อย่างไรคือนโยบายต่างประเทศ ‘ที่มีกระดูกสันหลัง’? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

หากเรามองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการ “เขย่า” ระบบเก่าอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่า disrupt สิ่งที่เคยเป็นอย่างชนิดที่คาดไม่ถึงในหลายเรื่อง

หนึ่งในเรื่องที่ถูก “กระชาก” ออกจากหลักปฏิบัติเดิมคือนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจน

เพราะแนวทางเดิมนั้นไทยถูกมองว่ายังใช้วิธีคิดแบบเดิม คือไม่แสดงตนให้โดดเด่น ทำการทูตแบบหลังบ้าน และยังยึดเอาหลักของการ “ลู่ตามลม” คือโอนเอียงไปตามทิศทางของโลก

แต่เพราะการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่หนักหน่วงรุนแรงขึ้นอย่างมาก การคอยมองดูทิศทางลมแล้วค่อยตัดสินนโยบายนั้นย่อมเสี่ยงกับการที่จะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

และกลายเป็นประเทศที่คนอื่นไม่ให้ความสำคัญ

จึงถูกมองว่าเราได้ทิ้งบทบาทของความเป็นผู้นำของอาเซียนไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

ฟูอาดี้กับคุณพ่อ…ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

หนึ่งในแนวทางที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำเสนอระหว่างหาเสียงและหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งแล้วก็คือไทยจะต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะเรื่องให้ได้

ไม่ใช้วิธีการเหมารวมหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ตัดเสื้อโหล”

พิธาใช้คำว่า a la carte ไม่ใช่ buffet

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ในฐานะเป็นหนึ่งในทีมงานที่ปรึกษาด้านนี้บอกว่า

“ใช่ พี่ทิมพูดถึงคำนี้บ่อย นั่นแปลว่าเราจะต้องออกแบบนโยบายการเมืองที่สอดคล้องกับประเด็นนั้นๆ เป็นการเฉพาะ ที่ฝรั่งเรียกว่า tailor-made.”

เมื่อไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่งเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว “สิ่งที่เราสามารถพูดกับนานาชาติได้ก็จะทำให้ เมนู a la carte นั้นใหญ่ขึ้นเยอะเลย”

ในยุคสมัยที่ไทยมีจุดอ่อนหรือข้อด้อยเรื่องจุดยืนทางการเมือง “เมนูอาหาร” ที่เราจะสั่งในเวทีระหว่างประเทศนั้นมีจำกัด

เพราะหลายประเด็นนั้นไทยถูกจำกัดบทบาท หรือเราขาดความชอบธรรมที่จะแสดงจุดยืนในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของเรา

“เช่นที่ผ่านมา เราตำหนิรัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ได้เพราะเรามีประวัติทางการเมืองคล้ายๆ กับเขา เรามีชนักปักหลังอยู่ แต่ตอนนี้ชนักนั้นถูกดึงออกไปแล้ว…ถ้าสามารถฟอร์มรัฐบาลนี้สำเร็จ”

ฟูอาดี้เห็นว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นประเทศไทยก็จะมีความ “เซ็กซี่” ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น

และพลังแห่ง soft power ก็จะได้รับการเสริมให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นทันทีโดยปริยาย

เขาจึงเน้นคำว่า “นโยบายต่างประเทศเริ่มในบ้าน” (Foreign policy starts at home)

 

แต่พิธาจะเลิกแนวทาง “ลู่ตามลม” ไปเลยหรือในเมื่อในอดีตนั้นมีนักวิเคราะห์บางสำนักเชื่อว่า Bamboo diplomacy เคยเป็นสูตรแห่งความสำเร็จของไทยที่เอาตัวรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

ฟูอาดี้บอกว่า “คุณพิธาเคยใช้อีกคำหนึ่งคือการทูตที่มีกระดูกสันหลัง”

นั่นแปลว่านโยบายของไทยต้องมีหลักการ ต้องมีความชัดเจนในวิธีคิด แม้บางครั้งอาจจะ “เลี้ยวออก” ไปได้บ้าง

ฟูอาดี้เชื่อว่านโยบายต่างประเทศมี 2 ขา

ขาข้างหนึ่งคืออุดมการณ์ หรือ idealism

อีกขาหนึ่งคือผลประโยชน์ของชาติ หรือ national interest

“เราต้องทำให้ทั้งสองอย่างนี้มารวมกัน คือ value หรือค่านิยมบวกกับ interest คือผลประโยชน์…”

และในทางปฏิบัตินั้นก็ต้องให้อุดมการณ์หรือ idealism ถูกควบรวมและถ่วงดุลโดยความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือ pragmatism

ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ง่ายเพราะบางเรื่องต้องตอบโจทย์ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” มากกว่า “อุดมการณ์”

และอีกบางเรื่อง “อุดมการณ์” ก็ต้องมีคะแนนไม่น้อยไปกว่า “ผลประโยชน์”

ในแง่ของความเป็นจริง การจะแปรนโยบายใหม่ที่ว่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมย่อมมีความท้าทายไม่น้อย

โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างการบริหารกระทรวงทบวงกรมยังเหมือนเดิม

แต่ละกระทรวงก็มี “อาณาจักร” และ “ผลประโยชน์” ของตนที่จะต้องปกปักรักษา

ยิ่งถ้าหากกระทรวงเหล่านั้นแยกการดูแลไปยังพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มองหลักการและเป้าหมายตรงกัน

