ปัญหาโควิดตกค้าง ณ ถิ่นไกล สิ่งที่รอรัฐบาลใหม่แก้ไข

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ปัญหาโควิดตกค้าง ณ ถิ่นไกล

สิ่งที่รอรัฐบาลใหม่แก้ไข

 

วันนี้ผมย้ายเขียนหนังสือมาอยู่ที่ร้านกาแฟปากทางเข้าสนามบินสุโขทัยเพื่อรอเวลาที่จะขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ เวลาเย็น

สองวันที่ผ่านมาผมทำตัวเป็นคนใจง่าย เดินทางมาจังหวัดอุตรดิตถ์ตามคำชักชวนของอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นทั้งรุ่นน้อง ลูกศิษย์ และผู้ร่วมงานมาร่วม 40 ปี

เรื่องมีอยู่ว่านิสิตของเรามาทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทและกิจกรรมแนะนำกฎหมายที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อบ้านห้วยครั่ง อยู่ในเขตพื้นที่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์

ผมซึ่งเป็นครูผู้ใหญ่ควรจะแวะมาเยี่ยมเยียนนิสิตที่มาออกค่ายเสียบ้าง

ผมก็ตกปากรับคำว่าจะมาอุตรดิตถ์ตามคำเชิญชวน แต่อย่านึกว่าเป็นอุตรดิตถ์ที่ไปมาได้ง่ายๆ นะครับ เพราะต้องใช้เวลานั่งรถออกมาจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ กว่าจะถึงโรงเรียนที่ว่านี้ตั้งสองชั่วโมงเศษหรือเกือบสามชั่วโมง

นอกจากการมาเยี่ยมเยียนนิสิตผู้เป็นลูกศิษย์ของเราแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ผมจะเที่ยวเดินพูดคุยกับอาจารย์ของโรงเรียนบ้านห้วยครั่ง

หรือแม้กระทั่งเดินไปเที่ยวชมด่านผ่านแดนถาวรภูดู่ ซึ่งเคยได้ยินชื่อเสียงมานานนักหนาแล้ว แต่เพิ่งได้เห็นของจริงกันคราวนี้เอง

 

ผมไปถึงด่านภูดู่เมื่อวานนี้ประมาณ 5 โมงเย็น ทราบจากป้ายที่เขาประกาศเวลาทำการไว้ว่าเปิดให้ใช้ด่านนี้เพื่อผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวระหว่างเวลา 08:00 น. จนถึงเวลา 18:00 น. ทุกวันไม่มีวันหยุด

นั่นหมายความว่าในเวลาที่เปิดทำการด่านนี้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการไทยเรามาอยู่ประจำการหลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่กระทั่งเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์เพื่อมาทำหน้าที่ตั้งด่านกักสัตว์

เวลา 5 โมงเย็นที่ผมไปเดินเตร็ดเตร่อยู่แถวนั้น ถ้าเป็นสำนวนคนโบราณก็ต้องบอกว่า “ตลาดใกล้วาย” เต็มทีแล้ว เพราะไม่เห็นมีใครไปมาหาสู่ข้ามพรมแดนให้เห็นเลยแม้สักคนเดียว

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งจำหน้าผมได้เพราะหน้าโหลเต็มที ทำใจดีสู้เสือเข้ามาคุยกับผมพอให้ผมได้ความว่า ก่อนที่โรคโควิดจะระบาด ด่านแห่งนี้ครึกครื้นและมีคนไปมาหาสู่มาก ต้องเปิดทำการตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงสองทุ่ม

แต่พอช่วงโควิดระบาดหนักๆ ทุกคนอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ด่านนี้จึงปิดทำการไปโดยปริยาย

เมื่อมาเปิดทำการอีกครั้งหนึ่งเวลาที่โรคระบาดซาลงแล้ว ทุกอย่างยังไม่เหมือนเดิม การค้าขายยังซบเซา

คุณคนที่มาคุยกับผมตอบไม่ได้เหมือนกันว่า แล้วเมื่อไหร่ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม

คุยกันเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันอย่างไรหงอยๆ

น้องๆ ที่ทำงานอยู่ที่ด่านนี้จะขึ้นมาประจำการเป็นเวลาเจ็ดวันแล้วกลับลงไปอยู่ในเมืองอุตรดิตถ์เจ็ดวัน เจ็ดวันที่เจ้าหน้าที่ชุดนี้ไม่อยู่ก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งผลัดเปลี่ยนขึ้นมาทำหน้าที่หมุนเวียนกันไปอย่างนี้

