ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เอกภาพ |
ผู้เขียน | พิชัย แก้ววิชิต |
เผยแพร่ |
กุฎี (กะดี)
คลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง กับกระแสชีวิตของผู้คนเป็นดั่งสายน้ำ กับฟากฝั่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ที่มากความสำคัญต่อการเรียนรู้เพื่อเข้าใจ วิถีคนไทยกับความหลากหลายและแตกต่างของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่ได้อาศัยอยู่ร่วมกันนับร้อยๆ ปีด้วยความเข้าใจ
กับเรื่องราวชุมชนชาวไทยมุสลิมในย่านฝั่งธนฯ ที่เมื่อไม่นานมานี้ผมเองได้มีโอกาสไปเที่ยวชมศาสนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ตั้งแต่เมื่อครั้งแรกเริ่มก่อตั้นชุมชนในย่านคลองบางกอกใหญ่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยยา เรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี
และกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ
“สามกะดี สามสมัย ย่านคลองบางกอกใหญ่” คืออะไร?
เมื่อความสงสัยก่อตัวขึ้น แต่ด้วยความไม่รู้มีมากกว่าสิ่งที่ควรรู้ จึงไร้คำอธิบายจากสิ่งที่สงสัย
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะถือโอกาศติดสอยห้อยตามไปด้วยกับ “Mic Walking Trip” เผื่อจะได้ลดทอนความไม่รู้เรื่องของตัวเองลงได้บ้าง กับความรู้ความเข้าใจของประวัติศาตร์ ที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องไกลตัว
จากจุดนัดพบ ปากซอยอิสรภาพ 23 หยุดยืนเตรียมความพร้อมอยู่ที่หน้าป้ายวัดราชสิทธารามราชวรวิหาร เมื่อพร้อมหน้าพร้อมตา มากันครบถ้วนจำนวนคน ถึงเวลาตามกำหนด เริ่มออกเดินทางไปยัง “มัสยิดดิลฟัลลาห์ หรือ กะดีปลายนา (กุฎีนอก)” เป็นกะดีของแขกเจ้าเซ็น (แขกเจ้าเซ็น คือคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์) โดยชื่อกะดีปลายนา สันนิษฐานว่าแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นปลายนาหลวง ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และชุมชนของแขกเจ้าเซ็นก็คือบริเวณนี้เช่นเดียวกัน
จากนั้นเดินข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้าม ที่เยื้องกันไม่มากนักจากจุดแรก คือ “สุสานดาวูดีโบราห์” ซึ่งเป็นสุสานของกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่เป็นกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางมาจากอินเดีย และได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่มัสยิดเซฟีหรือมัสยิดตึกขาว แถวคลองสาน
จากนั้นเดินต่อไปอีกไม่ไกลก็ถึง “กะดีเจริญพาศน์ หรือกุฎีเจริญพาศน์ (กุฎีล่าง)” ที่เป็นศาสนสถานของมุสลิมนิกายชีอะห์ แห่งที่สองของกรุงเทพฯ แต่เดิมชื่อ “กุฎีล่าง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการสร้างสะพานเจริญพาศน์ จึงเปลี่ยนจากชื่อเดิมมาเป็น “กุฎีเจริญพาศน์ ” อย่างเป็นทางการ
เมื่อสมควรแก่เวลา และ “สำรับแขกคลองบางหลวง” ก็พร้อมแล้วให้ได้ชิม ที่เรือนไม้สักทองของพระยาราชานุประดิษฐ์ (นาค) อดีตปลัดทูลฉลองของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออิ่มกำลังดีจากสำรับคลองบางหลวง ตบท้ายเครื่องดื่มเย็นชื่นใจ รสหวานปนเปรี้ยวและแอบเผ็ดจากการตำพริกขี้หนูลงไป กับเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า “ชะระบัต”
จากนั้นเดินรั้งท้ายกลุ่มไปยัง “มัสยิดบางหลวง หรือกุฎีขาว” รูปทรงสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นมัสยิดของชุมชนมุสลิมนิกายซุนนี และด้วยความที่มัสยิดบางหลวงมีรูปทรงคล้ายวัด ในบางครั้งก็จะมีคนเดินผ่านไปมาที่นับถือพุทธศาสนาไหว้เคารพ
โดยมิได้สังเกตว่าแท้จริงแล้วศาสนสถานที่เห็นนั้นคือคือมัสยิด
ออกมาจากการชมมัสยิดบางหลวง เดินข้ามคลองบางกอกใหญ่ มุ่งหน้าไปยัง “มัสยิดต้นสน” (กะดีใหญ่) ที่มีชุมชนมุสลิมและศาสนสถานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมัสยิดต้นสนในปัจจุบันได้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2479 แทนของเก่าที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ศาสนสถานสุดท้ายของการเที่ยวชม คือ “มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม หรือสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม” ซึ่งเป็นสุเหร่าแห่งแรกของแขกเจ้าเซ็น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2479 โดยนายเพ็ง เมนาคม เพื่ออุทิศสุเหร่าแห่งนี้ให้เป็นสถานศึกษาชุมชนในนาม “โรงเรียนผดุงธรรมอิสลาม”
การเดินเที่ยวชมแม้เพียงหนึ่งวัน กับชุมชนมุสลิมในย่านคลองบางหลวง ถึงแม้ว่าตัวผมเองจะจำเรื่องราวไม่ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ได้มันก็มากพอที่จะทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตผู้คนในอดีต กับเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่ข้องเกี่ยวอยู่กับชุมชนชาวไทยมุสลิมได้ดียิ่งขึ้น
ขอขอบคุณ อ.ธีรนันท์ ช่วงพินิต วิทยาการนำเที่ยวและบรรยายให้ความรู้ ตลอดการเดินชม มา ณ ที่นี้ ขอขอบคุณ MIC และทีมงาน ขอบคุณผู้ร่วมเดินทางทุกๆ ท่าน และที่ขาดไม่ได้ ขอขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอดนะครับ
ขอบคุณมากมายครับ •
เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022