‘ครั้งนี้…กูไม่ยอม…!’ กกต., ส.ว. และรัฐธรรมนูญ’60 คือชนวนระเบิด

มุกดา สุวรรณชาติ

ปี 2554 ใช้เวลา 9 วัน
รับรองผลการเลือก ส.ส.
ตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 33 วัน

ชัยชนะจากการเลือกตั้งในระบบ 2 ใบ ปี 2566 มีทั้งความเหมือนและความต่างจากปี 2554

การเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75.03% กกต.พิจารณารับรองผลได้เร็วมาก วันที่ 12 กรกฎาคม ประชุมกันถึงค่ำ ก็รับรอง ส.ส.ได้ 350 คนเป็นชุดแรก

วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 296 ต่อ 3 (งดออกเสียง 197) เลือกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ด้วยวัย 44 ปี อายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี

(ปัจจุบันแคนดิเดตนายกฯ ที่อายุน้อยคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อายุ 42 ปี และแพทองธาร ชินวัตร อายุ 36 ปี)

นายกฯ ยิ่งลักษณ์จัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว รวมแล้วมี 300 เสียง

บรรยากาศการเมืองโดยทั่วไป แม้ห่างกัน 12 ปี แต่มีความเหมือนกันคือแม้ชนะเลือกตั้งแล้วแต่ดูเหมือนยังมีภัยคุกคามจากอำนาจเก่าครอบงำอยู่

ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะกลับต้องกังวลและวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายตนเอง ที่อาจจะถูกกระทำการใดๆ จนไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายอำนาจหรือแม้กระทั่งอาจถูกดำเนินคดี

 

แม้ชนะเลือกตั้ง
ยังมีแรงกดดันจากจากอำนาจเก่า

ชัยชนะในปี 2554 และ 2566 ในระดับยุทธศาสตร์เหมือนกันตรงที่ เป็นเพียงแค่การลุกขึ้นมายันกับกลุ่มอำนาจเก่าได้เท่านั้น หลังจากเป็นฝ่ายตั้งรับมาหลายปี (ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงการล้อมปราบ 2553 ส่วนยุคปัจจุบันก็โดนกดดันตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ต่อด้วยการสืบทอดอำนาจ 2562-2566)

ชัยชนะในปี 2566 ฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนเสียงหลักจาก 2 พรรคใหญ่คือได้ ส.ส.พรรคก้าวไกล 151 เสียง 14.43 ล้านคะแนน และเพื่อไทย 141 เสียง 10.96 ล้านคะแนน เมื่อรวมกันประมาณ 25 ล้าน

ในขณะที่ปี 2554 เป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวได้ ส.ส. 265 เสียง ได้คะแนนประมาณ 15.7 ล้าน

แต่เสียงของประชาชนหลายล้าน อาจไม่สามารถหยุดยั้งอำนาจจากตุลาการภิวัฒน์ ที่มีเหนือรัฐบาลและสภา ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ใช้หลังรัฐประหาร ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าได้วางยาไว้แล้ว

รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นมาก็เพื่อจุดประสงค์ในการสืบทอดอำนาจ ไม่รู้ว่าเรียนแบบของพม่าหรือพม่าเลียนแบบไทย แต่ของพม่านั้นได้ตั้งสภาและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2558

(รัฐธรรมนูญพม่าเขียนไว้ว่า สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 75% อีก 25% ต้องเป็นทหาร ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดังนั้น ในรัฐสภา 664 คนจะมาจากการแต่งตั้ง 166 คน คือแต่งตั้ง 1 ใน 4)

ส่วนรัฐธรรมนูญไทยนั้น ทั้งรัฐสภา 750 คนมาจากการแต่งตั้ง 250 คน แสดงว่ามาจากการแต่งตั้ง 1 ใน 3

ความวุ่นวายหลังเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันนี้ และอาจขยายใหญ่ขึ้นในวันหน้า จึงมีสาเหตุมาจาก กกต., ส.ว. และรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจเก่า เตรียมตัวรับผิดชอบกันให้ดี

เพราะ…นานวันเข้า ความวิตกของประชาชน จะกลายเป็น…ความโกรธแค้น

 

วิเคราะห์โครงสร้างอำนาจ
หลังเลือกตั้ง 2566 ได้ดังนี้

1.อำนาจนิติบัญญัติ ผู้ชนะเลือกตั้งยังไม่ได้เปรียบ แม้มีเสียงในสภาผู้แทนฯ เกินกว่า 300 คนจาก 500 คน แต่ในกลุ่มอำนาจเก่ามี ส.ว. 250 คนมาขวางการตั้งนายกรัฐมนตรี นี่จะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในบ้านเมือง

2. ดังนั้น อำนาจบริหารของฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งจะตั้งรัฐบาลจึงยังไม่เกิดขึ้นและยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นแบบใด ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจ และการบริหาร

3. อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังการเลือกตั้งเพราะกรรมการองค์กรอิสระส่วนใหญ่ถูกแต่งตั้งมาจากคณะ คสช.

