คณะทหารหนุ่ม (43) | สงครามรุมเร้ารอบด้าน กับการขึ้นนายกฯ ของ “พล.อ.เปรม”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

สงครามสั่งสอน

สาธารณรัฐประชาชนจีนเชื่อว่า การเข้ายึดครองกัมพูชาของเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปิดล้อมจีนทางด้านใต้ตามแผนยุทธศาสตร์โซเวียต จึงหาทางขัดขวางความพยายามอย่างเต็มที่ด้วยการเปิด “สงครามสั่งสอน” ต่อเวียดนามบริเวณติดพรมแดนจีน ระหว่าง 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 ถึง 16 มีนาคม พ.ศ.2522 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ทำให้แผนการยึดครองกัมพูชาโดยเบ็ดเสร็จของเวียดนามต้องประสบความชะงักงันชั่วระยะเวลาหนึ่ง

แต่หลังจากที่กองทัพจีนถอนทัพกลับไปตามความมุ่งหมายที่มีลักษณะเป็น “สงครามจำกัด” แล้ว เวียดนามก็หันกลับมาให้ความสนใจต่อการยึดครองกัมพูชาต่อไปด้วยการส่งกำลังเข้าโจมตีที่มั่นฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้ฐานที่มั่นของฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตยหรือ “เขมรแดง” ซึ่งมีกำลังเข้มแข็งที่สุดถูกเวียดนาม-เฮง สัมริน เข้ากดดันจนแตกพ่ายและร่นถอยมายังแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีกองทัพเวียดนามเคลื่อนที่รุกไล่ติดตามมาอย่างใกล้ชิด จนพื้นที่การรบเข้ามาประชิดตลอดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเต็มไปด้วยผืนป่ารกทึบและทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ยากแก่การปฏิบัติการทางทหารให้เด็ดขาดด้วยกำลังขนาดใหญ่

จนในที่สุด พื้นที่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีไปจนถึงจังหวัดตราด ก็เต็มไปด้วยกำลังของฝ่ายเวียดนาม มีการดัดแปลงฐานที่มั่นแข็งแรงตามแนวชายแดนอย่างหนาแน่นเพื่อเป็นฐานสำหรับส่งกำลังเข้ากวาดล้างฝ่ายเขมรแดงและกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ให้หมดสิ้นไป จนนำไปสู่ความรุนแรงระลอกใหม่

 

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

ตลอดปี พ.ศ.2522 ที่เวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชาอย่างเบ็ดเสร็จ การเมืองไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แม้จะมั่นใจในตัวผู้บัญชาการทหารบกนาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ก็แทบไม่สามารถบริหารประเทศได้ ปัญหาต่างๆ รุมเร้าทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมุ่งทำลายกันทางการเมืองจนนำไปสู่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2523

แม้จะเป็นเสมือน “เปลี่ยนม้ากลางลำธาร เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก” แต่นับเป็นทางเลือกอันจำเป็นสำหรับสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงขณะนั้น

ทั้งปัญหาการคุกคามจากเวียดนาม

ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรไทยตามแนวชายแดนด้านกัมพูชา

ปัญหาผู้อพยพลี้ภัย

รวมทั้งปัญหาระหว่างประเทศทั้งหมดอันเกิดจากเวียดนามเข้ายึดครองกัมพูชา คือโจทย์ใหญ่ที่รอการแก้ไข

 

ผู้อพยพ

สถานการณ์รุนแรงระลอกใหม่นี้ได้นำไปสู่การอพยพของชาวกัมพูชาที่หนีภัยเข้ามาในดินแดนประเทศไทยขนานใหญ่แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยิ่งมากขึ้นตามลำดับจนดูจะไม่มีวันหมดสิ้น

ไทยไม่มีทางเลือกที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าทางด้านมนุษยธรรม ท่ามกลางความเห็นใจของนานาชาติ

การเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงระหว่างไทย-เวียดนาม ตั้งแต่ พ.ศ.2522 ทำให้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของฝ่ายไทยรวมทั้งสถานที่ตั้งทางทหาร อาวุธหนัก สถานที่ราชการสำคัญ และคลังสิ่งอุปกรณ์ ฯลฯ กลายเป็นเป้าหมายที่ฝ่ายเวียดนามต้องการทราบรายละเอียดทั้งสิ้น เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของฝ่ายตน

ดังนั้น จึงมีสายลับแทรกซึมปะปนเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยด้วยเพื่อหาข่าวสารต่างๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสามารถจับกุมสายลับเหล่านี้ไว้ได้หลายราย รวมทั้งสายลับที่เข้ามาเพื่อดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านไทยในศูนย์รับผู้อพยพ

นอกจากนั้น ยังปรากฏหลักฐานว่าสายลับเหล่านี้ได้ติดต่อประสานงานเชื่อมโยงตามเครือข่ายสายลับทั่วประเทศ อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติเป็นส่วนรวมอีกด้วย

 

กลุ่มต่อต้านเวียดนามในผู้อพยพ

ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้อพยพบางกลุ่มได้ถือโอกาสหลบหนีออกจากศูนย์รับผู้อพยพเข้าไปปฏิบัติการต่อต้านฝ่ายเวียดนามและเฮง สัมริน ในกัมพูชา

ครั้นเมื่อถูกกวาดล้างก็พากันหลบหนีกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก

กลายเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายเวียดนามทำการติดตามล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

หรือบางครั้งก็ใช้วิธียิงอาวุธหนักเข้ามาในเขตไทย

ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำให้ราษฎรไทยบริเวณชายแดนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ทรัพย์สินได้รับความเสียหายบ่อยครั้ง

 

การล่วงล้ำอธิปไตย

การล่วงละเมิดดินแดนไทยในชายแดนด้านตะวันออกเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากฝ่ายเฮง สัมริน

เวียดนามซึ่งไม่พอใจที่ฝ่ายไทยให้ที่พักพิงแก่ชาวกัมพูชา โดยเข้าใจว่าฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาวุธและเสบียงอาหารเพื่อให้กลับเข้าไปสู้รบในกัมพูชาอีก

ดังนั้น ฝ่ายเฮง สัมริน และเวียดนามจึงรุกล้ำเขตแดนไทยเข้ามาโจมตีชาวกัมพูชาซึ่งเวียดนามเข้าใจว่ามีกำลังกลุ่มต่อต้านปะปนอยู่ด้วย หรือยิงกระสุนอาวุธหนักเข้าใส่ค่ายพักของชาวกัมพูชาในเขตไทยตลอดเวลา

มีอยู่บ่อยครั้งที่กระสุนจากอาวุธหนักเหล่านี้ทำให้ราษฎรไทยได้รับความเสียหาย

เช่น เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2522 กระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกในเขตไทยบริเวณบ้านจรัส กิ่งอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 20 นัด เป็นเหตุให้ราษฎรไทยซึ่งรวมตัวหลับภัยในหมู่บ้านเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 50 คน

ศาลาประชุมในหมู่บ้านพังใช้การไม่ได้ บ้านเรือนราษฎรพังพินาศไป 8 หลัง