60 วันอันตราย ในมือของ กกต.

สมชัย ศรีสุทธิยากร

วรรคสี่ ของมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบผลการเลือกตั้งว่าเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็ว ให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

การบัญญัติหลักการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจในการวินิจฉัยกรณีการเลือกตั้งไม่สุจริต ให้อยู่ในช่วง 60 วันหลังวันเลือกตั้ง

จะให้ใบเหลือง (เลือกตั้งใหม่ ใช้ชื่อผู้สมัครชุดเดิม) หรือใบส้ม (เลือกตั้งใหม่ ดึงผู้สมัครที่ทุจริตออกจากการเป็นผู้สมัครชั่วคราว 1 ปี) ถือว่าอยู่ในอำนาจของ กกต.

แต่หากประกาศผลไปแล้ว อำนาจดังกล่าว จะต้องนำไปผ่านการพิพากษาของศาล เป็นใบเหลือง (เลือกตั้งใหม่ สมัครใหม่) ใบแดง (เลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิการเมือง 10 ปี) ใบดำ (เลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต) แล้วแต่กรณีที่ศาลจะมีคำตัดสิน

60 วันหลังวันเลือกตั้ง จึงเป็น 60 วันอันตรายของนักการเมืองและมีความหมายสำหรับพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

 

พัฒนาการของขอบเขตอำนาจ

แรกสุดในสมัยคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่หนึ่ง ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาดังกล่าว มีการให้ใบเหลืองใบแดงอย่างมหาศาลและให้แล้วให้อีกหลายรอบ จนเป็นเหตุไม่สามารถได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมาจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว

รัฐธรรมนูญในฉบับถัดมาจึงมีการกำหนดกรอบเวลาให้ต้องประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ภายในเวลา 30 วัน

กรอบเวลาดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินพิจารณาวินิจฉัยคดีทุจริตเลือกตั้งได้ทัน จึงมีวลีที่กล่าวว่า “ปล่อยไปก่อนตามสอยทีหลัง” และแทบจะไม่มีเวลาสำหรับการให้ใบเหลืองใบแดงก่อนการประกาศผลได้

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังการรัฐประหารปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ขอเพิ่มเวลาที่อยู่ในเขตอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งจาก 30 วัน เป็น 60 วัน

 

เลือกตั้งปี 2562
มีแจกแค่ 1 ใบส้ม

การขยายเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน ใช้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2562 ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว 1 ปี (ใบส้ม) ให้แก่นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเหตุถวายเงินแก่พระ 2,000 บาท

ใบส้มดังกล่าว เป็นเพียงใบเดียวที่ กกต.ให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กลับตามมาด้วยการยกฟ้องของศาลอาญา และการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายคืนจากผู้สมัคร

ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ กกต.ต้องชดใช้เงินมากกว่า 60 ล้านบาท และอยู่ในขั้นฎีกาของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อศาลฎีกา

การขยายเวลาดังกล่าว จึงไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่า กกต.ได้ใช้เวลาดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ในการพิจารณาคดีทุจริตเลือกตั้ง มีใบส้มเพียง 1 ใบ แถมยังเป็นใบส้มที่มีการวินิจฉัยผิดพลาดซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องในการดำเนินคดีที่สร้างความเสียหายต่อรัฐ

 

คดีที่อยู่ในมือของ กกต.
ในช่วง 60 วัน

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ได้ผ่านไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแก่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีการให้ข่าวว่ามีผู้สมัครเขตที่ถูกร้องเรียนราว 20 คน และมีคดีต่างๆ ทั้งคดีใหญ่และคดีเล็กราว 280 คดี โดยมีหลายคดีเป็นที่กังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อการจับมือจัดตั้งรัฐบาลของขั้วการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจนกลายเป็นความผกผันทางการเมืองครั้งใหม่หรือไม่

แต่คดีที่น่าจะอยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุด กลับไม่ใช่คดีทุจริตเลือกตั้ง กลับเป็นประเด็นคดีคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3) ในกรณีที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อทั้งการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เพราะในมาตรา 89 ถัดไป ได้ระบุคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อตามมาตรา 88 ต้องมีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และในมาตรา 160(6) ได้ระบุว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

นั่นคือ วนกลับไปที่ตัวผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถถือหุ้นสื่อได้ด้วย

คดีในเรื่องคุณสมบัตินี้ ไม่อยู่ในกรอบ 60 วัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน เพราะในมาตรา 82 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญระบุว่า หลังจากการมีการรับรองเป็น ส.ส.แล้ว หากพบว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการสิ้นสภาพ ส.ส.

จึงเป็นที่มาของการลำดับเหตุการณ์ว่าต้องรับรอง ส.ส.ก่อน จึงจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

เมื่อมีคำร้อง กกต.
สมควรเร่งรีบพิจารณา

แม้ประเด็นการพิจารณา ส.ส.ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ไม่ได้มีกรอบเวลาในการพิจารณา กล่าวคือ พบเมื่อใด สรุปได้เมื่อใดค่อยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสภาพ ส.ส.

แต่สำหรับกรณีหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี การค้างคาคดีในขั้นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยว่ามีความผิดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่อยู่ระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีความผิดตามที่ กกต.ส่งเรื่องมาหรือไม่ก็ตาม

ประเด็นดังกล่าว จะกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของวุฒิสภาเพื่อเป็นข้ออ้างในการงดออกเสียงหรือไม่รับรองนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่ามีความไม่สง่างามและไม่สมควรลงมติเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้ความเห็นชอบจากประชาชนมากกว่า 14 ล้านเสียงแล้วก็ตาม

การดึงเรื่องไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ล่าช้าโดยอ้างกรอบ 60 วัน การไม่เร่งรีบในการวินิจฉัยคุณสมบัติโดยตั้งใจรอให้พ้นกรอบ 60 วันไปก่อนเพื่อให้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญสามารถมองได้ว่าเป็นเจตนาที่นำไปสู่การขัดขวางการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง

ผลคือ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล อาจไม่สามารถผ่านด่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง ซึ่งเป็นเงื่อนไขในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่าจะสามารถรวบรวมเสียงสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 312 เสียงแล้วก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าจะมีการเสนอชื่อรอบใหม่จากพรรคก้าวไกลโดยยืนยันชื่อเดิม หรือเสนอชื่อใหม่จากพรรคลำดับสองคือพรรคเพื่อไทย และพอถึงเวลาก็ยังอาจมีข้ออ้างใหม่ๆ ได้อีก

แต่หากอยากเล่นเกมยาวแบบนี้ พรรคที่ชนะเลือกตั้งและครองตำแหน่งประธานรัฐสภา ก็มีวิธีในการจัดการกับรัฐบาลรักษาการได้

มีผูก ก็มีแก้ และแก้ได้แบบเจ็บแสบด้วย