ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
อุษาวิถี (32)
อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)
ลัทธิขงจื่อกลายเป็นลัทธิที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เป็นลัทธิที่ถ้าหากใครรับเชื่อหรือยึดถือจะถูกตราหน้าว่ามีซากเดนความคิดศักดินา
ยิ่งในช่วงที่กลุ่มซ้ายจัดหรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “แก๊งสี่คน” ก่อการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในระหว่าง ค.ศ.1966-1976 ด้วยแล้ว ใครที่ถูกระบุว่ามีความคิดแบบขงจื่อหรือเป็นสาวกลัทธิขงจื่อจะถูกลงโทษในทางการเมืองจนสิ้นอนาคต
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ “แก๊งสี่คน” ถูกโค่นล้มลงไปใน ค.ศ.1976 ไปแล้ว ลัทธิขงจื่อจึงหวนกลับมามีที่ยืนอยู่ในสังคมจีนได้อีกครั้งหนึ่ง จนในปัจจุบันไม่เพียงจะไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐสังคมนิยมจีนเท่านั้น หากในหลายกรรมหลายวาระ ชนชั้นนำของจีนยังได้กล่าวถึงส่วนดีของลัทธินี้อย่างเปิดเผยอีกด้วย
เอเชียวิถีจากกระแสจีนจากที่ได้กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานับพันปีนั้น ความคิดที่อยู่ในกระแสหลักของสังคมจีนมาโดยตลอดก็คือ ลัทธิขงจื่อ
ในห้วงดังกล่าวลัทธิขงจื่อพบกับการสะดุดหยุดลงน้อยมาก และที่สะดุดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ลัทธินี้จะจมหายไปจากสังคมจีน เพียงแต่ว่าได้ตกเป็นกระแสรองให้กับลัทธิหรือศาสนาความเชื่ออื่นเท่านั้น
แต่สิ่งที่แน่ชัดอย่างยิ่งก็คือว่า บางช่วงที่ตกอยู่ในกระแสรองนั้น แท้ที่จริงแล้ว ลัทธิขงจื่อได้ฝังรากลึกลงไปในโครงสร้างทางการเมืองของชนชั้นปกครองจีน อย่างยากที่จะขุดถอนออกไปได้ง่ายๆ
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า แม้ลัทธิขงจื่อจะไม่ได้ถูกชนชั้นปกครองชูให้สูงเด่นในบางช่วงก็ตาม แต่กล่าวในด้านระบบการเมืองการปกครองหรือการใช้ชีวิตตามปกติของชาวจีนแล้ว ลัทธินี้ได้เข้าไปมีส่วนอยู่ในโครงสร้างของสังคมจีนอย่างสอดสนิท
การที่ลัทธิขงจื่อสามารถคงฐานะกระแสหลักอยู่ในสังคมจีนได้เป็นเวลานับพันปีนั้น ย่อมมาจากจากสารัตถะของลัทธินี้เอง ที่นับแต่เริ่มแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในสังคมจีนนั้น ลัทธิขงจื่อไม่ได้บัญญัติแบบแผนหรือแนวคิดของตนขึ้นมาอย่างลอยๆ
หากแต่ได้อิงกับสังคมการเมืองในสมัยราชวงศ์โจวในฐานะที่เป็นรัฐในอุดมคติ
ขงจื่อในฐานะผู้สถาปนาลัทธินี้เป็นผู้ประมวลเอาสิ่งที่เป็นอุดมคติเหล่านั้นมาเรียบเรียง และอธิบายให้เป็นระบบระเบียบ
ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ขงจื่อไม่มีความสำคัญแต่ประการใด ในทางตรงกันข้าม ยังนับเป็นคุณูปการทั้งต่อสังคมจีนและสังคมโลกอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ว่า ท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงในยุควสันตสาร์ทและยุครัฐศึกนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครคนใดคนหนึ่งจะอุทิศตนด้วยการศึกษาค้นคว้าให้ได้มาซึ่ง “สัจธรรม” มาแก้ปัญหาวิกฤต
หรือถ้าหากมีก็ย่อมหมายความว่า บุคคลนั้นต้องมีความปราดเปรื่องพอที่จะอธิบายสิ่งที่ตนศึกษาค้นคว้าได้อย่างลุ่มลึกและมองการณ์ไกล สังคมจีนเวลานั้นแม้จะมีนักปราชญ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย และขงจื่อนับเป็นปราชญ์ที่โดดเด่นที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของขงจื่อที่มีเหนือนักปราชญ์คนอื่นๆ ดังกล่าวในด้านที่สำคัญที่สุดย่อมต้องมาจากแนวความคิดของเขาเอง
สิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือ นอกจากขงจื่อจะนำเสนอหลักจริยธรรมและคุณธรรมให้สังคมจีนถือปฏิบัติแล้ว ยังได้เสนอแนวทางการเมืองให้แก่ชนชั้นปกครองในขณะนั้นอีกด้วย ในส่วนนี้จะเห็นได้จากชีวิต งาน และความคิดของขงจื่อ ที่มากกว่าครึ่งค่อนอายุขัยที่เขาได้อุทิศให้กับการเมือง
โดยศูนย์รวมที่สำคัญที่สุดของความคิดทางการเมืองที่เขาได้เน้นย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งก็คือ เจิ้งหมิง หรือ ความเที่ยงแห่งนาม
ที่เขาชี้ให้เห็นว่า สถาบันทางการเมืองจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้น การประพฤติปฏิบัติตนตามหน้าที่ของแต่ละ “นาม” ในสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากผิดไปจากหน้าที่ที่ “นาม” พึงถือประพฤติปฏิบัติแล้ว สังคมก็จะล่มสลายหรือเกิดวิกฤตดังเช่นที่ปรากฏในยุคสมัยของเขา
แน่นอนว่า เจิ้งหมิงของขงจื่อจะปรากฏเป็นจริงไม่ได้เลยหากปราศจากซึ่งแนวทางให้ยึดถือปฏิบัติ และแนวทางนั้นก็คือ หลักจริยธรรมและคุณธรรม
สิ่งที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ในบรรดาหลักจริยธรรมและคุณธรรมอันประกอบไปด้วยเหญิน อี้ หลี่ จื้อ และซิ่น ที่ขงจื่อนำเสนอต่อสังคมจีนนั้น ปรากฏว่า หลักที่ว่าด้วยหลี่หรือรีตนับเป็นหลักที่มีปฏิสัมพันธ์กับหลักเจิ้งหมิงอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะโดยหลักที่ว่านี้เองที่ทำให้ “ชน” ในสังคมจีนถูกแบ่งเป็น “ชั้น” และชนแต่ละชั้นพึงมีหน้าที่ตาม “นาม” ของตน โดยพึงรักษาและปฏิบัติรีตของตนอย่างเหมาะสมตามแต่ “นาม” ที่ตนสังกัด
กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ ขงจื่อแม้จะเป็นแนวคิด หลักคำสอน หรือลัทธิที่ให้ความสำคัญกับหลักจริยธรรมของมนุษย์ก็ตาม แต่ก็เป็นแนวคิด หลักคำสอน หรือลัทธิที่ให้ความสำคัญกับสถาบันทางการเมืองอย่างยิ่งยวด
ลัทธิขงจื่อจึงไม่มีแนวทางให้มนุษย์ละตนไปจากทางโลกย์ดังศาสนาหรือลัทธิอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านี้ ลัทธิขงจื่อยังสนับสนุนให้ผู้มีความรู้ได้อุทิศตนสร้างสถาบันทางการเมืองที่ดีอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ลัทธิขงจื่อจึงไม่ได้แยกตนไปอยู่โดดเดี่ยว และเพราะเหตุนั้นลัทธิขงจื่อจึงง่ายต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประชาชนชั้นชนต่างๆ และทำให้สามารถดำรงตนมาได้อย่างต่อเนื่องแม้ในทุกวันนี้
แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ลัทธิขงจื่อในทุกวันนี้จะมีสถานะดังเช่นอดีต ปรากฏการณ์นี้หากมองโดยผิวเผินแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า เป็นเพราะสังคมจีนนับแต่การปฏิวัติสาธารณรัฐในปี ค.ศ.1911 เป็นต้นมา (เป็นอย่างน้อย) โลกทัศน์ตะวันตกได้สอดตัวเข้าไปในแทบทุกองคาพยพของสังคมจีนไปแล้วนั้นเอง
ประเด็นปัญหาก็คือว่า แม้จะเป็นเช่นที่ว่าก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลัทธิขงจื่อได้ฝังเข้าไปอยู่ในจิตวิญญาณของชาวจีนในแทบทุกตัวคนอย่างยากที่จะปฏิเสธ
ทุกวันนี้แทบจะไม่มีชาวจีนคนใดที่ไม่ตระหนักใน “นาม” ของตนจนไม่รู้ว่าตนถูกจัดอยู่ใน “ชั้น” ใดท่ามกลางหมู่ “ชน” อันหลากหลาย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022