เอกชนผวาดีเซลจ่อขึ้นราคา ค่าแรงปรับพรวด 450 บาท กระทบแผนครึ่งปีหลัง

กระทรวงการคลังออกมาส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ไม่ต้องการขยายเวลามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ออกไปอีก หลังจากมาตรการเดิมสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก โดยมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดเชื้อเพลิงและการเดินทางปรับตัวลดลง แต่การใช้มาตรการนี้ ทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตไปเป็นจำนวนมาก

หลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงขนาดไหน ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้สามารถบริหารจัดการได้ มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้หนี้เงินกองทุนและมีกรอบวงเงินกู้อยู่แล้ว

“ฐานะกองทุนน้ำมันตอนนี้ดีขึ้น เพราะราคาน้ำมันลดลง จึงเก็บเงินเข้ากองทุนได้ และราคาน้ำมันที่ลดลงก็อยู่บนพื้นฐานที่กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตให้ 5 บาท ขณะเดียวกัน หากจะลดภาษีต่อก็จะต้องไปดูกฎกติกาของรัฐธรรมนูญด้วยว่า รัฐบาลรักษาการสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพราะหากจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณจะต้องไปขอที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะจะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป” นายอาคมกล่าว

 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องจะกลับไปเก็บภาษีน้ำมันดีเซลอีก 5 บาทต่อลิตรหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังมีเวลาพิจารณา โดยตอนนี้ภาษียังลดตามเดิมไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งระหว่างนั้นกระทรวงการคลังจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ว่าจะดำเนินการอย่างไร

“คงต้องหารือกับกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมัน ผมเข้าใจว่าฐานะกองทุนน้ำมันตอนนี้ดีขึ้นมาก ซึ่งในหลักการก็คงไม่ให้กระทบราคาขายปลีก คงเป็นเรื่องภาษีกับการบริหารเงินนำส่งกองทุนน้ำมันแทน” นายกฤษฎากล่าว

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือรัฐบาลรักษาการ ช่วยดูแลเรื่องราคาน้ำมันดีเซลให้ผ่านพ้นไปก่อน เพราะที่ผ่านมาได้มีการขยายเวลาการลดภาษีมาโดยตลอด ซึ่งหากราคาน้ำมันกลับไปอยู่ที่ 37 บาทต่อลิตร ทางสหพันธ์ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าขนส่งอีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภาคเอกชนต้องการให้เร่งจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเด็นการแก้ปัญหาต้นทุนด้านพลังงานระยะสั้นภายใน 100 วัน

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากความกังวลเรื่องราคาน้ำมัน ราคาพลังงานที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว ภาคธุรกิจยังเป็นห่วงนโยบายรัฐบาลใหม่ที่พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันภายใน 100 วันแรกด้วย

โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนคนไทยและต่างชาติ ยังกังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงาน 450 บาทต่อวัน ทำให้เกิดความลังเลและมีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานไปลงทุนในประเทศอื่น ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นหัวข้อหนึ่งในการหารือร่วมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MG กล่าวว่า MG ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป และยืนยันว่า แผนการลงทุนของ MG ยังมีอย่างต่อเนื่อง ในการเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567

อย่างไรก็ดี สำหรับนโยบายปรับขึ้นค่าแรง ต้องรอดูสถานการณ์หลังจากการจัดตั้งคณะรัฐบาลเสร็จแล้ว และดูว่าการผลักดันนโยบายจะเป็นในทิศทางใด กรอบระยะเวลาการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการยังมีเวลาที่จะปรับตัว เพราะถึงอย่างไร ในอนาคตค่าแรงขั้นต่ำต้องปรับขึ้นอยู่แล้ว หรืออาจจะมีรูปแบบในการปรับขึ้น โดยทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งถือเป็นการบาลานซ์กันระหว่างแรงงานและผู้ประกอบการ

“เมื่อปรับขึ้นค่าแรงแล้ว แน่นอนว่าจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ต้องรอดูว่า ทางรัฐบาลจะมีนโยบายหรือแนวทางใดเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกันได้อย่างไร” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สภาต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบ ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ 450 บาท/วันนั้นถือว่าค่อนข้างสูง หากปรับขึ้นทันทีจะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตเมื่อปี 2556 ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งนี้ก็เช่นกัน และการลงทุนใหม่ที่เน้นการใช้แรงงานจะไม่เกิดขึ้น

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท ต้องรอดูความชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่จะทำเลยไหม กระจายช่วงเวลา หรือจะปรับขึ้น 450 บาททันทีในครั้งเดียว สำหรับศุภาลัยถึงแม้จะเซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว แต่ปกติเมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น ก็มีการช่วยผู้รับเหมาอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการทำธุรกิจครึ่งปีหลัง 2566 เมื่อฝุ่นหายตลบ บรรยากาศการเมืองน่าจะดีขึ้น การทำธุรกิจก็น่าจะดีขึ้น หลังจากช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 มีทั้งวันหยุดยาว การเลือกตั้งทั่วไป และความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ลูกค้าอาจชะลอการตัดสินใจใช้จ่ายไปบ้าง

“ต้นทุนพลังงานและดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่ลูกค้ารับทราบเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ จึงไม่ได้มองเป็นปัจจัยลบมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำเพิ่งปรับขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2565 แน่นอนว่าถึงแม้ทำให้ที่อยู่อาศัยแพงขึ้นจริง แต่ลูกค้าก็ปรับตัวเลือกซื้อบ้านขนาดเล็กลง หรือห้องชุดไซซ์เล็กลงนิดหน่อย จึงเป็นผลกระทบในระยะสั้น และไตรมาส 2 ปีนี้ สิ่งที่ดีคือภาวะดอกเบี้ยขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ยังดีอยู่อย่างต่อเนื่อง” นายไตรเตชะกล่าว

แม้จะมองกันว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ภาคธุรกิจก็ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าแรง ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง