาทของ MIS (หรือฮอร์โมน AMH) ก็คือชะลอการพัฒนาของไพรมอเดียลฟอลลิเคิล ให้พวกมันส่วนใหญ่สามารถพักตัวอยู่ได้ จนถึงระยะ (ที่คน) หมดวัยเจริญพันธุ์”

ซึ่งหมายความว่าสาวเจ้าจะมีไข่เหลืออยู่มากแค่ไหนในสต๊อกของรังไข่ จะขึ้นกับฮอร์โมนชนิดนี้ ฮอร์โมน AMH จึงกลายเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพรังไข่ในทางการแพทย์ และใช้ทำนายจำนวนไข่ที่เหลืออยู่ในอิสตรี เพื่อประเมินศักยภาพในการตั้งครรภ์

สาวใดถ้าตรวจแล้วพบว่าระดับฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากๆ ก็แสดงว่าสาวนั้นมีไข่เหลืออยู่น้อย โอกาสที่จะตกไข่ที่สมบูรณ์ก็ต่ำ สาวนั้นจะมีแนวโน้มประสบปัญหา “ภาวะมีบุตรยาก”

แต่มีเยอะก็ใช่จะดี เพราะถ้าในร่างกายตรวจพบฮอร์โมนชนิดนี้มากจนเกินพอดี ก็อาจจะมีประเด็นโรคที่เกี่ยวกับรังไข่ที่อาจส่งผลกระทบมากต่อสุขภาพสตรีที่ควรคำนึงถึง เช่น อาจจะมีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome หรือ PCOS) ก็ได้อีกเช่นกัน

 

ความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าฮอร์โมน AMH หรือ MIS นี้ทำงานอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในทางการแพทย์

“แต่จนถึงปัจจุบัน เราก็ยังไม่รู้ว่าไพรมอเดียลฟอลลิเคิลนั้นตอบสนองต่อฮอร์โมน MIS อย่างไร และทำไมพวกมันจึงพักตัว (เมื่อได้รับฮอร์โมนนี้)” เดวิดกล่าว และนั่นทำให้เขาสนใจการทำงานของฮอร์โมนนี้เป็นพิเศษ จนเอามาเป็นโฟกัสหลักของทีมวิจัยของเขา

ในปี 2021 ทีมของเดวิดได้ศึกษากลไกของฮอร์โมน AMH โดยเทคนิค Single cell RNAseq เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนในฟอลลิเคิลที่ตอบสนองต่อการได้รับฮอร์โมน AMH ในงานนี้ พวกเขาได้ค้นพบวิถีทางชีวเคมี (biochemical pathway) ใหม่ๆ ที่น่าสนใจหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการกดการพัฒนาของเซลล์ในฟอลลิเคิล

“บางวิถีที่ค้นพบในการศึกษานี้ อาจจะนำมาใช้ในการระบุเป้าหมายยาตัวใหม่ๆ ที่จะทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้ MIS ให้เป็นประโยชน์กับสุขภาพของคุณผู้หญิง” แพทริเซีย โดนาโฮ (Patricia K. Donahoe) หนึ่งในทีมวิจัยจากสถาบันสเต็มเซลล์ฮาร์วาร์ด (Harvard Stem Cell Institute) กล่าว อาจจะเอามาใช้เพื่อดีเลย์ให้ระยะวัยทองมาช้าลงก็เป็นได้

นอกจากนี้ การบำบัดรักษาด้วยฮอร์โมน AMH นี้จึงอาจจะมีประโยชน์กับการปฏิสนธินอกร่างกาย (in vitro fertilization) หรือการทำเด็กหลอดแก้วอีกด้วย ในมุมของเดวิด “หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของการทำเด็กหลอดแก้วนั้น คือการปรับจูนการพัฒนาของฟอลลิเคิลหลายๆ กลุ่มให้ตรงกัน เพราะถ้าทำได้ เราก็จะได้ไข่มากยิ่งขึ้น” และถ้ามีไข่ในระยะเดียวกันมากยิ่งขึ้น โอกาสในการที่จะผสมติด ได้เด็กออกมาตามที่หวังก็จะมากขึ้นไปด้วย

แต่สิ่งที่ทำให้ตัวนักวิจัยหลักที่ทำงาน RNAseq ของรังไข่ อย่าง มารี-ชาร์ลอตต์ มายน์ซอห์น (Marie-Charlotte Meinsohn) ตื่นเต้นมากที่สุด กลับเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่มารี-ชาร์ลอตต์ สนใจที่สุด คือ การคุมกำเนิด เธอพบว่าถ้ามีการโอเวอร์โดสฮอร์โมน AMH ลงไปในรังไข่ เซลล์ในรังไข่จะช็อก และบางทีก็จะเลิกทำงานไปเลย ดูเหมือนทุกอย่างจะย้อนกลับไปสู่ระยะพักตัวกันหมด และจะส่งผลกระทบทำให้ฟอลลิเคิลไม่สามารถเจริญเติบโตขึ้นมาปกติได้

และถ้ามองในมุมนี้ เดวิดก็สนใจ “ฮอร์โมนอื่นๆ ที่เอามาใช้ในการคุมกำเนิดมักจะเน้นขัดขวางกระบวนการตกไข่ ซึ่งเกิดขึ้นในระยะท้ายๆ ของการพัฒนาของฟอลลิเคิล” ซึ่งถ้ามีความผิดพลาด ไข่ก็จะยังตกได้อยู่ดี และถ้ามีการตกไข่โอกาสที่จะผสมติดและเกิดการตั้งครรภ์ได้ก็ยังมี

