สมานฉันท์พรรคร่วม ด้วยข้อเสนอ รัฐสวัสดิการและฟื้นฟูแรงงาน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

สมานฉันท์พรรคร่วม

ด้วยข้อเสนอ

รัฐสวัสดิการและฟื้นฟูแรงงาน

 

ผ่านมาเกือบ 30 วัน หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14/05/2566 ความกังวลหนึ่งของประชาชนคือ นโยบายที่มีความก้าวหน้าต่างๆ จะสามารถผลักดันภายใต้พรรคร่วมรัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าจะมีแนวนโยบายที่แตกต่างหลากหลายกันได้หรือไม่

เพราะทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ต่างมีนโยบายจุดเน้นที่ต้องใช้ทรัพยากรในการผลักดันที่แตกต่างกัน

นโยบายที่มีความก้าวหน้าอย่างนโยบายสวัสดิการ นโยบายค่าแรง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้หรือไม่

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมองในเชิงบวก ว่าแม้แต่ละพรรคจะมีจุดเน้นนโยบายที่แตกต่างกัน มีตำแหน่งที่ต้องการแตกต่างกัน

แต่จุดร่วมสำคัญ คือนโยบายด้านสวัสดิการ นโยบายด้านปากท้อง ซึ่งจะสามารถกลายเป็นโซ่ทองของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลให้ร่วมผลักดัน เป็นแนวนโยบายหลักของรัฐบาลร่วมกัน

โดยพิจารณาผ่านแนวสำคัญคือ การกระตุ้นทางเศรษฐกิจระยะสั้น การปฏิรูปด้านค่าแรง และการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

 

ประการแรก ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะทั้งก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ สามพรรครัฐบาลใหญ่ที่สุดสามพรรค ต่างมีจุดยืนสำคัญร่วมกันว่า งบประมาณหลักของประเทศคืองบประมาณสวัสดิการสำหรับประชาชน มากกว่านโยบายด้านความมั่นคง รื้อนโยบาย โครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องผ่านกลุ่มทุนหรือเจ้าสัวขนาดใหญ่

ดังนั้น ถ้าเกิดทั้ง 3 พรรคมีจุดยืนในประเด็นนี้ร่วมกัน โดยการกำหนดงบประมาณที่มีความสำคัญอันดับแรกจะต้องถูกส่งตรงสู่ประชาชน

ซึ่งก็จะเห็นได้จากการทำ MOU หรือย้อนกลับไปถึงนโยบายหาเสียงทั้ง 3 พรรคนี้ไม่ได้มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยยะสำคัญในประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

ประการถัดมา นโยบายฟื้นประเทศมีสามประเด็นหลัก คือสวัสดิการตามช่วงวัย อันนี้ต้องมีเพราะเป็นหลังพิงทำให้ปลอดภัยใช้ชีวิตได้ มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก็ยังต้องมีเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้หลังซบเซา นโยบายค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องดำเนินเพื่อให้เกิดการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น

นโยบายสามตัวนี้จำเป็นพอๆ กันต้องทำงานร่วมกันหลายกระทรวง โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญของนโยบายสามด้านดังนี้

 

1.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

– สร้างแรงจูงใจในการทำงาน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยให้คนที่ทำงานในระดับค่าจ้างต่ำสามารถมีรายได้เพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม การศึกษา และเงินออม ซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตได้ ทำให้ผู้คนเกิดแรงจูงใจในการเข้าตลาดแรงงาน สามารถวางแผนชีวิตในการทำงานได้เป็นระบบมากขึ้น

– กระจายรายได้ เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นซึ่งส่งผลโดยตรงต่อแรงงาน 2-5 ล้านคนในระบบการจ้างงาน ผู้ทำงานรายได้น้อยที่ได้รับค่าจ้างต่ำจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการใช้จ่ายในชุมชน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจและการบริหารจัดการเงินประเทศมีความเสถียรมากขึ้น

– ความรู้สึกปลอดภัยทำให้การทำงานดีขึ้น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลให้คนที่ทำงานอยู่ในระดับนั้นรู้สึกมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และได้รับการยอมรับในการทำงานของตน

ซึ่งอาจช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในระดับนั้น

 

2.นอกจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอ ยังมีความจำเป็นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในช่วงโควิด-19 ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นสามารถมีประโยชน์ต่อสังคมในประเทศไทยได้ในลักษณะต่อไปนี้

– สามารถเป็นจุดเริ่มสร้างงานที่มีคุณภาพ : นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมักเน้นในการสร้างงานที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราว่างงานและนำคนไปทำงานในอาชีพที่มีศักยภาพและมีรายได้สูงขึ้นในอนาคตได้

– กระจายรายได้ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นสามารถช่วยกระจายรายได้ให้เกิดขึ้นในระดับสังคม โดยการสร้างโอกาสในการทำงานและธุรกิจใหม่ผ่านการเพิ่มการบริโภคของคนในสังคมปรับปรุงสภาพสังคม

นอกจากนี้ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบพุ่งเป้าจะสามารถปรับปรุงสภาพสังคมในมิติเฉพาะต่างๆ เช่น การศึกษา หรือสาธารณสุข

 

ประการสุดท้าย สิ่งที่จะเป็นพระเอกสำคัญที่จะทำให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการปรับปรุงแนวนโยบายรัฐสวัสดิการ การขยายระบบสวัสดิการพื้นฐาน

ไม่ว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า สิทธิการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี หรือเงินบำนาญถ้วนหน้า

จะทำให้ผู้คนสามารถเติบโตกันได้อย่างเท่าเทียมกัน ในฐานะสิทธิพื้นฐานของมนุษย์

ลักษณะเช่นนี้จะเป็นการทำให้คนก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มศักยภาพของตนเอง พร้อมทั้งการทำให้ความเปราะบางเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทุเลาความรุนแรงลงไปได้เนื่องด้วยการมีหลังพิงจากนโยบายสวัสดิการ ซึ่งก็จะทำให้การกระตุ้นนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อหวังผล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพราะเมื่อผู้คนรู้สึกปลอดภัย ท้องอิ่ม เป็นอิสระจากความกลัว ความหิวและความจน การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะตรงจุดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว การบริโภคในท้องถิ่น จะสามารถทำได้ตรงเป้าหมาย

หากทำในสังคมที่ผู้คนมีหลังพิงปลอดภัยย่อมจะเต็มประสิทธิภาพมากกว่าสังคมที่ผู้คนโหยหิว ยากจน และหวาดกลัว

จะเห็นได้ว่า นโยบายการฟื้นฟูแรงงานทั้งสามด้าน จำเป็นต้องผลักดันคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ การมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงนโยบายปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐาน หากเกิดขึ้นพร้อมกันย่อมทำให้นโยบายอื่นทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มนโยบายที่มีจุดร่วมตรงกันในพรรคร่วมรัฐบาล การนำนโยบายรัฐสวัสดิการเป็นตัวตั้งจะเป็นจุดเริ่มให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอย่างราบรื่นมากขึ้น