ลาคลอด 180 วัน เราควรกังวลว่าเด็กจะเกิดเยอะ หรือเด็กจะไม่เกิด

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

แม้จะยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล แต่หลายนโยบายที่ถูกนำเสนอช่วงการเลือกตั้ง เริ่มถูกพูดถึง

และทุกครั้งเสียงของอภิสิทธิ์ชน และเหล่าอนุรักษนิยมมักจะดังกว่าเสียงคนธรรมดา

หนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ นโยบายเพิ่มสิทธิการลาคลอด 180 วัน จากเดิมปัจจุบัน 98 วัน

เสียงต่อต้านส่วนมากก็เป็นวาทกรรมแบบเดิมๆ ในอดีต เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เราจะมีสิทธิลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร 90 วัน

คือ กลัวว่ากิจการขนาดเล็กจะเสียกำลังคนไปจนอยู่ไม่ได้ หรือการที่ผู้หญิงจะถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้นและสูญเสียโอกาสในการทำงาน

ข้อกังวลนี้เคยถูกพูดถึงเมื่อหลายสิบปีก่อนมาแล้ว ในยุคที่ประเทศไทยยังใช้แรงงานแบบเข้มข้น และผู้หญิงยังมีอำนาจต่อรองที่ต่ำ

เมื่อหลายสิบปีผ่านเราจะเห็นได้ว่า ข้อกังวลเหล่านี้ไม่จริง เพราะอัตราการทำงานของผู้หญิง รายได้และส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น แม้จะมีการลาคลอดที่เพิ่มมากขึ้น

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ปี 2566 ที่อัตราการเกิดของเด็กไทยต่อผู้หญิง 1 คนอยู่ที่ 1.5 คน และมีแนวโน้มจะน้อยลงไปอีก

หากจะมีการผลักดันให้เกิดการลาคลอดได้ 180 วัน สิ่งที่เราควรกลัวคือ คนจะไม่เกิด มากกว่าคนจะเกิดเยอะเกินไป

เพราะตอนนี้เรากำลังเผชิญวิกฤตการขาดแรงงานอย่างรุนแรง เราต้องเร่งสนับสนุนสวัสดิการทุกรูปแบบที่จะเลี้ยงดูบุคลากรของเราในอนาคต และเครื่องมือหนึ่งที่ถูกและง่ายที่สุดคือการคืนพ่อและแม่กลับสู่ลูกในช่วงที่ต้องการที่สุด

โดยในเบื้องต้นการเพิ่มสิทธิลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรสามารถสร้างประโยชน์ทั้งต่อตัวประชาชนทั่วไป และทั้งทางฝั่งผู้ประกอบการดังนี้

 

ประโยชน์ต่อฝั่งประชาชนทั่วไป

สุขภาพของแม่ การลาคลอดช่วยให้แม่ได้พักผ่อนและฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังจากการตั้งครรภ์และการคลอด ทำให้แม่สามารถที่จะใช้พลังอย่างเต็มที่สำหรับทารกแรกเกิด การได้พักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่อาจเกิดขึ้นกับแม่ ความเครียดและการซึมเศร้านอกจากส่งผลต่อสุขภาพ ยังส่งผลต่อรายได้และการทำงานของแม่ในระยะยาว

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก การลาคลอดช่วยให้แม่และลูกสามารถสร้างความสัมพันธ์และผูกพันต่อกันได้ในช่วงระยะแรกของชีวิตของลูกน้อยใหม่ การมีเวลาที่มากขึ้นในการดูแลลูกน้อยและเรียนรู้วิธีการดูแลลูกน้อยที่ดีทำให้แม่และลูกมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของลูกด้วย

การส่งเสริมการให้นมแม่ การลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร ให้โอกาสการให้นมแม่แก่บุตรที่ดีขึ้น ได้รับประโยชน์ด้านโภชนาการของลูก และประโยชน์จากภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้ลูกต้านทานโรค การที่แม่ให้นมลูกทำให้สภาพร่างกายแม่สามารถฟื้นฟูสู่สภาวะก่อนตั้งครรภ์ได้ไวขึ้น

