อย่าใช้อำนาจรัฐ ปะทะอำนาจประชาชน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

อย่าใช้อำนาจรัฐ

ปะทะอำนาจประชาชน

 

ชัยชนะของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลที่มีคนเลือกกว่า 14 ล้าน คือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ “อำนาจเก่า” ทุกกลุ่มหวาดกลัว เพราะก้าวไกลชนผู้มีอำนาจตรงๆ, ไม่ซื้อเสียงและไม่มีหัวคะแนน จำนวนคนเลือกขนาดนี้จึงเป็น “พลังบริสุทธิ์” ที่สะท้อนว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงมากจริงๆ

แน่นอนว่าคำพูดว่าคะแนนเสียงก้าวไกลเป็น “คะแนนบริสุทธิ์” ทำให้คู่แข่งพรรคก้าวไกลไม่พอใจ แต่ในประเทศที่พรรคใหญ่ใช้เงิน, อิทธิพล และหัวคะแนน การไม่พูดตรงๆ ว่าชัยชนะของก้าวไกลคือ “พลังบริสุทธิ์” ก็เป็นคำโกหกที่ทำให้ไม่เห็นภาพว่าก้าวไกลคือสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง

ถ้าประเทศไทยเป็นปกติเหมือนอังกฤษ, ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย ป่านนี้เราต้องมีรัฐบาลใหม่ ส่วนคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเก็บของออกจากทำเนียบไปแล้ว ไม่ใช่เป็นแบบวันนี้ที่ความกังวลว่าพิธาจะไม่ได้เป็นนายกฯ มีมากขึ้นจากข่าวดีลลับ, ข่าว ส.ว.ไม่เลือกพิธา รวมทั้งข่าวพันธมิตรขู่ปลุกม็อบต้านพิธา

ฝ่ายตรงข้ามพิธาพูดถึงการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” จนเห็นชัดว่าคนกลุ่มนี้ขวางไม่ให้ประเทศไทยมี “รัฐบาลแห่งประชาชน”

ยิ่งใกล้เดือนกรกฎาคมที่ต้องเลือกประธานสภาและนายกฯ กระบวนการทำให้ “ชาติ” แยกจาก “ประชาชน” โดยมี “อำนาจรัฐ” เป็นผู้ลงมือแบ่งแยกยิ่งรุนแรง

ไม่มีใครในขบวนการต้านพิธายอมรับว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกัน แต่การที่ กกต.เรียกสอบก้าวไกลโดยอ้างว่าภาพหาเสียงมีรูปค้อนเคียว รวมทั้งเรียกสอบธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล ครอบงำพรรคซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค ขณะที่ ส.ว.และนักร้องเร่งปั่นประเด็นถือหุ้น ITV ก็ทำให้เรื่องมองเป็นอื่นไม่ได้อยู่ดี

 

ล่าสุด การร้องเรียน “พิธา” ว่าถือหุ้นสื่อเหมือนกับที่เคยเล่นงาน “ธนาธร” ก็มาถึงจุดที่ “พิธา” ระบุว่า “มีความพยายามคืนชีพ ITV เพื่อสกัดกั้นพวกเรา” ซึ่งเท่ากับพิธากำลังบอกว่ามีการสมรู้ร่วมคิดเพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดขวางประเทศไทยมีรัฐบาลจากเสียงข้างมากของประชาชน

เห็นได้ชัดว่า “พิธา” กำลังเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับที่อดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” และอดีตแคนดิเดตนายกฯ ปี 2562 คือคุณ “ธนาธร” เคยเจอ นั่นก็คือการทำให้เสียงของประชาชนซึ่งมักถูกอ้างว่าเป็น “เสียงสวรรค์” หมดความหมายทันทีที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นจน “เสียงสวรรค์” ไม่เท่ากับการจัดตั้งรัฐบาล

ในสามัญสำนึกของประชาชนทั่วไป ถ้าเสียงประชาชนไม่สามารถนำไปสู่การตั้งรัฐบาล ก็แปลว่ามีเสียงอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าประชาชนแทรกแซงจนการตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ไม่ว่าขบวนการนักร้อง, ส.ว. องค์กรอิสระที่พิจารณาคำร้อง, ศาลรัฐธรรมนูญ, ทหาร หรือพรรคการเมืองที่จ้องตั้งรัฐบาลแทน

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เคยเปรียบเทียบก่อนศาลยุบพรรคว่าหนังเรื่องใหม่ที่มีผู้กำกับหน้าเก่าจะจบไม่เหมือนเดิม

