‘ทิม’ พิธา : คนแซ่ ‘ลิ้ม’ กับการถ่วงดุลจีน-สหรัฐ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

‘ทิม’ พิธา : คนแซ่ ‘ลิ้ม’

กับการถ่วงดุลจีน-สหรัฐ

 

นโยบายต่างประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ (ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี) จะถูกจับตาเป็นพิเศษ

เพราะความท้าทายเรื่อง “รักษาดุลถ่วงอันเหมาะสม” ระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นประเด็นร้อนแรงที่กำหนดทิศทางของประเทศไทย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลที่ได้ที่นั่งสูงสุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกถามถึงแนวทางของนโยบายต่างประเทศหากเขาเป็นผู้นำประเทศ

มีคนสงสัยว่าเขาเรียนหนังสือจากสหรัฐฯ ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศนั้นมีความโน้มเอียงไปทางตะวันตกหรือไม่

สัปดาห์ก่อน พิธาไปออกรายการ “กรรมกรข่าวคุยนอกจอ” ทางช่อง 3 ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องจุดยืนของเขาระหว่างจีนกับสหรัฐ

ตอนหนึ่ง เขาตอบว่า

“(ผม) แซ่ลิ้ม ยังไงก็ต้องดูแล (ความสัมพันธ์ไทย-จีน) ความใกล้ชิด (Proximity)”

“มันก็อยู่ในนามสกุลผมอยู่แล้ว คือเราก็จะต้องสามารถที่จะพูดคุยกับทางจีนได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาสมดุลกับประเทศทางสหรัฐด้วยเช่นเดียวกัน เพราะว่าก็เป็นมิตรประเทศของเรามานาน”

พิธาบอกว่า “อเมริกาไม่ได้อยู่เบื้องหลังผมครับ…ประชาชนคนไทยอยู่เบื้องหลังพพรคก้าวไกลในการทำงาน”

เขายืนยันว่า “ในเรื่องการต่างประเทศ มันต้องมีการหาสมดุลระหว่างมหาอำนาจในระหว่างประเทศอยู่แล้ว เราก็ต้องยึดผลประโยชน์ของชาติของเรากับชาติของเค้าเป็นที่ตั้ง แล้วก็ยึดหลักการเป็นที่ตั้ง”

“มันหมดยุคของการต่างประเทศเอียงข้าง เหมือนเราเป็นเพื่อนใครเราก็ไปเข้าข้างคนนั้น ในเรื่องของหลักการคือยึดหลักการให้มั่น ยิ่งเขาเป็นเพื่อนเรา ถ้าหากเขาทำถูกเราก็ต้องสนับสนุน แต่สิ่งใดที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องกล้าที่จะพูดในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน”

พิธาบอกว่า “ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ผมได้คุยกับทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายอเมริกา มีอยู่สิ่งเดียวที่เค้าต้องการตรงกันและไม่เห็นแตกแยกกัน คือเสถียรภาพในเมียนมา…”

ผมเชื่อว่าในท้ายที่สุด แนวทางนโยบายต่างประเทศของไทยต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะให้ประเทศไทยกลับไปสู่ “จอเรดาร์ของโลก” ได้อย่างไร

 

ถ้าฟังพิธาพูดเรื่องการทูตไทย ก็จะได้ยินหลายประโยคที่น่าวิเคราะห์

ถ้าเราไม่ใช้นโยบาย Bamboo diplomacy (การทูตลู่ตามลม)

จะไม่ยึดแต่เพียง Quiet diplomacy (การทูตแบบเงียบงัน ไม่โฉ่งฉ่าง)

แต่จะใช้การทูต “เชิงรุก” แทน

ถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ผมคุยกับ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ซึ่งพิธาบอกว่าเป็น “หัวหน้าทีมงานด้านต่างประเทศ”

เริ่มด้วยคำถามว่าบางคนตั้งข้อสังเกตว่าพรรคก้าวไกลดูเหมือนจะมีความเลื่อมใสศรัทธาตะวันตกมาก

มีคนกลัวด้วยซ้ำว่าหากพรรคก้าวไกลขึ้นมาบริหารรัฐบาล ก็อาจจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ

และจะทำให้จีนมองไทยเป็นศัตรู

ซึ่งอาจจะทำให้ไทยกลายเป็นจุดปะทะระหว่างสองมหาอำนาจจนเราเสียหาย

ฟูอาดี้บอกว่า “ไม่มีอย่างนั้นแน่นอน เพราะคุณพิธาได้พูดออกสื่อหลายครั้งแล้วว่าเขาไม่ต้องการเห็นประเทศไทยอยู่ต้นร่มเงา (umbrella) ของมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

“เราต้อง rebalance หรือปรับสมดุลให้ได้ระหว่างผลประโยชน์และอิทธิพลของประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้”

ฟูอาดี้สะท้อนแนวคิดที่ว่าประเทศไทยจะเดินตาม “ค่านิยม” ที่เป็น “เสรีนิยม” ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ (human security) และการเคารพซึ่งกันและกัน

“เราเชื่อว่าเราสามารถยืนอยู่อยู่ตรงนี้ได้ และสามารถเชื่อมต่อพูดคุยกับทั้งสหรัฐและจีนได้…”

 

ฟูอาดี้เล่าว่าพิธาเคยไปพบทูตจีนก่อนการเลือกตั้งมาแล้ว

“และเป็นบทสนทนาที่สะท้อนว่าทั้งสองคนเข้ากันได้ดี…”

ในความเป็นจริงแล้ว ไทยไม่สามารถเลือกข้างระหว่างมหาอำนาจอยู่แล้ว

ไทยต้องค้าขายกับจีน และจีนก็ส่งสินค้ามาไทยเยอะ นักท่องเที่ยวจีนก็มาไทยเป็นจำนวนมาก

“ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เราหนีจากกันไม่ได้อยู่แล้ว”

ส่วนอเมริกานั้นแม้จะห่างกันทางด้านภูมิศาสตร์ แต่ก็มีความสัมพันธ์กับสหรัฐมายาวนาน เป็นพันธมิตรทางการทหารที่สำคัญต้นๆ ของไทย

นั่นแปลว่าไทยจะต้องมีความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ (engage) ทั้งกับสหรัฐและจีน

ฟูอาดี้ตั้งข้อสังเกตว่าทั้งโลกกำลังจับตาไทยอยู่หลังการเลือกตั้ง

“เราเข้าสู่ประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในกว่า 8 ปี และเป็นที่กล่าวขวัญกันเสมอว่านโยบายต่างประเทศต้องเริ่มที่บ้านหรือ Foreign policy starts at home…”

ดังนั้น เมื่อเรามีบ้านที่แข็งแรง มีพื้นฐานและค่านิยมใหม่ ซึ่งเป็นค่านิยมที่หลายๆ ประเทศยึดถือเหมือนกัน

“นั่นทำให้อำนาจต่อรองของเราเพิ่มขึ้นโดยปริยาย”

ฟูอาดี้บอกว่า “เราจะเป็นรัฐบาลแรกตั้งแต่ยุครัฐบาลชวน 2 ที่จะสามารถพูดเรื่องสิทธิ เรื่องค่านิยมที่มีความเป็นเสรีนิยมสากลในเวทีนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง…”

 

ผมถามว่าในแนวคิดนี้ ไทยเราจะกลับมาสู่ “จอเรดาร์โลก” ได้อย่างไร?

เป็นที่มาของนโยบาย 3 หลักการหรือ 3Rs

Revive, rebalance, recalibrate

ข้อแรกคือ Revive Thailand’s leadership หรือฟื้นฟูความเป็นผู้นำของไทยในภูมิภาคอาเซียน

หนึ่งในลำดับความสำคัญประเด็นนี้คือการปรับท่าทีของรัฐบาลไทยต่อพม่า “โดยทันที”

ด้วยการทำให้ทุกฝ่ายมีความรู้สึกมีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตของเพื่อนบ้านด้านตะวันตกแห่งนี้ที่เรียกว่า inclusive policy

“…ไม่เฉพาะในระดับอาเซียน แต่ต้องหมายรวมถึงชุมชนต่างๆ ของพม่าเอง ชนกลุ่มน้อย ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย”

“เราต้องยึดหลักที่ว่าถ้าพม่ามีความสงบ ที่ทุกคนมีส่วนร่วม จะช่วยลดปัญหากับประเทศไทยได้…”

หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนก็คือความช่วยเหลือข้ามพรมแดนให้กับชาวพม่าที่รอความหวังอยู่

เพื่อให้ความช่วยเหลือและสินค้าต่างๆ เข้าไปพม่าผ่านชายแดนที่ติดอยู่กับประเทศไทยให้สะดวกขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์พม่าในตอนนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะเรามีผลประโยชน์อย่างอื่นแฝงอยู่ด้วย เช่นทุกวันนี้คนพม่าที่หนีเข้าไทยมานั้นมีทั้งผู้ประกอบการ, นักธุรกิจ, ชนชั้นกลาง, หมอ ซึ่งต่างไปจากผู้อพยพในอดีต…”

หากไทยตั้งรับให้ดีขึ้น มีกฎเกณฑ์ที่จะรับศักยภาพมนุษย์จากเพื่อนบ้านก็จะช่วยให้ไทยเราได้รับประโยชน์ในแง่ของคนที่มีคุณภาพมาตอบโจทย์สังคมคนสูงวัยของเราเองด้วย

ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงต้องมีนโยบายที่เชื่อมต่อกับพม่าไม่ว่าจะเป็นที่ชายแดน เช่น แม่สอด และจุดอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

 

ข้อสองคือ Rebalance หรือปรับดุลความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐ

“ไทยเราสามารถเล่นบทเป็น Middle Power หรืออำนาจระดับกลาง…หรือมากกว่านั้นในบางเรื่องด้วยซ้ำ…ที่สามารถบาลานซ์ระหว่างสองมหาอำนาจ”

ฟูอาดี้บอกว่าต้องยอมรับว่าในบางครั้งต่างประเทศอาจมองว่าเราเอียงไปจีนมากเกินไปด้วยซ้ำ

“ก็เข้าใจได้ เพราะตอนเกิดรัฐประหารปี 2557 นั้น สหรัฐก็ลดระดับความสัมพันธ์กับเรา แต่ตอนนี้เรามีประชาธิปไตยที่เบ่งบาน เรามีฟื้นฐานด้านสังคมที่ดี ทุกประเทศก็อยากจะคุยกับเรา ยิ่งอเมริกาก็อยากจะคุยกับเราเหมือนกัน…เราจึงต้องหาประโยชน์จากตรงนี้ให้ได้…”

 

ข้อสามคือ Recalibrate หรือ “ปรับมาตรฐาน”

“เราถูกมองว่าเราไม่ค่อยจะมีความกระตือรือร้นที่จะมีบทเป็นผู้นำมาก่อน กระทรวงต่างประเทศเคยใช้คำว่า Quiet diplomacy แต่ตอนนี้เราควรจะใช้คำว่า Active diplomacy ได้แล้ว และเราควรเป็นผู้นำในบางเรื่องได้เช่นเรื่องพม่า เรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เราก็ควรจะเป็นผู้นำได้…”

ฟูอาดี้มองว่าไทยจะต้องพยายามทำให้อาเซียนเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของกลุ่ม 10 ประเทศ (ตอนนี้อาจเป็น 9 ประเทศไปก่อน)

“ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของคนไทยเราเอง…”

พิธาเคยบอกว่านโยบาย “การทูตแบบเงียบ” นั้นอาจจะทำให้ขาดน้ำหนัก

เขาบอกว่า “No words, no weight” (ถ้าไม่พูดอะไรเลยมันจะมีน้ำหนักได้อย่างไร)

นั่นย่อมแปลว่าการทูตแบบ “เงียบงัน” กับ “การทูตเชิงรุก” นั้นอาจจะต้องเดินไปด้วยกัน

เลือกใช้ตามจังหวะและสาระที่วิเคราะห์รอบด้านแล้วว่ามีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศมากน้อยเพียงใด

หรือที่พิธาเคยแยกเป็น A la carte กับ Buffet นั่นแล

ส่วนจะทำได้ในแง่ปฏิบัติหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอพิสูจน์กัน!