คณะทหารหนุ่ม (42) | จาก “กลุ่มนินทาเจ้านาย” กลายมาเป็นศูนย์อำนาจทางการเมือง

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

สปอตไลต์จับ “คณะทหารหนุ่ม”

ตุลาคม พ.ศ.2521 ครั้งที่มีส่วนสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก นายทหารหนุ่มต่างดำรงตำแหน่งดังนี้

พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 31

พ.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

พ.อ.บวร งามเกษม รองผู้บังคับทหารปืนใหญ่กองพลทหารม้า

พ.ท.บุญยัง บูชา ผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11

พ.อ.บุญศักดิ์ โพธิ์เจริญ ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่กองพลทหารราบที่ 4

พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 2

พ.อ.ปรีดา รามสูตร รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 5 ปัตตานี

พ.ท.สกรรจ์ มิตรเกษม ผู้บังคับกองพันทหารขนส่งที่ 2 (ผสม)

พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์

พ.ท.สาคร กิจวิริยะ ผู้บังคับกองพันทหารสารวัตรที่ 11

พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ท.ม.ร.ว.อดุลเดช จักรพันธุ์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

พ.อ.วรวิทย์ พิบูลศิลป์ หัวหน้ากองยุทธการ ศูนย์สงครามพิเศษ

พ.อ.วีระยุทธ อินวะษา เสนาธิการกรมนักเรียนนายร้อย

พ.ท.จำลอง ศรีเมือง ประจำกองแผนและโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

และ พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ นายทหารคนสนิทผู้บัญชาการทหารบก

 

ดังนั้น ต่อมาเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งนอกจากยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้วยังขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีนาคม พ.ศ.2523 จึงเป็นที่เชื่อกันว่า นับแต่นี้ไป นายทหาร จปร.7 และคณะทหารหนุ่มเหล่านี้จะต้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งถัดไปคือระดับ “ผู้บังคับการกรม” อันเป็นตำแหน่งที่สำคัญยิ่งทั้งการก่อรัฐประหารและต้านการรัฐประหาร ค้ำจุนบัลลังก์อำนาจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

อย่างไรก็ตาม การเข้ามีบทบาททางการเมืองที่ถูกมองว่าแยกไม่ออกจากการขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกทำให้คณะทหารหนุ่มเริ่มเป็นที่จับตามองจากนายทหารรุ่นพี่ในทางที่ไม่ดีนัก

เหตุการณ์เวียดนามบุกกัมพูชาเมื่อปลายปี พ.ศ.2521 ในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และยืดเยื้อมาจนถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านหนึ่งจะยิ่งส่งเสริมให้บทบาทของคณะทหารหนุ่มซึ่งควบคุมบังคับบัญชาหน่วยรบตามชายแดนติดกัมพูชาโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร

 

คณะทหารหนุ่มกับการเมืองในประเทศ

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ส่งผลให้บทบาททั้งในกองทัพและในทางการเมืองของคณะทหารหนุ่มมีสูงขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากสมาชิกแกนนำของคณะทหารหนุ่ม เช่น พ.อ.มนูญ รูปขจร และ พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นพิเศษแล้ว ที่ผ่านมาคณะทหารหนุ่มยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ เริ่มจาก ผู้บัญชาการทหารบกเมื่อตุลาคม พ.ศ.2521 และท้ายสุดคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีนาคม พ.ศ.2523

ในห้วงระยะเวลาเริ่มต้นที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บทบาททางรัฐสภาของคณะทหารหนุ่มมีน้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเหตุ 2 ประการ คือ

ประการแรก บทบาทสำคัญในความรับผิดชอบต่อหน่วยกำลังรบทำให้คณะทหารหนุ่มมีภารกิจทางกองทัพมากสืบเนื่องจากความตึงเครียดด้านชายแดนไทย-กัมพูชา เวลาที่จะทุ่มเทให้กับงานด้านรัฐสภาจึงมีน้อยลง

ประการที่สอง เป็นเพราะคณะทหารหนุ่มสามารถเข้าถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว การเคลื่อนไหวในรัฐสภาจึงมิใช่เรื่องจำเป็นนัก บทบาททางการเมืองของคณะทหารหนุ่ม จึงเน้นหนักไปที่การเสนอแนะข้อคิดเห็นและความต้องการของกลุ่มต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยตรง

ส่วนในรัฐสภานั้นสมาชิกคณะทหารหนุ่มที่ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกซึ่งมีถึง 20 คนก็ใช้วิธีการเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของวุฒิสภาเพื่อคุมเกมในรัฐสภาในด้านการบริหารงานฝ่ายการเมือง โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งได้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะที่คณะทหารหนุ่มยังคงดำรงการติดต่อปรึกษาหารือกันในกลุ่มอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีภาระหน้าที่ทางด้านการทหารหนักเพียงใดก็ตาม โดยมี พ.อ.มนูญ รูปขจร และ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่ม

ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กลุ่มทหารหนุ่มโดยผ่านทาง พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะและยับยั้งการแต่งตั้งบุคคลบางคนซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อมายัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อีกด้วย

 

จาก “กลุ่มนินทาเจ้านาย”

การที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีทำให้คณะทหารหนุ่มมีความหวังตามอุดมการณ์ของกลุ่มมากขึ้น บัดนี้ จากการเป็นกลุ่มที่อยู่นอกวงอำนาจทางการเมืองในลักษณะ “กลุ่มนินทาเจ้านาย” เมื่อปลายปี พ.ศ.2516 ครั้นถึงต้นปี พ.ศ.2523 คณะทหารหนุ่มได้กลายมาเป็น “กลุ่มพลัง” ที่อยู่ในศูนย์อำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงแล้ว

ในระยะนี้เองที่กลุ่มได้เริ่มแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชาติอย่างจริงจังโดยหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ผู้นำรัฐบาลดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ผู้นำที่ดี

ก่อนหน้านี้ คณะทหารหนุ่มมีความมุ่งหมายเพียงเพื่อจะสร้างเอกภาพของกองทัพและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ แต่มิได้ก้าวไปไกลทางด้านความคิดที่จะเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยเต็มรูป ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักทางการเมืองของคณะทหารหนุ่มจึงได้แก่ความต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีผู้นำทางการเมืองที่ซื่อสัตย์สามารถสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนได้เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้คณะทหารหนุ่มจึงมีความคาดหวังสูงที่จะเห็นผู้นำทางทหารที่กลุ่มตนมีศรัทธาเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีความเข้มแข็งเด็ดขาด มีความซื่อสัตย์ มีภาพพจน์ที่ดีในสายตาของประชาชน

ซึ่งในที่สุดก็มาลงตัวที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 

ภัยคุกคามจากบูรพาทิศ

ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามและกัมพูชาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 ขยายตัวยิ่งขึ้นตามลำดับจนเริ่มส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย

แม้การที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะปฏิเสธข้อเสนอของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวที่จะส่งกำลังเข้ามาช่วยปลดปล่อยภาคอีสานของไทยจะทำให้ไทยสามารถลดความกังวลลงบ้างก็ตาม แต่ก็ยังต้องถือเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดเฉพาะหน้าต่อความปลอดภัยของประเทศที่มีเวียดนามเป็นผู้นำซึ่งกำลังเดินตามแผนสร้างสหพันธรัฐอินโดจีนและแนวปราการปิดล้อมจีนทางด้านใต้

รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กำหนดนโยบายและพยายามวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งนี้ โดยถือว่าเป็นปัญหาระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์ด้วยกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง หากกัมพูชาตกเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม ความเป็น “รัฐกันชน” ของกัมพูชาที่อยู่ระหว่างไทยกับเวียดนามก็จะหมดไป ปัจจัยทาง “ภูมิรัฐศาสตร์-GEOPOLITICS” จะทำให้ไทยกับเวียดนามอยู่ในสถานะเผชิญหน้ากันโดยตรงทันที

สถานการณ์นอกประเทศด้านตะวันออกที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 นี้ เมื่อบวกกับความอ่อนแอของการเมืองภายในประเทศที่มุ่งแต่จะแย่งชิงอำนาจกันจึงเป็นเหตุผลสำคัญสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 เพื่อเป็นผู้นำฝ่ายทหารเตรียมรับสถานการณ์

และเพียง 2 เดือนถัดมา เวียดนามก็ส่งกำลังบุกกัมพูชาเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ.2521 สามารถยึดกรุงพนมเปญสำเร็จเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ.2522 นำไปสู่การวางกำลังประชิดชายแดนไทยด้านตะวันออก และเริ่มมีการละเมิดอธิปไตยของไทยทั้งเจตนาและไม่เจตนา โดยอ้างว่าเส้นพรมแดนระหว่างประเทศที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสไม่ชัดเจน

ท่าทีก้าวร้าวของเวียดนามที่รุนแรงขึ้นทุกขณะทำให้ไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์อันมีเอกราชของชาติเป็นเดิมพันซึ่งต้องการการรวม “พลังอำนาจของชาติ” ที่ไม่เพียงแต่ “พลังทางการทหาร” เท่านั้น แต่หมายรวมทั้ง “พลังทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ” “พลังทางเศรษฐกิจ” และ “พลังทางสังคม” ซึ่งต้องการผู้นำที่สามารถหลอมรวมพลังเหล่านี้เข้าด้วยกันให้ได้

ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกสำหรับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงไม่เพียงพอ