คำพูดนี้อนุมานว่าสังคมรู้ว่าใครคือ “ผู้กำกับ” ที่ขัดขวางการตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก รวมทั้งรู้ต่อไปว่าพิธาและพรรคก้าวไกลกำลังโดนแบบที่คุณทักษิณและคุณธนาธรเคยโดน

ในประเทศที่เสรีภาพทางการพูดมีพรมแดนที่หากล่วงละเมิดแล้วโดนคดีอาญา การพูดว่าใครคือ “ผู้กำกับ” ที่อยู่เบื้องหลังการต่อต้านประชาธิปไตยคืออันตรายที่อาจจบในเรือนจำแบบไม่มีกำหนด

แต่ถ้าพูดว่า “นักแสดง” ของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยคือใครนั้นง่ายจนแทบไม่ต้องบอกว่าใครเป็นใคร

 

จุดเด่นของพรรคก้าวไกลซึ่งทำให้คนเลือกถล่มทลายคือความเป็นตรงข้าม “อำนาจเก่า” อย่างชัดเจน คำว่า “อำนาจเก่า” ไม่ได้หมายถึง “สถาบัน” แต่หมายถึงรัฐรวมศูนย์, ระบบราชการ, ทุนผูกขาด, กองทัพ, ตำรวจ, บ้านใหญ่, ส่วย ฯลฯ ซึ่งอาจเรียกโดยรวมว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

การขัดขวางพิธาเป็นนายกฯ คือการขัดขวางไม่ให้ประเทศมีนายกที่มาจากอำนาจประชาชน

แต่ขณะที่ขณะที่ “ผู้กำกับ” หรือ “อำนาจเก่า” พยายามพูดเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อทำลายโอกาสพิธาในการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งประชาชน” สิ่งที่คนกลุ่มนี้คิดไม่ถึงคือยิ่งทำคนยิ่งเห็นว่าศัตรูประชาชนคือใคร

สูตรสำเร็จในการทำลายรัฐบาลจากการเลือกตั้งคือระดมเครือข่าย “อำนาจเก่า” สร้างสถานการณ์ให้เกิดวิกฤต (Manufacturing Crisis) ถึงจุดที่ประชาชนทนไม่ได้จนยอมให้ใครทำอะไรก็ได้เพื่อให้เรื่องนี้จบ (Manufacturing Consent) ซึ่งในที่สุดคือการให้ผู้มีอำนาจหยุดหรือแทรกแซงประชาธิปไตย

คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนักร้องอื่นๆ ยื่นคำร้องเอาผิดพิธาและพรรคก้าวไกลซึ่งนักกฎหมายที่เชื่อถือได้เห็นว่าไร้สาระ แต่ด้วยการยื่นคำร้องซ้ำซากที่คุณเรืองไกรทำไปแล้ว 7 ครั้งกรณีพิธาเป็นผู้จัดการมรดกพ่อในหุ้นไอทีวี

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตอกย้ำความเชื่อว่าพิธามีอุปสรรคในการเป็นนายกมากเหลือเกิน

 

ผู้จัดการมรดกคือคนที่ทำหน้าที่จัดสรรทรัพย์สินจากเจ้าของมรดกให้ผู้รับมรดก ตัวผู้จัดการมรดกจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ตัวเองจัดการในทุกกรณี

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ หากพ่อตายโดยมีที่ดิน 100 ไร่ให้ลูก 5 คน แล้วตั้งลุงเป็นผู้จัดการมรดก ลุงย่อมไม่ใช่เจ้าของที่ดินไปด้วยอย่างแน่นอน

พิธาเป็นผู้จัดการมรดกจากพ่อซึ่งในนั้นคือหุ้นไอทีวี แต่หุ้นนี้ไม่ใช่สื่อ ไม่มีสภาพความเป็นสื่อ และไม่มีรายได้จากการทำสื่อมาหลายสิบปีตามงบการเงินและข้อเท็จจริงที่ทุกคนประจักษ์ พิธาจึงพูดถูกว่าเขาไม่ได้ถือหุ้นสื่อ แต่เป็นแค่ผู้จัดการมรดกให้ทายาท 3 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือหุ้นไอทีวีเท่านั้นเอง

การเป็นผู้จัดการมรดกจะเท่ากับ “ถือหุ้น” หรือไม่เป็นเรื่องที่คนปกติไม่ต้องเถียงกัน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ใครเป็นผู้จัดการมรดกให้ใครก็จะกลายเป็นเจ้าของมรดกนั้นไปในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในสังคมที่ผู้มีอำนาจใช้ความไม่ปกติบิดเบือนหลักการทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจก็ตาม