สภาพอารมณ์และสุขภาพจิต การลาคลอดช่วยให้แม่มีเวลาในการปรับตัวและกลับมาเข้าสู่สภาพอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นหลังจากการคลอด การเรียนรู้การดูแลลูกและเส้นทางการเป็นพ่อแม่มือใหม่อาจเป็นภาระทางอารมณ์และก่อให้เกิดความเครียด การลาคลอดช่วยให้แม่สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจและรับมือกับความเครียดได้

สังคมและครอบครัว การลาคลอดช่วยสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อกับครอบครัว เป็นโอกาสที่จะมีคนอื่นร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือในการดูแลลูก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท ญาติ ที่ให้ความสำคัญแก่การเกิดของทารก การลาคลอดสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์นั้น และสามารถลดภาระทางกายและจิตใจของแม่ได้

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการสร้างความรู้สึกขอบคุณและความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว

 

นอกจากนี้ การลาคลอดไม่เพียงแต่มีประโยชน์ต่อแม่และทารก แต่ยังมีประโยชน์ต่อฝั่งนายจ้างด้วย

สิทธิ์การลาคลอดเมื่อพิจารณาตามสถิติพบว่า จากผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ที่มีผู้ประกันตนรวมกันประมาณ 14 ล้านคน มีการใช้สิทธิคลอดบุตรเพียง 237,799 คน หรือ 1.6% ของผู้ประกันตนเท่านั้น

ดังนั้น การเกิดของเด็กหนึ่งคนจึงไม่เป็นภาระทั้งของรัฐและนายจ้างแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามประโยชน์ที่นายจ้างจะได้รับจากการลาคลอด

ความมั่นคงขององค์กร การให้พนักงานที่เป็นแม่ได้ลาคลอดช่วยให้บริษัทมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการ เพราะพนักงานที่ได้ลาคลอดและได้รับการพักผ่อนเพียงพอจะมีสุขภาพที่ดีและความพร้อมที่ดีกว่าในการทำงาน นอกจากนี้ การให้สิทธิ์ในการลาคลอดยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานที่เป็นแม่ว่าองค์กรให้ความสำคัญและเอื้ออำนวยต่อการเป็นพ่อแม่ และทำให้พวกเขาวางแผนการอยู่ระยะยาวกับองค์กรมากขึ้น

สร้างภาพลักษณ์บวก การให้สิทธิ์ในการลาคลอดและดูแลลูกเกิดใหม่อย่างเหมาะสมช่วยสร้างภาพลักษณ์บวกให้กับองค์กร ทำให้บุคคลภายนอกมองว่าองค์กรนั้น สนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมความเสมอภาค ซึ่งเราก็จะเห็นหลายบริษัทที่เริ่มนำร่องนโยบายการลาคลอด 180 วันไปก่อนแล้ว

การรักษาพนักงานที่มีคุณภาพ การให้สิทธิ์ในการลาคลอดให้กับพนักงานที่เป็นแม่ช่วยให้นายจ้างรักษาพนักงานที่มีคุณภาพ การเคารพสิทธิ์ของพนักงานที่เป็นแม่ส่งเสริมสภาพจิตใจและผลงานที่ดีกับการทำงานโดยรวม

ทั้งหมดนี้มีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

การลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรโดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูง

แต่กลับเป็นนโยบายที่มีข้อถกเถียงทุกยุคทุกสมัย

ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องต้องถามย้ำแก่สังคมอีกครั้งว่า เราเชื่อเรื่องคนเท่ากันหรือไม่

เชื่อเรื่องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกันหรือไม่

เชื่อว่าเด็กทุกคนสมควรที่จะได้รับการดูแลในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดหรือไม่

หากเราได้คำตอบเรื่องนี้ เราก็จะตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องที่แพงหรือยากเย็นในการผลักดันแต่อย่างใด