“เราสนใจที่จะพัฒนายาคุมกำเนิดที่ยับยั้งไม่ให้ไพรมอเดียลฟอลลิเคิลเจริญและพัฒนาขึ้นมาได้เลยตั้งแต่ระยะต้น ซึ่งหมายความว่ายังไงก็จะไม่มีการตกไข่” เดวิดย้ำ นี่คือการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะตราบใดที่ไม่มีไข่ที่สุกพร้อมผสม ผสมยังไงก็ไม่มีวันติด

และนั่นเอง คือจุดเริ่มงานวิจัย “การคุมกำเนิดแมวบ้านตัวเมีย” สุดพิสดารของทีมเดวิด ชัดเจนว่าทีมนี้น่าจะไม่ใช่ทาสแมว

 

“ในโลกนี้ มีแมวบ้านอยู่ราวๆ หกร้อยล้านตัว และราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์นั้นถูกปล่อยให้ไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ พวกมันมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และยังเป็นนักล่าที่พร่าผลาญชีวิตสัตว์ป่าพื้นถิ่นไปอย่างฉกาจฉกรรจ์” เดวิดเขียนในเปเปอร์ของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Nature Communications เมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมา “การทำการุณยฆาตสัตว์ที่สุขภาพดี แม้ในที่ที่มีประชากรพวกมันแออัด ก็ยังถือเป็นประเด็นทางจริยธรรม”

และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เดวิดหันมาสนใจในการคุมกำเนิดแมวโดยใช้เทคโนโลยียีนบำบัดของเขา โดยใช้ไวรัส AAV9 ที่นำส่งยีน AMH เข้าไปในแมว

 

ซึ่งจิ้มเข้าไปเข็มเดียวเข้าไปในกล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อแมวก็จะผลิตฮอร์โมน AMH ในร่างกายแบบโอเวอร์โดสราวๆ 100 ถึง 1,000 เท่าของระดับฮอร์โมนปกติ และจะทำให้แมวสาวที่โดนจิ้ม บอกลาประจำเดือนและโอกาสในการมีลูกไปเลย

และเพื่อทดสอบพวกเขาทดลองทั้งหมด 2 รอบกับแมวตัวเมีย 9 ตัว ซึ่ง 6 ตัวแรกโดนจับไปทำยีนบำบัดด้วยไวรัส AAV9 และที่เหลือ 3 ตัวไม่โดนอะไร ถือเป็นกลุ่มควบคุม หลังจากเวลาผ่านไป 8 ถึง 20 เดือน แมวตัวเมียทั้ง 9 จะถูกจัดให้มาอยู่ร่วมกับแมวหนุ่มเป็นเวลา 4 เดือนเพื่อให้พวกมันได้มีโอกาสผสมพันธุ์กัน

เมื่อเวลาผ่านไป แมวสาวในกลุ่มควบคุมทั้งสามตัวให้กำเนิดลูกแมวออกมาฝูงใหญ่ หน้าตาน่ารักน่าชัง ในขณะที่แมวสาวที่โดนจิ้มด้วย AAV9 ไปนั้น ไม่มีตัวไหนเลยที่ตั้งท้องลูกแมว

เดวิดแทบกรีดร้อง นี่คือนวัตกรรมใหม่แห่งการคุมกำเนิด!

 

แม้ว่างานนี้จะเป็นงานที่เพิ่งเริ่ม ยังไม่สามารถบอกได้เลยว่า ผลของการคุมกำเนิดจะอยู่ได้นานแค่ไหน และจะมีผลกระทบอะไรกับร่างกายของแมวในระยะยาวหรือเปล่า และในความเป็นจริง เพิ่งได้ทดลอง กับแมวแค่ 9 ตัว การตีความมากจนเกินเลย อาจจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง

แต่สำหรับจูลี เลวี (Julie Levy) สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) “แค่นี้ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากแล้ว และฉันหวังมากเลยว่าจะมีการนำไปใช้ต่อ”

ปกติแล้ว การทำหมันแมวปกติต้องมีการผ่าตัดซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณค่อนข้างมาก คือนอกจากจะต้องหาทางดักแมว ย้ายพวกมันไปที่ห้องผ่าตัด ผ่าเสร็จแล้ว ยังต้องกักตัวพวกมันเพื่อพักฟื้นอีกอย่างน้อยหนึ่งคืน ก่อนที่จะปล่อยพวกมันกลับไป

แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่จากแล็บของเดวิด สิ่งที่เราต้องทำก็คือแค่ส่งทีมเทคนิเชียนเข้าไปในพื้นที่ จับแมวมาจิ้ม แล้วก็ปล่อยกลับได้เลย ทั้งง่าย ทั้งประหยัด

แต่อีกหนึ่งอย่างที่ทีมเดวิดควรต้องทำอย่างไว ก็คือพิสูจน์ว่าฮอร์โมน AMH ของแมวนั้น ไม่มีผลกับคน เพราะถ้ามี โดนจิ้มหนึ่งที แม้จะเป็นคนก็อาจจะเป็นหมันไปเลยได้เหมือนกัน…

ในมโนคติ ภาพปืนยิงลิง ไอเดียสุดเพี้ยนของน้องคนนั้น ค่อยๆ ย้อนกลับมา…ผมดีใจนะ ที่น้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น และเลิกคิดทำปืนยิงลิง

ถึงตอนนี้ ปืนยิงลิงยังไม่มี แต่อีกไม่นาน ไม่แน่อาจจะมีปืนยิงแมวโผล่มาแทน…ควรดีใจใช่มั้ย?