เศรษฐกิจนำ การทหารตาม : การรุกของจีนในอินโด-แปซิฟิก | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เรา [จีน] ไม่กลัวการยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น”

รัฐมนตรีกลาโหม Chang Wanquan (2014)

 

คําว่า “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิค” (The Indo-Pacific) ไม่ใช่คำใหม่ในทางภูมิรัฐศาสตร์อีกต่อไปแล้ว

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่สนใจการเมืองเอเชียและการเมืองโลก เราจะได้ยินคำนี้บ่อย จนเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งในท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเอเชีย ก็มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับพื้นที่นี้ จนวันนี้ต้องยอมรับว่า “อินโด-แปซิฟิก” เป็นคำที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิภาคนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชากรร้อยละ 65 ของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หากวัดในทางเศรษฐกิจของโลก เศรษฐกิจภูมิภาคนี้ก็มีขนาดใหญ่ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) คิดเป็นร้อยละ 63 ของจีดีพีโลก และมากกว่าร้อยละ 60 ของการค้าทางทะเลของโลกใช้เส้นทางเดินเรือผ่านภูมิภาคดังกล่าว

ดังนั้น ในทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกแล้ว อินโด-แปซิฟิกจึงมีนัยถึงพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่การค้าและการลงทุนของโลกในอนาคต

แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่เช่นนี้ในทางการเมืองและความมั่นคงแล้ว ย่อมจะกลายเป็นจุดสำคัญของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น ในสภาวะของการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน การรุกของจีนเข้าสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจึงเป็นประเด็นสำคัญ และการรุกเช่นนี้เกิดขึ้นใน 4 มิติใหญ่คือ การรุกทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี อันส่งผลให้เกิดการขยับตัวของ “ดุลแห่งอำนาจ” ในภูมิภาคเอเชียโดยรวม เนื่องจากนับจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ

จนอาจกล่าวได้ว่าสหรัฐเป็นรัฐมหาอำนาจหลักในเอเชียที่สำคัญที่สุด และแทบจะไม่มีรัฐมหาอำนาจอื่นสามารถก้าวขึ้นมาท้าทายกับสหรัฐได้เลย

The Rise of China

การเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ในเอเชีย คือปรากฏการณ์การเติบใหญ่ของจีนในการก้าวสู่ความรัฐมหาอำนาจใหญ่ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากการฟื้นตัวของรัสเซีย เพราะรัสเซียอาจจะฟื้นในทางการเมืองและการทหาร ซึ่งเห็นได้จากการแทรกแซงวิกฤตจอร์เจียในปี 2008 การยึดครองไครเมียในปี 2014 และบทบาททางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรียในปี 2015

สิ่งเหล่านี้บ่งบอกชัดว่า รัสเซียฟื้นตัวกลับขึ้นมาเป็นรัฐมหาอำนาจอีกครั้งแล้ว แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจรัสเซียไม่ได้เข้มแข็งมาก ต่างจากการเติบใหญ่ของจีนที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างเข้มแข็ง

การขยายบทบาทของจีนทำให้ฝ่ายตะวันตกมีความกังวลอย่างมากกับปัญหาความมั่นคงในเอเชีย อันนำไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ที่เป็น “อินโด-แปซิฟิก” แทนที่ “เอเชีย-แปซิฟิก” ในทางภูมิรัฐศาสตร์แบบเดิม และสร้างระบบพันธมิตรใหม่ในรูปแบบของ “จตุรภาคี” (หรือ The Quad) ที่มีแกนหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย และยังสร้างระบบพันธมิตรเพิ่มอีกชุดคือ “ออกัส” (AUKUS) ในแบบ “ไตรภาคี” ด้วยการรวมสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย

ซึ่งระบบพันธมิตรทั้งสองชุดมีความชัดเจนที่ต้องการสร้าง “ดุลอำนาจ” เพื่อคานกับการขยายอิทธิพลของจีน

นอกจากนี้ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในช่วงสงครามยูเครน ประกอบกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันที่เสื่อมทรุดลงในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงว่าไต้หวันจะกลายเป็น “ยูเครนแห่งเอเชีย” อันมีนัยถึงการใช้กำลังของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในการจัดการปัญหาข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน

สภาวะเช่นนี้มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความเข้มข้นขึ้นตามไปกับสถานการณ์สงครามยูเครน