เหงามากอยู่นะครับ ขอโปรดได้รับการแสดงความนับถืออย่างสูงจากผมด้วย

 

ส่วนเช้าวันนี้เป็นเช้าวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2566 ผมเข้าไปที่โรงเรียนบ้านห้วยครั่ง เป็นรอบที่สองหลังจากเมื่อวานตอนเย็นก็เข้าไปพบกับนิสิตของผมมาแล้วรอบหนึ่ง แต่วันนี้ได้พบกับครูบาอาจารย์ของโรงเรียนนี้เพราะเป็นวันเปิดทำการวันแรกของสัปดาห์

ข้อมูลที่นิสิตเล่าให้ผมฟังตรงกันกับเรื่องราวที่คุยกับอาจารย์ของโรงเรียนซึ่งมีจำนวนหกคน และเป็นหญิงล้วน แบ่งเป็นข้าราชการจำนวนสามคน และเป็นครูอัตราจ้างอีกสามคน

ทั้งหกคนนี้ร่วมกันรับผิดชอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมหนึ่งจนถึงชั้นประถมหก

ทายสิครับว่า นักเรียนทั้งโรงเรียนรวมหกชั้นเรียน มีจำนวนกี่คน

เฉลยว่า 30 คนมีเศษ ยังไม่ถึงจำนวน 40 คนครับ

ถ้าเราหารเฉลี่ยอย่างง่ายๆ แปลว่าห้องเรียนแต่ละชั้นปีจะมีนักเรียนประมาณหกถึงเจ็ดคน

โรงเรียนอย่างนี้เราเรียกว่าโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ คือมีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 40 คน

สิ่งที่น่าสนใจที่ผมขอยกเป็นประเด็นขึ้นมาพูดคุยในที่นี้คือ โรงเรียนบ้านห้วยครั่งย่อมโดนผลกระทบเรื่องโควิดไม่แตกต่างจากด่านภูดู่และไม่แตกต่างจากคนอีกมหาศาลในประเทศไทย

กล่าวคือ ระยะเวลาสองหรือสามปีของโรคโควิดได้ทิ้งปัญหาใหม่ๆ ให้เราต้องพบ ต้องเผชิญและต้องแก้ไขเป็นจำนวนมาก

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ในเวลาที่เราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ ขนาดเด็กในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ยังบ่นกันอู้เรื่องความสามารถในการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ แล้วโรงเรียนที่อยู่สุดชายแดนแบบโรงเรียนบ้านห้วยครั่ง จะไปเหลืออะไร

ข้อเท็จจริงที่มีอยู่เวลานี้คือ คุณครูต้องแบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งคือชั้นประถมหนึ่งถึงชั้นประสมสาม กลุ่มที่สองเป็นนักเรียนชั้นประถมสี่ถึงชั้นประถมหก

ตามตัวเลขที่เราเห็นโดยผิวเผิน นักเรียนตั้งสามชั้นปีน่าจะมีความแตกต่างกันพอสมควรในการศึกษาเล่าเรียน แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือนักเรียนชั้นประถมสาม ก็แทบจะไม่ได้เรียนอะไรมาเลยในช่วงเวลาสองหรือสามปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เวลาไปเรียนพร้อมกันกับเด็กนักเรียนประถมหนึ่งในภาคการศึกษานี้ ทุกอย่างจึงเข้ากันสนิท

เช่นเดียวกันกับนักเรียนชั้นประถมปีที่หกซึ่งใกล้จะจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้และต้องไปเรียนต่อที่อื่นแล้ว ช่วงโควิดก็ไม่ได้เรียนอะไรเลย การมาเรียนร่วมกับนักเรียนชั้นประถมสี่หรือชั้นประถมห้าจึงพอเหมาะสำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงนี้

เมื่อกี้ผมแสดงความนับถืออย่างสูงสำหรับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยราชการประจำด่านภูดู่ไปแล้ว มาถึงตรงนี้ก็ต้องขอแสดงความนับถืออย่างสูงสำหรับคุณครูโรงเรียนบ้านห้วยครั่งทุกท่านครับ

 

นอกจากการแก้ปัญหาผลตกค้างจากโรคโควิดที่กระทบต่อการศึกษาดังที่ว่ามาข้างต้นแล้ว ปัญหาดั้งเดิมของการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครูจำนวนน้อย เด็กนักเรียนที่มีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ การที่ครูต้องทำหน้าที่อื่นสารพัดไม่ว่าจะเป็นหน้าที่บริหาร หน้าที่นักการภารโรง หน้าที่ดูแลอาหารมื้อกลางวัน และหน้าที่ผลัดกันเฝ้าโรงเรียนเวลากลางคืน