นโยบายที่ฟังดูหรูและสวยงามก็อาจจะเดี้ยงไปเสียก่อนที่จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้

ที่ผ่านมา พอเอ่ยถึง “นโยบายต่างประเทศ” ก็จะคิดแต่เพียงว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น

ทั้งๆ ที่สถานการณ์โลกทุกวันนี้กำหนดว่านโยบายต่างประเทศมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเรื่องเศรษฐกิจ, ความมั่นคง, สังคมและแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น หากโครงสร้างของกระทรวงต่างๆ ยังเหมือนเดิม และวิธีการแบ่งความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็คงหวังไม่ได้ว่านโยบายใหม่ๆ ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้

 

ฟูอาดี้บอกว่า “ขอเล่าให้ฟังในเรื่องที่พูดคุยในกลุ่มของพรรคที่กำลังระดมสมองในเรื่องนโยบายต่างประเทศ…เราพูดกันถึงการตั้ง Burma Inter-Agency Task Force หรือคณะทำงานข้ามหน่วยงานว่าด้วยกิจกรรมพม่า…”

แนวคิดคือปัญหาพม่าไม่ใช่เฉพาะเรื่องการต่างประเทศ แต่ยังรวมถึงเรื่องแรงงาน, สิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย จึงต้องมีกลุ่มคนที่มาจากหลายๆ กระทรวงที่มาร่วมกันทำงานและรายงานตรงกับสำนักนายกฯ และทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้

นั่นแปลว่าฝ่ายระดมสมองกำลังพยายามเรียนรู้จากอดีตเพื่อออกแบบการทำงานที่จะตอบโจทย์ของปัญหาที่สลับซับซ้อนและต้องแก้เงื่อนปมที่มีความสลับซับซ้อน

ซึ่งระบบราชการเดิม และการแบ่งหน้าที่ของนักการเมืองแบบเก่าไม่อาจจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยิ่งยืนได้

เช่นกรณีว่าไทยจะเข้าร่วมใน “เขตการค้าเสรี” ระดับพหุภาคีและระดับโลกหรือไม่อย่างไร

ใครจะเป็นผู้ประสานให้เกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม?

ฟูอาดี้บอกว่าในกรณีนี้จะมี “ผู้แทนการค้า” ของรัฐบาลที่ประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“พี่ทิมกับผมไปสิงคโปร์เมื่อเร็วๆ นี้ ไปร่วม Shangri-la Dialogue ในโอกาสนั้นเราคุยกันเรื่องนโยบายต่างประเทศกันเยอะ ให้เขาได้ให้โจทย์ผมเลยว่าเราควรคิดนโยบายต่างประเทศที่มีผลต่อคนไทยจริงๆ …”

เรื่อง 3 Rs (Revive, Rebalance, Recalibrate) เป็นภาพใหญ่ของนโยบายต่างประเทศ เป็นคล้ายกับถนนไฮเวย์ใหญ่

“แต่ภายใต้ถนนทางด่วนใหญ่นั้นก็มีซอยเล็กซอยน้อยอีกเยอะ ถ้าไปดูเว็บไซต์ของพรรคก็จะเห็นโครงการย่อยๆ อีกมากมาย…”

เช่น จะทำอย่างไรให้หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตของไทยมีค่ามากขึ้น สามารถเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น

“เช่น หนังสือเดินทางของบราซิลและอาร์เจนตินาที่สามารถเดินทางเข้ายุโรปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพราะว่าเขามี FTA กับ EU เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลหรือรัฐบาลใหม่ก็ต้องไปเจรจาเรื่อง FTA กับ EU ให้สำเร็จ…”

อีกนโยบายย่อยข้อหนึ่งคือทำอย่างไรให้คนไทยในต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมได้โดยใช้พาสปอร์ตก็พอ

เพราะทุกวันนี้คนไทยจะทำอะไรก็ยังต้องใช้บัตรประชาชน หรือต้องมีใบมอบอำนาจที่ต้องส่งกันไปมาอย่างวุ่นวาย

“คนไทยที่อยู่ต่างประเทศบางคนอาจจะไม่มีบัตรประชาชน ดังนั้น ต้องมีมติ ครม. หรือคำสั่งจากสำนักนายกฯ ที่จะให้ใช้พาสปอร์ตแทนได้ ก็จะทำให้ชีวิตคนไทยในต่างแดนง่ายขึ้น…”

กรณีพม่าก็มีการพูดถึงการตั้ง “Humanitarian Zone” ที่สามารถส่งหมอที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยไปทำงานในพื้นที่หนึ่งตรงชายแดน (แม้จะไม่สามารถทำงานแพทย์ในตลาดไทย แต่ก็จะช่วยลดภาระของสาธารณสุขไทยต่อผู้อพยพ)

องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยประเทศไทยในกรณีนี้

 

สรุปว่าหากการระดมสมองในช่วงนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโยบายประเทศไทยให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของโลก

เราก็กำลังจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริง

เป็นความท้าทายที่พิสูจน์ว่า ว่าที่นายกฯ ที่ชื่อพิธา จะสามารถแปรคำมั่นสัญญาเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริงหรือไม่