‘พลังส่งต่อทบทวีคูณ’ จาก ‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ สู่ชัยชนะของ ‘ก้าวไกล’

หมายเหตุ “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามในรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ในประเด็นที่ว่า

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลมีความเกี่ยวข้องกับม็อบคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2562 หรือไม่?

 

ถ้าจะให้คำนิยามสั้นๆ ดิฉันใช้คำว่า “พลังส่งต่อทบทวีคูณ” หรืออีกคำที่ดิฉันชอบ คือ เป็น “ปฏิบัติการแลกเปลี่ยนพลังกัน” ระหว่างพรรคการเมืองกับการชุมนุมของภาคประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

มันคืออะไร “พลังส่งต่อทบทวีคูณ”? พอสององค์ประกอบมันมาเจอกัน พลังที่มันมีหรือผลที่เกิดขึ้น มันมากกว่าแค่พลังใดพลังหนึ่งจะทำได้ สมมุติอันหนึ่งมีพลังหนึ่งหน่วย อีกอันหนึ่งมีพลังหนึ่งหน่วย พอรวมกันมันไม่ใช่สอง มันมากกว่านั้น คือมันกลายเป็น “พลังทบทวี”

มีสามช่วงเวลาที่เราเห็นการมาพบกันของสองพลังนี้

ช่วงแรก เป็นช่วงออนไลน์สู่คูหาเลือกตั้ง ถ้าเราจำได้ย้อนกลับไปตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 มันจะเริ่มมีแกนนำทั้งหลาย ตั้งแต่ “รังสิมันต์ โรม” “ไผ่ ดาวดิน” ก็ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหาร แต่พวกนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก เป็นแกนนำกลุ่มเล็กๆ ม็อบก็เล็กๆ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้เข้าร่วมมาก

แต่ “ใต้น้ำ” เราจะเห็นพลังโลกออนไลน์ ในช่วงที่มีแคมเปญเรื่อง “ซิงเกิลเกตเวย์” ตอนนั้นเป็นตัวอย่างการต่อสู้ของโลกออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จมาก คือการต่อต้านการเข้ามาควบคุมระบบอินเตอร์เน็ต

เราไม่รู้ว่าพวกนี้คือใคร แต่ว่ามีคนเข้าไปใช้ปฏิบัติการแบบ “แฮ็กกาลิซึ่ม” ก็คือเข้าไปแฮ็กหน่วยงานของรัฐ ล่มไปไม่รู้กี่เว็บ หลายรอบ ท้ายที่สุด รัฐมนตรีไอซีทีก็ต้องยอมถอยต่อนโยบายซิงเกิลเกตเวย์

แต่ตอนนั้น พวกเราทั้งหมดก็ปรามาสดูแคลนเขาว่า พวกนี้มันก็คือ “นักรบออนไลน์” ยังไงก็อยู่หน้าจอ ไม่มีวันหรอก ที่จะมาปฏิบัติการทางการเมืองจริงๆ นั่นคือเห็นในระนาบบน แกนนำที่โดดเดี่ยวมากๆ กับมวลชนที่อยู่ใต้น้ำ

ปรากฏว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น คือ พอมีพรรคอนาคตใหม่ปุ๊บ คนทั้งหมดนี้ไปรวมกันอยู่ในพรรคอนาคตใหม่ คือเป็นทั้งฐานมวลชน หลายคนเข้าไปแกนนำตั้งแต่เริ่มต้นในพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้น เราก็จะเห็นผู้คน ตั้งแต่ “รังสิมันต์ โรม” “เพนกวิน” (พริษฐ์ ชิวารักษ์) “ฟอร์ด ทัตเทพ (เรืองประไพกิจเสรี)” คนพวกนี้ก็เข้าไปอยู่ในปีกเยาวชน

อันนี้ ในช่วงแรก เราเริ่มเห็นสายของ “พลังทบทวีคูณ” แต่ก็ต้องบอกว่าฉากนั้นมันจบไปด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งความขัดแย้งของแกนนำกลุ่มต่างๆ ในพรรคอนาคตใหม่

เราก็จะเห็น “เพนกวิน” ออกจากพรรคมาตั้งแต่ต้นเลย “ฟอร์ด ทัตเทพ” ก็ไม่พอใจต่อการไม่สนับสนุนนโยบาย LGBT ที่เขาไปจูบกันที่สภา ก็มีความขัดแย้งกันไปว่ายังไม่เหมาะสม แกนนำเหล่านี้ก็ออกไปจากพรรค

แม้ว่าพรรคจะชนะก็ตาม แต่ในช่วงแรกต้องบอกว่ามันมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างมวลชน (ที่จะกลายเป็น) แกนนำการชุมนุมในระยะต่อมา กับตัวพรรคเอง

ระยะที่สอง ที่เราเริ่มเห็นการกลับมารวมกันของสองพลังนี้ ก็คือ จากพรรคอนาคตใหม่ สู่ชุมนุม “โบว์ขาว”

ต้องบอกว่าการชุมนุมโบว์ขาวมันเกิดขึ้นจากสองเหตุผล เหตุผลหนึ่งก็คือการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมวลชนอยากออกมาอยู่แล้ว พรรคเองยังละล้าละลัง จะลงถนนก็ยังไม่กล้า เพราะคดีเก่าก็ยังอยู่ ในขณะที่พรรคกำลังละล้าละลัง แกนนำเก่าที่ออกจากพรรคตั้งแต่ต้น ไปนำมวลชนเรียบร้อยแล้ว

เราจะเห็น “เยาวชนปลดแอก” ก็คือ “ฟอร์ด ทัตเทพ” เราจะเห็น “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ก็คือกลุ่ม “เพนกวิน” และผองเพื่อน พวกนี้คือใคร? ก็คือกลุ่มที่เคยอยู่ในพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละ แล้วก็ออกมา

แต่ตอนนี้ การชุมนุมมันพาพรรคไปไกล ผลักพรรคซึ่งตอนแรกยังประนีประนอม ไม่กล้าพูดเรื่อง 112 จริงๆ จังๆ จะไปนำมวลชนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้า เดี๋ยวจะโดนคดี ตอนนี้ มวลชนและแกนนำกลุ่มนี้ ก็คือบอกเราไม่รอพรรคแล้ว เราไปไกลกว่าพรรค

หนึ่ง การชุมนุมแบบบนท้องถนนก็ไม่รอพรรคนำ เราไปนำเอง

สอง ก็คือ ประเด็นข้อเรียกร้อง ผลักไปไกล ไปถึงการปฏิรูป 112 พร้อมการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งพรรคเอง ในช่วงต้นยังไม่ค่อยกล้าพูดแบบเต็มปากเต็มคำ

สิ่งที่พรรคต้องทำคืออะไร? ปรับตัว ตอนนี้ เราเห็นท่าทีของพรรคแล้ว เริ่มปรับตัว แล้วก็เริ่มไปให้ความสำคัญกับประเด็นที่ตัวเองไม่กล้าพูดในอดีต แล้วก็หันไปให้ความสำคัญกับมวลชนบนท้องถนนมากขึ้น

 

ช่วงที่สาม การกลับมาของพรรคก้าวไกล และครั้งนี้มันเป็นช่วง “พลังส่งต่อทบทวีคูณ” จริงๆ

แม้ว่าในตอนนั้น เราจะเห็นว่าม็อบเริ่มค่อยๆ ซาแล้ว เราพูดถึงหลังการชุมนุมที่ดินแดง ถ้าเรามองภาพจากสื่อ เราก็จะรู้สึก ม็อบคงไม่มีแล้ว เด็กๆ ก็คงรู้สึกว่าพ่ายแพ้กลับไป แต่สิ่งที่ดิฉันพบจากการกลับไปสัมภาษณ์อีกครั้ง คือ ไม่ใช่ พวกเขามองว่าการชุมนุมคือการต่อสู้ทางการเมืองที่ต้นทุนมันสูง มันอันตราย มันถูกข่มขู่คุกคาม แล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้

พวกเขาหันกลับมาสู่การต่อสู้ทางการเมืองที่มันปลอดภัยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า นั่นคือการเลือกตั้ง แบบที่เขาเคยประสบความสำเร็จ

มวลชนเองก็มองว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เขารอคอย และเดี๋ยวเขาจะไปใช้วิธีนี้ แล้วก็การมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนโยบาย การสร้างนโยบาย แล้วก็การตรวจสอบรัฐบาล เราจะเห็นเลยว่า (สำหรับ) แพลตฟอร์มนโยบาย พรรคก้าวไกลเริ่มเปลี่ยนท่าที

มีนโยบายที่ inclusive (รวบรวมความหลากหลายของผู้คน) มากขึ้น หรือมีกลไก เช่น กิจกรรมแฮ็กกาธอน รวมคนจำนวนมากเลย คุณเป็นใครก็ได้

คนก็เริ่มรู้สึกว่ามีพื้นที่ใหม่ๆ ในการกลับเข้าไปทำกิจกรรมทางการเมือง หรือแม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ (กทม.) อันนี้ก็เป็นปฏิบัติการที่สำคัญ ที่ทำให้คนที่ไม่ได้อยากไปชุมนุม มันดูไม่ปลอดภัย ก็ไปแคมเปญชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แทน หรือหลังจากชัชชาติชนะ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าการเลือกตั้งมันเป็นเครื่องมือที่ถูก มีประสิทธิภาพ ชนะได้จริง ไม่ต้องไปชุมนุมแล้ว

อยากชุมนุมเหรอ? นี่ไง “ดนตรีในสวน” ดิฉันไปเก็บข้อมูลที่นั่น บรรยากาศเหมือนม็อบเลย แล้วเวลาสัมภาษณ์ ผู้คนก็บอกว่า ชอบมาม็อบแบบนี้ สบายดี ไม่เหนื่อย ไม่เครียด ม็อบแบบเก่าไม่อยากไปแล้ว ในขณะที่แกนนำเองก็กลับมาประสานรอยร้าวกับพรรคมากขึ้น กลับเข้าสู่การเมืองในรัฐสภามากขึ้น

เราจะเห็นเลยว่า จากที่ดิฉันรวบรวมตัวเลข แกนนำ (ม็อบ) ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าประมาณยี่สิบกว่าคนไปเป็นแคนดิเดต ไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต (ของก้าวไกล) อันนี้เราไล่ตั้งแต่คนเก่า (ที่เคยทำงานร่วมกับอนาคตใหม่) เลยนะ “โตโต้ ปิยรัฐ (จงเทพ)” หรือว่า “ลูกเกด ชลธิชา (แจ้งเร็ว)” ก็มาเป็น ส.ส.แล้ว

หรือหน้าใหม่เลย อย่าง “รักชนก ศรีนอก” “พุธิตา (ชัยอนันต์)” ที่เชียงใหม่ พวกนี้ก็คือไม่ได้อยู่กับพรรคมาก่อน แต่ก็เข้ามาอยู่กับพรรค

อันนี้มันเห็นถึง “พลังส่งต่อทบทวีคูณ” จริงๆ ซึ่งครั้งนี้ต้องบอกว่าบรรยากาศของช่วงหาเสียง เรารู้สึกเลยว่ามันเหมือนบรรยากาศการชุมนุมมาก

ผู้คน บรรยากาศ มันเหมือนกับเวทีการชุมนุมหรือการประท้วงแบบเก่า ที่แบบเดิมมีเวทีใหญ่ จัดโดยก้าวไกลหรือแกนนำเก่า แต่จะมีเวทีย่อยๆ คือใครอยากจัดเวทีอะไรก็ไปจัด พูดถึงประเด็นปัญหาของตัวเอง ป้ายที่เตรียมไปเอง ในปัญหาของตัวเอง ที่อยากจะบอกกับแกนนำหรือพรรค

มันคือแพตเทิร์นเดียวกัน แต่ว่าอยู่ในคนละรูปแบบ มันอยู่ในการเลือกตั้ง แต่เราเห็นเลยว่าพลังของผู้คนมันทบทวีกัน

 

ข้อสรุปนี้ก็คือ ในขณะที่หลายคนจะบอกว่าชัยชนะของก้าวไกลมันคือความสำเร็จในการทำสื่อโซเชียลมีเดีย (และ) ความผิดพลาดของเพื่อไทย แต่ดิฉันคิดว่า มันคือบทพิสูจน์จริงๆ ว่าการชุมนุมมันไม่ได้ชนะในที่ชุมนุม แต่มันชนะหลังจากการชุมนุมจบลง

อันนี้เป็นข้อสรุปที่ได้จากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก การชุมนุมคนรุ่นใหม่ทั่วโลกถูกปราบทั้งนั้น และไม่เคยประสบความสำเร็จตอนชุมนุมเลย ในเรื่องของการเรียกร้อง

จะชนะอีกทีก็เป็นสิบปีหลังจากนั้น โดยเฉพาะความสำเร็จในการตั้งพรรคการเมือง อย่างพรรคกรีนในเยอรมนี การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่จบไป 15 ปี กว่าที่พรรคกรีนจะชนะการเลือกตั้ง แต่อันนี้ (ชัยชนะของก้าวไกล) คือเร็วมาก

เพราะฉะนั้น มันเห็นถึง “พลังส่งต่อทบทวีคูณ” ที่มันผนวกกันระหว่างความเป็นพรรคการเมืองกับขบวนการคนรุ่นใหม่