การเมืองแบบ 3 ขั้ว 2 พรรคใหญ่

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งดุเดือดร้อนแรงไม่แพ้ก่อนเลือกตั้งเลย แถมดูจะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าช่วงเลือกตั้งด้วยซ้ำ จากการที่พรรคก้าวไกลยังไม่สามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะแม้ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 และรวบรวมเสียง ส.ส.จาก 8 พรรคการเมืองมาได้มากมาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่ชนะเสียง ส.ว. 250 คนในขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น ณ ขณะนี้จึงไม่มีหลักประกันเลยว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคก้าวไกลหรือไม่

นอกจากนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรคยังติดปัญหาใหญ่เสียเอง เมื่อถูกร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ด้วยเหตุผลจากการถือครองหุ้นสื่อ itv ถึงแม้ว่าสถานีโทรทัศน์นี้จะยุติการออกอากาศไปเกือบยี่สิบปีแล้วก็ตาม

กรณีนี้ส่งผลกระทบถึงสถานะอำนาจของพรรคก้าวไกลเป็นอย่างยิ่ง และอาจมีผลพวงอย่างอื่นตามมามโหฬารหากคำตัดสินของ กกต.และศาลออกมาโดยไม่เป็นคุณกับพิธาและพรรคการเมืองนี้

กล่าวโดยสรุปก็คือ สภาพการณ์ของการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลยังคงอึมครึมและไม่มั่นคงอย่างมาก

 

ในสภาวะที่การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลยังโคลงเคลงเอาแน่เอานอนไม่ได้นี้ มีส่วนที่ทำให้เกิดสภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจขึ้นด้วย

ดังจะเห็นได้จากราคาหุ้นที่ดิ่งร่วงลงมาทั้งตลาดติดต่อกันอย่างต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง

และในทางการเมืองก็ได้เผยให้เห็นภาพของสถานการณ์ทางการเมืองแบบ “3 ขั้ว 2 พรรคใหญ่” ขึ้น

นั่นคือมีขั้วซึ่งอาจแยกออกเป็นกลุ่มก้อน 3 ก้อน

ซึ่งทั้ง 3 ก้อนมีแนวทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน ทว่า สามก้อนนี้แสดงตัวออกมาให้เห็นผ่านภาพของพรรคการเมืองเพียง 2 พรรคใหญ่ คือก้าวไกลกับเพื่อไทยเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยนั้นเป็นพรรคใหญ่มาแต่เดิม ต่อมาพ่ายแพ้แก่พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ.2566 เป็นพรรคที่มุ่งขายนโยบายทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเป็นหลัก มีเป้าหมายไปที่ความอยู่ดีกินดีของประชาชนที่เป็นไปได้ มากกว่าเข้าปะทะกับอำนาจตรงๆ ตามอุดมคติทางการเมือง

มีแนวทางปฏิรูปแบบไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และอาศัยการเดินเกมแบบเจรจาต่อรองหลักฉากมากกว่าประกาศจุดยืนชัดๆ ต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการทำงานในเขตเลือกตั้งแต่ละพื้นที่แบบอิงบ้านใหญ่ คืออาศัยเครือข่ายผู้มีบารมีในแต่ละพื้นที่เป็นเจ้าภาพในการหาเสียงและรับผิดชอบดูแลชาวบ้านตามความคาดหวังของผู้คนในเขตนั้น

พรรคก้าวไกลนั้นต่างออกไป คืออาศัยแนวทางการต่อสู้โดยมีพื้นฐานจากอุดมคติทางการเมืองที่มุ่งจะไปถึง พรรคนี้รวบรวมคนหนุ่มคนสาวเข้าลงสู่สนามการเมืองโดยไม่ยี่หระต่อเครือข่ายอำนาจของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้จึงมีนักการเมืองหน้าใหม่วัยกระเตาะอยู่เป็นจำนวนมาก และใช้วิธีรุกเข้าสู่โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มแบบเดียวกับแฟนด้อมที่พร้อมใจกันทำโดยมิได้นัดหมาย

ส่วนในทางนโยบาย ก้าวไกลแตกต่างกับเพื่อไทยในประเด็นการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 รวมไปถึงท่าทีที่มีต่อสถาบัน นอกจากนั้นก็คือนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีลักษณะเชิงสังคมนิยมอยู่ด้วย ไม่เหมือนกับเพื่อไทยที่เป็นแบบทุนนิยมค่อนไปทางเสรี

การที่สองพรรคนี้เป็นคู่แข่งกันนั้น ในด้านหนึ่งก็เป็นโมเดลในฝันของใครหลายคนที่อยากให้การแข่งขันทางการเมืองเป็นเรื่องนโยบายล้วนๆ แต่ไม่แตกต่างกันในด้านจุดยืนประชาธิปไตย

หรือเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่สู้กันด้วยรายละเอียดเชิงนโยบายแบบที่เห็นกันในสหรัฐอเมริการะหว่างพรรครีพับลิกันกับเดโมแครตนั่นเอง

แต่น่าเสียดายที่การต่อสู้แบบสองพรรคใหญ่นี้มาเกิดในตอนที่รัฐไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ จึงทำให้มีขั้วอำนาจอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาผสมโรงด้วย

