สงครามยูเครน ลามสู่กรุงมอสโก

(REUTERS/Maxim Shemetov)

เมื่อ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดรนเพื่อการโจมตีอย่างน้อย 8 ลำ ปรากฏขึ้นเหนือท้องฟ้าของกรุงมอสโก เมืองหลวงของสหพันธรัฐรัสเซีย ส่วนหนึ่งถูกยิงตก อีกบางส่วนก่อให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยในย่านรูบลิยอฟกา ทางตะวันตกของกรุงมอสโก อันเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาผู้มั่งคั่งทรงอิทธิพลของประเทศที่รวมถึงนักธุรกิจ คนดังในแวดวงวัฒนธรรม และนักการเมืองระดับสูง

หนึ่งในพื้นที่ที่ตกเป็นเป้าโจมตี อยู่ไม่ห่างจากเขตโนโว-โอการิโยโว ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่พักประจำตัวประธานาธิบดี ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในที่พักอาศัยหลักของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

นักการเมืองระดับสูงอีกบางรายที่พักอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันก็คือ ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดี และมิคาอิล มิชูสติน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนยืนยันตรงกันว่า ไม่มีเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุขึ้น

ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่มีการตรวจจับและรับรู้ถึงการมาของโดรนทั้งหมดนี้ล่วงหน้า

 

โดรนทั้งหมดสร้างความเสียหายในเชิงกายภาพได้น้อยมาก มีเพียงหน้าต่างอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งแตกกระจายเสียหาย นอกจากนั้นแล้วก็ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีกไม่กี่คน

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางจิตวิทยาดูจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพลเมืองของมอสโก ซึ่งจนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุยังคงสามารถใช้ชีวิตสะดวกสบายได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสงครามในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของประเทศ

การโจมตีครั้งนี้ เป็นเสมือนสัญญาณเตือนว่า สงครามที่ครั้งหนึ่งชาวรัสเซียเคยคิดว่าห่างตัวอยู่มากนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ห่างไกลออกไปมากอย่างที่คิดกัน

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ การโจมตีมอสโกด้วยโดรนครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะที่รัสเซียใช้โดรนเช่นเดียวกัน โจมตีกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนอย่างต่อเนื่อง 3 คืนติดต่อกัน และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีโดยตรงอย่างน้อย 1 ราย

มิคาอิโล โพโดลิแยค ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยูเครน “ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง” แต่ก็ “ยินดี” ที่ได้เห็นกับตาว่าเกิดอะไรขึ้นในมอสโก

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในมอสโกพยายามไม่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ครั้งนี้มากนัก แต่ก็ยอมรับว่า การปรากฏตัวของโดรนของฝ่ายตรงกันข้ามเหนือน่านฟ้าของเมืองหลวงโดยปราศจากการพบเห็นล่วงหน้า ก่อให้เกิดข้อกังขาถึงประสิทธิภาพของระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย

ทำให้จำเป็นต้อง “เพิ่มความหนาแน่นให้กับระบบป้องกันภัยทางอากาศ” ของเมืองหลวงอย่างแน่นอน

 

แม้ว่ากรณีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ย่านที่พักอาศัยในกรุงมอสโกตกเป็นเป้าโจมตีด้วยโดรน แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สงครามยูเครนลุกลามข้ามพรมแดนเข้ามาถึงภายในดินแดนของรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้แต่รัสเซียเองก็ยังมีส่วนที่เปราะบางอยู่เช่นเดียวกัน

ยูเครนเคยใช้โดรนโจมตีฐานทัพอากาศที่ตั้งอยู่ลึกเข้ามาภายในดินแดนของรัสเซียมาแล้วก่อนหน้านี้ และยังเคยใช้โดรนเช่นเดียวกันโจมตีคลังน้ำมันใกล้กับสนามบินในเมืองคูร์สก์ นอกจากนั้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี่เองที่เกิดเหตุโดรนจำนวนหนึ่งระเบิดขึ้นเหนือพระราชวังเครมลิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นไปได้มากที่สุดว่าจะเป็นฝีมือปฏิบัติการของหนึ่งในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพ หรือหน่วยข่าวกรองของยูเครน

เหตุการณ์ที่น่าสนใจที่สุดเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เมื่อกองกำลังต่อต้านรัสเซียจำนวนหนึ่งรุกข้ามพรมแดนเข้ามาทางตอนใต้ของประเทศ เปิดศึกยืดเยื้อกับกองทัพรัสเซียอยู่นานถึง 2 วัน

และมีรายงานว่าเกิดเหตุการณ์บุกข้ามแดนเข้ามาในรัสเซียอีกครั้ง ในวันเดียวกับที่เกิดเหตุโจมตีกรุงมอสโกด้วยโดรนในครั้งนี้อีกด้วย

 

การโจมตีด้วยโดรนเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของรัสเซีย ด้วยเหตุที่ว่า แนวเขตแดนระหว่างยูเครนกับรัสเซียนั้นยาวเหยียดถึงกว่า 1,400 ไมล์ ในขณะเดียวกัน แซม เบนเดตต์ ที่ปรึกษาโครงการรัสเซียศึกษาของซีเอ็นเอ องค์กรวิชาการไม่แสวงกำไรในเวอร์จิเนีย ระบุด้วยว่า โดรนเป็นปัญหาสำหรับเรดาร์เพื่อการป้องกันทางอากาศของรัสเซียโดยตรงอีกด้วย เนื่องจากเรดาร์ของรัสเซียถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับเครื่องบิน หรือจรวดที่มีขนาดใหญ่กว่าโดรน

เอียน วิลเลียมส์ จากโครงการมิสไซลส์ ดีเฟนซ์ โปรเจ็กต์ ของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ในวอชิงตันระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้นอกจากจะหวังผลในเชิงจิตวิทยาว่า แม้แต่มอสโกก็ยังสามารถตกเป็นเป้าโจมตีได้แล้ว การโจมตีครั้งนี้ยังอาจใช้เพื่อ “ทดสอบ” ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย เพื่อหาจุดอ่อนสำหรับนำไปใช้ในปฏิบัติการครั้งต่อๆ ไป

วิลเลียมส์เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นความท้าทายให้รัสเซียต้องปรับเปลี่ยน ระบบป้องกันภัยทางอากาศโดยรอบกรุงมอสโกที่ซับซ้อนอยู่แล้วเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามอย่างใหม่นี้ได้

ก่อนหน้านี้ เรดาร์ของระบบดังกล่าวจะตัดเอาสัญญาณตรวจจับใดๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าเฮลิคอปเตอร์ออกไป ในขณะที่โดรนขนาดเล็ก มีขนาดพอๆ กับห่านตัวเขื่องๆ

ดังนั้น หากปรับระบบเรดาร์ให้ตรวจจับสิ่งของที่มีขนาดเล็กเท่ากับห่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ หน้าจอเรดาร์จะเต็มไปด้วยนก จนกลายเป็นปัญหาอีกรูปแบบไป

เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้น่าสนใจมากว่า ยูเครนมีสิทธิที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้เกินเลยจากพรมแดนของตนไปเพื่อยับยั้งหรือทำลายการโจมตียูเครนของรัสเซีย

และยังระบุด้วยว่า ในกรณีทั่วๆ ไปแล้ว การโจมตีเป้าหมายทางทหารที่ตั้งอยู่เกินเลยเขตแดนของชาติหนึ่งๆ นั้น “ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าชอบธรรม ถ้าหากเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันตนเองของชาตินั้นๆ”