เวลาที่ใครพูดถึงนโยบาย “คืนครูสู่ห้องเรียน” จึงเป็นการเกาถูกที่คัน และได้เกากันมาหลายสิบปีแล้วแต่ยังไม่หายคันสักที

ได้แต่หวังว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลใหม่จะได้เกาเรื่องเหล่านี้ให้หายคันสักทีนะครับ

 

หลังจากคุยกับคุณครูทั้งหกคนเรื่องการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านห้วยครั่ง รวมทั้งการคุยกับคุณเจ้าหน้าที่ที่ด่านชายแดนถาวรภูดู่แล้ว ทำให้ผมเห็นถนัดว่า ผลกระทบที่ตกค้างหลงเหลืออยู่จากการที่โรคระบาดโควิดเกิดขึ้นในบ้านเราและทั่วโลกในช่วงเวลาสองหรือสามปีที่ผ่านมา ได้ทิ้งบาดแผลหรือผลกระทบไว้เป็นจำนวนมาก

ไม่เฉพาะแต่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดใหญ่ต่างๆ เท่านั้น หากแต่ส่งผลมาไกลจนถึงหมู่บ้านเล็กๆ ชายแดนแห่งนี้ด้วย

ในเมืองใหญ่เราอาจจะเห็นธุรกิจขนาดใหญ่ต้องปิดตัวไป ธุรกิจเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาวพอต้องล้มหายตายจาก สนามบินยังไม่สามารถเปิดมาให้บริการเต็มร้อยได้เพราะผู้คนที่เคยทำงานในสนามบินเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นแล้ว คนที่ได้มาใหม่ก็ยังไม่มีทักษะหรือประสบการณ์เพียงพอ ลูกจ้างจำนวนมากตกงานและยังหางานใหม่ไม่ได้ ฯลฯ

ย่อหน้าข้างต้นนี้ผมซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ ได้ยินได้ฟังและได้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่การพบปะพูดคุยที่ใช้ช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงกับหลายคนที่บริเวณชายแดนจังหวัดอุตรดิตถ์ติดต่อกับประเทศลาว ทำให้ผมได้เรียนรู้และได้ประจักษ์ถึงปัญหาที่กระจายไปทั่วถึงทุกซอกมุมของประเทศเพิ่มขึ้นชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าขายการติดต่อข้ามพรมแดนที่ซบเซาลงไปมากและยังไม่กลับคืน คุณภาพของการจัดการศึกษาเพื่อทดแทนช่วงเวลาสองสามปีที่หายไป

และผมเชื่อว่าจะมีปัญหาอีกมากมายสารพัดที่ผมไม่มีโอกาสพบเห็น เพราะอยู่นอกแวดวงชีวิตของผมหรืออยู่ไกลเกินไปโดยสภาพภูมิศาสตร์

 

ปัญหาทั้งหมดนี้ เราไม่สามารถปล่อยให้เวลาเป็นผู้เยียวยาแต่เพียงลำพังได้ หากแต่ต้องการการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วยสติปัญญาของภาครัฐที่จะหนุนช่วย ไม่ปล่อยให้เอกชนหรือบุคคลแต่ละคนต้องวิ่งวุ่นอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้างของปัญหา

ขออนุญาตย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า วันที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ เป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วนับจากวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในประเทศส่วนใหญ่ ถ้าการเลือกตั้งผ่านไปถึงสองสัปดาห์แล้วแต่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็เป็นของแปลก แปลกมากถึงแปลกที่สุด

แต่สำหรับบ้านเรา แปลกมาหลายเรื่องแล้ว แปลกอีกเรื่องหนึ่งจะเป็นไรไป ฮา!

ไม่เป็นไรครับ เป็นคนไทยต้องอดทนอยู่แล้ว แต่อย่าให้เหลืออดก็แล้วกัน

เพราะวันไหนเหลืออดแล้ว คนไทยก็เอาจริงเอาจังน่าดู

ระหว่างที่เรายังไม่เหลืออดนี้ ขอพวกเราจงมาตั้งความหวังร่วมกัน ขอให้รัฐบาลที่ตั้งใหม่เป็นผลสำเร็จ ช่วยนึกถึงปัญหาทั้งใหญ่และน้อยของประเทศไทย รวมทั้งเรื่องเล็กๆ ที่ผมพบเห็นมาในสองวันนี้

และขอฝากไว้เป็นการบ้านไว้ในที่นี้ด้วย