อีกทั้งยังเห็นได้ชัดเจนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีน ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการปฏิรูปใหญ่ทางเศรษฐกิจในยุคของประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และในปี 2021 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 17.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มมากขึ้น 3 ล้านล้านจากปี 2020

อันทำให้เกิดการประเมินว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะแซงเศรษฐกิจอเมริกันได้ในปี 2028 สภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นสัญญาณในตัวเองว่า โลกแบบขั้วเดียวกำลังสิ้นสุดลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะทำให้จีนกลายเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” อย่างแท้จริงในการเมืองโลก ซึ่งก็คือ การนำไปสู่สภาวะของการเมืองโลกแบบ “สองขั้ว” อย่างแท้จริงด้วย

อันเป็นสภาวะที่เราเคยเห็นมาแล้วในยุค “สงครามเย็นเก่า” ที่โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว โดยมีการแข่งขันและการเผชิญหน้าเป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

Maritime Silk Road

ในอีกส่วนคือการสร้างพลังอำนาจทางทหารของจีนในยุคหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ความใหม่ของสงครามนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปกองทัพ อันส่งผลให้เกิดการสร้าง “ความทันสมัยทางทหาร” (military modernization) ให้แก่กองทัพจีน เพื่อทดแทนต่อการดำรงกองทัพแบบเก่า ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสงครามปฏิวัติจีน และเปลี่ยนสภาพจากกองทัพที่ถูกออกแบบสำหรับภารกิจในการจัดการปัญหาความขัดแย้งภายใน และ/หรือความขัดแย้งในระดับท้องถิ่น

ไปเป็นกองทัพที่มีภารกิจขยับออกไปนอกเส้นพรมแดนจีน หรือเป็นกองทัพที่เตรียมออกไปรบนอกพื้นที่ของจีน

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้ออย่างมากต่อการสร้างความทันสมัยให้แก่กองทัพ ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2020 ค่าใช้จ่ายทางทหารของจีนมีมูลค่าสูงถึง 252 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ

การพัฒนากองทัพจีนในทิศทางเช่นนี้จะรองรับโดยตรงต่อการขยายบทบาทของจีนในการเป็นผู้นำในเวทีโลก

การขยายศักยภาพทางทหารของจีนยังเห็นได้ชัดจากกรณีของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทหารในทะเลจีนใต้ เช่น ฐานทัพและสถานีทางทหารบนเกาะสแปรตลี และพาราเซล หรือกรณีฐานทัพเรือที่เมืองเรียม (Ream) ในกัมพูชา บทบาททางทหารเช่นนี้ย่อมทำให้ประเทศในภูมิภาคมีความกังวลใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในอีกด้านหนึ่ง จีนเองมีข้อพิพาทกับรัฐในภูมิภาคในการอ้างกรรมสิทธิ์

เช่น ปัญหากับญี่ปุ่นในกรณีหมู่เกาะเซนกากุ และปัญหาการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ตลอดรวมถึงการขยายพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone : EEC) อีกทั้งปัญหาข้อพิพาทตามแนวเส้นเขตแดนจีน-อินเดีย ตลอดรวมถึงการแสดงศักยภาพทางทหารในกรณีวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน

พร้อมกันนี้ยังเห็นถึงการยกเลิกแนวคิด “1 ประเทศ 2 ระบบ” ในกรณีของฮ่องกง ที่จีนขยายอิทธิพลเข้าควบคุมฮ่องกงอย่างเข้มงวด พร้อมกับจัดการกับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย การกระชับอำนาจในการควบคุมทิเบต และการจัดการกับการเรียกร้องของมุสลิมในซินเกียง

นโยบายในลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจทางทหารที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลปักกิ่งสามารถแสดงออกถึงความต้องการของตนในพื้นที่ความขัดแย้งได้มากขึ้น

การขยายอำนาจทางทหารเช่นนี้ จะทำให้จีนต้องแสวงหาที่ตั้งทางทหารในภูมิภาคมากขึ้นในอนาคต โดยจีนใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือนำทาง (แตกต่างจากฝ่ายตะวันตกที่ใช้การสร้างระบบพันธมิตรด้านความมั่นคงเป็นเครื่องมือหลัก)

กรณีศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เนื่องจากการรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำไปสู่ภาวะ “กับดักหนี้” (debt trap) และเปิดโอกาสให้จีนเข้าควบคุมพื้นที่ที่จีนต้องการในแบบ “เขตเช่า 99 ปี” (ดูจะไม่ต่างจากการดำเนินการของรัฐมหาอำนาจตะวันตกที่กระทำกับจีนในยุคอาณานิคม)

ผลจากกับดักหนี้ที่เกิดกับศรีลังกา ทำให้จีนเข้าควบคุมท่าเรือฮัมบันโตตา (Hambantota) เป็นเวลา 99 ปี เป็นไปในแบบเดียวกันกับการเข้าไปใช้ฐานทัพเรือที่จิบูตี (Djibouti) ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกา และเมื่อนำมาเชื่อมต่อกับฐานทัพเรือที่เรียมในกัมพูชาแล้ว จะเห็นถึงการขยายบทบาททางทหารของจีนมากขึ้นจากในอดีต

อีกทั้งยังเกิดความกังวลจากฝ่ายตะวันตกว่า การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีน อาจถูกใช้เพื่อให้รัฐผู้รับต้องยอมรับกับข้อเรียกร้องในการขอใช้ฐานทัพสำหรับกองเรือรบจีนในอนาคต

 

นอกจากนี้ นับจากปี 2000 เป็นต้นมา บริษัทของจีนคือ “China Harbor Engineering Company” ยังเข้าไปช่วยในการก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือพลเรือนในแอฟริกาประมาณ 100 แห่ง เช่น ท่าเรือในไนจีเรีย เป็นต้น

พร้อมกันนี้บริษัทจีนช่วยการสร้างเส้นทางถนนมากกว่า 1 แสนกิโลเมตร และเส้นทางรถไฟยาวกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร (Hellenicshippingnews.com, 11/11/2022)

ดังนั้น ในสถานการณ์ของการแข่งขันเช่นนี้ จีนหันไปใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างได้ผล การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากจึงเอื้อโดยตรงให้รัฐบาลปักกิ่งใช้เศรษฐกิจเป็นปัจจัยนำ และตามมาด้วย “การทูตแบบกับดักหนี้” ที่เปิดโอกาสให้จีนเข้าควบคุมจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ของรัฐผู้รับความช่วยเหลือ

นอกเหนือจากตัวอย่างดังที่กล่าวแล้ว จีนเข้าเป็นผู้ดำเนินการในท่าเรือพลเรือนของแทนซาเนีย 2 แห่ง และในโมร็อกโกอีก 2 แห่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงการสร้างความเป็นรัฐมหาอำนาจของจีนเท่านั้น แต่ยังมีนัยถึงการสร้าง “ชาติทางทะเลที่เข้มแข็ง” (strong maritime nation) ตามแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ที่ประกาศในแผน 5 ปี ฉบับที่ 13)

อีกนัยหนึ่งสิ่งเหล่านี้คือ การสร้างและขยาย “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ของจีน ที่เชื่อมต่อกับ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) ในบริบททางบก ซึ่งการขยายตัวเช่นนี้จะช่วยรองรับต่อการรุกของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เศรษฐกิจนำ

การรุกของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในปัจจุบัน เป็นประเด็นสำคัญที่บรรดารัฐในภูมิภาคต้องให้ความสนใจอย่างมาก

และเป็นคำถามอย่างมีนัยสำคัญว่า รัฐเล็กในภูมิภาคจะกำหนดเส้นทางในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างไร

ปัญหาในอีกด้านหนึ่งได้แก่ การถดถอยของโลกตะวันตกได้กลายเป็น “ช่องว่างแห่งอำนาจ” ที่เปิดโอกาสให้การรุกของจีนขยายตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะบรรดารัฐเล็กเหล่านี้ ยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากรัฐมหาอำนาจ การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจของจีนดูจะเป็น “หัวหอก” ที่มีประสิทธิภาพในการรุกที่เกิดขึ้น และยังช่วยในการขยายอิทธิพลด้านความมั่นคงที่ตามมา เท่ากับช่วยในการสร้างภาพลักษณ์ของจีนในฐานะ “รัฐผู้ให้”

ดังนั้น คำถามในอนาคตจึงได้แก่ ใคร (สหรัฐหรือจีน) จะมีอิทธิพลมากกว่ากันในอินโด-แปซิฟิก และในที่สุด บรรดารัฐในภูมิภาคจะเลือกยืนกับใคร?