ต่อให้อ้างว่าผู้จัดการมรดกเท่ากับผู้ถือหุ้นก็ตาม เอกสารรายงานประจำปี 2565 ของไอทีวีก็ระบุว่าบริษัทหยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ 7 มีนาคม 2550 แม้จะมีบริษัทย่อยชื่ออาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ แต่ก็หยุดกิจการแล้วเช่นกัน

แม้จะมีผู้อ้างว่าในรายงานการประชุมสามัญปี 2566 จะมีผู้ถือหุ้นถามบริษัทว่ายังดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ และบริษัทตอบว่ายังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์บริษัท แต่ข้อมูลทางการเงินทั้งในงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบทุกปีตั้งแต่ปี 2550 ก็ชัดเจนว่าบริษัทไม่ได้ทำสื่อแล้วแน่นอน

เมื่อคำนึงว่ามรดกหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นที่พิธาเป็นผู้จัดการมรดกให้แม่และน้องรวม 3 คน เท่ากับได้หุ้นเฉลี่ยคนละ 14,000 หุ้น เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเพียงแค่ 0.0035% ของหุ้นไอทีวีซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่มี 638,602,846 หุ้น จำนวนหุ้นที่พิธามีนั้นน้อยจนไม่สามารถครอบงำไอทีวีได้แน่นอน

 

ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่า ‘พิธา’ และพรรคก้าวไกลเผชิญกระบวนการสร้างวิกฤตตั้งแต่กรณีไอทีวี, ป้ายรูปค้อนเคียว, พูดชื่อสุราพื้นบ้าน, กล่าวหาว่าธนาธรและปิยบุตรครอบงำ หรือแม้กระทั่งล่าสุดคือการปล่อยข่าวว่าจะมีว่าที่ ส.ส.ก้าวไกลถูก กกต.ยกเลิกผลเลือกตั้ง 20 คน ทั้งที่เรื่องนี้ไม่มีมูลเลย

มองในระดับภาพรวม สิ่งที่พิธาและก้าวไกลเผชิญคือการใช้กฎหมาย หรือ “นิติสงคราม” ซึ่งเชื่อมโยงกับวุฒิสภาและองค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งในที่สุดจะลุกลามเป็นการเมืองบนท้องถนนเพื่อกำจัดโอกาสในการเป็นนายกฯ ของพิธาเพื่อไม่ให้มีอำนาจคุมงบประมาณและจัดโผทหารในปี 2567 ได้เลย

พิธาและพรรคก้าวไกลคือชัยชนะของประชาชนต่ออำนาจเก่า, ทหาร, ตำรวจสีเทา, นักการเมืองบ้านใหญ่, เครือข่ายหัวคะแนน, เจ้าพ่อ, พรรคการเมืองเก่า, เจ้าสัว ฯลฯ คนกลุ่มนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นเหมือนขนมเค้กที่แบ่งกินตามแต่ “ดีล” ที่ตกลงกันตามใจชอบสุดแท้แต่อำนาจต่อรองของแต่ละคน

ด้วยความเป็นพรรคและวิธีคิดแบบก้าวไกล นักการเมืองเก่าและพรรคการเมืองเก่าจึงมองพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นศัตรูไปหมด เพราะขณะที่พรรคเหล่านี้ใช้เงินและอิทธิพลเพื่อชนะเลือกตั้ง รวมทั้งทำทุกทางเพื่อคุมกระทรวงที่ต้องการ โดยเฉพาะกระทรวงที่มีโอกาสทำมาหากินเพื่อถอนทุน

ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริงในเวลานี้ พรรคก้าวไกลเดินหน้าสู่ทำเนียบบนเส้นทางที่ประชาชนโอบอุ้มแต่โดดเดี่ยวจากทุกพรรคการเมือง

การทำให้ ‘พิธา’ หมดสภาพความเป็นนายกฯ คือเป้าหมายเบื้องต้นสู่การจัดขั้วการเมืองใหม่ทั้งหมดซึ่ง “การเมืองเก่า” เชื่อว่าเป็นประโยชน์กับตัวเอง

อำนาจรัฐกำลังปะทะอำนาจประชาชนในกรณีนี้ แรงต้านเดียวที่จะทำให้ปฏิบัติการไม่สำเร็จคือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องไม่ถอยในการสู้กับวุฒิสภา

หวังว่าจะไม่มีพรรคการเมืองไหนเห็นอำนาจรัฐดีกว่าอำนาจประชาชน