ดังนั้น กลุ่มอำนาจเก่าจึงยังสามารถใช้กฎหมายและดุลพินิจหรืออ้างยุทธศาสตร์ชาติ กดดันฝ่ายบริหารชุดใหม่ได้ต่อไป นี่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน

4. อำนาจทางการทหารยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ว่าจะมายืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย แม้ได้เป็นรัฐบาลและสามารถตั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แต่สภาพความเป็นจริงในประเทศไทย รัฐมนตรีกลาโหมสั่งทหารไม่ได้

อีกทั้งสายบังคับบัญชาปัจจุบันมีการรวมศูนย์อำนาจ ที่น่าจะเบี่ยงเบนออกไปจากการควบคุมของรัฐบาล ฝ่ายประชาธิปไตย

อำนาจทหารจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สงบ หรือรุนแรง

 

ประเมินพลังมวลชน
ที่เชื่อมผ่านอินเตอร์เน็ต

มวลชนกลุ่มอนุรักษนิยม ที่เคยมีอำนาจเก่าหนุนหลังยังเหลืออยู่แต่ไม่มากเหมือนเมื่อครั้งมีม็อบพันธมิตรฯ และม็อบ กปปส. ถ้าพิจารณาจากคะแนนที่เลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะพบว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคะแนนฝ่ายก้าวหน้าสูงกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมหลายเท่า เช่น กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร ฯลฯ

พลังมวลชนก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่และมีความเข้มข้นทางการเมืองสูง เมื่อเชื่อมผ่านอินเตอร์เน็ต จะกลายเป็นกำลังพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่ากลุ่มอำนาจทุกกลุ่ม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพทางความคิด ถ้ามีม็อบก็จะเกิดจากกลุ่มนี้

พลังนี้ถ้ายิ่งถูกบีบก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นและแรงขึ้น ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือความรุนแรงที่บีบคั้นมากๆ พลังส่วนนี้จะแรงไปตามสถานการณ์ทันที

ถ้าเสียงของประชาชนหลายล้านคนที่เลือก ส.ส.ในวันนี้ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแนวคิดของกลุ่มอำนาจเก่า ให้เข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ถ้าความหวังของประชาชนถูกทำลาย จะทำให้แค้นที่ฝังลึก ระเบิดออกมา

ความอยุติธรรมจะทำให้ให้เกิดการปะทะทางการเมืองนอกสภา

 

ความรุนแรงทางการเมือง…
ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ
ของผู้มีอำนาจบารมี

เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ก่อนนายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่ง 5 วัน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามคิดว่าคงไปไม่ได้สักกี่น้ำ แต่พอเป็นนายกฯ ได้แค่ปีกว่าชื่อเสียงและความนิยมทำให้กลุ่มอำนาจเก่าจึงตัดสินใจที่จะล้มรัฐบาลโดยใช้สูตรเดิมคือ ม็อบ ตามด้วยตุลาการภิวัฒน์และรัฐประหาร

สำหรับรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นในปี 2566 ใครก็รู้ว่ารัฐบาลใหม่ชุดนี้จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ โครงสร้างอำนาจถูกกระทบทุกส่วน ผลประโยชน์ที่เคยเอาเปรียบ และคดโกงจะต้องเสียไป กลายเป็นประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเปิดกว้างโอกาสที่จะบริหารประเทศให้ค่อยๆ ฟื้นตัวก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นแบบนี้ รัฐบาลประชาธิปไตยก็จะมีโอกาสได้รับความนิยมต่อเนื่อง

กลุ่มอำนาจเก่าจะแก้เกมอย่างไร…จะกล้าตัดสินใจล้มเสียงของประชาชนหลายล้านเสียงทันทีหรือไม่? ถ้าทำประชาชนจะมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างไร?

หรือจะปล่อยให้บริหารกันไปก่อนเผื่อรัฐบาลใหม่จะทำพลาดแล้วมาล้มทีหลัง

วิเคราะห์ล่วงหน้า…ไม่ว่าจะใช้ตุลาการภิวัฒน์หรือรัฐประหาร ก็จะพบคำตอบว่า

“ครั้งนี้…กูไม่ยอม…! ”