ก้าวสู่เส้นทางกีฬา แม้กำแพงศาสนา มิอาจขวาง

บทความพิเศษ | พาราติรีตีส

 

ก้าวสู่เส้นทางกีฬา

แม้กำแพงศาสนา

มิอาจขวาง

 

กีฬานับเป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับอารยธรรมนุษย์มานานนับพันปี ฝ่าฟันกระแสสังคม การเมืองและศาสนาจนมาถึงปัจจุบัน มีนักกีฬาที่มีพื้นเพทางศาสนาที่เรียกว่าเคร่งครัดและยึดถือกฎค่านิยมที่บางครั้งเหมือนปิดโอกาส จนไม่เห็นศักยภาพของคนเหล่านี้ได้ ยิ่งบางศาสนาที่จำกัดบทบาทของผู้หญิงด้วยแล้ว จะยิ่งเรียกว่ายากขึ้นไปอีก

ยกตัวอย่างวัฒนธรรมมุสลิมในตะวันออกกลางหรือประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่ดครัด ก็มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เข้มงวดกับผู้หญิงทั้งการประพฤติตนไปจนถึงเครื่องแต่งกาย ยิ่งกีฬาที่ต้องใช้ความคล่องตัวสูงซึ่งหมายถึงเครื่องแต่งกายตามมาตรฐาน แต่อาจไม่ได้เป็นไปตามหลักศาสนา ก็เหมือนทำให้พวกเธอถูกบีบให้จำยอม

แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย เลือกก้าวข้ามข้อจำกัดทางศาสนา และตามความฝันเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงด้วยศักยภาพของพวกเธอเอง

ในปัจจุบันมีกีฬาหลายชนิดที่มุสลิมีน (ผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม) สามารถเล่นหรือลงแข่งขันได้ด้วยชุดกีฬาที่ยังคงยึดตามหลักศาสนา

แต่ก็มีกีฬาบางประเภทอย่างกรีฑาหรือเทนนิสที่ใช้ความคล่องตัวสูงซึ่งหมายถึงเครื่องแต่งกายจะต้องพอดีกับสรีระร่างกายเพื่อการเล่นกีฬา แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะประเทศที่เคร่งครัดในศาสนาหรือสังคมที่อนุรักษนิยมสูง

การเผยสัดส่วนร่างกายที่ไม่ได้ปกคลุมเรียกว่าร้ายแรงมาก แต่ก็มีผู้หญิงหลายคนก้าวข้ามข้อห้ามและไม่กลัวถึงผลที่จะได้รับตามมา หรือเลือกแสดงความเป็นมุสลิมีนในการเล่นกีฬา

นิฆัท ซารีน นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นวัย 25 จากเขตนิซามาบัด รัฐเตลังคานาของอินเดีย ซึ่งครอบครัวของนิฆัทเป็นมุสลิม เธอพาตัวเองติดทีมชาติอินเดียลงแข่งในเอเชี่ยนเกมส์และศึกมวยหญิงแชมป์โลกของไอบีเอ

“แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะรักษาร่างกายของคุณหลังจากการแข่งขันที่หนักหน่วงและเข้มข้นเช่นนี้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ หลังจากที่เรากลับมาที่อินเดีย เราหยุดเพียงหนึ่งวันและเริ่มฝึกอีกครั้งสำหรับการทดสอบ หลังจากชกมวยมากประสบการณ์และนักมวยฝีมือดี ฉันมีแรงผลักดันและความมั่นใจที่จะทำได้ดี” นิฆัทกล่าว

ทั้งนี้ นิฆัทเตรียมตัวสำหรับการลงแข่งในกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส และนิฆัทเองก็ได้เซ็นสัญญากับแบรนด์กีฬาดังอย่างอาดิดาสในปี 2017 ภายใต้แคมเปญ “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้” (Impossible is nothing) เพื่อสะท้อนการเดินทางบนเส้นทางนักชกของเธอจนถึงตอนนี้

โดยนิฆัทกล่าวว่า แคมเปญนี้สะท้อนถึงเรื่องราวของฉันและมันก็เพิ่มเรื่องราวของฉันเข้าไปด้วย เมื่อฉันเริ่มชกมวย หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่สาวมุสลิมจะสร้างชื่อในวงการมวย แต่ฉันเชื่อในตัวเองและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าคิดผิด ผู้หญิงก็ชกมวยได้

ฉันแสดงให้พวกเขาเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

หรืออีกกรณีอย่างเรื่องราวของ มาจิซิยา บานู ทันตแพทย์ศัลยกรรมจากเมืองเกราละ ที่เลือกเส้นทางเป็นนักกีฬายกน้ำหนักและงัดข้อระดับแชมป์เอเชีย โดยเธอมีความตั้งใจและฝึกฝนเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางร่างกายทั้งชกมวยและยกน้ำหนัก ระหว่างเรียนทันตแพทยศาสตร์ จนเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ทำงานพร้อมกับกรุยเส้นทางกีฬาที่เธอตั้งใจ

เมื่อถามถึงความสำเร็จของเธอจนถึงปัจจุบัน มาจิซิยาเล่าถึงความสำเร็จนับไม่ถ้วน โดยเธอได้รับการประกาศให้เป็น ‘Strong Women of Kerala’ 3 ครั้งโดยสมาคมยกน้ำหนักของรัฐเกราละ ตั้งแต่ปี 2016

ได้รับรางวัลเหรียญเงินในการแข่งขัน Asian Powerlifting Championship ในเดือนพฤษภาคม 2017ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย

คว้าเหรียญเงินในการแข่งขัน Asian Classic Powerlifting Championship ในเดือนธันวาคม 2017

และได้รับรางวัล Miss Kerala Fitness Physique Model ในปี 2018

นอกจากนี้ มาจิซิยามีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นในบรรดานักกีฬาหญิงคือสวมชุดกีฬาพร้อมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน โดยเธอได้เน้นย้ำกับสื่อต่างๆ ว่าเธอน่าจะเป็นนักกีฬาหญิงมุสลิมอินเดียคนแรกที่ทำเช่นนั้น

เมื่อพูดถึงมุมมองของเธอเกี่ยวกับฮิญาบ มาจิซิยากล่าวว่า “ฮิญาบคือตัวตนของฉันในฐานะมุสลิมีนและเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายประจำวันของฉัน ฉันรู้สึกสบายและมั่นใจมากเมื่อสวมใส่มัน มันไม่เคยจำกัดฉันในทางใดทางหนึ่ง แต่มันทำให้ฉันรู้สึกภาคภูมิใจและพิเศษ”

มาจิซิยากล่าวด้วยว่า มันทำให้เธอมีความแข็งแกร่งและศักดิ์ศรีที่จะทำตามความปรารถนาของเธอในขณะที่ยึดมั่นในศาสนาของเธอ ฉันเชื่อว่าถ้าผู้หญิงมีอิสระที่จะโชว์เรือนร่างของเธอ

ฉันก็ควรมีอิสระที่จะปกปิดร่างกายเช่นกัน