 

พรรคใหญ่ 2 พรรคนี้ไม่ได้ประจันหน้ากันโดดๆ แต่ขับเคี่ยวกันบ้าง แข่งขันกันบ้าง และจับมืออยู่ร่วมกันไปแบบ “ตบจูบ”

ทั้งนี้ก็เพราะต่างก็ทราบดีถึงการดำรงอยู่ของกลไกรายรอบ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ต่อสู้กันมาแต่เดิม และ “มือที่มองไม่เห็น” อันอาจเรียกรวมๆ ทั้งหมดว่าคือ “เครือข่ายพลังอนุรักษนิยม”

ซึ่งบางส่วนก็อนุรักษนิยมจริงๆ ตามอุดมการณ์

และบางส่วนก็เป็นเพียงนักแสวงหาโอกาสที่อิงอาศัยสถาบันทางการเมืองตามจารีตประเพณีเพื่อให้ได้ประโยชน์โพดผลต่างๆ นานา

เมื่อมีพลังอยู่แต่ไม่มีพรรคใหญ่ จึงทำให้เครือข่ายพลังอนุรักษนิยมนี้เป็นขั้วทางการเมืองอีกขั้วหนึ่งที่อยู่ในสนามการเมืองตลอดเวลา

พลังเครือข่ายอนุรักษนิยมเหล่านี้ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ใหญ่โตพอจะขึ้นมาต่อสู้กับทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยได้เลย

พรรคการเมืองในฝ่ายนี้อ่อนแอทั้งภายในพรรคของตัวเองและในสนามเลือกตั้ง

การที่มีโลกทัศน์แบบโบราณเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกพรรคในเครือข่ายนี้วิ่งตามโลกไม่ทัน และบ่อยครั้งที่ไม่คิดจะวิ่งตามด้วย ด้วยความที่มีอายุมากและมีอคติต่อต้านการเปลี่ยนแปลงประดามีในโลกสมัยใหม่

แต่ถึงแม้ไม่มีศักยภาพมากนักในการแข่งขันตามระบบ พวกเขากลับมีวิธีการมากมายใน “การเล่นใต้น้ำ” แบบมองไม่เห็น

และมีท่อลำเลียงงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ มาหล่อเลี้ยงกิจกรมทางการเมืองซึ่งทำให้สามารถยืนระยะอยู่ได้ในระยะยาวโดยไม่อดอยาก

 

ถึงแม้ว่าการเมืองไทยในสมัยปัจจุบันอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าประทับใจหรือสร้างความรื่นรมย์ให้กับประชาชนคนไทยเท่าไหร่นัก

แต่กลับเป็นพื้นที่ศึกษาสำหรับนักรัฐศาสตร์ที่มีความเข้มข้นน่าสนใจมาก

เนื่องจากมีการซ้อนทับกันของปฏิบัติการทางอำนาจซับซ้อนหลายชั้น และมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่แห่งใดในโลก

เสมือนสนามตัวอย่างของการปะทะกันอย่างดุเดือดแต่ไม่โจ่งแจ้งระหว่างพลังจารีตอันเป็นมรดกตกทอดมาตกทอดจากยุคโบราณกับพลังของการเปลี่ยนแปลงในเจเนอเรชั่นใหม่ที่ไหลไปตามกระแสโลกดิจิทัล

อุดมคติที่ต่างกันนี้มาพร้อมกับโลกทัศน์และวิถีชีวิต รวมทั้งมีผลต่อการกำหนดระเบียบทางการเมืองในยุคสมัยต่อไป ซึ่งทำให้การต่อสู้ชิงชัยทั้งโดยต่อหน้าและลับหลังครั้งนี้มีเดิมพันที่สูงตามไปด้วย

แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า “ไม่มีสิ่งใดแน่นอน นอกจากความไม่แน่นอน” หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมนิรันดร์ที่ไม่มีใครไปหยุดยั้งได้

ดังนั้น หากมองเช่นนี้ ความพยายามพลิกเกมเพื่อเอาชนะต่อผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นของฝ่ายจารีตจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการยื้อชีวิตของตน ในห้วงยามสุดท้ายของชีวิตและชะลอลมหายใจให้ทอดยาวออกไปอีกระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ซึ่งในแง่นี้ก็หมายความว่าต่อให้ก้าวไกลพ่ายแพ้ในเกมการเมืองที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ก็ไม่ได้หมายความว่าพลังจารีตที่เดินเข้าสู่ช่วงปลายของชีวิตตัวเองไปแล้วจะยังคงอยู่รอดต่อไปได้

แต่แค่ผัดผ่อนการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยออกไปอีกนิดหน่อย

ไม่ต่างอะไรกับซามูไรกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงใช้ดาบต่อสู้กับปืนใหญ่ในปลายสมัยเซ็นโกคุ ก่อนจะสิ้นสลายหายไปแล้วเข้าสู่การปฏิรูปยุคเมจิโดยสมบูรณ์ กระทั่งพัฒนามาเป็นประเทศญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่มีความทันสมัยและเจริญก้าวหน้าเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างในปัจจุบัน